สง่า กิตติขจร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


สง่า กิตติขจร : น้องผู้ร้องขอรัฐธรรมนูญจากพี่

          เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ปี 2516 มีผู้คนหลายคนร่วมกันลงชื่อยื่นถึงรัฐบาลที่มีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อขอรัฐธรรมนูญ ที่เป็นดังนี้เพราะก่อนหน้านั้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2517 จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทำการปฏิวัติ ประกาศยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 จึงมีผลให้ล้มรัฐสภาและรัฐบาลด้วย แต่จอมพล ถนอมก็ได้อาศัยอำนาจปฏิวัติกลับมา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และปกครองโดยอาศัยประกาศคณะปฏิวัติจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2515 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปกครองบ้านเมืองโดยไม่ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญถาวรแต่อย่างใด จึงมีกลุ่มบุคคลจำนวน 100 คนได้ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในจำนวนผู้ที่ลงชื่อขอรัฐธรรมนูญครั้งนั้นมีพลตำรวจตรี สง่า กิตติขจร น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจอมพล ถนอมผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย และก็อย่างที่คนทั่วไปทราบกันดีว่าการเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญครั้งนั้นได้นำมาสู่เหตุการณ์ วันที่ 14 ตุลาคม ปี 2516 ที่ล้มรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ จนตัวจอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินทางออกไปอยู่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุนี้จึงถือกันว่า พลตำรวจตรี สง่า กิตติขจร เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้วย ด้วยคนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น

          สง่า กิตติขจร เป็นคนเมืองตากเช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีจอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้เป็นพี่ มีบิดา ได้แก่ ขุนโสภิตบรรณารักษ์ (อำพัน) และมารดา คือ นางลิ้นจี่ เกิดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปี 2462 ที่ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่จังหวัดตาก แล้วจึงเข้ามาอยู่กับพี่ชาย ที่กรุงเทพฯ โดยมาเรียนชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่โรงเรียนราชบุรีวิทยาลัย จบปี 2480 จากนั้นเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก เรียนทางด้านตำรวจ จบมาแล้วเข้ารับราชการเป็นตำรวจในปี 2483 ท่านเป็นตำรวจได้ปีเดียว ประเทศไทยทำสงครามอินโดจีน ท่านเป็นผู้บังคับกองร้อยนำกำลังไปปฏิบัติการถึงสหรัฐไทยเดิมในพื้นที่พม่า หลังสงครามปี 2484 แล้ว ท่านได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต่อมาสง่าก็ได้ไปศึกษาด้านตำรวจที่เมืองเฮนดอน และนิวสกอตแลนด์ยาร์ด ที่ประเทศอังกฤษ จนถึงปี 2493 ภายหลังยังได้มีโอกาสไปศึกษาระดับปริญญาโทด้านอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เมืองเบอร์คเลย์ สำเร็จกลับมาในปี 2495 การทำงานที่กรมตำรวจจึงได้รับความเจริญตามลำดับ ท่านเป็นน้องชายของนายทหารใหญ่ที่ชื่อถนอมกิตติขจร ที่มีบทบาทในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนปี 2490 แต่ในการรัฐประหารครั้งนั้นไม่มีชื่อสง่าปรากฏเข้าร่วม ตำแหน่งในกรมตำรวจที่สำคัญ ที่สง่า กิตติขจร เคยเป็น คือ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจดุสิตซึ่งเป็นสถานีตำรวจที่สำคัญในกรุงเทพฯ และท่านยังได้เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม ซึ่งต่อมาทำให้ท่านได้ยศเป็นนายพลตำรวจตรี สำหรับชีวิตครอบครัวท่านได้สมรสกับคุณหญิงระวิ กิตติขจร

          ส่วนชีวิตทางการเมืองนั้นในสมัยที่พี่ชายของท่านเป็นนายกรัฐมนตรีท่านได้รับการแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าปฏิวัติตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2502 ที่อยู่มาถึงปี 2511 ทั้งท่านยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งหลังนี้ได้เป็นเมื่อพี่ชายของท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง หลังจากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ครั้นมีรัฐธรรมนูญปี 2511 ซึ่งเป็นเวลาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปกันอีกครั้งหนึ่ง จอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้เป็นพี่ชายและคณะได้จัดตั้งพรรคสหประชาไทย ขึ้นมาเพื่อจัดคนลงสมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง สง่า กิตติขจร ก็ได้ช่วยพี่ชายโดยเป็นกรรมการกลางของพรรค แต่ท่านไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย เพราะก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2511 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว และเมื่อจอมพล ถนอมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง สง่า กิตติขจร ก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เป็นอยู่จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายนปี 2514 วันที่จอมพล ถนอมกับคณะได้ยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญ โดยที่สง่าไม่ค่อยจะเห็นด้วย

          แต่ในปี 2515 เมื่อมีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สง่าก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนั้น ตอนที่ท่านร่วมอยู่ใน 100 คนที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 ตุลาคม ปี 2516 ท่านจึงเป็นทั้งน้องชายของนายกรัฐมนตรีและเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ด้วย จอมพล ถนอม กิตติขจร เขียนเล่าเอาไว้ว่า

“แต่บางเรื่องเขามีความเห็นไม่ตรงกับผม จากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญขึ้นในเดือนตุลาคม 2516 สง่าจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีชื่ออยู่ในผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ”

           ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2518 ขณะที่มีอายุได้ 56 ปี สง่าได้ลาออกจากราชการ ครั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2521 และมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2522 สง่าจึงลงสู่สนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ในนามพรรคร่วมไทยและท่านก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรสมใจ ยิ่งไปกว่านั้นในรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สง่าได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย ท่านได้ดำรงตำแหน่งต่อมาเพียง 8 เดือนก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง และเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งท่านได้มีถิ่นที่อยู่สืบมา

          พลตำรวจตรี สง่า กิตติขจร ได้มีชีวิตอยู่นอกวงการเมืองต่อมา จนถึงแก่อนิจกรรมในปี 2540