สังคมชาตินิยม (พ.ศ.2517)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสังคมชาตินิยม
พรรคสังคมชาตินิยมก่อตั้งโดยนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์[1] ได้รับการจดทะเบียนเป็น พรรคการเมืองในครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 และในครั้งที่สอง ช่วงปีพ.ศ. 2522 พรรคสังคมชาตินิยมมีนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค และมีเลขาธิการพรรคคือ นายฉันท์ จันทชุม
พรรคสังคมชาตินิยมได้เข้าร่วมงานทางการเมืองครั้งแรกโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งที่ 10 วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ส่งผลให้สมาชิกพรรคสังคมชาตินิยมได้รับการเลือกตั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 16 ที่นั่ง จากผู้สมัครทั้งหมดของพรรคจำนวน 146 คน ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในระยะแรกนั้น พรรคสังคมชาตินิยมได้เข้าร่วมในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ในคณะรัฐบาลชุดที่ 35 โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช[2] เป็นนายกรัฐมนตรี[3] (15 กุมภาพันธ์ ถึง 14 มีนาคม พ.ศ. 2518) แต่เนื่องจากคณะรัฐบาลชุดดังกล่าวไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้อายุการทำงานของรัฐบาลต้องสิ้นสุดลงในระยะเวลาอันสั้น ต่อมากลุ่มรวมชาติ อันประกอบด้วย พรรคกิจสังคม พรรคธรรมสังคม พรรคชาติไทย และพรรคสังคมชาตินิยม ได้ประกาศร่วมจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยสนับสนุนให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 36[4] ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้สมาชิกของพรรคสังคมชาตินิยมได้มีส่วนร่วมดำรงตำแหน่งสำคัญทางการการเมืองด้วย โดยบุคคลที่มีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรีในระหว่างวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2518 ถึง12 มกราคม พ.ศ. 2519 มีดังนี้คือ นายอุทัย ชุณหจันทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายธเนศ เอียสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายธเนศ เอียสกุล และนายวัฒนา อัศวเหม ได้เข้าร่วมรัฐบาลเมื่อมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2519)
ต่อมาเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ในครั้งนี้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสังคมชาตินิยมได้ที่นั่งทั้งหมด 8 ที่นั่ง ลดลงจากเดิม 8 ที่นั่ง จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมดของพรรค 100 คน[5] ในจำนวนนี้มีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 37 ในช่วงการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ระหว่างวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2519 ถึง23 กันยายน พ.ศ. 2519 คือนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
การบริหารรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชในช่วงเวลาดังกล่าวได้ประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาของสามเณรถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 ทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่จากกลุ่มพลังต่างๆในสังคม ส่งผลให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2519 แต่จากการที่รัฐบาลชุดดังกล่าวเป็นรัฐบาลผสม ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลอีกจำนวน 3 พรรค คือ พรรคชาติไทย พรรคธรรมสังคม และพรรคสังคมชาตินิยม จึงได้สนับสนุนให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม แต่ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งในครั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสังคมชาตินิยมก็ได้รับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีด้วยคือ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์
พรรคสังคมชาตินิยมได้ยุติการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในช่วงหนึ่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นำโดยพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ และได้ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองในระยะเวลาดังกล่าว ต่อมาได้มีการจัดตั้งพรรคขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 โดยมีหัวหน้ากลุ่ม[6] คือนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ แต่ภายหลังได้มีการประกาศยุบพรรคเองและไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2522
แนวนโยบายของพรรคและวิธีดำเนินการที่สำคัญมีดังนี้[7]
นโยบายของพรรคยึดมั่นในหลักการของสังคมนิยมและชาตินิยมควบคู่กันไป
ด้านสังคม
1. มุ่งส่งเสริมพุทธศาสนาและศาสนาอื่นให้เจริญรุ่งเรือง
2. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงอุดมศึกษาทั้งด้านสามัญและอาชีวะให้พอเพียงตามความต้องการของประชาชนโดยจะคำนึงถึงเด็กยากจนแต่เรียนดีให้ได้เรียนถึงชั้นอุดมศึกษา
3. ส่งเสริมและให้หลักประกันแก่ครู ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานของรัฐ ฯลฯ เพื่อให้มีเสถียรภาพและสวัสดิการอันมั่นคง
4. ส่งเสริมวัฒนธรรมทุกสาขาให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันความเสื่อมโทรมทางจิตใจ
5. ส่งเสริมการแพทย์การอนามัยและการกีฬาเพื่อให้ประชาชนมีพลานามัยสมบูรณ์
6. รับฟังความคิดเห็น ความต้องการ ความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขให้ได้รับความเป็นธรรม
7. ให้มีรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน โดยเฉพาะการให้ความอุปการะแก่คนชรา คนยากจน และคนทุพพลภาพ
8. ส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ โดยความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน
9. ส่งเสริมกิจการทหารตำรวจในด้านคุณภาพ สมรรถภาพเพื่อรับใช้ประชาชนให้เหมาะสมแก่การป้องกันประเทศ และรักษาความสงบภายใน พร้อมทั้งให้มีสวัสดิการโดยทั่วถึง
10. ปรับปรุงแก้ไขความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม
11. ป้องกันและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง เด็ดขาด โดยยึดหลักความเป็นธรรม
ด้านการเมือง
1.สนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2. ดำรงไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยของชาติ และรักษาไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งอาณาเขต
3. สนับสนุนองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินงานเพื่อสันติภาพ เพื่อแก้ไขและทำความตกลงในปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยสันติวิธี
4. ส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ โดยไม่ถือเอาระบบการปกครองที่แตกต่างกันเป็นเหตุแห่งการแบ่งแยก
5. ให้หลักประกันแก่ผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าด้วยแรงกายหรือแรงสมอง ในอันที่จะได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม และให้ความร่วมมือแก่สถาบันหรือองค์การผู้ใช้แรงงาน หรือพรรคการเมืองที่มีนโยบายสอดคล้องกับนโยบายของพรรค
6. ส่งเสริมการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยขึ้นในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ท้องถิ่นนั้นๆ
7. ดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ
8. ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมแห่งสังคม
9. ยึดหลักความเสมอภาคและความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย
ด้านเศรษฐกิจ
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรมมีดังนี้
1. เคารพสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน
2. ปฏิรูปและพัฒนาที่ดิน ให้เกษตรกรมีที่ทำกินและช่วยปลดเปลื้องหนี้สิน
3. จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ เช่น เครื่องจักร ปุ๋ย พันธุ์สัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช ยาปราบศัตรูพืชและอื่นๆ ให้แก่เกษตรกรด้วยราคาที่เป็นธรรม
4. ส่งเสริมให้มีการชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ทั่วถึง
5. ส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตทาง การเกษตร เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค
6. ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ และการประมง
7. ส่งเสริมขบวนการสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมายอย่างจริงจัง
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมมีดังนี้
1. ส่งเสริมการลงทุนและช่วยจัดหาทุนให้ตาม ความเหมาะสม และจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนวัตถุดิบให้ในราคายุติธรรม
2. จัดตั้งโรงงานหรือช่วยจัดตั้งโรงงานให้ประชาชนมีงานทำเพื่อเพิ่มผลผลิต
3. เร่งรัดพัฒนาการคมนาคม การขนส่ง และการท่องเที่ยว
4. ให้ความรู้ทางวิชาการและเทคนิคเพื่อปรับปรุงคุณภาพและปริมาณในผลผลิต
5. สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ควบคุมค่าเช่า ดอกเบี้ย และผลกำไรมิให้เป็นการขูดรีดผู้ใช้แรงงาน
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพาณิชยกรรมมีดังนี้
1.จัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ
2. ควบคุมคุณภาพสินค้า และให้หลักประกันในราคาสินค้าแก่ผู้ผลิตที่รัฐส่งเสริม
3. รวมกลุ่มผู้ประกอบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเพื่อให้มีพลังในการต่อรองทั้งราคาซื้อและราคาขาย
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงินการธนาคารมีดังนี้
1. รักษาเสถียรภาพแห่งเงินตราและรักษาดุลการค้า
2. ถือหลักประหยัดและตัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของทางราชการ
3. ปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม
4. ควบคุมการธนาคารและการเครดิตโดยใกล้ชิดเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการเศรษฐกิจ
5. กิจการใดที่เห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของชาติ หรือจะเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน รัฐจะจัดการดำเนินการเอง หรือเข้าไปมีส่วนในกิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ของเอกชน
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 92 ตอนที่ 193 น.73
- ↑ กนก วงษ์ตระหง่าน คู่มือการเมืองไทย : ๒๔๗๕-๒๕๒๕ ข้อมูลพื้นฐานทางการเมืองไทย หนังสืออ้างอิงไม่ทราบปีและสถานที่พิมพ์ น.160
- ↑ กนก วงษ์ตระหง่าน คู่มือการเมืองไทย : ๒๔๗๕-๒๕๒๕ ข้อมูลพื้นฐานทางการเมืองไทย หนังสืออ้างอิงไม่ทราบปีและสถานที่พิมพ์ น.71
- ↑ กนก วงษ์ตระหง่าน คู่มือการเมืองไทย : ๒๔๗๕-๒๕๒๕ ข้อมูลพื้นฐานทางการเมืองไทย หนังสืออ้างอิงไม่ทราบปีและสถานที่พิมพ์ น.72
- ↑ การลดลงดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ นายจรูญ กุวานนท์ รองหัวหน้าพรรค กับสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกจำนวน 3 คน ได้แก่ นาย บรรลือ น้อยมณี นายประเสริฐ บุญสม คุณหญิงบัวเขียว รังคศิริ และกรรมการอำนวยการพรรคอีก 2 คนคือ นายวิมพ์ วิมลมาลย์ และนายล้วน เวกชาลิกานนท์ ได้ยื่นใบลาออกจากพรรค โดยให้เหตุผลเรื่องอุดมการณ์ที่ต่างกัน ซึ่งมีการแถลงเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2519 ดูใน สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2519 น. 55
- ↑ ในช่วงนี้ยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง ดังนั้นจึงเป็นลักษณะของกลุ่มทางการเมือง จึงทำให้ยังไม่มีการระบุวันรับจดทะเบียนพรรคด้วย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 92 ตอนที่ 193 น.74-79