สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือเรียก โดยย่อว่า สำนักงาน ก.พ. เป็นองค์การกลางทำหน้าที่บริหารทรัพยากรบุคคลในระบบราชการพลเรือน ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณธรรม คุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี พัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญ
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. คือ คณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ทำหน้าที่ดูแลการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือน การสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปจนถึงการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บทบาทของ ก.พ. จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งข้าราชการที่ดีมีความรู้ความสามารถสูง ให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน รวมถึงการรักษาขวัญและส่งเสริมกำลังใจ ในการทำงานของข้าราชการเป็นส่วนรวม เป็นการพัฒนากำลังคนภาครัฐให้มีความพร้อมและสามารถผลักดันนโยบายของรัฐให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ อันจะช่วยให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ประวัติความเป็นมาของสำนักงานข้าราชการพลเรือน
ระบบข้าราชการพลเรือนของไทยก่อน พ.ศ. 2468 ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับราชการ และไม่มีระเบียบข้าราชการพลเรือนส่วนกลางให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน จนกระทั่งการประชุมอภิรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2468 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเสนอความเห็นว่าควรมีกรรมการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ
หลังจากนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงร่างระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลเกล้าฯ นำพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงโทษข้าราชการพลเรือน ซึ่งนายอาร์.กี ยอง ที่ปรึกษาร่างกฎหมายชาวต่างประเทศ เป็นผู้ร่างขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างกฎหมายให้อภิรัฐมนตรี และเสนาบดีต่างๆ พิจารณาให้ความเห็น
จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น เพื่อพิจารณาร่างระเบียบข้าราชการพลเรือน มีการพิจารณาแก้ไขในที่ประชุมเสนาบดีหลายครั้ง จนมีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2471 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2471 ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2472 โดยมีคณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน เรียกโดยย่อว่า "ก.ร.พ." เป็นผู้รักษาและดำเนินตามพระราชบัญญัติ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้าราชการพลเรือนตามระบอบการปกครองใหม่ มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2476 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2477 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เรียกโดยย่อว่า "ก.พ." แทนกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือ "ก.ร.พ."
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ตามรูปแบบใหม่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ก.พ. กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ราย แต่ไม่เกิน 7 ราย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการแห่งกระทรวงที่มีเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาของก.พ. มานั่งประชุมเป็นกรรมการด้วย
พ.ศ. 2518 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 โดยเปลี่ยนองค์ประกอบของ ก.พ. ใหม่ โดยมิได้กำหนดให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ก.พ. โดยตำแหน่งทั้งนี้โดยมีเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มีหลักการให้แยกข้าราชการการเมือง ออกจากข้าราชการประจำ ดังนั้น ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล สำหรับข้าราชการประจำ จึงไม่ควรประกอบด้วยข้าราชการการเมือง
ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2520 เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของ ก.พ. ให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ราย แต่ไม่เกิน 9 ราย และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ซึ่งรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้มีการแก้ไขปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2522 ซึ่งได้แก้ไของค์ประกอบของ ก.พ. โดยให้มีคณะกรรมการฯประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานและกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่าซึ่งมิได้เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกรัฐสภา กรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าสิบสองคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน โดยต้องเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการอยู่ ไม่น้อยกว่าเจ็ดคนและให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของ ก.พ. ใหม่ ให้ประกอบด้วยกรรมการ 3 ประเภท คือ
(1) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติและเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการ
(2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการ บริหารงานบุคคล ด้านการบริหาร และด้านการจัดการ และด้านกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 7 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ที่มีคุณสมบัติและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
(3) กรรมการผู้แทนข้าราชการพลเรือน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงรองปลัดกระทรวง อธิบดี หรือเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวน 5 คน
พ.ศ. 2548 ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกครั้ง โดยปรับเปลี่ยนบทบาทของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จากเดิมที่เป็นทั้งผู้จัดการทรัพยากรบุคคลของฝ่ายบริหาร ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม และผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการ ปรับให้เป็นผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคลของรัฐบาล และมอบบทบาทในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมให้แก่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ส่วนบทบาทในการเป็นผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการได้ตัดโอนไปเป็นของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) องค์ประกอบของ ก.พ. ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการ ให้เปลี่ยนเป็น ก.พ. ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของ ก.พ.
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ในมาตรา 8 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ดังต่อไปนี้
1) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในด้านมาตรฐานค่าตอบแทน การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมตลอดทั้งการวางแผนกำลังคนและด้านอื่น ๆ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
2) รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ สวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน ให้เหมาะสม
3) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน เพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
4) ให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการ
5) ออกกฎ ก.พ. และระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งการให้คำแนะนำหรือวางแนวทางในการปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
6) ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหา มติของ ก.พ. ตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
7) กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนในกระทรวงและกรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากส่วนราชการ หรือให้ผู้แทนส่วนราชการ ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริง และให้มีอำนาจออกระเบียบให้กระทรวง และกรมรายงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปยัง ก.พ
8) กำหนดนโยบายและออกระเบียบเกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวงและทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตลอดจนจัดสรรผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการในกระทรวงและกรมหรือหน่วยงานของรัฐ
9) ออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาและควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตลอดจนการเก็บเงินชดเชยค่าใช้จ่าย ในการดูแลจัดการการศึกษา ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษา เป็นเงินรายรับของส่วนราชการที่เป็นสถานอำนวยบริการอันเป็นสาธารณประโยชน์ ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
10) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว
11) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล
12) พิจารณาจัดระบบทะเบียนประวัติและแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับ วัน เดือน ปีเกิด และการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน
13) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น การออกกฎ ก.พ. ในกรณีที่เห็นสมควรให้สำนักงาน ก.พ. หารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ. ด้วย
อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน
ในการดำเนินงานของ ก.พ. ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญต่าง ๆ เพื่อทำการแทนและรับผิดชอบภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของ ก.พ. ดังนี้
1) อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ.ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการบริหารงานและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ภาครัฐเกี่ยวกับวินัย เรื่องการเสริมสร้างและพัฒนาให้ข้าราชการมีวินัยและป้องกันมิให้กระทำผิด วินัย และปฏิบัติตามจรรยาข้าราชการ เรื่องวินัยและการรักษาวินัย เรื่องการดำเนินการทางวินัย เรื่องการออกจากราชการ เรื่องการตีความและวินิจฉัยปัญหารวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่มีปัญหา เกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการ เรื่องการดำเนินการตามมาตรา 9 เรื่องการให้ข้าราชการพลเรือนประจำส่วนราชการ ในกรณีที่เกี่ยวกับวินัย เรื่องการขอยกเว้นในกรณีที่มีลักษณะต้องห้าม และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
2) อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการมีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในเรื่องเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย กฎ ก.พ. ข้อบังคับและระเบียบต่าง ๆการแก้ไขทะเบียนประวัติข้าราชการ รวมทั้งตีความและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
3) อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการประเมินบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการมีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในการพิจารณาคุณสมบัติและประเมินผลงานของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรง ตำแหน่งประเภทวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ รวมทั้งการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่ช่วย อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภท วิชาการ และกิจการอื่นตามที่ ก.พ.มอบหมาย
4) อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย ทิศทาง มาตรฐานหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่ง การกำหนดกรอบอัตรากำลัง ระบบเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และประโยชน์เกื้อกูล ตลอดจนตรวจสอบติดตามการบริหารตำแหน่งของส่วนราชการ และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
5) อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างประสิทธิภาพด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย ทิศทาง การสร้างประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรบุคคล สนับสนุน ให้คำปรึกษาแนะนำและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของส่วน ราชการต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัว สามารถใช้กำลังคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ระบบราชการทั้งในส่วนกลาง ภูมิภาค ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการใช้กำลังคนของส่วนราชการ และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
6) อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ.ในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการบริหารทรัพยากรบุคคล พัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการบริหารกำลังคนอย่างมี ประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ระบบราชการและกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
7) อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการเตรียมกำลังคนภาครัฐ มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับระบบการบริหารกำลังคนคุณภาพของราชการ โดยรวมถึงการจัดสรรทุนรัฐบาลและทุนเล่าเรียนหลวง และการจัดสรรผู้รับทุนดังกล่าวเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานของทางราชการใน ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐต่างๆ ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง โครงการผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทยระบบนักบริหารระดับสูง และกิจการอื่นๆตามที่ ก.พ. มอบหมาย
8) อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างระบบและมาตรฐานการสรรหาทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในเรื่องเกี่ยวกับการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน การกำหนดนโนบาย หลักเกณฑ์ มาตรฐานและวิธีการในการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้า ราชการพลเรือน ตามแนวพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนใหม่ การสรรหาและเลือกสรรบุคคลเพื่อรับทุนรัฐบาลและทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษา วิชา ณ ต่างประเทศ การบริหาร กำกับดูแล ติดตาม และให้ความช่วยเหลือการศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศของบุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง นักเรียนทุนรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัว ที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. รวมทั้งการพิจรณารับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา ฝึกอบรม เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน กำหนดเงินเดือนที่จะ ได้รับ และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
9) อ.ก.พ. วิสามัญเฉพาะกิจเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานนักกฎหมาย มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. เกี่ยวกับการพิจารณา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดกรองคุณสมบัติและสร้างมาตรฐานคุณภาพสำหรับผู้ ดำรงตำแหน่งนิติกรที่จะได้รับเงินเพิ่ม พิจารณาให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรที่จะได้รับเงินเพิ่ม แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ช่วย อ.ก.พ.วิสามัญเฉพาะกิจฯ และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
10) อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อราชการใสสะอาด มีหน้าที่ทำการแทน ก.พ. ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำประมวลจริยธรรมและจรรยาข้าราชการพลเรือน จัดยุทธศาสตร์การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาในภาครัฐ กำหนดแนวทางการส่งเสริมจริยธรรม จรรยา และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบสำหรับบุคลากรภาครัฐ สร้างความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการรณรงค์สร้างความตระหนักในค่านิยมสร้างสรรค์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งเสริมคุณธรรม และจรรยา เพื่อราชการใสสะอาด ตลอดจนป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจริยธรรมป้องกันการทุจริต ในสังคมไทย รวมทั้งกำหนดมาตรการผลักดันการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ดัง กล่าว และให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการส่งเสริมจริยธรรม ป้องกันการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกประเภทและระดับ และกิจการอื่นตามที่ ก.พ. มอบหมาย
หนังสืออ่านประกอบ
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน,(2540),วิวัฒนาการของสำนักงาน ก.พ. พ.ศ.2471-2540,กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน.