หมู่บ้านเสื้อแดง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์  พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ความหมาย

          “หมู่บ้านเสื้อแดง” เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2553 หลังจากที่การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 จากนั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 จึงมีการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้นมาครั้งแรก ณ หมู่บ้านหนองหูลิง ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และช่วยฝ่ายราชการในการดูแลตรวจสอบปัญหายาเสพติด รวมทั้งเป็นการสะท้อนว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้งนี้หมู่บ้านเสื้อแดงมีการต่อยอดขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอยู่เป็นระยะ ๆ จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 บทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงในทางการเมืองก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง และประกาศยุติบทบาทดังกล่าวไปใน ปี พ.ศ. 2563

จุดกำเนิด ก่อนจะเป็น “หมู่บ้านเสื้อแดง”

          หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2552 และใน ปี พ.ศ. 2553 โดยกลุ่ม นปช. นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อต้านการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และเป็นกลุ่มที่สนับสนุน นายทักษิณ_ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี[1] โดยกลุ่ม นปช. มีการก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 และมีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ ๆ จนกระทั่งมีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อยอดมาจากพรรคไทยรักไทยที่สนับสนุน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมีการยุบอีก 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมทั้งตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี[2]

          เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนที่ถูกวินิจฉัยยุบพรรคไปติดต่อกันจากการยุบพรรคไทยรักไทยใน ปี พ.ศ. 2550 และเมื่อกลุ่มสมาชิกพรรคไทยรักไทยย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชาชน ก็มีเหตุวินิจฉัยยุบพรรคอีกครั้งใน ปี พ.ศ. 2551 และยังส่งผลให้นายสมชาย_วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรคพลังประชาชน และหลังจากที่ยุบพรรคพลังประชาชนแล้วมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเกิดขึ้น โดยในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือก นายอภิสิทธิ์_เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคขนาดเล็กและอาศัยการเปลี่ยนข้างของกลุ่มของ นายเนวิน ชิดชอบ จากพรรคพลังประชาชน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เองทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดไม่มีความชอบธรรม จึงได้เคลื่อนไหวคัดค้าน[3]

          จากนั้นกลุ่ม นปช. ก็มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นใน วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552 เมื่อกลุ่ม นปช. ได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่โดยใช้สัญลักษณ์เป็นสีแดงและใช้ข้อความการเรณรงค์ว่า “แดงทั้งแผ่นดิน” ที่ท้องสนามหลวง โดยมีผู้นำการชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ นายวีระ มุสิกพงษ์[4] ประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นายจักรภพ เพ็ญแข และนายแพทย์เหวง โตจิระการ เป็นแกนนำหลักในการชุมนุมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ซึ่งต่อมากลุ่ม นปช. ก็มีการเคลื่อนพลมาตั้งเวทีปราศรัยชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันทางแกนนำเสนอหลักการที่จะให้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชนด้วยสันติวิธี ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนมาเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552 กลุ่ม นปช. ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่

          (1) พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี

          (2) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ

          (3) การบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบภายใน 24 ชั่วโมง ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน เมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมได้ขยายการชุมนุมไปที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ และกลุ่มแท็กซี่คนเสื้อแดงได้ปิดถนนประท้วงรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

          ผลจากการเคลื่อนไหวที่รุกหนักขึ้นของกลุ่ม นปช. ทำให้รัฐบาลเริ่มกระชับพื้นที่การชุมนุมตั้งแต่ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552 ขณะเดียวกันมีกลุ่ม นปช. จำนวนหนึ่งเดินทางไปยังโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เพื่อปิดล้อมสถานที่ที่จะใช้ในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จนกระทั่ง วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จากนั้นได้มีการปฏิบัติการณ์สลายการชุมนุม โดยมีการตัดสัญญานสถานีโทรทัศน์ดี สเตชั่น ของฝ่าย นปช. พร้อมทั้งใช้อำนาจปิดสื่อของฝ่ายเสื้อแดงทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้สั่งเคลื่อนกำลังทหารให้ไปปราบปรามการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตากับประชาชน มีรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บ 70 คน จนกระทั่ง วันที่ 14 เมษายน กลุ่ม นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน ส่วนแกนนำ นปช. ถูกควบคุมตัวดำเนินคดีโดยทันที[5]

          ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2553 เริ่มต้นขึ้นเมื่อ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 ภายใต้ชื่อยุทธการ “12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์” โดยมีการระดมคนเสื้อแดงจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมชุมนุม ณ บริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งการชุมนุมดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลเปิดการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาล ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กับผู้แทนกลุ่ม นปช. ได้แก่ นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. นายแพทย์เหวง โตจิรากา และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายยุติลงใน วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สามารถแสวงหาทางออกร่วมกันได้[6] ต่อมา วันที่ 3 เมษายน กลุ่ม นปช. ได้เคลื่อนขบวนบางส่วนมาปักหลักชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ทำให้กลุ่ม นปช. มีการชุมนุมอยู่ 2 จุดใหญ่ ๆ และมีการการกระจายตัวไปชุมนุมบริเวณอื่น ๆ ได้แก่ บริเวณถนนพระรวม 4 บริเวณด้านหน้าสวนลุมพินี และสถานที่ใกล้เคียงด้วย อีกทั้งยังมีการเคลื่อนขบวนรถในชื่อ “ขบวนดาวฤกษ์” ไปตามจุดต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาล ได้แก้สถานการณ์ด้วยการตัดสัญญานสถานีโทรทัศน์ ดี สเตชั่น ของฝ่าย นปช. แต่กลุ่ม นปช. ได้เคลื่อนขบวนคนเสื้อแดงไปปิดล้อมสถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ยุติการตัดสัญญาณการออกอากาศของดี สเตชัน นำมาสู่การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับทหารที่ปฏิบัติภารกิจนั้น

          และในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้นำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยเจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำออกจาก กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และพยายามปิดประตู พร้อมขึงรั้วลวดหนามและใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม การปะทะกันดำเนินไปเป็นระยะ ๆ กระทั่งถึงเวลา 21.00 นาฬิกา มีการปะทุที่รุนแรงบริเวณถนนราชดำเนิน ตั้งแต่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสี่แยกคอกวัว เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 27 คน[7] หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไป เริ่มเกิดกรณีชายชุดดำปรากฏขึ้นมา และกลุ่ม นปช. ตัดสินใจยุบเวทีบริเวณถนนราชดำเนินไปรวมกับเวทีสี่แยกราชประสงค์ เพื่อความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง จากนั้นการชุมนุมก็ดำเนินเรื่อยมาจนกึงช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลเริ่มมีปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ที่หนักหน่วงอีกครั้ง โดยเฉพาะระหว่าง วันที่ 13 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม นปช. ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมในช่วงเวลาดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 63 คน[8] จนกระทั่งในท้ายที่สุดแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมใน วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

          หลังจากการต่อสู้ของกลุ่ม นปช. ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ยุติลง ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมจากพื้นที่ต่างๆ ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งในบางพื้นที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น จนกระทั่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ในพื้นที่ที่ยังคงยึดมั่นในแนวทางการขับเคลื่อนของกลุ่ม นปช. มีการจัดตั้งเป็น “หมู่บ้านเสื้อแดง” ขึ้นมาครั้งแรกที่หมู่บ้านหนองหูลิง ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยการริเริ่มของ นายอานนท์ แสนน่าน และมีร้อยตำรวจตรีกมลศิลป์ สิงหสุริยะ เป็นประธานในพิธีเปิดครั้งแรก หมู่บ้านเสื้อแดงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และเป็นการสะท้อนว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. นับจากนั้นหมู่บ้านเสื้อแดงก็ได้มีการขยายตัวออกไปในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีนับพันแห่ง ส่วนภาคกลางและภาคใต้มีประปราย[9] จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2554 เมื่อมีการยุบสภา บทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงเริ่มเป็นที่จับตามองอีกครั้งในฐานะฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย

“หมู่บ้านเสื้อแดง” จากกลไกหนึ่งของ นปช. สู่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

          หลังจากที่มีการก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้นมาในปลายปี พ.ศ. 2553 จากนั้นหมู่บ้านเสื้อแดงก็มีบทบาทในการรณรงค์ทางการเมืองมากขึ้น ภายใต้แกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงที่สำคัญ นั่นคือ นายอานนท์ แสนน่าน ทำให้กิจกรรมของหมู่บ้านเสื้อแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมากถึง 20,000 หมู่บ้าน[10] โดยเฉพาะในช่วงกลางปี พ.ศ. 2554 เมื่อรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจยุบสภาใน วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 บทบาทสำคัญที่ปรากฏออกมาของหมู่บ้านเสื้อแดง คือ การรณรงค์ทางการเมือง (Political Campaign) และการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 ให้กับพรรคเพื่อไทย เช่น การปักธงแดง การแจกจ่ายธงแดงตามบ้านเรือน การเดินสายชี้แจงประชาชนเรื่องบัตรเลือกตั้งพิมพ์โลโก้พรรคผิดขนาด ป้องกันการทำบัตรเสีย เป็นต้น[11]

          การดำเนินการของหมู่บ้านเสื้อแดงปรากฏผลที่ชัดเจนเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี พ.ศ. 2554 ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินการของหมู่บ้านเสื้อแดง และบทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่มีการยกระดับไปเป็นการจัดตั้ง “อำเภอเสื้อแดง” ขึ้นที่อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. และขณะนั้นก็เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรก[12] ทว่าการดำเนินการของอำเภอเสื้อแดงนั้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม กรณีการเปิดป้ายอำเภอเสื้อแดงนั้นมักจะกระทำในที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ต้องทำงานให้กับทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง[13]

          แม้ว่าอำเภอเสื้อแดงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในส่วนของหมู่บ้านเสื้อแดงนั้นสามารถสร้างเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากบรรดาแกนนำของหมู่บ้านเสื้อแดงได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น “สมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย” เพื่อรวบรวมเครือข่ายหมู่บ้านเสื้อแดงทั่วประเทศ ภายใต้การนำของนายอานนท์ แสนน่าน และมีร้อยตำรวจตรีกมลศิลป์ สิงหสุริยะ เป็นประธานสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ทำให้หมู่บ้านเสื้อแดงสามารถขยายผลต่อเนื่องไปได้ใน ปี พ.ศ. 2555 - 2556[14]

          แต่หลังจากที่มีการรัฐประหารใน วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 บทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงก็ค่อย ๆ ลดความสำคัญลง เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการบุกทำลายเข้ายึดเอาเครื่องส่งออกอากาศ อุปกรณ์เครื่องเสียง และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของสถานีวิทยุเสียงประชาชน Voice People Radio FM 100.00 MHz และ FM 100.75 MHz ของนายอานนท์ แสนน่าน ที่ออกอากาศรายการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเครือข่ายหมู่บ้านเสื้อแดงและกลุ่ม นปช. รวมทั้งได้นำนายอานนท์ไปควบคุมตัว และปรับทัศนคติอยู่ภายในค่ายทหารมณฑลทหารบก 24 จังหวัดอุดรธานี จนได้ปล่อยตัวออกมาประกอบอาชีพตามปกติ แต่นายอานนท์ก็ไม่สามารถจัดรายการวิทยุและเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองได้อีกนายอานนท์จึงเปลี่ยนสถานีวิทยุเป็นฟาร์มเห็ด และได้เปิดอบรมการเพาะเห็ดส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ ต่อมาเรียกกันว่า “หมู่บ้านเห็ด”[15]

          ในปี พ.ศ. 2561 นายอานนท์ แสนน่าน ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเสื้อแดงเป็น “หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย” และออกมาโพสต์เฟสบุ๊คโดยระบุว่าสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งใน วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยสนับสนุน “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคไทยรักษาชาติ” เนื่องจากทั้ง 2 พรรคนี้มีความเป็นประชาธิปไตย[16] และต่อมาฝ่ายความมั่นคงได้เข้าสกัดแผนการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านประชาธิปไตย นายอานนท์จึงยุติแผนดังกล่าวจนกระทั่งหลังการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2562 ผ่านพ้นไปนายอานนท์ได้จัดตั้ง “เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย” โดยร่วมกับอดีตหมู่บ้านเสื้อแดงในหลายพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า 40 ปี เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทยเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต[17]

          จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2563 นายอานนท์ แสนน่าน อดีตแกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงได้ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อคราวรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ได้ทรงมีปฏิสันถารกับนายอานนท์และได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า “ยังไงก็ได้ถ้าเรารักประเทศชาติ ทำให้มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน ต่อพี่น้องคนไทย รักษาความมั่นคงของประเทศชาติไว้ ทำในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ถูก อะไรที่มันผิด ๆ ก็อย่าไปยุ่งอย่าไปทำ ดูแลรักษาประเทศ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[18] หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายอานนท์ได้โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า “อานนท์ แสนน่าน รับสนองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวง ร.10 ขอเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์” และในช่วงเวลาเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้ประกาศยุติบทบาทของกลุ่ม นปช. โดยนายจตุพรระบุว่า “เมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่ง จึงถึงเวลาแล้วต้องยุติบทบาท แล้วกลับไปใช้ตัวตนของแต่ละบุคคลที่มีศักยภาพกัน”[19] จึงกล่าวได้ว่าใน ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่มีการปิดฉากลงทั้งของกลุ่ม นปช. และของหมู่บ้านเสื้อแดงอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

“หมู่บ้านเสื้อแดง” กับการเมืองภาคประชาชน

          กล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดงใน ปี พ.ศ. 2553 นั้น เป็นยุทธวิธีหนึ่งในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ที่ปรับยุทธวิธีหลังจากใช้วิธีการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครใน ปี พ.ศ. 2552 และ ปี พ.ศ. 2553 จนนำไปสู่การปราบปรามและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่งผลให้กลุ่ม นปช. มีการปรับยุทธวิธีที่ใช้การสร้างเครือข่ายประชาชนที่เข้าร่วมผ่านทางชื่อ “หมู่บ้านเสื้อแดง” ที่เป็นการยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวสนับสนุนหลักการและข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช. ซึ่งหากมองกรณีดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขของการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะในสำนักการระดมทรัพยากร (Resource Mobilization Theory: RM)[20] พบว่าเงื่อนไขสำคัญของการเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จของหมู่บ้านเสื้อแดงเกิดจาก 3 เงื่อนไข ได้แก่ องค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม การระดมทรัพยากร และยุทธวิธีการเคลื่อนไหว

          องค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement Organization-SMO) เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญประการแรก เพื่อทำหน้าที่ให้บรรลุจุดหมายของขบวนการ โดยมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการระดมคนและทรัพยากร รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรให้กับกิจกรรมการเคลื่อนไหวของขบวนการทำการแข่งขันกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการปรับเป้าหมาย และยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อการดำรงอยู่ต่อไปของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม[21] ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดงนั้นเกิดจากการที่กลุ่ม นปช. ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วง ปี พ.ศ. 2553 ดังนั้น การชุมนุมใหญ่จึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อเรียกร้องได้ แต่การเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดงจะเป็นการรวมกลุ่มแบบกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีการสร้างอัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) ของความเป็นคนเสื้อแดงและมีวิทยุชุมชนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อรักษาประชาชนที่เป็นทรัพยากรสำคัญให้คงอยู่และขยายจำนวนให้มากยิ่งขึ้น

          การระดมทรัพยากร เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายได้โดยผู้ที่เป็นเจ้าของ และครอบครองทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ ปัจเจกบุคคล และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายมิติ ได้แก่ สมาชิกผู้ร่วมจุดหมายเดียวกัน (Adherent) สมาชิกผู้สนับสนุน (Constituent) สาธารณชนผู้เฝ้ามอง (Bystander Public) ฝ่ายตรงกันข้าม (Opponent) ทั้งนี้ความเกี่ยวข้องของผู้ถือครองทรัพยากรประเภทต่าง ๆ กับองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ขบวนการทางสังคมสามารถพัฒนาเติบโต หรือในทางตรงข้ามก็อาจนำไปสู่การถดถอยและความล้มเหลวได้[22] ซึ่งหากพิจารณาในกรณีของหมู่บ้านเสื้อแดงนั้น จะเห็นได้ว่าในการระดมปัจเจกบุคคลผ่านบทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงนั้น สามารถทำได้ชัดเจนโดยผ่านทางแกนนำของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในสังคมผ่านทางสมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยที่เป็นจุดเชื่อมประสานระหว่างหมู่บ้านเสื้อแดงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งเชื่อมหมู่บ้านเสื้อแดงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. เข้าด้วยกัน

          ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว เป็นวิธีหลักในการเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุจุดหมาย เป้าประสงค์ ผลประโยชน์หรือความต้องการของขบวนการทางสังคม คือการใช้การกระทำรวมหมู่ (Collective Action) ด้วยยุทธวิธีขัดขวางระบบปกติ ได้แก่ การระดมมวลชนและผู้สนับสนุน (Mass Mobilization) การสร้างอัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) ของผู้คนในขบวนการหรือการสร้างเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง ซึ่งวิธีการเหล่านี้เกิดขึ้นนอกพื้นที่และช่องทางระบบการเมืองปกติและมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกับโครงสร้างสถาบันที่ลงรากปักฐานในสังคม ดังนั้นฐานทรัพยากรสำหรับการเคลื่อนไหวจึงอยู่ที่การระดมคน เพราะขบวนการทางสังคมไม่สามารถเข้าถึง ครอบครอง และใช้ประโยชน์ทรัพยากรในระบบการเมืองปกติ[23] ซึ่งปรากฏชัดเจนในการเคลื่อนไหวของหมู่บ้านเสื้อแดง เนื่องจากเกิดขึ้นหลังจากที่มีการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่ม นปช. ทำให้ทุกคนมีอัตลักษณ์ร่วมกัน นั่นคือความเป็นคนเสื้อแดง รวมทั้งในการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงในช่วงต้นนั้นเป็นการทำงานโดยอาศัยกลไกเครือข่ายที่ไม่ผ่านกลไกรัฐ แต่เกิดขึ้นผ่านกลไกของแกนนำเครือข่ายที่ทำให้เกิดการระดมมวลชนเข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก

บทสรุป

           หมู่บ้านเสื้อแดงเกิดขึ้นหลังจากการชุมนุมใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2553 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” ทั้งนี้ หมู่บ้านเสื้อแดงจัดตั้งขึ้นครั้งแรก ณ หมู่บ้านหนองหูลิง ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ภายใต้แกนนำคนสำคัญ นั่นคือ นายอานนท์ แสนน่าน ที่มีบทบาทในการขยายผลหมู่บ้านเสื้อแดงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และเกิดเป็นเครือข่ายภายใต้สมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่มีร้อยตำรวจตรีกมลศิลป์ สิงหสุริยะ เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 บทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงในทางการเมืองก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง พร้อม ๆ กับบทบาทของนายอานนท์ แสนน่าน ที่ค่อย ๆ ปรับบทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงไปเป็นหมู่บ้านเห็ดและกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จนกระทั่งบทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงยุติลงในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการยุติบทบาทของกลุ่ม นปช. ในปี พ.ศ. 2563 ทั้งหมดนี้ จึงกล่าวได้ว่าบทบาทของหมู่บ้านเสื้อแดงในการเมืองไทยนั้น ถือเป็นการระดมทรัพยากรที่สำคัญในฐานะกลไกหนึ่งของกลุ่ม นปช. ที่สะท้อนหลักการของการเมืองภาคประชาชนในทฤษฎีการระดมทรัพยากร (Resource Mobilization Theory: RM) ได้อย่างชัดเจน

บรรณานุกรม

ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2552). กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม, (เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้).

การเมือง, ““จตุพร”ย้ำถึงเวลายุบนปช.-ถึงเวลาหนุ่มสาวสู้ต่อ,” กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/914542

“แกนนำ"แดง​ อุดร" โพสต์เฟสบุ๊คหนุนเลือกตั้ง 24 กุมภาฯ อย่าให้มีเลื่อนเลือกตั้ง,” สยามรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/56424.

ข่าว, “ปิดถาวรวิทยุหมู่บ้านเสื้อแดงอุดร หลังคสช. สั่งกสทช. เอาเสาลง นายสถานีเผยสอนเพาะเห็ดต่อ,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2015/09/61436.

ข่าว, “"มัลลิกา" จี้ภาครัฐสร้างความชัดเจนกรณีตั้งอำเภอเสื้อแดง,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2012/03/39830.

ข่าว, “เสื้อแดง “แม่วาง” นัดปักธงแดงสองข้างทางเข้าชุมชน,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2011/06/35555.

ข่าวการเมือง, ““คดีชายชุดดำ” 10 เม.ย. 53 ประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกลืม ที่แยกคอกวัว,” ประชาชาติ, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://www.prachachat.net/politics/news-614887.

ข่าวการเมือง, “ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง,” ไทยพีบีเอส, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/277723.

เจาะประเด็นร้อน, “"อานนท์" ต้นขั้วแบรนด์ "หมู่บ้านเสื้อแดง",” คมชัดลึก, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://www.komchadluek.net/news/scoop/448706.

ทีมข่าวการเมือง, “บริบทรอบสองการเจรจาระหว่างรัฐบาล-นปช.,” โพสต์ทูเดย์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://www.posttoday.com/politic/report/19614.

ประชา บูรพาวิถี, “โรคแดงไร้เดียงสา,” กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/585473.

“เปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรก อย่างเป็นทางการ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://www.thairath.co.th/content/208015.

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, “หมู่บ้านเสื้อแดง รอยร้าวแห่งแผ่นดิน,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://mgronline.com/daily/detail/9550000061502.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ระลึกสงกรานต์เลือด 2552,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2013/04/46352.

อันนา หล่อวัฒนตระกูล, “ย้อนทบทวนลำดับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง พฤษภา 53,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2019/05/82551.

“อานนท์ แสนน่าน”ระดมอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงอีสานปกป้องสถาบัน,” สยามรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/187922.

อ้างอิง

[1] พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, “หมู่บ้านเสื้อแดง รอยร้าวแห่งแผ่นดิน,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://mgronline.com/daily/detail/9550000061502.

[2] ข่าวการเมือง, “ย้อนคดียุบพรรค โทษประหารทางการเมือง,” ไทยพีบีเอส, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/277723.

[3] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ระลึกสงกรานต์เลือด 2552,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2013/04/46352.

[4] ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์.

[5] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ระลึกสงกรานต์เลือด 2552,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2013/04/46352.

[6] ทีมข่าวการเมือง, “บริบทรอบสองการเจรจาระหว่างรัฐบาล-นปช.,” โพสต์ทูเดย์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://www.posttoday.com/politic/report/19614.

[7] ข่าวการเมือง, ““คดีชายชุดดำ” 10 เม.ย. 53 ประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกลืม ที่แยกคอกวัว,” ประชาชาติ, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://www.prachachat.net/politics/news-614887.

[8] อันนา หล่อวัฒนตระกูล, “ย้อนทบทวนลำดับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง พฤษภา 53,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2019/05/82551.

[9] พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, “หมู่บ้านเสื้อแดง รอยร้าวแห่งแผ่นดิน,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, https://mgronline.com/daily/detail/9550000061502.

[10] ประชา บูรพาวิถี, “โรคแดงไร้เดียงสา,” กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/585473.

[11] ข่าว, “เสื้อแดง “แม่วาง” นัดปักธงแดงสองข้างทางเข้าชุมชน,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2011/06/35555.

[12] “เปิดอำเภอเสื้อแดงแห่งแรก อย่างเป็นทางการ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://www.thairath.co.th/content/208015.

[13] ข่าว, “"มัลลิกา" จี้ภาครัฐสร้างความชัดเจนกรณีตั้งอำเภอเสื้อแดง,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2012/03/39830.

[14] เจาะประเด็นร้อน, “"อานนท์" ต้นขั้วแบรนด์ "หมู่บ้านเสื้อแดง",” คมชัดลึก, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://www.komchadluek.net/news/scoop/448706.

[15] ข่าว, “ปิดถาวรวิทยุหมู่บ้านเสื้อแดงอุดร หลังคสช. สั่งกสทช. เอาเสาลง นายสถานีเผยสอนเพาะเห็ดต่อ,”
ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://prachatai.com/journal/2015/09/61436.

[16] “แกนนำ"แดง​ อุดร" โพสต์เฟสบุ๊คหนุนเลือกตั้ง 24 กุมภาฯ อย่าให้มีเลื่อนเลือกตั้ง,” สยามรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/56424.

[17] ““อานนท์ แสนน่าน”ระดมอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงอีสานปกป้องสถาบัน,” สยามรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/187922.

[18] เจาะประเด็นร้อน, “"อานนท์" ต้นขั้วแบรนด์ "หมู่บ้านเสื้อแดง",” คมชัดลึก, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://www.komchadluek.net/news/scoop/448706.

[19] การเมือง, ““จตุพร”ย้ำถึงเวลายุบนปช.-ถึงเวลาหนุ่มสาวสู้ต่อ,” กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/914542

[20] ประภาส ปิ่นตบแต่ง, กรอบการวิเคราะห์การเมืองแบบทฤษฎีขบวนการทางสังคม, (เชียงใหม่: มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้, 2552), หน้า 66-89.

[21] เพิ่งอ้าง.

[22] เพิ่งอ้าง.

[23] เพิ่งอ้าง.