หมู่บ้านทะลุฟ้า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ความหมาย

          “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนใน ปี พ.ศ. 2564 โดยเริ่มมาจากการเดินทะลุฟ้าที่นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” โดยเริ่มเดินจากจังหวัดนครราชสีมาเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 247.5 กิโลเมตร และมีการนำเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ

          (1) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก

          (2) การปล่อยเพื่อนเรา หรือการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำ

          (3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ

          (4) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

          กิจกรรมการเดินทะลุฟ้าครั้งนี้สิ้นสุดลงใน วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากกลุ่มเดินทะลุฟ้าได้เดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดกิจกรรมดังกล่าวและได้ประกาศเจตนารมณ์ตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ต่อมา วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีการนัดรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อทำกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ครั้งที่ 2 จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาลและประกาศว่าจะปักหลักชุมนุมบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลต่อไปโดยไม่มีกำหนด เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ โดยเรียกพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมอยู่นั้นว่า “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณซอยชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยร่วมกับภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ ที่กำลังชุมนุมเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของกลุ่มตนเองอยู่ก่อนแล้วในบริเวณจุดเดียวกันนี้ จนกระทั่ง วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยอ้างว่าการชุมนุมดังกล่าวขัดต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้อยู่

จุดกำเนิด ก่อนจะเป็น “หมู่บ้านทะลุฟ้า”

          การเกิดขึ้นของหมู่บ้านทะลุฟ้าบริเวณซอยชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล มีจุดเริ่มต้นหลักมาจากกลุ่มเดินทะลุฟ้า เข้ามาผนวกกับภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ ก่อนที่ในเวลาต่อมาภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ เลิกปักหลักชุมนุม ทำให้เหลือเพียงกลุ่มทะลุฟ้าเท่านั้นที่เป็นหลักในการเคลื่อนไหวของหมู่บ้านทะลุฟ้า

          การเคลื่อนไหวของกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ครั้งที่ 1 เป็นการเคลื่อนไหวที่นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” โดยนำเสนอข้อเรียกร้องหลัก 4 ข้อ ได้แก่ (1) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก (2) การปล่อยเพื่อนเรา หรือการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำ (3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ (4) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกิจกรรมดังกล่าวใช้การเดินเท้าจากจังหวัดนครราชสีมาเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ระยะทางรวม 247.5 กิโลเมตร เนื่องจากกรุงเทพมหานครถือเป็นจุดศูนย์กลางของปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ระหว่างการเดินได้ปราศรัยเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมขับไล่รัฐบาล[1] กิจกรรมเดินทะลุฟ้านี้เริ่มขึ้นใน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยเริ่มตั้งขบวนบริเวณสวนสุรนารี (สวนรักษ์) ข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยในวันดังกล่าวมีแกนนำหลัก 3 คน ได้แก่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นางสาวอินทิรา เจริญปุระ ตัวแทนกลุ่มราษฎร และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่ม People GO Network ซึ่งในกิจกรรมนี้มีการใช้ธงสีแดงที่เขียนข้อความว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” พร้อมชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว เป็นเครื่องหมาย[2] ซึ่งมีการกำหนดระยะทางในการเดินแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 16 กิโลเมตรต่อวัน และคาดการณ์กันว่าจะเดินทางถึงกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

          ทั้งนี้ ระหว่างที่มีการเดินทะลุฟ้า ได้มีการสื่อสารกับผู้คนระหว่างทางไปด้วย โดยระบุสาเหตุและข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหวดังกล่าว เพื่อเป็นการขยายวงของการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันก็มีประเด็นอื่น ๆ ที่นำเข้ามาร่วมในการเรียกร้องด้วย อาทิ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็น LGBT ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ หรือประเด็นอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อทำให้กิจกรรมการเดินทะลุฟ้านี้เป็นการเดินไปถามผู้มีอำนาจ[3] โดยที่กิจกรรมการเดินทะลุฟ้านี้ได้เดินทางมาถึงจุดหมายนั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.25 นาฬิกา จากนั้นได้มีการจัดกิจกรรมบริเวณดังกล่าว เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ก่อนจะยุติกิจกรรมเดินทะลุฟ้าในเวลา 21.00 นาฬิกา[4]

          การเคลื่อนไหวของกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ครั้งที่ '2' เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากกิจกรรมเดินทะลุฟ้าครั้งแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยเริ่มจาก วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มเดินทะลุฟ้ามีการประกาศว่าจะจัดกิจกรรมเดินทะลุฟ้า V.2 โดยประกาศนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 นาฬิกา และจะเดินเท้าไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้าง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” และจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รวมทั้งเปิดเวทีปราศรัยในบริเวณดังกล่าวด้วย ดังนั้นแกนนำกลุ่มทะลุฟ้าจึงมีการระบุว่าให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเตรียมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับกรณีที่ต้องการค้างคืน อาทิ เต็นท์ หมอน ผ้าห่ม เสื้อผ้า และอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว[5] และเมื่อถึง วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 เมื่อกลุ่มเดินทะลุฟ้าเริ่มออกเดินทางไปได้ 10 นาที ก็ต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ตั้งแถวตรึงกำลังอยู่บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมใช้เส้นทางถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นที่ตั้งของส่วนราชการหลายแห่ง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางถนนนครสวรรค์ก่อนเข้าสู่ถนนพิษณุโลก และไปหยุดอยู่ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา ได้มีการประกาศจัดตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” และจัดตั้งขบวนการที่ขับเคลื่อนกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้าว่า “UNME of Anarchy” ซึ่งหมายถึงอำนาจของประชาชน[6]

          การเคลื่อนไหวของภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชุมนุมเคลื่อนไหวอยู่บริเวณซอยชมัยมรุเชฐอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยกลุ่มดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ กระทั่งช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการปักหลักชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาที่สำคัญ 5 ข้อ[7] ได้แก่

          (1) กรณีปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนท่าทีและแนวทางการทำงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน และให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอย นอกจากนี้ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงที่มีขึ้นระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับพีมูฟ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาอย่างเคร่งครัด

          (2) ขอให้รัฐบาลวางแนวทางแก้ไขปัญหาของพีมูฟที่มีคณะอนุกรรมการจำนวน 10 คณะ แบ่งตามภารกิจด้านต่าง ๆ เช่น คณะอนุกรรมการที่มีภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะอนุกรรมการที่มีภารกิจด้านที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย คณะอนุกรรมการด้านปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น โดยสั่งการให้คณะอนุกรรมการแต่งตั้งคณะทำงานในแต่ละคณะเพื่อร่วมประชุมกับตัวแทนชาวบ้าน และจัดทำเอกสารร่วมกันขอให้สรุปความคืบหน้าการประชุมคณะทำงานและคณะอนุกรรมการ แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ปัญหาขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 9 ด้าน

          (3) ขอให้รัฐบาลยกระดับโฉนดชุมชนให้เป็นการรองรับสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินอย่างแท้จริง

          (4) ขอให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาคดีความของคนจน โดยเฉพาะในพื้นที่สมาชิกเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมทั้ง 27 คดี โดยให้มีกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมหรือยกเลิกคดีที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมดทั้งปวง และ

          (5) ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ตามแผนปฏิรูปประเทศ

          กระทั่งถึง วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 ภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ซึ่งทางกลุ่มพีมูฟมองว่า “ประเด็นบางกลอย” กับข้อเรียกร้องของกิจกรรมเดินทะลุฟ้าสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ เพราะเป็นการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางกลอยเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่สุดในสังคมถูกคนตัวใหญ่หรือรัฐที่เป็นอภิสิทธิ์ชนกดทับ[8] ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าขึ้นมาแล้ว ได้มีการตกลงแบ่งพื้นที่บริเวณซอยชมัยมรุเชฐระหว่างกัน เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว เป็นต้น ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 ภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ ได้มีการออกประกาศมาว่าจะยุติการชุมนุม เนื่องจากได้บรรลุข้อเรียกร้องเบื้องต้นแล้ว 4 ข้อ แต่ท่าทีของพลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แสดงออกมานั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งทางภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟให้เวลา 30 วัน ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินรวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย และจะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หากมีการคุกคามหรือไม่เป็นไปตามข้อตกลงจะกลับมาเคลื่อนไหวชุมนุมอีกครั้ง[9]

การเคลื่อนไหวของหมู่บ้านทะลุฟ้า

          หลังจากที่ภาคี SAVEบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ ยุติการชุมนุมไปแล้วนั้น การขับเคลื่อนหมู่บ้านทะลุฟ้าจึงเป็นของกลุ่มทะลุฟ้าหรือกลุ่ม UNME of Anarchy เป็นหลักเพียงกลุ่มเดียว แต่กระนั้นก็ยังมีแนวร่วมที่เคยร่วมเคลื่อนไหวตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ซึ่งแนวร่วมดังกล่าวมี อาทิ เครือข่าย People Go Network แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี กลุ่มแดงก้าวหน้า 63 กลุ่มศิลปะปลดแอก (Free Arts) กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มราษฎร off road ซึ่งหมู่บ้านทะลุฟ้าได้ตั้งเวทีปราศรัยในระหว่าง วันที่ 13 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2564[10]

          เมื่อมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านทะลุฟ้าแล้ว ก็ยังคงเน้นย้ำข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ เช่นเดียวกับที่เคยเรียกร้องในกิจกรรมเดินทะลุฟ้า แต่กิจกรรมในช่วงที่มีการจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าระหว่าง วันที่ 13 – 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อนั้น โดยเน้นการปราศรัยเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ซึ่งในส่วนทางเข้าหมู่บ้านจะมีการตั้งจุดลงทะเบียนและแผ่นป้ายระบุข้อตกลงร่วมกัน เช่น เน้นการต่อสู้ในแนวทางสันติ ไม่พกอาวุธ งดใช้เสียงหลังจากเวลา 23.00 นาฬิกา และในการปราศรัยจะเน้นปราศรัยในเชิงหลักการไม่ด่าทอ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่ พื้นที่ครัว ที่พักภิกษุสงฆ์ ที่พักผ่อนนอนหลับ และหน่วยแพทย์ สำหรับกิจกรรมประจำวันจะมีหลากหลายกิจกรรม นั่นคือการปราศรัยและการแถลงข่าวประจำวัน[11]

          ต่อมาใน วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ได้มีปฏิบัติการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมด 70 ราย และนำส่งกองบังคับการตะเวนชายแดนภาค 1 ในข้อหาสำคัญ คือ ชุมนุมมั่วสุมกันผิดกฎหมาย ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน_พ.ศ._2548 และตามประกาศ ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564[12] ประกอบกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีการมั่วสุมกันในลักษณะมีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค ทำให้ในสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั้นมีมาตรฐานที่ต่างกัน เนื่องจากในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น มีการจัดกิจกรรมรัตนโกเซิร์ฟ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันที่ของประชาชนกว่า 300 คน มาร่วมไถสเก็ตบอร์ดไปตามเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ภายใต้แนวคิด “ใส่ชุดไทยไถสเก็ต”[13] ซึ่งถือเป็นการมั่วสุมกันในลักษณะมีความเสี่ยงต่อการควบคุมโรคเช่นกัน ทว่าไม่มีการดำเนินคดีหรือสั่งยุติกิจกรรมแต่อย่างใด[14] กระนั้นก็ตามใน วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการจัดกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า V.3 ขึ้นในเวลา 14.40 นาฬิกา โดยมีการจัดเก้าอี้และพรมแดงมาวาง แล้วให้ผู้ที่ถูกจับกุมระหว่างถูกสลายการชุมนุมมานั่งเลียนแบบการถ่ายรูปคณะรัฐมนตรีใหม่ที่มีการถ่ายรูปกันในช่วงเช้าวันเดียวกัน[15] ต่อมานายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม กล่าวว่า หลังจากนี้ทางกลุ่มจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ขบวนทะลุฟ้า” เพื่อจะจัดกิจกรรมในรูปแบบอื่น ๆ ต่อไปซึ่งกิจกรรมในวันดังกล่าวยุติลงในเวลา 20.00 นาฬิกา[16]

          ต่อมาใน วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 นาฬิกา ได้มีการรวมตัวกันอีกครั้งของหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การละเล่นประแป้งสาดสี ซึ่งจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ปาสีหรือสาดสีใส่ภาพของ พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภาพคณะรัฐมนตรี จากนั้นแกนนำได้กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ รวมทั้งโจมตีรัฐบาลต่อความผิดพลาดในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีติดเชื้อ COVID-19 จนทำให้คนไทยไม่สามารถจัดกิจกรรมสงกรานต์ได้ ก่อนที่จะยุติกิจกรรมไปในเวลา 20.00 นาฬิกา[17]

ปฏิกิริยาจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมต่อ “หมู่บ้านทะลุฟ้า”

          จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเดินทะลุฟ้า หมู่บ้านทะลุฟ้า รวมถึงขบวนทะลุฟ้า ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ แต่กระนั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าวเหล่านี้ก็มีกระแสที่เป็นปฏิกิริยาทั้งในเชิงสนับสนุน และปฏิกิริยาจากกลุ่มที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว รวมทั้งปฏิกิริยาจากฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าโดยตรง ทั้งนี้จะได้ลำดับปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นลำดับต่อไป

          กระแสที่เป็นปฏิกิริยาในเชิงสนับสนุน หลังจากที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าแล้ว ได้เกิดปฏิกิริยาในเชิงสนับสนุนหมู่บ้านทะลุฟ้าในบุคคลต่างๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงที่ต่อต้านการกระทำของฝ่ายตำรวจ ดังเช่น กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์การสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าที่มีการจับกุมผู้ชุมนุมไปไว้ที่กองบังคับการ ตชด. ภาค 1 ถึง 70 คน ถือเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ[18] นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คระบุว่า การกดปราบผู้ชุมนุมนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม และยังเป็นการลุแก่อำนาจในระดับสูงสุดของผู้มีอำนาจด้วย[19] ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มภาคประชาสังคมที่ออกมาแสดงปฏิกิริยาสนับสนุนหมู่บ้านทะลุฟ้า อาทิ เครือข่ายละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Network) ระบุว่า ขอคัดค้านการกระทำของรัฐ ที่เข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่กระทำด้วยสันติวิธี[20] หรือในกรณีของสมัชชาคนจนที่ออกมาประณามการะทำของฝ่ายรัฐบาลที่ใช้กำลังอันป่าเถื่อน ลุแก่อำนาจ เข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า และจับกุมผู้ชุมนุม รวมทั้งได้เรียกร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมโดยทันที[21] ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าฝ่ายที่สนับสนุนหมู่บ้านทะลุฟ้านั้น มองว่าการเคลื่อนไหวของหมู่บ้านทะลุฟ้า มีความสงบ ใช้สันติวิธี และเป็นปกติของสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนจะสะท้อนความต้องการไปยังรัฐบาล ขณะที่มองรัฐบาลว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรงในกรณีดังกล่าว

          กระแสที่เป็นปฏิกิริยาในเชิงต่อต้าน ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้านั้น ก็ได้มีปฏิกิริยาในเชิงต่อต้านหมู่บ้านทะลุฟ้าจากบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในฟากฝั่งรัฐบาล ที่ปรากฏเด่นชัด คือ กรณีของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาโจมตีหมู่บ้านทะลุฟ้าว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายประการ อาทิ ในช่วงที่สลายหมู่บ้านทะลุฟ้าแล้ว เจ้าหน้าที่ได้พบกัญชาอัดแท่ง ใบกระท่อม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และถุงยางอนามัยอยู่ในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งยังพบว่ามีการขโมยใช้น้ำและไฟของหลวง[22] ซึ่งสอดคล้องกับนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยนายเสกสกล ระบุว่า การชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้าสร้างความเดือดร้อนให้โรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงและผู้ที่สัญจรไปมา เนื่องจากมีการใช้เครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังทุกวันทำให้นักเรียนที่กำลังจะสอบเดือดร้อนจากเสียงที่ดังมากเกินไป ตลอดจนใช้เครื่องเสียงตะโกนด่าทอเวลาที่มีคณะรัฐมนตรีเข้าออกทำเนียบรัฐบาล[23] ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าฝ่ายที่ต่อต้านหมู่บ้านทะลุฟ้านั้น มองว่าการเคลื่อนไหวของหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีสิ่งผิดกฎหมายจำนวนมาก และยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนต่อสถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบปลายภาคด้วย

          ปฏิกิริยาจากฝ่ายความมั่นคง ในกรณีนี้ คือ ตำรวจซึ่งจากการแถลงข่าวของ พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงปฏิบัติการในการควบคุมพื้นที่หมู่บ้านทะลุฟ้าว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้ใช้พื้นที่บริเวณถนนพระราม 5 ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลริมคลองผดุงกรุงเกษมเป็นที่ชุมนุม ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการรุกล้ำหรือบุกรุกพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ราชการบางส่วนมีการลักทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ และทุบทำลายสิ่งของราชการและสิ่งของประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ต่อท่อเพื่อระบายสิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลลงในพื้นที่คลองและพื้นที่สาธารณะ และกีดขวางทางเข้าของประตูด้านถนนพระราม 5 เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อน[24] จะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับเหตุผลของกระแสที่เป็นปฏิกิริยาในเชิงต่อต้านหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเหตุผลที่กระแสที่เป็นปฏิกิริยาในเชิงต่อต้านหมู่บ้านทะลุฟ้าใช้นั้น ก็มาจากการแถลงข่าวของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง

บทสรุป

           หมู่บ้านทะลุฟ้า ที่มีพัฒนาการมาจากการเดินทะลุฟ้าเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ (1) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออก (2) การปล่อยเพื่อนเรา หรือการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำ (3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ (4) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกิจกรรมดังกล่าวเริ่มเมื่อ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่เริ่มออกเดินเท้าจากจังหวัดนครราชสีมาจนถึงกรุงเทพมหานครใน วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 247.5 กิโลเมตร จากนั้นได้มีการนัดรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้งใน วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยเดินเท้าจากจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล และประกาศว่าจะปักหลักชุมนุม ณ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลและได้จัดตั้งเป็น “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ขึ้นมาเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ โดยมีกลุ่ม UNME of Anarchy เป็นหลักในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านทะลุฟ้า และมีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เข้ารวมอีกหลายกลุ่ม จนกระทั่งถึง วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าและจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไปไว้ยังกองบังคับการตะเวนชายแดนภาค 1 จากสถานการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งในฝ่ายที่สนับสนุนหมู่บ้านทะลุฟ้าว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายที่ต่อต้านหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยมองว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้พื้นที่โดยรอบและมีสิ่งผิดกฎหมายปะปนอยู่ อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าไปแล้ว ก็มีการนัดรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ๆ เช่น กิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า V.3 กิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การละเล่นประแป้งสาดสี เป็นต้น

บรรณานุกรม

กรุณพร เชษฐพยัคฆ์, “ทำไมต้อง ‘เดินทะลุฟ้า’ ? คุยกับคนร่วมขบวน ถึงการเรียกร้องที่ขับเคลื่อนด้วยการเดิน,” The Matter, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://thematter.co/social/walk-talu-fah/136897.

“กลุ่มภาคีsaveบางกลอย ร่วมขบวน ‘เดินทะลุฟ้า’ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อ จากกรณี #saveบางกลอย,” The Matter, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://thematter.co/brief/138973/138973

ข่าวการเมือง, “"เดินทะลุฟ้า" ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "ไผ่" ย้ำ คงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2045549.

ข่าวการเมือง, “เดินทะลุฟ้า V.2 นัดอนุสาวรีย์ปชต. เดินเท้าสร้างหมู่บ้านหน้าทำเนียบฯ เสาร์นี้ แนะเตรียมอุปกรณ์สำหรับค้างคืน,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2616667.

ข่าวการเมือง, “‘พีมูฟ’ ยังไม่ถอน ขอปักหลักทำเนียบฯ ดูความจริงใจรัฐบาล แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2618812.

ข่าวการเมือง, “"ม็อบทะลุฟ้า" นอน ชู 3 นิ้ว บนสะพาน "ชมัยมรุเชฐ" ยัน ยึดสันติ ไม่ปะทะ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2060315.

ข่าวการเมือง, ““แรมโบ้” ย้ำ ตร.ยึดคืนพื้นที่หมู่บ้านทะลุฟ้าตามกฎหมาย ถามม็อบทำไมมีกัญชา-กระท่อม-ถุงยาง,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9640000029586.

ข่าวการเมือง, “‘สมัชชาคนจน’ ประณามสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ชี้รัฐ ‘ลุแก่อำนาจ’ เติมเชื้อไฟความขัดแย้ง,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2646014.

ข่าวการเมือง, ““สิระ” สวนก้าวไกลทำเอาใจใคร ชี้พบสิ่งผิด กม.เพียบหมู่บ้านทะลุฟ้า เลิกอ้างชุมนุมถูกต้อง,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9640000029628.

ข่าวการเมือง, “"หมู่บ้านทะลุฟ้า" ชุมนุมวันสงกรานต์ "ฉีดน้ำ - ปาสี" หน้าทำเนียบฯ,” ไทยพีบีเอส, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/303356.

ข่าวการเมือง, “หมู่บ้านทะลุฟ้า แถลง ‘อยู่ยาว’!! ยัน 4 ข้อเรียกร้อง ต้องไม่มีใครถูกจับเพิ่ม,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2623565.

ข่าวการเมือง, “‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ และ ‘ใส่ชุดไทยไถสเกต’ โลกคู่ขนานของการใช้กฎหมาย,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2059487.

ข่าวการเมือง, “"หมู่บ้านทะลุฟ้า V3" ปักหลักปราศรัย โจมตีรัฐบาล ดุเดือด หน้าทำเนียบฯ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2060200.

ข่าวทั่วไทย, “เริ่มแล้ว 'เดินทะลุฟ้า' จาก โคราช-กทม. ย้ำปล่อยเพื่อนเรา ไม่จับเพิ่ม,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2033481.

“ชุมนุม 13 มีนา: ขบวน “เดินทะลุฟ้า” ประกาศ 4 ข้อเรียกร้อง ก่อนเคลื่อนพลปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล,” บีบีซีไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56384142.

โซเชียลมีเดีย Viral, “ดราม่า “รัตนโกเซิร์ฟ” มาดามเดียร์ แจง – โจอี้บอย ขอโทษ,” ประชาชาติออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564, https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-638362.

“ 'ธนาธร-ทัศนัย-เครือข่ายละครกรุงเทพ' ประณามสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2021/03/92321.

“ยุติการชุมนุม! ส่งกะเหรี่ยงบางกลอยกลับบ้าน - จับตาดูรัฐแก้ปัญหาใน 30 วัน,” สำนักข่าวอิศรา, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.isranews.org/article/isranews-short-news/96870-isranews-abc-4.html.

“หมู่บ้านทะลุฟ้า: ผู้ชุมนุม 70 คน ถูกควบคุมตัวไว้ที่ ตชด. ภาค 1 หลังสลายการชุมนุม,” บีบีซีไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56553700.

ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 5), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 50 ง, 5 มีนาคม 2564.

อ้างอิง

[1] ข่าวการเมือง, “"เดินทะลุฟ้า" ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "ไผ่" ย้ำ คงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2045549.

[2] ข่าวทั่วไทย, “เริ่มแล้ว 'เดินทะลุฟ้า' จาก โคราช-กทม. ย้ำปล่อยเพื่อนเรา ไม่จับเพิ่ม,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2033481.

[3] กรุณพร เชษฐพยัคฆ์, “ทำไมต้อง ‘เดินทะลุฟ้า’ ? คุยกับคนร่วมขบวน ถึงการเรียกร้องที่ขับเคลื่อนด้วยการเดิน,” The Matter, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://thematter.co/social/walk-talu-fah/136897.

[4] ข่าวการเมือง, “"เดินทะลุฟ้า" ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย "ไผ่" ย้ำ คงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2045549.

[5] ข่าวการเมือง, “เดินทะลุฟ้า V.2 นัดอนุสาวรีย์ปชต. เดินเท้าสร้างหมู่บ้านหน้าทำเนียบฯ เสาร์นี้ แนะเตรียมอุปกรณ์สำหรับค้างคืน,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2616667.

[6] “ชุมนุม 13 มีนา: ขบวน “เดินทะลุฟ้า” ประกาศ 4 ข้อเรียกร้อง ก่อนเคลื่อนพลปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล,” บีบีซีไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56384142.

[7] ข่าวการเมือง, “‘พีมูฟ’ ยังไม่ถอน ขอปักหลักทำเนียบฯ ดูความจริงใจรัฐบาล แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2618812.

[8] “กลุ่มภาคีsaveบางกลอย ร่วมขบวน ‘เดินทะลุฟ้า’ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อ จากกรณี #saveบางกลอย,”  The Matter, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://thematter.co/brief/138973/138973

[9] “ยุติการชุมนุม! ส่งกะเหรี่ยงบางกลอยกลับบ้าน - จับตาดูรัฐแก้ปัญหาใน 30 วัน,” สำนักข่าวอิศรา, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.isranews.org/article/isranews-short-news/96870-isranews-abc-4.html.

[10] “ชุมนุม 13 มีนา: ขบวน “เดินทะลุฟ้า” ประกาศ 4 ข้อเรียกร้อง ก่อนเคลื่อนพลปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล,” บีบีซีไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56384142.

[11] ข่าวการเมือง, “หมู่บ้านทะลุฟ้า แถลง ‘อยู่ยาว’!! ยัน 4 ข้อเรียกร้อง ต้องไม่มีใครถูกจับเพิ่ม,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2623565.

[12] ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ฉบับที่ 5), ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 50 ง, 5 มีนาคม 2564.

[13] โซเชียลมีเดีย Viral, “ดราม่า “รัตนโกเซิร์ฟ” มาดามเดียร์ แจง – โจอี้บอย ขอโทษ,” ประชาชาติออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564, https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-638362.

[14] ข่าวการเมือง, “‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ และ ‘ใส่ชุดไทยไถสเกต’ โลกคู่ขนานของการใช้กฎหมาย,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2059487.

[15] ข่าวการเมือง, “"หมู่บ้านทะลุฟ้า V3" ปักหลักปราศรัย โจมตีรัฐบาล ดุเดือด หน้าทำเนียบฯ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2060200.

[16] ข่าวการเมือง, “"ม็อบทะลุฟ้า" นอน ชู 3 นิ้ว บนสะพาน "ชมัยมรุเชฐ" ยัน ยึดสันติ ไม่ปะทะ,” ไทยรัฐออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://www.thairath.co.th/news/politic/2060315.

[17] ข่าวการเมือง, “"หมู่บ้านทะลุฟ้า" ชุมนุมวันสงกรานต์ "ฉีดน้ำ - ปาสี" หน้าทำเนียบฯ,” ไทยพีบีเอส, สืบค้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564, https://news.thaipbs.or.th/content/303356.

[18] “ 'ธนาธร-ทัศนัย-เครือข่ายละครกรุงเทพ' ประณามสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2021/03/92321.

[19] “ 'ธนาธร-ทัศนัย-เครือข่ายละครกรุงเทพ' ประณามสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2021/03/92321.

[20] “ 'ธนาธร-ทัศนัย-เครือข่ายละครกรุงเทพ' ประณามสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า,” ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564,  https://prachatai.com/journal/2021/03/92321.

[21] ข่าวการเมือง, “‘สมัชชาคนจน’ ประณามสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ชี้รัฐ ‘ลุแก่อำนาจ’ เติมเชื้อไฟความขัดแย้ง,” มติชนออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2646014.

[22] ข่าวการเมือง, ““สิระ” สวนก้าวไกลทำเอาใจใคร ชี้พบสิ่งผิด กม.เพียบหมู่บ้านทะลุฟ้า เลิกอ้างชุมนุมถูกต้อง,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9640000029628.

[23] ข่าวการเมือง, ““แรมโบ้” ย้ำ ตร.ยึดคืนพื้นที่หมู่บ้านทะลุฟ้าตามกฎหมาย ถามม็อบทำไมมีกัญชา-กระท่อม-ถุงยาง,” ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://mgronline.com/politics/detail/9640000029586.

[24] “หมู่บ้านทะลุฟ้า: ผู้ชุมนุม 70 คน ถูกควบคุมตัวไว้ที่ ตชด. ภาค 1 หลังสลายการชุมนุม,” บีบีซีไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56553700.