วังศุโขทัย “บ้าน” ส่วนพระองค์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์



ความนำ

วังศุโขทัยเป็นวังส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา หลังจากที่เสด็จฯ กลับมาจากการศึกษาในประเทศอังกฤษ และพระองค์ได้ประทับเป็นประจำที่วังนี้ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (ในพระอิสริยยศ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา) จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จากนั้นได้เสด็จฯ ไปประทับและทรงใช้วังนี้เป็นครั้งคราวและบางช่วง จนกระทั่งได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและทรงสละราชสมบัติขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และต่อมาเสด็จสวรรคตที่ประเทศนั้น วังนี้จึงไม่ได้เป็นที่ประทับอีก หากแต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จฯ กลับมาพร้อมกับพระบรมอัฐิในพ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จฯ ได้เสด็จฯ มาทรงใช้วังนี้เป็นที่ประทับในกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในพ.ศ. ๒๕๒๗ วังนี้ได้ตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง

ทำเลที่ตั้ง

วังศุโขทัยตั้งอยู่บนที่ดินรูปใกล้เคียงกับสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมที่ดินผืนนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ผู้ประสูติในปีเดียวกันและทรงสนิทกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ หากแต่พระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ได้สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อพระชันษา ๑๖ ปี และยังไม่ได้ทรงสร้างวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้สอยที่ดินแปลงนี้[1]

ในรัชกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานที่ดินผืนนี้แด่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เมื่อในพ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษและยังไม่ทรงมีวังของพระองค์เอง ทรงอาศัยประทับอยู่ที่วังท่าเตียน (บ้านจักรพงศ์ในปัจจุบัน) วังฤดูร้อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระเชษฐาร่วมพระมารดา (คำบอกเล่าของ ม.จ.กมลีสาณ ชุมพล ผู้ถวายตัวและทรงอุปการะมาตั้งแต่ครั้งนั้น) โดยได้เสด็จไปทรงเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระมารดา ที่วังพญาไท (พระราชวังพญาไทในเวลาต่อมา) โดยสม่ำเสมอ

ที่ดินผืนนี้ตั้งอยู่ในทำเลซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการสัญจรทางน้ำผ่านแม่น้ำลำคลอง กับทางบกผ่านถนน ซึ่งมีการบุกเบิกสร้างในแถบนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดิน เรือกสวนไร่นา เพื่อทรงสร้าง “สวนดุสิต” (พระราชวังดุสิตในเวลาต่อมา) โดยถนนสามเสนได้รับการตัดขึ้นก่อน ตั้งแต่สะพานเทเวศวร์นฤมิตรไปทางทิศเหนือถึงถนนทหาร แล้วจึงมีการตัดถนนรอบพระราชวังดุสิตและวังของพระเจ้าลูกยาเธอต่างๆ ได้แก่ถนนลก (ถนนพระราม ๕) ถนนดวงตะวัน (ถนนศรีอยุธยา) ถนนซังฮี้ (ถนนราชวิถี) และถนนราชวัตร (ถนนนครไชยศรี) ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาถึงถนนประทัดทอง (ถนนพระราม ๖) ทั้งหมดเป็นถนนในโครงการถนนอำเภอดุสิต เพื่อให้ราษฎรสามารถเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างพระนครกับย่านชานเมืองด้านทิศเหนือได้สะดวก การตัดถนนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเรือกสวนไร่นาสู่พ่อค้ามากขึ้นตามลำดับ ต่อมาได้มีการตัดถนนดวงเดือนหรือดาวข่าง (ถนนสุโขทัย) ตั้งแต่แม่น้ำถึงถนนพระราม ๕ [2]

ที่ดินวังศุโขทัย ทิศเหนือติดกับคลองสามเสนก่อนที่ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเล็กน้อย ทิศใต้ติดกับถนนสุโขทัย ซึ่งได้ชื่อนี้มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ เมื่อมีการสร้างวังแล้ว ทิศตะวันออกติดกับถนนสามเสน มีสะพานกิมเซ่งหลี (สะพานโสภณ) ข้ามคลองสามเสนอยู่ที่หัวมุมวัง และมีวัดโบสถ์สามเสนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนนสามเสน ทิศตะวันตก คือหลังวัง เป็นถนนดาวข่าง ซึ่งวิ่งจากถนนสุโขทัยไปทางทิศเหนือสู่ตลาดสามเสนใกล้แม่น้ำและคลองสามเสน แต่มีวัดประสาทบุญญาวาสหรือวัดขวิด และที่ดินอีกผืนหนึ่งติดกับวัดคั่นอยู่ (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป) ส่วนทางทิศใต้ของถนนสุโขทัยแถบท้ายวังเป็นถนนขาวซึ่งตัดไปทางทิศใต้สู่ถนนราชวิถีส่วนที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เลยไปบนถนนราชิถีนี้ทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของพระราชวังดุสิต และสวนสุนันทา ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้านายฝ่ายในได้ทรงสร้างวังในบริเวณ “สวนนอก” ริมถนนสุโขทัยทางทิศตะวันออกของวังศุโขทัยเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ เห็นได้ว่าทำเลที่ตั้งของวังศุโขทัยนั้นอยู่ไม่ไกลจากเขตพระราชฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็อยู่ท่ามกลางชุมชนที่ยังมีสวนผลไม้ บ้านพ่อค้าคหบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนโรงสี โรงเลื่อยอีกฝั่งหนึ่งของคลองสามเสน [3] และชุมชนชาวจีนตลาดสามเสน อู่เรือและโรงสีข้าว โรงเลื่อยและโรงรำ อีกทั้งบนถนนขาวยังมีวังของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย องค์ต้นราชสกุลไชยันต์ และวังของกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ องค์ต้นราชสกุลเกษมศรี ซึ่งตั้งอยู่ถัดไป [4] [5] นับได้ว่าตั้งอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางสังคม

ในแง่การคมนาคมโดยเฉพาะบนถนนสามเสนซึ่งยังคงเป็นแบบหินขนาดเล็กบดอัดธรรมดากว้างไม่เกิน ๑๐ เมตร ไม่มีทางเท้าแต่มีรถรางสายบางกระบือ-วิทยุวิ่งผ่าน[6] รถรางนี้มีอีกสายหนึ่งวิ่งจากแยกถนนสามเสนบนถนนสุโขทัยไปทางทิศตะวันตกจนถึงตลาดสามเสน [7] บนถนนสุโขทัยตอนนี้ จึงมีเรือนแถวหลายห้องซึ่งใช้เป็นที่พำนักและค้าขาย ส่วนที่ใกล้ถนนสามเสนอยู่บนที่ดินซึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยฯ ทรงซื้อจากพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งเป็นที่ที่ว่ามี ๔ ไร่ [8] ซึ่งปัจจุบันตกทอดมายังทายาทในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม ถัดจากเรือนแถวเหล่านี้ไปทางทิศใต้เป็นพื้นที่ของวชิรพยาบาล ซึ่งมีทางเข้าด้านหน้าที่ถนนสามเสนและด้านข้างถนนสังคโลก ที่ดินแห่งนี้เดิมเป็นบ้านหิมพานต์ของพระสรรพการหิรัญกิจ ผู้ตั้งใจจะเปิดเป็นสวนสาธารณะ แต่ประสบปัญหาทางการเงิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงได้ทรงซื้อมาเป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาล[9] รวมความว่าสถานที่ตั้งวังศุโขทัยอยู่ในทำเลที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการคมนาคม การพักอาศัย การค้าขาย และการสาธารณสุข แม้ว่าจะยังถึงกับพร้อมมูล ทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้าสามเสนทางทิศเหนือ


การสร้างวังและบริเวณวัง

การสร้างวังเริ่มขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๙ [10] ปีถัดไปจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยฯ เสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษ พระตำหนักและตำหนักต่างๆ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน[11] ชื่อนายลิสโวโน่[12] ระหว่างที่มีการสร้างวังอยู่นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เสด็จไปประทับแรมเพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างเป็นครั้งคราว ณ เรือนไม้ใต้ถุนสูงริมคลองสามเสนตรงโค้ง ซึ่งตั้งอยู่บนแปลงที่ดินนอกเขตวัง (คือถัดจากประตูหลังวัง) อีกซีกหนึ่งของที่ดินแปลงนี้ คือซีกที่ติดกับวัดประสาทบุญญาวาส ต่อมาเป็นที่ตั้งของคลังเก็บเครื่องราชภัณฑ์ที่ไม่ได้ทรงใช้สอยเป็นประจำ ที่ดินแปลงนี้จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแต่แรก เพราะปัจจุบันตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับวัง พระตำหนักไม้หลังนี้ ต่อมาได้โปรดให้พระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) มหาดเล็กข้าหลวงเดิมผู้ใหญ่ผู้ถวายงานดูแลวังและท้าวอนงค์รักษา (พร้อง ทองเจือ) ภรรยา ใช้เป็นที่พำนักสืบมาตั้งแต่สร้างวังเสร็จ


สิ่งปลูกสร้างในวัง ได้แก่

พระตำหนักใหญ่ที่ประทับ เป็นตึกสองชั้น ก่ออิฐฉาบปูนเรียบ หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนยอดของจั่วประดับด้วยไม้จำหลักลาย ด้านหน้าพระตำหนักมีมุขยื่นออกมาจากองค์พระตำหนัก ชั้นล่างเป็นที่เทียบรถยนต์พระที่นั่ง[13] ชั้นบนเป็นโถงเฉลียงโล่ง ซึ่งแต่เดิมไม่มีหน้าต่างกระจกซึ่งต่อเติมขึ้นในภายหลัง เข้าใจว่าเมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จฯ กลับมาประทับ โถงเฉลียงนี้แต่เดิมจึงโปร่งทะลุไปถึงด้านหลังซึ่งเป็นเฉลียงทางเดิน ห้องโถงนี้ใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญส่วนพระองค์ มีห้องพระ (ซึ่งในภายหลังเป็นห้องประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิองค์น้อย) อยู่ทางทิศตะวันออกซึ่งมีอัฒจันทร์ (โถงบันได) รูปตัวยู อยู่ด้านหลัง เป็นห้องเก็บฉลองพระองค์และเย็บผ้า ด้านทิศตะวันตกเป็นห้องพระบรรทมและห้องสรง หลังห้องสรงมีบันไดเวียนแคบๆ สำหรับข้าหลวงขึ้นลง ชั้นล่างมีเฉลียงทางเดินทั้งด้านหน้าและด้านหลังเช่นกัน ด้านทิศตะวันออกมีห้องเล็กๆ ซึ่งเป็นห้องลงนามถวายพระพรของบุคคลต่างๆ ตรงกลางมีประตูเข้าสู่อัฒจันทร์โถงบันได ถัดมาเป็นห้องทรงรับแขก มีประตู ๒ บาน ๒ ช่อง ตรงกันหน้า/หลัง ให้ลมผ่านได้สะดวก ถัดไปทางทิศตะวันตกมีประตูแบบเดียวกันคู่หนึ่งเปิดจากห้องทรงรับแขกนี้สู่ห้องเสวยซึ่งตั้งโต๊ะอาหาร ๑๒ ที่พอดีๆ หลังห้องเสวยแต่ไม่เปิดสู่ห้องเสวยโดยตรงเป็นห้องแพนทรี่ (pantry) เก็บจานชามและพักเครื่องเสวยก่อนที่มหาดเล็กจะเชิญเข้าสู่ห้องเสวย ที่มุขทิศตะวันออกด้านหลังเป็นห้องทรงพระสำราญ (ข้อมูลจากความทรงจำของผู้เขียน) ห้องนี้เดิมเป็นห้องทำงานของนายจ่ายวด ผู้ที่ต่อมาได้รับพระราชทานราชทินนามว่าหลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง) หรือ “คุณหลวงนาย” ของชาววังศุโขทัย มหาดเล็กข้าหลวงเดิมผู้มีหน้าที่สำคัญในการ “เทียบเครื่อง” คือ ชิมพระกระยาหารก่อนเสวย [14] แสดงว่าทรงไว้วางพระราชหฤทัยยิ่ง ห้องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ หลังเสด็จกลับมาจากการทรงศึกษาวิชาเสนาธิการทหารบกที่ประเทศฝรั่งเศส ทรงไว้ในพระหัตถเลขาส่วนพระองค์ว่าโปรดให้ขยายออกไป เพื่อทรงใช้เป็นที่ทรงงาน เมื่อต้องทรงหนังสือราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในช่วงนี้มีการดัดแปลงพระตำหนักในรายละเอียดอื่นๆ บางประการด้วย[15] เห็นได้ว่าพระตำหนักที่ประทับนี้มีขนาดพอเหมาะแก่การทรงใช้งาน คือไม่ได้ใหญ่โตแต่อย่างใด อีกทั้งการตกแต่งภายในเช่นที่ฝ้าเพดานและบานพระทวารก็มีเฉพาะที่ห้องสำคัญ เช่นห้องทรงรับแขกและห้องเสวย[16]

ตำหนักไม้ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระตำหนักใหญ่หันหน้าไปทางทิศใต้เช่นเดียวกัน เพื่อรับลมซึ่งพัดผ่านสนามดีมาก เป็นตำหนัก ๒ ชั้น สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มีเฉลียงกว้างเดินได้เกือบรอบ ด้านหน้ามีมุขยื่นเป็นรูปครึ่งหนึ่งของหกเหลี่ยม เป็นแบบที่เรียกว่า bay window ตามแบบต่างประเทศ ลักษณะที่น่าสนใจคือการใช้ฝาไม้ตีแนวนอนบรรจุในเคร่าที่เห็นได้จากภายนอก[17] มีขนาดที่ดูใหญ่กว่าพระตำหนักใหญ่ ชั้นล่างเป็นห้องประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและฉายภาพยนตร์ ชั้นบนเป็นห้องนอนหลายห้องซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้านายรุ่นเยาว์ในพระอุปการะ บางครั้งก็ว่าเป็น “ที่ประทับในช่วงฤดูร้อน” บ้างก็ว่าเป็น “ที่ประทับชั่วคราว” ซึ่งคงหมายถึงระหว่างที่กำลังก่อสร้างพระตำหนัก” [18][19] [20] ระหว่างพระตำหนักใหญ่และพระตำหนักไม้มีสะพานหลังคาคลุมทอดถึงกัน ซึ่งปรากฏให้เห็นและใช้งานได้อยู่หลายปีหลังจากที่สมเด็จฯ เสด็จฯ เข้าประทับที่วังนี้เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๔[21] และเมื่อทรุดโทรมลงได้มีการรื้อออกไป (ความทรงจำของผู้เขียน)

อนึ่ง ที่ระดับพื้นดินหน้าสะพานนี้ มี “ซุ้มองุ่น” ซึ่งยกพื้นขึ้นมา มีหลังคาไม้ระแนงคลุมบางส่วน เดิมปลูกองุ่นเขียวและองุ่นแดงปกคลุม ที่พื้นปูหญ้าญี่ปุ่น ด้านหน้าสุดเป็นพื้นซีเมนต์ (ภายหลังปูกระเบื้องดินเผาสีแดง) ไม่มีหลังคาคลุม ทรงใช้เป็นสถานที่เสวยพระสุธารสชายามบ่ายๆ เย็นๆ [22]

ตำหนักน้ำ เป็นตำหนักซึ่งตั้งอยู่หลังพระตำหนักใหญ่และริมคลองสามเสน ลักษณะเป็นอาคารโปร่งชั้นเดียว มีห้อง ๒ ข้าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นห้องบิลเลียดและห้องเตรียมอาหาร ตรงกลางเป็นทางเดินไปสู่บันไดท่าน้ำ หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนยอดของจั่วประดับด้วยไม้จำหลักลายแบบตะวันตกเช่นเดียวกับพระตำหนักใหญ่[23] มีที่เทียบรถยนต์ใต้หลังคาอยู่ด้านหน้า ส่วนไม้จำหลักนั้นบางส่วนเป็นลายใบไม้ กล่าวกันว่าสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ โปรดที่จะเสด็จฯ ทางเรือจากวังพญาไทมาประทับทรงพักผ่อนพระอิริยาบถที่ตำหนักเนืองๆ [24] มีทางเดินหลังคาคลุมตกแต่งในลักษณะเดียวกันระหว่างพระตำหนักใหญ่กับตำหนักน้ำนี้ และอีกส่วนหนึ่งสู่ห้องเครื่องซึ่งเป็นที่เตรียมพระกระยาหารไกลออกไปจากพระตำหนักใหญ่ทางทิศตะวันตก

พระตำหนักและตำหนักสร้างเสร็จในพ.ศ. ๒๔๖๒ [25] หากแต่ว่า ด้วยมีข้อมูลว่าหลังงานอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเข้าประทับที่วังศุโขทัยทันที[26] จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าประทับ ณ อาคารหลังใดในช่วงแรกนั้น ในประเด็นนี้มีข้อมูลว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ โปรดให้ขอพระราชทานย้ายพระตำหนักที่สวนสี่ฤดู ที่ประทับเดิม ณ บริเวณพระราชวังดุสิตมาสร้างขึ้นใหม่ พระราชทานเป็น “ตำหนักหอ” (เรือนหอ) [27] จึงเป็นไปได้ว่าทั้งสองพระองค์คู่สมรสประทับ ณ พระตำหนักสี่ฤดูนี้ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระตำหนักใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่สนามใหญ่หน้าพระตำหนักใหญ่ ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลบอกเล่าของหม่อมหลวงประอร (มาลากุล) จักรพันธ์ว่า ญาติผู้ใหญ่ในราชสกุลมาลากุลผู้เป็นคุณท้าวข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เล่าว่าสมเด็จฯ พระองค์นั้นได้เสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักสี่ฤดูนี้เป็นครั้งคราวก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒[28]


พระตำหนักสี่ฤดู นี้แต่ครั้งที่อยู่ในบริเวณพระราชวังดุสิตสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังทาสีชมพูเข้ม มีหน้าต่างกระจกโดยรอบ มีห้องโถงตรงกลางระหว่างห้องสองห้องแต่ละข้างทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ชั้นบนด้านหนึ่งเป็นห้องพระบรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ และของสมเด็จเจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์ (กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) อีกด้านหนึ่ง ชั้นล่างหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเคยประทับเมื่อทรงพระเยาว์ [29] และเมื่อมาสร้างที่วังศุโขทัยก็มีลักษณะเดียวกันและมีบันไดหน้า ๒ ข้าง[30] พระตำหนักสี่ฤดูที่วังศุโขทัยนี้ ต่อมาได้ทรุดโทรมลง จึงเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปปลูกเป็นกุฏิพระสงฆ์ ณ วัดราชาธิวาสวิหาร ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ [31] [32] อนึ่ง พระตำหนักสี่ฤดูซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาสร้างเป็น “ตำหนักหอ” นี้ ไม่ใช่ “ตำหนักหอ” ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งย้ายจากวังบางขุนพรหมมาสร้างภายในวังศุโขทัยบริเวณริมคลองหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ แล้ว แต่เป็นพระตำหนักต่างหลัง ต่างประวัติความเป็นมากันเลยทีเดียว


นอกจากพระตำหนักและตำหนัก ๔ องค์ดังกล่าวแล้ว ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกของพระตำหนักใหญ่ ที่ใกล้คลองมีอาคารสองชั้นเพดานสูงหลังคาจั่ว รูปแบบเรียบๆ หลังหนึ่ง ซึ่งเป็นตำหนักที่ประทับของหม่อมเจ้าหญิงมนัศสวาสดิ์ ศุขสวัสดิ์ (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าในภายหลัง) หนึ่งในพระพี่เลี้ยงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เมื่อทรงพระเยาว์ ถัดไปเกือบติดกันเป็นอาคารรูปทรงเดียวกันสองชั้นกันซึ่งรู้จักกันในหมู่คนวังศุโขทัยว่า “เล่าเต๊ง” เป็นเรือนแถวที่พักของข้าหลวง ชั้นล่างเป็นห้องโถงสำหรับเก็บภาชนะต่างๆ ถัดไปเป็นห้องเครื่อง คือห้องประกอบเครื่องเสวย ซึ่งทำอาหารเลี้ยงข้าราชบริพารทั้งหลายในวังด้วย ในสมัยหลังของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ข้าราชบริพารหลายบ้านรวมทั้งตำรวจรักษาวังจะนำเถาปิ่นโตไปรับอาหารพระราชทาน ห้องเครื่องนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของพระตำหนักใหญ่ มีทางเดินหลังคาคลุมเชื่อมกันและกันดังกล่าวแล้ว ถัดจากห้องเครื่องไปทางทิศใต้เป็นตึกเล็กๆ๒ หลัง หลังแรกเป็นห้องมืด สำหรับ ทรงงานอัดขยายภาพและภาพยนตร์ ซึ่งในสมัยนั้นในเมื่อยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ จึงโปรดให้นำน้ำแข็งก้อนใหญ่บรรจุกล่องซีเมนต์ขนาดใหญ่ยกพื้นสูง มีท่อไล่ระดับวิ่งรอบห้องมืดเพื่อให้มีไอเย็นไหลเวียนเข้าไปในห้องมืดขณะทรงงาน ภายหลังมีพัดลมไฟฟ้าแขวนเพดานเข้ามาขาย จึงทรงเปลี่ยนมาใช้พัดลมแทน อีกหลังหนึ่งเป็นอาคารหลังคาหน้าจั่วสองชั้น คือโรงสควอช (squash) กีฬาประเภทใช้ไม้แร็กเก็ตตีลูกยางไปยังผนังให้สะท้อนไปที่ผู้เล่นอีกด้านหนึ่งของคอร์ท (court) ซึ่งเป็นกีฬาซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ โปรด [33] ต่อเนื่องกันเป็นสำนักงานวังศุโขทัย ซึ่งในช่วงหลังหลวงศักดิ์นายเวร เป็นหัวหน้าและทำงานอยู่ที่นั่น หน้าสำนักงานมีถนนเล็กๆ ไปสู่ประตูหลังของวังออกสู่ตลาดสามเสน ถัดจากถนนนี้ไปทางทิศใต้เป็นโรงรถพระที่นั่ง และเรือนแถวชั้นเดียว สองแถว หันหน้าสู่สนามใหญ่แต่มีรั้วพุ่มไม้บังมิให้เห็นจากสนาม ถัดไปอีกเป็นเรือนทั้งสองชั้นและชั้นเดียวริมกำแพงด้านทิศใต้ ทั้งหมดเป็นที่พักของข้าราชบริพารระดับต่างๆ ใกล้กับประตูข้างวังที่ออกสู่ถนนสุโขทัย

สำหรับภูมิสถาปัตยกรรม ประตูหน้าวังอยู่ที่หัวมุมถนนสามเสนตัดกับถนนสุโขทัย (ซึ่งต่อมาอีกนานเมื่อการจราจรคับคั่ง ทำให้เป็นปัญหาแก่รถที่จะเข้าออกวัง) มีประตูสองบานเปิดเข้า เข้าใจว่าที่หัวเสาไม่ได้มีสัญลักษณ์ใดๆ และตัวประตูก็เรียบๆ มีถนนวิ่งค่อนข้างตรงเข้าไปขนานกันแต่ห่างจากถนนสุโขทัย ด้านซ้าย (ทิศใต้) เป็นสระพระจันทร์ รูปพระจันทร์ครึ่งดวง (ครึ่งวงกลม) มีถนนซอยเล็กๆ วิ่งรอบโค้ง ในสระปลูกบัว อีกด้านหนึ่งเป็นสนามหญ้าใหญ่ (lawn) สี่เหลี่ยมจัตุรัสหน้าพระตำหนักใหญ่และตำหนักไม้ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่า “กำลังงามมาก เขาว่าเป็นดีที่สุดในกรุงเทพในเวลานี้” [34] ที่มุมสนามด้านทิศตะวันตกห่างจากพระตำหนักเป็นที่ตั้งของ “ตุ่มสุโขทัย” ทรงเกือบกลมปากแคบ ทำด้วยดินเผาสีออกน้ำตาลแดง เรื่องเล่าสืบต่อกันมาในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดว่า มีนักขายของเก่าชาวสุโขทัย ชื่อนายชุบ นำมาถวายให้ทรงซื้อหลายสิบใบ สนพระทัยตรงที่เป็นสิ่งที่มีชื่อตรงกับพระนามทรงกรมจึงทรงซื้อไว้ และโปรดให้คัดใบดีที่สุดมาประดับไว้บนฐานยกพื้นเหนือศีรษะเล็กน้อย มีบันได ๔ ด้านขึ้นไปพอเดินรอบตุ่มได้ถ้าใช้ความระมัดระวัง ประดับด้วยไม้พุ่มโดยรอบ ตุ่มสุโขทัยนี้จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ของวังสืบมา ส่วนที่มีลักษณะเป็นโอ่ง คือปากกว้างและสอบเข้าสู่ฐาน โปรดให้แจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารไว้ใช้เป็นภาชนะเก็บน้ำ [35] จากนั้นถนนวิ่งไปทางทิศเหนือเพื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่พระตำหนักใหญ่และตำหนักไม้ อีกสายหนึ่งวิ่งไปทางด้านหลังสู่ตำหนักน้ำ วนออกมาเจอกันที่ทางสามแยก จากนั้นถนนสายหนึ่งวิ่งตรงผ่านหน้าพระตำหนักสี่ฤดูเลี้ยวซ้ายออกหน้าวัง อีกสายหนึ่งวิ่งไปทางซ้ายคดเคี้ยวไปใกล้ๆ และขนานกับกำแพงวังด้านหน้าออกสู่ประตูหน้าวังเช่นกัน

สามแยกนี้เรียกว่าสามแยกเขาดิน คือเขาที่เกิดขึ้นจากการที่โปรดให้ขุดสระใหญ่ใกล้คลองสามเสนแล้วพูนดินขึ้นปลูกต้นไม้คลุม สระนี้จัดเป็นอุทยานธรรมชาติ มีเกาะอยู่ตรงกลาง มีสะพานเชื่อมเป็นไม้สีขาว ๒ สะพาน[36] มีบ่อน้ำก่ออิฐไว้เก็บน้ำรถน้ำต้นไม้ในเรือนเพาะชำใหญ่อยู่เป็นบางแห่ง ในอุทยานนี้ มีศาลพระภูมิตั้งอยู่ แต่ถูกลืมไปตามกาลเวลาหรือเข้าถึงได้ยาก ในช่วงหลังจึงมีการตั้งศาลใหม่ใกล้ๆ กับตำหนักน้ำ

สระน้ำทั้งสองสระนี้มีประโยชน์ทั้งในการชักน้ำขึ้นมารดน้ำต้นไม้และในการชลประทานด้วย โดยสระใหญ่ใกล้เขาดินรับน้ำและระบายน้ำผ่านประตูน้ำจากและสู่คลองสามเสน มีท่อใต้ดินต่อมายังสระพระจันทร์ นับว่าเป็น “แก้มลิง” เวลาน้ำหลากไปในตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้วัดประสาทบุญญาวาสที่หลังวังในราว พ.ศ. ๒๔๙๘ ผู้เขียนซึ่งพำนักอยู่ที่ริมกำแพงหน้าวังได้เห็นรถดับเพลิงวิ่งเข้าไปสูบน้ำจากสระพระจันทร์จนเหือดแห้งเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้ามาสู่บริเวณวังซึ่งก็ทำได้สำเร็จ แม้ว่ากำแพงหลังวังจะมีเขม่าปกคลุม นับว่าเป็นอานิสงส์อีกอย่างหนึ่งของสระน้ำในวังในสมัยที่น้ำประปายังไหลไม่แรง ต้องมีหอน้ำสูงๆ เก็บน้ำไว้ตอนกลางคืนเพื่อใช้ในเวลากลางวัน ซึ่งที่หลังพระตำหนักใหญ่ ก็มีหอเก็บน้ำประปาเช่นกัน

พรรณไม้ในวัง

ทั่วบริเวณวัง มีต้นไม้หลากชนิดทั้งที่มีมาแต่เดิมก่อนสร้างวังและที่โปรดตามพระอัธยาศัยของทั้งสองพระองค์ให้นำมาปลูกไว้ อาทิก้ามปูหรือจามจุรี ซึ่งแผ่กิ่งก้านสาขากว้างและสูงใหญ่ให้ร่มเงาได้ดี สารภีกล้วยพัด มะพลับ ตะโก ประดู่ อินทนิล มะขาม ข่อย กระเบา อโศก มะดัน โมกมัน ราชพฤกษ์ แคฝรั่ง ไผ่กอใหญ่ที่สนามใหญ่ หว้า ตะแบก เสลา ลั่นทม กระดังงา บุนนาค สายหยุด มะพร้าว ตลอดจนเฟื่องฟ้า พู่ระหง ชบา และอัญชัน และพวงชมพู เป็นต้น ที่กำแพงด้านทิศใต้มีต้นสนทะเลปลูกอยู่ตลอดแนว ชาววังเรียกกันว่า “ชายสน” [37]

ส่วนเครื่องประดับสวน นอกเหนือจากตุ่มสุโขทัยบนฐานแล้ว ตุ่มอีกจำนวนหนึ่งยังถูกนำมาตั้งอยู่ด้านข้างของซุ้มองุ่น ส่วนริมถนนหน้าพระตำหนักใหญ่และตำหนักไม้ มีอ่างบัวมีฐานสูงราวหนึ่งเมตรครึ่ง เป็นศิลปะเวียดนามผสมจีนมีลวดลายเคลือบสีสวยงามจำนวน ๑๕ ใบตั้งเรียงรายอยู่ โดยปลุกบัวไว้ภายใน ว่ากันว่าทรงได้มาเมื่อเสด็จเยือนอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ มีต้นตะโกดัดอยู่ใกล้กันหลายต้น ที่สนามหลังพระตำหนักใหญ่ ซึ่งเข้าใจว่าแต่เดิมมีสนามเทนนิสไว้ทรงร่วมกันเป็นประจำ มีสระน้ำพุขนาดเล็ก ประดับด้วยหินและไม้คลุมดินและพุ่มไม้เตี้ยๆ กลางสระมีตุ๊กตาหล่อโลหะเป็นเด็กใช้มือเล่นน้ำพุ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดเกล้าให้หล่อขึ้นเนื่องจากทรงเคยเลี้ยงเด็กผู้ชายคนมหาชัยชื่อ “เป้า” เจนกอนันต์ นอกจากนี้ มีสระว่ายน้ำสมัยใหม่ขนาดเล็ก ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงที่สมเด็จฯ เสด็จฯ กลับมาประทับที่วังนี้ใน พ.ศ. ๒๕๑๑


พระกรณียกิจและพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ ณ วังศุโขทัย

ทันทีหลังจากที่ได้ทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยฯ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา ได้เสด็จเข้าประทับ ณ วังศุโขทัย แต่ไม่ควรเข้าใจว่าประทับอยู่เพียงสองพระองค์ เนื่องด้วย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ได้ทรงรับหม่อมเจ้าชาย ๔ องค์จาก ๔ ราชสกุลมาอยู่ในพระอุปการะเลี้ยงดูใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่แรกเสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ และทรงรับเด็กเข้ามาในพระอุปการะเป็นรุ่นๆ เรื่อยๆ มาตลอดจนเมื่อทรงอภิเษกสมรสแล้ว และแม้เมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ดังนั้นในการทรงประกอบพระราชกิจในวังศุโขทัย หรือแม้แต่นอกวังในบางส่วน จึงมีเด็กๆ เหล่านี้ร่วมอยู่ด้วยไม่น้อย นอกจากนั้นต้องไม่ลืมว่ามีหม่อมเจ้าหญิงมนัศสวาสด์ประทับอยู่ในวังด้วย นับว่าทรงใช้ชีวิตเป็นครอบครัว

พระกิจวัตรประจำวันพอเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ดังนี้ เมื่อประทับอยู่ที่วังศุโขทัย เสวยพระกระยาหารเช้าที่ชั้นบนพระตำหนัก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งร่วมกันเพียง ๒ พระองค์[38] หรือแยกกันคนละส่วน โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ประทับเสวยเป็นต่างหากไปจากพระชายาก็ได้ โดยมีเด็กๆ เฝ้าแทบพระบาทอยู่รอบๆ เล่นเกมส์บนกระดาษ คอยรับพระราชทานเครื่องที่เหลือดังที่ทรงปฏิบัติแน่ๆ เมื่อเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานแล้ว อย่างไรเสียก็เป็นที่ชั้นบนพระตำหนัก

จากนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ ทรงขับรถซิงเกอร์ (Singer) คันเล็กเองไปทรงงานราชการทหารที่กรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ซึ่งอยู่ที่ถนนทหารแยกจากถนนสามเสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างนั้น พระชายาประทับอยู่บนพระตำหนักหรือไม่ก็เสด็จลงทรงอำนวยการปลูกต้นไม้ต่างๆ ที่พระตำหนักสี่ฤดู และทรงเก็บดอกไม้มาจัดแจกันตกแต่งพระตำหนักให้สดชื่นสำหรับเมื่อพระสวามีเสด็จกลับมาจากทรงงาน

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ เสด็จกลับมาจากการทรงงาน พระชายาจะเสด็จไปทรงรับที่ชั้นล่าง แล้วเสวยพระสุธรารสชาร่วมกันในช่วงประมาณ ๑๗.๐๐ น. และทรงกีฬา เช่น เทนนิส หรือแบดมินตันร่วมกันและร่วมกับเด็กๆ ในพระอุปการะ หลังจากนั้น เสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกัน โดยบางครั้งประทับที่พื้น บางครั้งที่พระเฉลียงหลังพระตำหนักใหญ่

ทั้งสองพระองค์เสด็จลงที่ชั้นล่างตำหนักไม้สัปดาห์ละครั้ง เพื่อทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นกิจวัตร โดยมีเจ้านายจากวังอื่นๆ และเด็กๆ ร่วมอยู่จนดึก

เมื่อใดเสด็จร่วมกันทั้งสองพระองค์เป็นการส่วนพระองค์ ประทับรถซิงเกอร์คันใหญ่ ประทับคู่กันโดยมีพลขับรถถวาย [39]

อนึ่ง หากศึกษาพระราชประวัติส่วนพระองค์โดยละเอียด จะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์โปรดทรงกีฬา ธรรมชาติและการทำสวนเช่นกัน และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ โปรดการทรงพระอักษร (อ่านหนังสือ) อย่างยิ่ง[40]

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓ ถึง ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ จะได้ทรงรับการรักษาพระโรคและต่อมาเสด็จเข้าศึกษาวิชาทหารเพิ่มเติมที่ประเทศนั้น ในระหว่างนั้นบรรดาข้าในพระองค์ยังคงพำนักอยู่ในวังศุโขทัย

ครั้นเสด็จกลับมา ได้เสด็จเข้าประทับ ณ วังศุโขทัยตามเดิม และโดยที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนฯ แม้จะยังทรงรับราชการทหารอยู่ ต้องทรงหนังสือราชการแทนพระองค์เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่นอกพระนคร จึงได้ทรงปรับปรุงดัดแปลงพระตำหนัก รวมทั้งบริเวณให้เหมาะสมแก่การทรงใช้สอยในช่วงนี้ ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของการทรงกีฬานั้น นอกจากเทนนิสแล้ว ในช่วงนี้ ได้เริ่มทรงกอล์ฟทั้งสองพระองค์ [41] แต่ในวังศุโขทัยยังคงไม่มีสนามกอล์ฟมาตลอดรัชกาล เข้าใจว่าทรงกอล์ฟที่ราชกรีฑาสโมสรและเมื่อเสด็จหัวหิน ทรงที่สนามกอล์ฟหลวงในการดูแลของกรมรถไฟหลวง แต่ในรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสนามกอล์ฟหลวงชั้นในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตอีกแห่งหนึ่ง และเสด็จฯ ทรงกอล์ฟที่นั่น รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้คณะนักกอล์ฟได้เข้าไปใช้ในการแข่งขันในบางโอกาส ส่วนสนามกอล์ฟ ๓ หลุมที่วังศุโขทัยนั้นสร้างขึ้นหลังพ.ศ. ๒๕๑๑ สำหรับที่สมเด็จฯ จักได้ทรงพระสำราญในการออกกำลังพระวรกาย ไม่ได้ใช้ในการแข่งขันจริง

ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้เสด็จขึ้นทรงครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งทรงใช้เป็นที่ประทับที่เป็นทางการในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์

แต่กระนั้น ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ มาทรงเทนนิสที่วังศุโขทัยอยู่เนืองๆ รวมทั้งเสด็จฯ มาประทับเป็นระยะเวลาเป็นเดือนๆ เป็นครั้งเป็นคราว รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมอภิรัฐมนตรีสภาเมื่อประทับอยู่ที่นั่นด้วย แสดงว่าทรงมีความอาลัย “บ้าน” ส่วนพระองค์แห่งนี้ไม่น้อย อีกทั้งเพื่อให้มีการดูแลรักษาวังศุโขทัยไว้ให้ดีเสมือนว่ายังประทับอยู่เป็นประจำ

ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับมายังพระนครจากสวนไกลกังวล หัวหินในเช้าตรู่วันที่ ๒๖ มิถุนายน และได้เสด็จเข้าประทับ ณ วังศุโขทัย ในทันที และในบ่ายวันเดียวกัน ได้โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งทรงลงพระนามทันที และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป อีกทั้ง เฝ้าฯ อีกครั้งเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่วังศุโขทัยเช่นกัน ประทับอยู่ ณ วังศุโขทัยระยะหนึ่ง แล้วเสด็จฯ ไปประทับที่พระตำหนักสวนจิตรลดา ไม่ได้เสด็จฯ ไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานอีกเลย เสมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ทรงเปลี่ยนพระราชสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระธรรมนูญแล้ว จากนั้นในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (พ.ศ. ๒๔๗๗ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จประพาส ๙ ประเทศในทวีปยุโรป และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติและเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษ พระองค์จึงไม่ได้เสด็จฯ มาประทับที่วังศุโขทัยอีกเลย


พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ วังศุโขทัย

สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ นั้น ได้เสด็จฯ กลับมาประเทศไทย พร้อมกับที่ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาประดิษฐานสมพระเกียรติยศของอดีตพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ แต่โดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าใช้บริเวณวังศุโขทัยเป็นที่ทำการมาตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยการเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และยังคงใช้อยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยใช้องค์พระตำหนักเป็นที่ทำงานของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ในบริเวณชั้นในของวังใกล้พระตำหนักยังคงมีข้าราชบริพารทั้งที่เป็นเจ้านายและสามัญชนประทับและอาศัยอยู่ แต่ที่แน่ๆ คือได้ปลูกสร้างเรือนไม้ชั้นเดียวมีใต้ถุนเตี้ยๆ ชุดหนึ่งไว้ใช้ที่ริมกำแพงวังด้านถนนสามเสน อีกทั้งคงจะเป็นผู้ขุดหลุมหลบภัยจากลูกระเบิดกลางเวหายามสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไว้ที่บริเวณตีนเขาดินในวัง เรือนไม้เหล่านี้เมื่อสมเด็จฯ เสด็จฯ เข้าประทับที่วังศุโขทัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารผู้ซึ่งไม่ได้ถวายงานเป็นประจำได้พักอาศัยอยู่

ดังนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ ตามที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเชิญไปประทับที่วังสระปทุมในระหว่างที่วังศุโขทัยได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมให้เหมาะสมแก่การเป็นที่ประทับ โดยรัฐบาลถวายให้ประทับอยู่ไปตลอดพระชนมชีพ

สมเด็จฯ เสด็จฯ เข้าประทับ ณ วังศุโขทัยที่พระตำหนักใหญ่ทันเวลาที่ทรงจัดงานฉลองพระชนมายุ ๔ รอบ (๔๘ พรรษา) ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มีการออกร้าน (ซุ้ม) ต่างๆ นานาชนิดที่สนามใหญ่ วังศุโขทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมงาน [42] วังศุโขทัยจึงได้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ ในกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง สร้างความปิติยินดีแก่ข้าในพระองค์ที่พักอาศัยอยู่ในวังศุโขทัยยิ่งนัก ด้วยวังขาดองค์ประมุขมานาน ที่พระตำหนักใหญ่นี้ สมเด็จฯ ได้ทรงประดิษฐานพระโกศองค์น้อยบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนหนึ่งไว้ที่ห้องพระบรมอัฐิชั้นบนพระตำหนัก ทรงสักการะทุกเช้าเย็นและทรงอัญเชิญติดพระองค์ไปเมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน

ในขณะเดียวกัน สมเด็จฯ ต้องพระราชประสงค์ที่จะประทับอยู่เงียบๆ ในธรรมชาติแห่งชนบท จึงได้บุกเบิกที่ดินที่ทรงซื้อในจังหวัดจันทบุรี เป็น “สวนบ้านแก้ว” เริ่มใน พ.ศ. ๒๔๙๓ และได้เสด็จฯ ไปประทับที่นั่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ได้เสด็จฯ กลับมาประทับที่วังศุโขทัยเสมอในช่วงที่มีงานพระราชพิธีฉัตรมงคล (๕ พฤษภาคม) และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (๕ ธันวาคม) โดยบางทีประทับอยู่ที่วังศุโขทัยเป็นเดือน เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจในกรุงเทพฯ เช่นทรงประกอบพิธีทักษิณานุปทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสำคัญ

ครั้นเมื่อพระชนมายุมากขึ้น คือ ๖๔ พรรษา ได้ทรงขายสวนบ้านแก้วแก่กระทรวงศึกษาธิการในราคาย่อมเยาเพื่อใช้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยครู จันทบุรี (มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีในปัจจุบัน) ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงได้เสด็จฯ มาประทับที่วังศุโขทัยเป็นประจำ ในช่วงนี้มีบุคคลต่างๆ มาเฝ้าฯ ทั้งในช่วงเช้าหลังเสด็จลง ช่วงบ่ายระหว่างเสวยพระสุธารสชาที่ซุ้มองุ่น หรือที่สนามหลังพระตำหนัก อีกทั้งร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวันและค่ำ นอกจากนั้นได้ทรงย้ายโรงเสื่อกกจากสวนบ้านแก้วมาย่อขนาดลง ทอเสื่อที่ตำหนักน้ำ เสด็จลงทอดพระเนตรการทอ ทรงแนะนำช่างทอเสื่อ เป็นกิจวัตรในช่วงสายๆ บางครั้งเสวยก๋วยเตี๋ยวที่มีผู้พายเรือมาขายที่ตำหนักน้ำ

ในช่วงนี้ สมเด็จฯ ได้เสด็จฯ ไปทรงกอล์ฟในที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด ตามแต่จะมีหน่วยงานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ และได้มีการสร้างสนามกอล์ฟ ๓ หลุมถวายที่สนามวังศุโขทัย เพื่อที่จะได้ทรงออกกำลังพระวรกายตามความจำเป็นได้สะดวก การทรงออกกำลังพระวรกายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงเป็นประจำคือการทรงพระดำเนินเร็ว พร้อมข้าราชบริพารใกล้ชิด และสุนัขทรงเลี้ยงที่รอบสนามใหญ่แทบทุกวันในเวลาเย็นๆ ๒ รอบ บรรดาข้าในพระองค์และบุตรที่พักอาศัยอยู่ในวัง ก็จะออกมานั่งริมสนามเพื่อเฝ้าฯ ซึ่งก็จะทรงสอบถามทุกข์สุขไปพลาง บรรยากาศในวังจึงมีความอบอุ่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับการทรงทำสวนนั้น ในช่วงหลังนี้ สมเด็จฯ ทรงมีเรือนเพาะชำส่วนพระองค์ที่หลังพระตำหนักใหญ่ ทรงเลี้ยงต้นแคกตัสเล็ก ไม้ดอกตากฤดูกาล และกล้วยไม้ไว้เป็นจำนวนมาก โดยทรงดูแลด้วยพระองค์เองเสมอ [43]

ครั้นในปลาย พ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อฉลองพระชนมายุ ครบ ๖ รอบ (๗๒ พรรษา) ทรงเริ่มมีปัญหาพระสุขภาพ และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ ทรงพระดำเนินได้ไม่มั่นคง จึงงดทรงกอล์ฟและไม่ค่อยได้เสด็จฯ ออกไปนอกวัง แต่ก็ยังทรงรถเข็นทอดพระเนตรต้นไม้ ดอกไม้ และทรงรับอากาศบริสุทธิ์ในบริเวณวังอันสงบได้ บางครั้งทรงไพ่ตองกับพระประยูรญาติในช่วงค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอเสด็จฯ ทรงเยี่ยมพระอาการ และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งลิฟท์ด้านหลังพระตำหนักเพื่อให้เสด็จฯ ขึ้นลงได้สะดวก

และแล้ววันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ราชนารี ๕ แผ่นดินคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตที่พระตำหนักใหญ่ วังศุโขทัยแห่งนี้ สิริพระชนมพรรษา ๗๙ พรรษา ๕ เดือน ๒ วัน นำความเศร้าสลดมาสู่ข้าราชบริพารในพระองค์ ตลอดจนประชาชนคนไทยยิ่งนัก


บรรณานุกรม

กาญจนาคพันธ์ (นามแฝงของขุนวิจิตรมาตรา). ๒๕๔๕. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี.

การวิก จักรพันธ์, หม่อมเจ้า. ๒๕๓๐. รำลึกถึงคุณหลวงและนางศักดิ์นายเวร. ใน ธรรมานุสรณ์คำอธิษฐาน

สวดมนต์และยอดพระคาถา แด่เสวกโท หลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง) และนางศักดิ์นายเวร (เชย เงินยอง) ในงานพระราชทานพลิงศพและฌาปนกิจศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๕๔๓ พระราชหัตถเลขาฯ วันที่ ๑๘ ตุลาคม รศ. ๑๒๘ ใน พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชทานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์และประวัติเจ้าคุณพ่อ. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงเรียบ สนิทวงศ์ ท.จ. ณเมรุวันธาตุทอง วันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๖.

ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์, หม่อมราชวงศ์. ๒๕๕๐. The Melody of Life. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์)

บุญพีร์ พันธ์วร. ๒๕๕๘. สัมภาษณ์นายบุญพีร์ พนธ์วร เมื่อ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ผู้เล่าเรื่องราวที่ทราบมาจาก หลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง)

ประชาธิปก, สมเด็จเจ้าฟ้า. ๒๔๖๗. พระหัตถเลขาส่วนพระองค์ วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๖๗ ซึ่งทรงต่อใน วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๖๗ จากวังศุโขทัย พระราชทานหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล.

ประอร (มาลากุล) จักรพันธ์, หม่อมหลวง. ๒๕๕๕. คำให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕.

ปราณี กล่ำส้ม. ๒๕๔๙. บ้านเก่าในกรุงเทพ (เล่ม ๒). กรุงเทพฯ: วารสารเมืองโบราณ.

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. ๒๕๕๐. สมเด็จฯ ชาวสวนคู่พระทัยพระปกเกล้าฯ ใน ความเป็นมาและกิจกรรมระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๕๐ ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. หน้า ๓๐-๔๐.

พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินนี ในรัชกาลที่ ๗. ๒๕๔๕. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า (บทความของคณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการทรงเล่าพระราชทาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖)

พระราชวัง, สำนัก.๒๕๔๒. พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง.

ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรม ในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด.

สรศัลย์ แพ่งสภา. ๒๕๔๕. บ้านย่าไผ่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี.

เหมือนหมาย จรูญโรจน์, หม่อมราชวงศ์. มปป. แผนผังบริเวณรอบวชิระพยาบาล (เอื้อเฟื้อโดยคุณวิกัลย์ พงศ์ พนิตานนท์)

ศักดิสาณ ชุมพล, หม่อมราชวงศ์, ๒๕๕๘. สัมภาษณ์หม่อมราชวงศ์ศักดิสาณ ชุมพล เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘. ม.ร.ว.ศักดิสาณ พำนักอยู่ที่ตำหนักน้ำเมื่ออายุ ๖-๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙) www. Mop. Go.th./ hot/ 90 year/05. Pdfกระทรวงสาธารณสุขยุควังศุโขทัย. Naengnoi Suksri & Freeman, Michael. 1996. Palaces of Bangkok: Royal Residences of the Chakri Dynasty. Bangkok: River Books.


อ้างอิง

  1. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๕๔๓ พระราชหัตถเลขาฯ วันที่ ๑๘ ตุลาคม รศ. ๑๒๘ ในพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชทานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์และประวัติเจ้าคุณพ่อ. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์พระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงเรียบ สนิทวงศ์ ท.จ. ณเมรุวันธาตุทอง วันพุธที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๖.
  2. ปราณี กล่ำส้ม. ๒๕๔๙. บ้านเก่าในกรุงเทพ (เล่ม ๒). กรุงเทพฯ: วารสารเมืองโบราณ, หน้า ๑๐๓-๑๐๔.
  3. ปราณี กล่ำส้ม. ๒๕๔๙. บ้านเก่าในกรุงเทพ (เล่ม ๒). กรุงเทพฯ: วารสารเมืองโบราณ, หน้า ๗๕.
  4. เหมือนหมาย จรูญโรจน์, หม่อมราชวงศ์. มปป. แผนผังบริเวณรอบวชิระพยาบาล (เอื้อเฟื้อโดยคุณวิกัลย์ พงศ์พนิ ตานนท์)
  5. ปราณี กล่ำส้ม. ๒๕๔๙. บ้านเก่าในกรุงเทพ (เล่ม ๒). กรุงเทพฯ: วารสารเมืองโบราณ, หน้า ๑๖๙.
  6. สรศัลย์ แพ่งสภา. ๒๕๔๕. บ้านย่าไผ่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สารคดี, หน้า ๑๒๗-๑๒๘.
  7. เหมือนหมาย จรูญโรจน์, หม่อมราชวงศ์. มปป. แผนผังบริเวณรอบวชิระพยาบาล (เอื้อเฟื้อโดยคุณวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์)
  8. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์)
  9. ปราณี กล่ำส้ม. ๒๕๔๙. บ้านเก่าในกรุงเทพ (เล่ม ๒). กรุงเทพฯ: วารสารเมืองโบราณ, หน้า ๑๗๔-๑๗๕.
  10. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์) , หน้า 5.
  11. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๘๙.
  12. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์)
  13. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า๒๘๙.
  14. การวิก จักรพันธ์, หม่อมเจ้า. ๒๕๓๐. รำลึกถึงคุณหลวงและนางศักดิ์นายเวร. ใน ธรรมานุสรณ์คำอธิษฐานสวดมนต์และยอดพระคาถา แด่เสวกโท หลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง) และนางศักดิ์นายเวร (เชย เงินยอง) ในงานพระราชทานพลิงศพและฌาปนกิจศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, หน้า ฝ.
  15. ประชาธิปก, สมเด็จเจ้าฟ้า. ๒๔๖๗. พระหัตถเลขาส่วนพระองค์ วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๖๗ ซึ่งทรงต่อในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๖๗ จากวังศุโขทัย พระราชทานหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล.
  16. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๘๙.
  17. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๘๙-๒๙๐.
  18. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์) , หน้า ๖.
  19. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๘๙.
  20. Naengnoi Suksri & Freeman, Michael. 1996. Palaces of Bangkok: Royal Residences of the Chakri Dynasty. Bangkok: River Books, p.349.
  21. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์, หม่อมราชวงศ์. ๒๕๕๐. The Melody of Life. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล , หน้า ๕.
  22. อ้างอิงจาก บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์) และ จากความทรงจำของผู้เขียน
  23. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๙๐.
  24. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๙๐.
  25. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์)
  26. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด, หน้า ๑๙.
  27. ภัคกรจันทร์ (เกษมศรี), หม่อมหลวง. ๒๕๓๙. วังศุโขทัย ใน คณิตา เลขะกุล (บรรณาธิการ) สถาปัตยกรรมในสถาบันพระมหากษัตริย์. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, หน้า ๒๘๙.
  28. ประอร (มาลากุล) จักรพันธ์, หม่อมหลวง. ๒๕๕๕. คำให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕. พระราชวัง, สำนัก.๒๕๔๒. พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, หน้า ๕๔-๖๒.
  29. ประอร (มาลากุล) จักรพันธ์, หม่อมหลวง. ๒๕๕๕. คำให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕. พระราชวัง, สำนัก.๒๕๔๒. พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, หน้าคำนำ.
  30. ประอร (มาลากุล) จักรพันธ์, หม่อมหลวง. ๒๕๕๕. คำให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕.
  31. พระราชวัง, สำนัก.๒๕๔๒. พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง, หน้าคำนำ.
  32. ประอร (มาลากุล) จักรพันธ์, หม่อมหลวง. ๒๕๕๕. คำให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕.
  33. ดูเพิ่มเติมจาก บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์) ,หน้า ๗-๘.
  34. ประชาธิปก, สมเด็จเจ้าฟ้า. ๒๔๖๗. พระหัตถเลขาส่วนพระองค์ วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๖๗ ซึ่งทรงต่อในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๔๖๗ จากวังศุโขทัย พระราชทานหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล.
  35. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์) ,หน้า ๙.
  36. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์) ,หน้า ๘.
  37. บุญพีร์ พันธ์วร. มปป. พระตำหนักวังศุโขทัย (เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์ เป็นต้นร่างบทโทรทัศน์ออกอากาศโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พ.ศ. ๒๕๒๗ เอื้อเฟื้อโดยคุณบุญพีร์), หน้า๙.
  38. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด, หน้า ๒๑.
  39. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด, หน้า ๒๑.
  40. พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. ๒๕๕๐. สมเด็จฯ ชาวสวนคู่พระทัยพระปกเกล้าฯ ใน ความเป็นมาและกิจกรรมระหว่างปี ๒๕๔๖-๒๕๕๐ ของมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.
  41. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด, หน้า ๓๓.
  42. อ้างอิงจาก ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด, หน้า ๑๘๐. และ ภาพถ่าย
  43. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘) กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งกรุพ จำกัด, หน้า ๑๗๔-๑๗๕.