รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ผู้เรียบเรียง วิชาญ ทรายอ่อน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพุทธศักราช 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นคณะรัฐบาลบริหารประเทศ ได้มีรัฐพิธีที่เป็นงานพิธีของรัฐบาลและหน่วยราชการเป็นผู้ดำริจัดทำขึ้นหลายงาน ซึ่งมีรัฐพิธีบางพิธีที่ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ อัญเชิญพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน เช่น รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ความหมายและความสำคัญ
รัฐพิธี หมายถึง งาน หรือพิธี ที่รัฐบาลกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงรับไว้เป็นงานรัฐพิธี มีหมายกำหนดการซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีหรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน โดยมีคณะบุคคลฝ่ายรัฐที่เป็น “แม่งาน” เฝ้ารับเสด็จ
ในความหมายของรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา รวมความถึง สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทน พฤฒสภา สภาร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ย่อมบ่งบอกได้ว่า “รัฐ” เป็นฝ่ายดำเนินการ โดยมีพระมหากษัตริย์ หรือพระรัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน เพื่อเป็นการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้แทนของปวงชนชาวไทยเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ [1]
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ถือว่าเป็นพิธีการที่สำคัญที่สุดของรัฐสภา ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 128 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาทรงเปิดและทรงปิดประชุม ” และตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง “จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรก คือภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาท ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้”
ความเป็นมาของรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ย้อนไปถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 พบว่าเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ โดยเฉพาะพระราชพิธีอันเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรง ดังจะเห็นได้จากเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสภากรรมการองคมนตรีขึ้น และสภากรรมการองคมนตรีนี้ได้เปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2470 แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง แต่ได้พระราชทานพระราชดำรัสให้เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“…ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมา การปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมือง เจริญขึ้น มีราชการมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงการต่าง ๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ…”
หรือเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ในขณะที่ยังไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุม ได้อาศัยราชประเพณีที่ถือปฏิบัติมาใช้เพื่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุม ความว่า
“ วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพร แก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมาย อันเดียวกันทุกประการเทอญ”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลาย ๆ ฉบับต่อมา บัญญัติเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไว้คล้ายคลึงกันตรงองค์ประธานผู้กระทำพิธีเปิดประชุม แต่สาระในการประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ไม่ระบุชัดเจนว่าให้กระทำรัฐพิธีในการเปิดประชุมสมัยใด ซึ่งก็ได้อาศัยธรรมเนียมปฏิบัติ โดยกระทำรัฐพิธีเปิดประชุมทุกครั้งที่เป็นการประชุมสมัยสามัญ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นต้น ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้กระทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งแรก ภายหลังจากที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในรัชกาลปัจจุบัน
ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 127 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุม รัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก” และมาตรา 128 วรรคท้าย บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยทั่วไปครั้งแรก ตามมาตรา 127 วรรคหนึ่งด้วยพระองค์ เองหรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้”
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2493 เป็นการประชุมสมัยวิสามัญของรัฐสภา ที่น่าสังเกตคือเป็นรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาที่มีขึ้นภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น วันที่ 5 มิถุนายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อรับการรักษาจากแพทย์ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“…โดยที่สุขภาพของข้าพเจ้าในเวลานี้ยังไม่สมบูรณ์ และยังต้องรับการรักษาพยาบาลจาก นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ ข้าพเจ้าจึงมีความจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังสวิสในสองสามวันข้างหน้านี้ และจะได้กลับมาในเวลาอันสมควร ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายจะได้ตั้งใจในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองและประชาราษฎร โดยตั้งมั่นในสามัคคีธรรม และพร้อมใจกันร่วมมือในการดำเนินการของรัฐสภา ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศอันเป็นที่รักของเราให้วัฒนา สถาวรสืบไป…”
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับภายในราชอาณาจักร คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้กระทำรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา โดยสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้ปรับแต่งบัลลังก์ที่ประธานนั่งขณะประชุมเป็นที่ประทับของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั่งอยู่ด้านหน้าบัลลังก์
ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา 33 ครั้ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 8 ครั้ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จแทนพระองค์ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2518 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 และวันที่ 21 มกราคม 2551 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2495 [2]
รูปแบบของรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ธรรมเนียมที่ปฏิบัติตั้งแต่แรกเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจะกระทำ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคมเสมอมา สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการเป็นงานเสด็จพระราชดำเนิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนแต่งกายเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่อัฒจันทร์ด้านทิศตะวันตก ฝั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน เสด็จผ่านท้องพระโรงหลัง แล้วเสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรภายในพระวิสูตร ขณะที่ผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลายรอเฝ้าฯ อยู่ที่ท้องพระโรงหน้า หน้าพระวิสูตร เมื่อประทับพระราชบัลลังก์เรียงร้อยแล้ว มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา จบแล้ว มหาดเล็กรัวกรับให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง ชาวม่านปิดพระวิสูตร มีประโคมและสรรเสริญพระบารมีเช่นเดียวกับเมื่อเสด็จออก อันเป็นการสิ้นสุดของการเสด็จออกมหาสมาคมเพื่อทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา อย่างบริบูรณ์ด้วยพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณีของไทยโดยแท้จริง
เมื่อรัฐพิธีสำคัญนี้ผ่านพ้นไปแล้ว สภาผู้แทนราษฎร จะได้เริ่มดำเนินงานตามบทบาท อำนาจ หน้าที่ โดยไม่ตกอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น จะต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมด้วยถ้อยคำว่า
“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ”
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งหลังสุด
เมื่อวันที่ 21 มกราคม พุทธศักราช 2551 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในรัฐพิธีเปิดประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกของรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระแท่นนพปฏลมหาเศวตฉัตร มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจ แทนพระองค์ ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันนี้ การเรียกประชุมรัฐสภาครั้งนี้ ควรจะนับเป็นนิมิตรหมายของการเริ่มต้นที่ดี ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ นับแต่วาระนี้ไป รัฐสภาจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญข้าพเจ้าเชื่อใจว่า บรรดาสมาชิกแห่งสภานี้ มีความสำนึกในชาติอยู่ถ้วนทั่วทุกคน และต่างเล็งเห็นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติยังคงมีอยู่ตามที่ทราบกันแล้ว ภารกิจของท่าน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทุก ๆด้านให้ประเทศชาติเป็นปึกแผ่น มั่นคง และร่มเย็นเป็นปกติสุข
ดังนั้นการปรึกษา ตกลง หรือการอภิปรายปัญหาใดๆ ที่จะมีขึ้นในสภาแห่งนี้ จึงควรจะได้กระทำด้วยเหตุด้วยผลที่ถูกต้อง และด้วยความร่วมมือปรองดองกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึง ประสงค์ คือความมั่นคง ปลอดภัย และความวัฒนาผาสุกของประเทศชาติ และประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด ได้เวลาอันเป็นมงคลแล้ว ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้ทุกท่านที่ประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ ประสบความสุข ความสวัสดีจงทุกเมื่อทั่วกัน”
จากนั้น มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร มโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้า มหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินลงจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
อ้างอิง
- ↑ สาระน่ารู้ Thai Parliament Museum กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- ↑ สุเทพ เอี่ยมคง, สภาผู้แทนราษฎร. [ข้อมูลออนไลน์] จากเว็บไซต์ http://www.librarianmagazine.com/VOL1NO8/e-article.doc.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2539.
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ : อมรินทร์ปริ้นติ้ง, 2536.
กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สาระน่ารู้ Thai Parliament Museum. [ข้อมูลออนไลน์]
สุเทพ เอี่ยมคง, สภาผู้แทนราษฎร. [ข้อมูลออนไลน์] จากเว็บไซต์ http://www.librarianmagazine.com/VOL1NO8/e-article.doc.
ดูเพิ่มเติม
MeechaiThailand.com การเปิด-ปิดสมัยประชุมรัฐสภา. [ข้อมูลออนไลน์] เว็บไซต์ http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=3&action=view&type=10&mcid=21.