สถาบันทิศทางไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และ นน ศุภสาร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          “สถาบันทิศทางไทย” (Thai Move Institute) เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวและจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมและชาตินิยม ภายใต้บริบทของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2540 ต่อเนื่องมาถึงช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 และภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองในด้านหนึ่งได้นำมาสู่การแบ่งฝ่ายทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา โดยสถาบันทิศทางไทยมีบทบาทในการเป็นผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสนับสนุนรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงผลิตข้อมูลเพื่อตอบโต้กับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมถึงประเด็นทางการเมืองอื่น ๆ ที่สืบเนื่องกันบนพื้นที่ออนไลน์ 

 

ความเป็นมา

          สถาบันทิศทางได้จัดงานแถลงเปิดตัวเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562[1]โดยแกนนำในการก่อตั้ง คือ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม (หรือ สนธิญาณ หนูแก้ว) สื่อมวลชน-ผู้บริหารสื่อหลายสำนัก เช่น เนชั่นและทีนิวส์ (Tnews) เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ในปี 2556-57[2]

          การจัดตั้งสถาบันทิศทางไทยได้ดำเนินและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของสนธิญาณ และ สุวินัย ภรณวลัย (อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้ร่วมก่อตั้ง)[3]กล่าวถึงการประชุมพูดคุยเพื่อจัดตั้งสถาบันทิศทางไทยซึ่งเป็นเครือข่ายคลังปัญญาที่มีการบูรณาการองค์กรทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียลกับเครือข่ายปัญญาชนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับการรับรู้และสติปัญญาของผู้คนในสังคมโดยรวมให้มุ่งไปในทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืน[4]รวมถึงมีการจัดวางตำแหน่งบุคลากรของสถาบันฯ และได้เปิดเผยรายชื่อกรรมการผู้ก่อตั้งสถาบันฯ ที่มีภูมิหลังจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักธุรกิจสื่อ นักเคลื่อนไหวทางสังคมรวมถึงอดีตผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เช่น สุวินัย ภรณวลัย, เวทิน ชาติกุล, ฉาย บุนนาค, กิตติธัช ชัยประสิทธิ์, นันทเดช เมฆสวัสดิ์, เดช พุ่มคชา รวมถึง สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา[5]โดยต่อมาได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “สมาคมสถาบันทิศทางไทย” ในเดือนกันยายน 2562 โดยมีสนธิญาณเป็นนายกสมาคมและกรรมการก่อตั้งบางส่วนเป็นคณะกรรมการบริหาร รวม 10 คน[6] 

          ก่อนหน้านี้มีการรวมกลุ่มในชื่อ “สมาคมทิศทางไท” มาก่อนแล้ว โดยปรากฏหลักฐานย้อนได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากการยื่นปรับปรุงคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสมาคม[7]ซึ่งปรากฏรายชื่อของกรรมการบริหารของสมาคมทิศทางไทในรายชื่อของสมาคมสถาบันทิศทางไทย ได้แก่ เดช พุ่มคชา, ปฏิยุทธ ทองประจง, สาวิทย์ แก้วหวาน และฉัตรชัย ภู่โคกหวาย[8]โดยภายหลังในงานแถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน ได้มีการประกาศรายชื่อสมาชิกแกนนำผู้ก่อตั้ง-คณาจารย์ของสถาบันฯ โดยมีทั้งกรรมการบริหารสมาคมฯ บางราย และบุคคลอื่นจากหลากหลายสาขาอาชีพเพิ่มเติม รวมทั้งหมด 25 คน เช่น เสรี วงษ์มณฑา, อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, อักษรศรี พาณิชสาส์น, สาวิทย์ แก้วหวาน เป็นต้น[9] มี สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันฯ เวทิน ชาติกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สุวินัย ภรณวลัย ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์วิชาการ และ แสงเทียน อยู่เถา ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์วิจัย[10]

          โดยในงานเปิดตัวสถาบันฯ อย่างเป็นทางการได้มีการปาฐกถาโดย จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี ในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก”[11]มีผู้เข้าร่วมงานจากหลายองค์กรรวมถึงจากฝ่ายรัฐบาล เช่น ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หรือสมาชิกวุฒิสภา ได้แก่ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และ สมชาย แสวงการ สุเทพ เทือกสุบรรณ (อดีตแกนนำ กปปส.) กรณ์ จาติกวนิช (ส.ส. ประชาธิปัตย์ในขณะนั้น) อุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี ศิลปินที่มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล รวมถึง บุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจ เป็นต้น[12]

          สถาบันทิศทางไทยยังมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มและพรรคไทยภักดีที่นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม โดยพรรคไทยภักดีมีสำนักงานพรรคและสถานที่แถลงข่าวเปิดตัวคืออาคารชื่นฤทัยในธรรม[13]ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกับสถาบันทิศทางไทย นอกจากนั้น ปฏิยุทธ ทองประจง กรรมการของสถาบันทิศทางไทย ยังเป็นแกนนำร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดีและดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสมาชิกพรรคอีกด้วยเช่นกัน[14]รวมถึงธนุ สุขบำเพิง ซึ่งมีรายชื่อเป็นผู้ร่วมก่อตั้งก็ทำงานด้านกฎหมายให้กลุ่มไทยภักดี ทั้งนี้ นพ.วรงค์เมื่อครั้งลาออกจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยในเดือนมิถุนายน 2563 ยังกล่าวถึงความตั้งใจที่จะร่วมงานกับในฐานะวิทยากรพิเศษของสถาบันทิศทางไทย[15]ซึ่งนพ.วรงค์ก็ได้เป็นร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาโดยสถาบันฯ ในประเด็นต่าง ๆ ในภายหลัง

 

แนวคิด การเคลื่อนไหว-บทบาททางการเมืองของสถาบันทิศทางไทย

          1) แนวคิด-หลักการของสถาบันทิศทางไทย

          สถาบันทิศทางไทยถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นเครือข่ายคลังปัญญา เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี จากแนวคิดของแกนนำของสถาบันทิศทางไทยได้ชี้ว่าสถาบันทิศทางไทยก่อตั้งขึ้นมาจากกระแสการต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์และกระแสการใช้พื้นที่ออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อต่อต้านรัฐบาลรวมถึงสถาบันกษัตริย์

          เวทิน ชาติกุล ได้กล่าวว่าการกำเนิดขึ้นของกลุ่มการเมืองพรรคอนาคตใหม่ซึ่งได้นำเสนอแนวคิด-อุดมการณ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและการเมืองไทยมีส่วนทำให้สถาบันทิศทางไทยเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดในด้านอื่นเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปใน “ทิศทางที่คิดว่าถูกต้อง”[16]เวทินยังได้กล่าวอีกว่าการเคลื่อนไหวของสถาบันทิศทางไทยนั้นเป็นการต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช้อาวุธ และไม่ปลุกระดมมวลชน[17]ในขณะที่ สุวินัย ภรณวลัย กล่าวว่าสถาบันทิศทางไทยทำให้สังคมมีทางเลือกในการรับข้อมูล ความคิดและความเชื่อที่หลากหลายขึ้น ซึ่งทำลายการผูกขาด การเผยแพร่ข้อมูลฝ่ายเดียวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีอิทธิพลครอบงำสังคมมาอย่างยาวนาน[18]นอกจากนั้น ได้มีการกล่าวว่าสถาบันทิศทางไทยไม่ได้กำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับกลุ่มหรือพรรคการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่มุ่งมองไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์และเป็นองค์รวมตามความเป็นจริงและปฏิบัติได้จริง[19]

          สถาบันทิศทางไทยประกาศถึง “แก่นหลักองค์ความรู้ 11 ประการ” มีเนื้อหาที่กล่าวถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น วิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะส่งผลต่อสังคมไทย เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและลดลง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คน การหาทางรับมือต่อการคุกคามสถาบันกษัตริย์จากฝ่ายการเมือง การครอบงำทางการเมืองโลกโดยสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจตะวันตกทั้งทางเศรษฐกิจและวาทกรรมประชาธิปไตย รวมถึงการลงท้ายคำถามว่าถึงวิธีที่จะทำให้คนไทยควรยกระดับจิตและจิตสำนึกในระดับปัจเจกและส่วนรวมเพื่อผลักดันวิวัฒนาการของสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน[20]ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในวิดิทัศน์แนะนำสถาบันทิศทางไทย โดยกล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การครอบงำโลกจากตะวันตก-สหรัฐฯ ด้วยทฤษฎีการจัดระเบียบโลกใหม่รวมถึงการครอบงำทางความคิดผ่านโซเชียลมีเดีย การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้มายาคติประชาธิปไตย หรือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัญหาหรือวิกฤตเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้อง “ระดมสมอง” เพื่อค้นหาแนวทางหรือหนทางให้ประเทศไทยดำรงอยู่ได้ในวิกฤตเหล่านี้[21]

          2) บทบาทการเคลื่อนไหวของสถาบันทิศทางไทย

          การเคลื่อนไหวของสถาบันทิศทางไทย ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2562 ผ่านการเผยแพร่เนื้อหาบนพื้นที่ออนไลน์อย่างแฟนเพจของสถาบันฯ ที่สร้างขึ้นในเดือนกันยายน รวมถึงการปรากฏตัวในสื่อสาธารณะอย่าง Nation ตั้งแต่เดือนสิงหาคม[22]โดยการเผยแพร่เนื้อหาข่าวสารหรือการแสดงความเห็นทางการเมืองของสถาบันทิศทางไทย มีช่องทางเผยแพร่ได้แก่เว็บไซต์ แฟนเพจ ทวิตเตอร์ รวมถึง YouTube

          เนื้อหาที่สถาบันทิศทางไทยได้เผยแพร่ โดยหลักแล้วจะเป็นการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ รัฐบาล โดยโจมตีฝ่ายการเมืองตรงกันข้าม เช่น พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มที่เกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร หรือการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและแกนนำในการชุมนุม รวมไปถึงข่าวสารต่างประเทศในลักษณะที่ชื่นชมจีนและโจมตีสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเนื้อหา เช่น การวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่สถาบันทิศทางไทยได้วิเคราะห์จำนวนที่แท้จริงของผู้ร่วมชุมนุม และตั้งข้อสงสัยว่าผู้คนที่ปรากฏในภาพการชุมนุมบางส่วนเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องที่เดินผ่านพื้นที่เพื่อไปทำธุระส่วนตัวเท่านั้น[23]หรือการนำเสนอแผนผัง “เครือข่ายปฏิวัติประชาชน” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เช่น กลุ่มทักษิณ ชินวัตร กลุ่มธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สื่อ นักวิชาการ รวมถึงสหรัฐอเมริกา เข้ากับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอก[24]ในกรณีการจัดหาวัคซีนโรคโควิด-19 สถาบันทิศทางไทยยังได้เผยแพร่ข้อมูลโจมตีวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเรียกร้องให้นำเข้ามาใช้แทนวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลนำเข้ามาใช้ (ซึ่งสถาบันทิศทางไทยก็ได้เผยแพร่ข้อมูลสนับสนุนวัคซีนชนิดนี้ด้วยเช่นกัน) โดยกล่าวว่าวัคซีน mRNA เป็นการเอื้อผลประโยชน์แก่ประเทศตะวันตกที่ผลิตและจำหน่าย[25]ซึ่งการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาทางการเมืองนี้ในหลายครั้งเป็นการนำเนื้อหาหรือข่าวจากสื่อในเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับสนธิญาณหรือสถาบันฯ เช่น The Truth หรือ Top News มาเผยแพร่ โดยการนำเสนอเนื้อหาข่าวยังครอบคลุมถึงประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลทางการเมืองโดยตรง เช่น การนำเสนอรายชื่อคณาจารย์-นักวิชาการที่เรียกร้องให้หยุดตั้งคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง[26]ที่ถูกกล่าวหาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าบิดเบือนข้อมูล หรือการนำรายชื่อและรูปภาพของสมาชิกองค์กรบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้แทนคณะต่าง ๆ มาเผยแพร่ ภายหลังที่มีการประกาศยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี[27]

          นอกจากการนำเสนอข่าว-เนื้อหา สถาบันทิศทางไทยยังได้มีการแถลงการณ์หรือนำเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การออกแถลงการณ์ให้ทุกฝ่ายในสังคมยอมรับการตัดสินทางกฎหมายของศาล ก่อนการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563[28]หรือการแถลงการณ์สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อการชุมนุมที่มุ่งร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ในเดือนตุลาคม 2563[29]รวมไปถึงการแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เพื่อสร้าง “รัฐบาลเสียงข้างน้อยคุณภาพ” ในช่วงที่เกิดวิกฤตการบริหารจัดการภายใต้การระบาดของโควิด-19 ช่วงกลาง ปี 2564[30]

          สถาบันทิศทางไทยยังสร้างกลุ่มในเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายสถาบันทิศทางไทย” ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 40,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2564)[31]โดยเนื้อหาที่เผยแพร่ในกลุ่มเป็นการนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาจากสถาบันทิศทางไทยโดยสื่อที่มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน เช่น สนับสนุนสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ทางการเมือง เช่น การร่วมลงชื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กิจกรรมการชุมนุมของฝ่ายอนุรักษนิยม-สนับสนุนรัฐบาล โดยมีผู้ดูแลกลุ่มและเป็นผู้ที่มักจะนำข้อมูลมาเผยแพร่เป็นกรรมการหรือบุคลากรของสถาบันทิศทางไทย

          สถาบันทิศทางไทยยังได้มีการเคลื่อนไหวผ่านการจัดงานเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเสวนาในหัวข้อ “อยู่ เย็น เป็นสุข” ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มีใจความตอบโต้กับกระแส “อยู่ไม่เป็น” ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล[32]งานเสวนาในหัวข้อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีเนื้อหาต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขและฝ่ายการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ[33]หรืองานเสวนาสนับสนุนการมีอยู่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ร่วมกับกลุ่มไทยภักดี[34]

          ทั้งนี้ สถาบันทิศทางไทยยังมีการจัดอบรมในหลักสูตร “Ignite Thai Move” โดยการอบรมรุ่นแรกเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 โดยหัวข้อในการอบรมครั้งต่อ ๆ มา ได้แก่ สถาบันกษัตริย์กับความเป็นไทย วิกฤตประชากรโลก-สิ่งแวดล้อม ความพยายามครอบงำโลกโดยสหรัฐอเมริกา และ “ทุนสามานย์” รวมไปถึงหัวข้อด้านเศรษฐกิจหรือทักษะการสื่อสาร[35]เป็นต้น การอบรมหลักสูตร Ignite Thai Move ได้จัดขึ้นถึงรุ่นที่ 5 โดยจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563[36]

          อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการกำเนิดขึ้นและการเคลื่อนไหวของสถาบันทิศทางไทย สะท้อนการนำเสนอข้อมูลจากมุมมองแบบอนุรักษนิยมทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำเอาสถาบันทิศทางไทยไปล้อเลียนโดยการสร้างแฟนเพจในชื่อ “สถาบันหลงทิศหลงทางประเทศไทย - Thailand Move Backward Institute”[37]หรือมีการเรียกโดยทั่วไปว่า “สถาบันหลงทิศทางไทย”

 

อ้างอิง

[1] “เปิดตัว ‘สถาบันทิศทางไทย’ ขับเคลื่อนไทยไร้ขัดแย้ง,” กรุงเทพธุรกิจ, (4 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/853219. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[2] “สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม,” วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wik/สนธิญาณ_ชื่นฤทัยในธรรม. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[3] Suvinai Pornavalai, Facebook, (5 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/suvinaip/posts/2249760585061070. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564, “สนธิญาณ-สุวินัย-กิตติธัช จับมือก้าวข้ามGen!! ตั้งสถาบัน ‘ทิศทางไทย’ สร้างคลังปัญญาประเทศ,” ทีนิวส์, (7 กรกฎาคม 2562). เข้าถึงจาก https://bit.ly/3HKQzOS. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[4] Suvinai Pornavalai, Facebook, (5 กรกฎาคม 2562)

[5] “สนธิญาณ-สุวินัย-กิตติธัช จับมือก้าวข้าม Gen!! ตั้งสถาบัน ‘ทิศทางไทย’ สร้างคลังปัญญาประเทศ,” ทีนิวส์.

[6] “ประกาศนายทะเบียนสมาคมประจำจังหวัดนนทบุรี เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งสมาคม,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอน 85ง น.151-152, 7 พฤศจิกายน 2562, เข้าถึงจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/D/085/T_0151.PDF. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[7] “ประกาศนายทะเบียนสมาคมประจำจังหวัดนนทบุรี เรื่อง การขอจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของสมาคมใหม่ทั้งชุด” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอน 29ง น. 189, 18 เมษายน 2562, เข้าถึงจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/D/029/T_0189.PDF. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[8] อ้างแล้ว.

[9] “เปิดตัว ‘สถาบันทิศทางไทย’ ขับเคลื่อนไทยไร้ขัดแย้ง,” กรุงเทพธุรกิจ.

[10] “สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์หนุน ‘ดร.อานนท์’,” Top News, (1 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.topnews.co.th/news/11416. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[11] “เปิดตัว ‘สถาบันทิศทางไทย’ ขับเคลื่อนไทยไร้ขัดแย้ง,” กรุงเทพธุรกิจ.

[12] อ้างแล้ว.

[13] Warong Dechgitvigrom, Facebook, (13 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/therealwarong/posts/2932655033672195. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564, “เปิดตัว ‘พรรคไทยภักดี’ สุดคึก ‘วรงค์’ ลั่นพร้อมชิงนายกฯ,” ไทยโพสต์, (9 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก  https://www.thaipost.net/main/detail/119234. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[14] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไทยภักดี,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอน 81ง น. 115, 4 พฤศจิกายน 2564, เข้าถึงจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/D/081/T_0066.PDF. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564.

[15] “หมอวรงค์ ลาออกจาก รปช. เตรียมตั้งกลุ่มการเมือง เป็นวิทยากรให้สถาบันทิศทางไทย,” The Standard, (24 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก https://thestandard.co/warong-dechgitvigrom-resign-from-act-party/. เมื่อ 16 ตุลาคม 2564.

[16] “‘เขาบอกพวกเราขวาจัด’ คุยความคิดกับเวทิน ชาติกุล,” The Active, (11 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก https://theactive.net/read/they-tell-we-are-ultra-conservative/. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[17] สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, Facebook, (17 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/sontiyantnews/posts/2920294261314677. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[18] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (6 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/146838436699478. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[19] Suvinai Pornavalai, Facebook, (5 กรกฎาคม 2562).

[20] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (12 กันยายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/114742973242358. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[21] อิสระ ชูศรี, “ทิศทางไทย: ย่าง ย่ำ หรือย้อน?,” The 101, (20 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.the101.world/thai-move-institute/.เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[22] Thai News - ไทยนิวส์, Facebook, (10 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/ThaiNews.co/posts/2815680588463428. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[23] “สถาบันทิศทางไทยยก 21 ข้อ อ้างอย่าเหมารวมคนทั้งหมดในภาพ สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (10 สิงหาคม 2563). ตั้งใจมาร่วมแฟลชม็อบ,” มติชนออนไลน์, (15 ธันวาคม 2562). เข้าถึงจากhttps://www.matichon.co.th/politics/news_1816460. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[24] เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/337175887665731. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[25] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (10 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/590664998983484. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564.

[26] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (29 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/520542612662390. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564; โพสต์นี้เป็นการนำเสนอเฉพาะรายชื่อคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ยังมีการนำเสนอรายชื่อคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นด้วยเช่นกัน.

[27] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (26 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/666752108041439. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[28] “สถาบันทิศทางไทย ออกแถลงการณ์ รณรงค์ให้ทุกคนในสังคมเคารพ ยอมรับในหลักกฎหมาย,” ทีนิวส์, (16 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก https://www.tnews.co.th/politic/522006. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[29] “‘สถาบันทิศทางไทย’ หนุนใช้กฎหมายเคร่งครัด ‘ม็อบ’ จาบจ้วงสถาบันฯ,” ฐานเศรษฐกิจ, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thansettakij.com/politics/452889. เมื่อวันที่

[30] “สถาบันทิศทางไทย แถลงการณ์ถึง ‘นายกฯ’ ตัดสินใจเด็ดขาด ปรับ ครม. แก้วิกฤตเพื่อประชาชน!!,” สถาบันทิศทางไทย, (21 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.thaimoveinstitute.com/38715/. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[31] เครือข่ายสถาบันทิศทางไทย, Facebook, เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/groups/545424559527302. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564.

[32] “สถาบันทิศทางไทย จัดเสวนา ‘อยู่ เย็น เป็น สุข’,” กรุงเทพธุรกิจ, (16 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/854856. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[33] “วงเสวนา ‘ไพบูลย์-สมชาย-วรงค์’ ลั่นล้มรธน. 1 ฉบับ เท่ากับนิรโทษฯ คดีการเมือง ขวางตั้ง ส.ส.ร.,” Voice Online, (9 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก https://voicetv.co.th/read/1BVJdhZmW. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[34] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (16 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/451506452899340. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[35] สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (9 พฤศจิกายน 2562). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/148220406561281. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[36]  สถาบันทิศทางไทย – Thai Move Institute, Facebook, (15 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/posts/316002126449774. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564.

[37] สถาบันหลงทิศหลงทางไทย - Thailand Move Backward Institute, Facebook, เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/ThaiMBI/. เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564.