สยามปฏิรูป

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคสยามปฏิรูป

วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2518 ในช่วงรัฐบาลผสม 8 พรรคของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่มีสมาชิกพรรคในสภาเพียง 18 เสียงบริหารประเทศไปได้ยังไม่ถึงปีก็จำต้องยุบสภาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2519

จากนั้นต่อมาไม่นาน หลังจากเหตุการณ์นองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลแต่งตั้งของพล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2521 ในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้บัญญัติให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้ตามมาตรา 38 แต่ที่สำคัญก็คือในมาตรา 95 ระบุว่าคุณสมบัติหนึ่งของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คือจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะต้องส่งผู้สมัครไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่จะพึงมีในการเลือกตั้งครั้งนั้น หมายความว่าผู้ไม่สังกัดพรรคใดจะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

อย่างไรเสียรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า ให้มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกในวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในช่วงเวลา 4 ปี แรกนับตั้งแต่วันตั้งวุฒิสมาชิกยังไม่ให้ใช้ข้อบังคับที่ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีการประกาศการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 หนึ่งในพรรคเล็กพรรคน้อยที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้นคือพรรคสยามปฏิรูปที่ส่งผู้รับสมัคร 6 คน และได้รับเลือกตั้ง 1 คน คือ นายประมวล กุลมาตร์ ส. ส. จังหวัดชุมพร ต่อมาไดรวมตัวกับ ส.ส. พรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆจนมีสมาชิกในสภาจำนวน 8 คน ซึ่งมีหลักฐานรายชื่อชัดเจนเพียง 4 คนคือ นายประมวล กุลมาตย์, นายเปรม มาลากุล ส.ส. อุตรดิตถ์ เดิมลงสมัครในนามพรรคกรุงสยามปฏิรูป, นายบุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล ส.ส. จังหวัดขอนแก่น เดิมลงสมัครในนามพรรคพลังใหม่ และนายพานิช สัมภวคุปต์ ส.ส. เพชรบุรีที่เดิมลงสมัครโดยอิสระ โดยดำเนินนโยบายทางการเมืองว่า “กลุ่ม (พรรค) สยามปฏิรูปมีนโยบายสนับสนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น” ซึ่งนายประมวลได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับแต่งตั้งเป็นรองประธานสภาด้วย แต่แพ้ให้กับ นายมงคล สุคนธขจร จากพรรคชาติไทย ด้วยคะแนน 231 ต่อ 57 นายประมวลและพรรคสยามปฏิรูปยังเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภาด้วย

ในช่วงหนึ่งพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆราว 100 คนที่ดำเนินนโยบายสนับสนุนนายเกรียงศักดิ์ อันได้แก่พรรค ยังเคยคิดที่จะรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคประชารัฐด้วย นายประมวลเองก็เป็นตัวตั้งตัวตีร่วมกับนายจรูญ วัฒนากร, นางยุพา อุดมศักดิ์ และนายสวัสดิ์ คำประกอบ

คณะรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2522 เป็นอดีตข้าราชการประจำการส่วนใหญ่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ก็ถูกบีบจากฝ่ายทหารด้วยกันเองให้ลาออกหลังจากได้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นครั้งที่ 2 ได้เพียง 9 วันเท่านั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับแต่งตั้งจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2524 พลเอกเปรม ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับใหม่ โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2526 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ก็ยังไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ก็มีพรรคการเมืองเริ่มทยอยจดทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งตั้งยากขึ้นกว่า พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับ พ.ศ.2517 ซึ่งกำหนดให้มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 1,000 คน แต่คราวนี้ต้องมี 5,000 คน ซึ่งทำให้ ส.ส. จากพรรคสยามปฏิรูปเข้าร่วมกับพรรคสยามประชาธิปไตยพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์แทน โดยไม่มี ส.ส. หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคสยามปฏิรูปอีกต่อไป


ที่มา

เชาวนะ ไตรมาศ. ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปีประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2542.

พรรคการเมืองไทย. http://www.weopenmind.com/board/index.php?topic=5929.msg47927