พัฒนาประชาธิปไตย (พ.ศ. 2550)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคพัฒนาประชาธิปไตย

พรรคพัฒนาประชาธิปไตยจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550[1] โดยมีนายสุวรรณ ทองหนุน ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและนายสมหมาย อิ่มมณี ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค[2] ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550[3] นายสมหมาย อิ่มมณี ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคและสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550[4] นายสุวรรณ ทองหนุน ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคพัฒนาประชาธิปไตยทำให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่เนื่องจากข้อบังคับของพรรคที่กำหนดว่าเมื่อมีเหตุให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อปฏิบัติจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ในส่วนของการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคนั้น ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนทั้งสิ้น 30 คน แบ่งเป็นแบบสัดส่วนจำนวน 10 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 20 คน ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ถูกรับเลือกแต่อย่างใด


รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ[5]


ด้านการเมืองและการปกครอง

1.ปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีความรักชาติบ้านเมืองและมีจิตสำนึกในหน้าที่ของตนที่มีต่อชาติบ้านเมือง

2.แก้กฎหมายบางฉบับที่ล้าหลังและยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

3.สนับสนุนและส่งเสริมให้ข้าราชการประจำมีการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดเผย

4.การกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างมีระบบ

5.ปกป้องคุ้มครองและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อย่างเต็มรูปแบบ


ด้านเศรษฐกิจ

1.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะกำหนดอัตราส่วนในการถือหุ้นของรัฐบาลต้องเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดในกรณีของรัฐวิสาหกิจหลักและอาจจะเป็นผู้ถือหุ้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมดในกรณีของรัฐวิสาหกิจรอง

2.กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง

3.สนับสนุนให้ตั้งองค์กรเศรษฐกิจแห่งชาติ


ด้านสังคมและวัฒนธรรม

1.ปลูกฝังชาตินิยมให้แก่เยาวชนและประชาชนทุกหมู่เหล่า

2.ป้องกันและแก้ไขเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับ

3.ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา

4.พัฒนาการวางผังเมืองของทุกจังหวัดให้เป็นระเบียบ


ด้านการเกษตรและสหกรณ์

1.ประกันการผลิตและราคาผลผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม

2.พัฒนาเกษตรกรรมแบบผสมผสานและแบบปลอดสารพิษ

3.ปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำ แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล ทั่วประเทศ

4.สนับสนุนการตลาดการเกษตรของสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด

5.หยุดยั้งการทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติโดยเด็ดขาด

6.ปรับปรุงและปฏิรูประบบที่ดิน


ด้านการอุตสาหกรรม

1.สนับสนุนและให้การคุ้มครองผลผลิตที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ

2.สนับสนุนให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทย

3.ส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกขนาดกลางไปจนถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือน

4.ควบคุมมลภาวะที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม

5.ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ


ด้านการศึกษา

1.สนับสนุนการศึกษาแก่เด็กยากจน ด้อยโอกาสโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสม

3.ให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทุกระดับในการดำเนินการกิจกรรมร่วมกันเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และป้องกันความขัดแย้งระหว่างสถาบัน

4.กำหนดมาตรการการลงโทษนักเรียน นักศึกษาที่ทำผิดกฎสถาบันอย่างเฉียบขาดและรุนแรง

5.ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและการดำเนินการของสถาบันการศึกษาให้ก้าวหน้าและ มีอิสระ

6.สนับสนุนการแปลและเรียบเรียงหนังสือ ตำราเรียนหรือเอกสารอ้างอิงจากต่างประเทศ


ด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง

1.ให้กองทัพมีบทบาทในการพัฒนาและร่วมมือเสริมสร้างความมั่นคงของชาติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

2.สร้างและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นใช้เอง

3.ปรับปรุงสวัสดิการทหาร

4.ปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพ

5.แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทางการทหารกับต่างประเทศ

6.ตั้งหน่วยตรวจสอบพิเศษเพื่อป้องกันและติดตามการแทรกแซง การจารกรรมของกระบวนการก่อการร้ายจากภายนอกประเทศ


ด้านการต่างประเทศ

1.ดำเนินนโยบายอิสระโดยยึดหลักของผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ

2.กระชับความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทุก ๆ ประเทศ

3.ให้ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

4.ปรับปรุงสนธิสัญญาต่าง ๆ โดยที่ประเทศไทยเสียเปรียบ

5.รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศให้น้อยที่สุด


ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1.สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ

2.ให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันกับต่างประเทศ


ด้านการแรงงานและสวัสดิการสังคม

1.แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ประกาศและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับโรงงาน

2.ขยายการว่าจ้างงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น

3.ขจัดการขูดรีดแรงงานที่ไม่เป็นธรรมให้หมดสิ้นไป

4.สร้างหลักประกันในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงานทั้งในและต่างประเทศ

5.สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน


ด้านสตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม

1.จัดหางานที่เหมาะสมและสงวนลิขสิทธิ์ของงานบางประเภทสำหรับสตรี

2.คุ้มครองการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มงวด

3.ออกกฎหมายลงโทษ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองที่ทารุณกรรมและไม่เอาใจใส่ในการเลี้ยงดูบุตร หรือเด็กที่อยู่ในความอุปการะ


ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

1.กำหนดแผนการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

2.เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ

3.แก้ไขปัญหามลพิษ

4.นำเข้าพลังงานหลักจากต่างประเทศและเก็บพลังงานภายในประเทศไว้เป็นพลังงานสำรอง


ด้านการต่อต้านยาเสพติดและโรคติดต่อที่รุนแรง

1.ป้องกันและปราบปรามการผลิต

2.การนำเข้าและจำหน่ายยาเสพติด

3.จัดให้มีการบำบัดผู้ติดยาเสพติด

4.เข้มงวดกับการนำเข้ายาปราบศัตรูพืชที่มีสารพิษเจือปน สัตว์หรือพาหะนำโรคร้ายแรง รวมไปถึงชาติต่างชาติที่อาจนำมาซึ่งโรคติดต่อร้ายแรงได้


ด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค

1.ควบคุมโฆษณาบางชนิดที่ให้โทษต่อสุขภาพและร่างการของประชาชน

2.จัดให้มีการบริการสาธารณสุขที่ดีและทั่วถึง

3.ควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรม


ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม

1.ป้องกันการผูกขาดของเอกชน

2.ยกเลิกสัมปทานที่เอาเปรียบประชาชน

3.จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้เกิดประโยชน์สูงสุด

4.ขยายเส้นคมนาคมทั่วประเทศ

5.สร้างรถไฟรางคู่

6.ป้องกันการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

7.จัดระบบการจราจรทั่วประเทศให้เป็นระเบียบ


ด้านการกีฬาและนันทนาการ

1.สร้างสถานที่ฝึก ที่แข่งขันและที่พักผ่อนอย่างเพียงพอ

2.ส่งเสริม สนับสนุนการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน

3.ให้สวัสดิการนักกีฬาทีมชาติอย่างเหมาะสม


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 9ง หน้า 1
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 9ง หน้า 37
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 20ง หน้า 69
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 11ง หน้า 116
  5. สรุปความจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 9ง หน้า 1-14