พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร
“เรียนให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า ผมไม่ได้มองปัญหาด้านเดียว
ผมมองปัญหาโดยรอบ แล้วที่ท่านขอให้รัฐบาลขอโทษ
ผมมาในวันนี้ ผมขอโทษแทนรัฐบาลที่แล้ว
ผมขอโทษแทนรัฐบาลนี้ ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีต
เป็นความผิดส่วนใหญ่ของรัฐ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป”
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์[1]
“คำขอโทษ” ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ที่ชื่อ “พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์” นับเป็นสุนทรพจน์ที่มีพลังอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังร้อนแรง และเป็นสุนทรพจน์ที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 เดือน เท่านั้น นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และภายหลังได้แปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ท่ามกลางปัญหา “ความขัดแย้งที่รุนแรง” ทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง และประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เส้นทางชีวิตของบุคคลผู้นี้ นับว่ามีความเป็นมาที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่เป็นนายทหารรบพิเศษ ที่ต้องเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์ การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาทหารบก และการถวายงานในฐานะ “องคมนตรี” ฯลฯ
ประวัติการศึกษาและชีวิตครอบครัว
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ในบ้านพักค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี[2] เป็นบุตรคนที่ 2 ของ พันโท พโยม จุลานนท์ (บุตรของเจ้าพระยาวิเศษสิงหนาถ) และนางอัมโภช จุลานนท์ หรือนางอัมโภช ท่าราบ (บุตรีของพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม)[3] ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายทหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่งผลให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นทหารตั้งแต่วัยเยาว์
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ารับการศึกษาในระดับอนุบาล ณ โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ส่วนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย[4] แต่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้เพียง 1 ปี ก็ได้ตัดสินใจสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 1 (ตท.1) ในปี พ.ศ. 2501[5] และศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 12 (จปร.12) ในปี พ.ศ. 2504 และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2508[6]
หลังสำเร็จการศึกษา ได้ติดยศ ร้อยตรี เป็นทหารเหล่าราบ ประจำศูนย์การทหารราบ[7] จากนั้นได้เข้ารับการอบรมในโรงเรียนศูนย์การทหารราบ ในปี พ.ศ. 2509 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511 หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศจู่โจม พ.ศ. 2509 หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่าทหารราบ สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2511 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 พ.ศ. 2516 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2517 หลักสูตรการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2517 และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2536[8]
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมรสครั้งแรกเมื่อครั้งรับราชการอยู่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ พันตรี นนท์ จุลานนท์[9] และสมรสครั้งที่สองกับ พันเอกหญิง ท่านผู้หญิง จิตราวดี จุลานนท์ (สันทัดเวช) มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายสันต์ จุลานนท์ และนายจุล จุลานนท์[10]
หน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เริ่มรับราชการทหารยศร้อยตรี เป็นทหารเหล่าราบ ประจำศูนย์การทหารราบ พ.ศ. 2508 ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31 ปี พ.ศ. 2513 เป็นผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยรบพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 2 ปี พ.ศ. 2515 เป็นครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ ปี พ.ศ. 2521 เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 ปี พ.ศ. 2526 เป็นผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1 ปี พ.ศ. 2532 เป็นผู้บัญชาการกองรบพิเศษที่ 1 ปี พ.ศ. 2535 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ปี พ.ศ. 2537 แม่ทัพภาคที่ 2 ปี พ.ศ. 2540 ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก[11] พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2541 และอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก 4 ปี ก่อนที่จะถูกโยกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในปี พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
นอกจากนี้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังเคยดำรงตำแหน่งในราชการพิเศษอื่น ๆ ประกอบด้วย ราชองค์รักษ์เวร ในปี พ.ศ. 2526 นายทหารคนสนิท นายกรัฐมนตรี (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ในปี พ.ศ. 2529-2531 นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ในปี พ.ศ. 2531 สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 1 และ 2 พ.ศ. 2535 และ 2539[12]
ภายหลังการเกษียณอายุราชการ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ดูแลด้านความมั่นคง[13] ระหว่างนั้น ในปี พ.ศ. 2547 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ลาอุสมบท เป็นเวลา 1 พรรษา ณ วัดป่าดานวิเวก จังหวัดหนองคาย[14] หลังจากลาสิกขามาได้ไม่นาน การเมืองไทยก็เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 และลุกลามบานปลาย จนนำไปสู่การยึดอำนาจ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และได้เสนอชื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549[15]
ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
ในระหว่างที่รับราชการทหารอยู่นั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ นั่นคือ การต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมี พันโท พโยม จุลานนท์ เป็นแกนนำคนสำคัญ โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายคำตัน”[16] ในขณะที่ช่วงเวลานั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพิ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้เป็นนายทหารประจำการ และต้องปฏิบัติภารกิจในการปราบปรามกลุ่ม พคท. อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ชื่อของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงเป็นที่กังขาถึงภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ และสายเลือดที่มีบิดาเป็นแกนนำคนสำคัญใน พคท. ส่งผลให้ในช่วงเริ่มแรกแห่งการรับราชการทหาร กองทัพบกหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากนามสกุลจุลานนท์และสายสัมพันธ์พ่อลูกนั่นเอง[17] แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานวัน กองทัพบกเริ่มมีความเชื่อมั่นในตัวพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มากขึ้น ซึ่งท่านเคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ว่า
“หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วต้องเผชิญหน้า ผมก็ต้องทำหน้าที่ของผม เพราะเราทำกันคนละหน้าที่ เราอยู่กันคนละข้าง ผมก็มีหน้าที่ของผม เป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน”[18]
นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 นั้น นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอีกช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิเช่น กลุ่มอำนาจเก่าที่ยังมีพลังขับเคลื่อนอยู่ รวมถึงกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ได้มีการรวมตัวต่อต้านรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่เป็นระยะ ในส่วนของผลงานทางการเมืองที่สำคัญของรัฐบาลนั้น ในช่วงแรก รัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเดินสายเรียกความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อประเทศไทย[19] และด้วยภาพลักษณ์ของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีภาพของนายทหารที่มีความซื่อสัตย์ ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับ และทุกภาคส่วนเห็นว่ามีความเหมาะสมในสภาวะที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังต้องการความสามานฉันท์[20] นอกจากนี้รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการขับเคลื่อนนโยบายผ่านหลัก 4 ป. ประกอบด้วย ประหยัด เป็นธรรม โปร่งใส และประสิทธิภาพ[21] และมีนโยบายอื่น ๆ อาทิเช่น ยกเลิก “โครงการหวยบนดิน” ซึ่งเคยดำเนินการมาในสมัยรัฐบาลก่อนหน้า รวมถึงปรับนโยบายประกันสุขภาพ 30 บาท รักษาทุกโรค มาเป็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี การกำหนด “ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข” ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเริ่มมีการออกกฎห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาก่อน 22.00 น. ฯลฯ
รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังมีส่วนสำคัญในการทำให้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 ผ่านไปได้ด้วยดี ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อควบคุมให้มีการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น[22]
ฉายาและข้อวิจารณ์
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น สื่อมวลชนบางสำนักได้ตั้งฉายาให้กับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า “รัฐบาลขิงแก่”[23] เนื่องจากรัฐมนตรีที่ร่วมในคณะรัฐมนตรีนั้น ล้วนแล้วแต่มีอายุมากทั้งสิ้น รวมถึงยังมีสื่อบางสำนักตั้งฉายาให้ว่า “ยุทธ_ยายเที่ยง”[24] เนื่องจากมีข้อครหาเกี่ยวกับการถือครองที่ดินบริเวณเขายายเที่ยง นอกจากนี้ นายธีรยุทธ บุญมี อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งฉายาให้กับรัฐบาลชุดนี้ว่า “ฤๅษีเลี้ยงเต่า”[25] เนื่องจากรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีภาพลักษณ์เป็นคนดีมีศีลธรรมเสมือนฤๅษี แต่รัฐมนตรีที่ร่วมในคณะรัฐมนตรีมีลักษณะการทำงานที่เชื่องช้าเสมือนเป็นเต่า ซึ่งฉายานี้ตั้งล้อกับฉายาของรัฐบาลหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ที่ว่า “ฤๅษีเลี้ยงลิง”
ในส่วนของข้อวิจารณ์นั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2541 ว่าเป็นเพราะฝ่ายการเมืองหนุนหลัง เนื่องจากในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มาทุกสมัย ประกอบกับพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยดำรงตำแหน่งเป็น นายทหารคนสนิทพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงทำให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้[26]
ในสมัยรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มีข่าวแพร่สะพัดออกมาถึงความขัดแย้งระหว่างพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จนมีข่าวว่าพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะทำการยึดอำนาจ จนนายกรัฐมนตรีต้องโทรศัพท์ไปถามด้วยตัวเองว่า “พี่จะปฏิวัติผมหรือ?”[27] หลังจากนั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั้งเกษียณอายุราชการ
เมื่อพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการบุกรุกที่ดินป่าสงวน บริเวณเขายายเที่ยง จังหวัดนครราชสีมา และกรณีมีโบกี้รถไฟอยู่ในบริเวณบ้านพัก โดยกรณีโบกี้รถไฟนั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออกมาปฏิเสธ หลังจากนั้น ในช่วงปลายสมัยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการเปิดบ้านพักให้นักข่าวเข้าเยี่ยมชมอีกด้วย ส่วนกรณีบ้านพักเขายายเที่ยงนั้น ได้มีการฟ้องร้องคดีบุกรุกที่ดินป่าสงวน และอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง[28]แต่ได้มีการรื้อถอนบ้านพักออกไปในปี พ.ศ. 2553[29]
บรรณานุกรม
พลเอก นิพนธ์ ศิริพร และคณะ. ภาระ หน้าที่ ของนายกรัฐมนตรี คนที่ '24 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์' (กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, มปป.).
วาสนา นาน่วม. เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 (กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มติชน, 2549).
สัก กอแสงเรือง. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, 2556).
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 'สุนทรพจน์ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ตุลาคม ถึง'ธันวาคม 2549 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2550).
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 'สุนทรพจน์ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มกราคม ถึง' มีนาคมม 2549 (กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2550).
เว็บไซต์
นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้าถึงจาก<>%20เมื่อ http://www.thaigov.go.th/index.php/th/primeminster/item/78230> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก เข้าถึงจาก <>%20%20เมื่อ http://www.rta.mi.th/command/command31.htm> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
‘รัฐบาลขิงแก่’ ไม่ใช่ฉายาสื่อทำเนียบฯ ตั้ง เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/291252> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
"สนธิ" เป็นรองนายกฯ ด้าน "สุรยุทธ์" เผยแวว นั่งควบ มท.1 เข้าถึงจาก <>%20%20เมื่อ http://prachatai.org/journal/2007/10/14373> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
‘รัฐบาลขิงแก่’ ไม่ใช่ฉายาสื่อทำเนียบฯ ตั้งเข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/291252> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
อัยการสั่งไม่ฟ้อง “สุรยุทธ์” ชี้ขาดเจตนารุกเขายายเที่ยง เข้าถึงจาก <http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000002631> เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559
รื้อถอนบ้านพล.อ.สุรยุทธ์ที่เขายายเที่ยงแล้ว เข้าถึงจาก <http://www.tnews.co.th/html/contents/7069/> เมื่อวันที่ 7เมษายน 2559.
อ้างอิง
[1] พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พบปะข้าราชการ ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
[2] พลเอก นิพนธ์ ศิริพร และคณะ, ภาระ หน้าที่ ของนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, (กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, มปป.), น. 8-11.
[3] วาสนา นาน่วม, เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549), น.29.
[4] เพิ่งอ้าง, น.49-50.
[5] เพิ่งอ้าง, น.42.
[6] เพิ่งอ้าง, น.50.
[7] นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, เข้าถึงจาก http://www.thaigov.go.th/index.php/th/primeminster/item/78230 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[8] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[9] วาสนา นาน่วม, อ้างแล้ว, น.77.
[10] เพิ่งอ้าง, น.94.
[11] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[12] ทำเนียบผู้บัญชาการทหารบก, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command31.htm เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[13] สัก กอแสงเรือง, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี, (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2556), น.143.
[14] วาสนา นาน่วม, อ้างแล้ว, น.275.
[15] พลเอก นิพนธ์ ศิริพร และคณะ, อ้างแล้ว, น.3.
[16] วาสนา นาน่วม, อ้างแล้ว, น. 45.
[17] เพิ่งอ้าง, น.59-64.
[18] เพิ่งอ้าง, น.67-68.
[19] พลเอก นิพนธ์ ศิริพร และคณะ, อ้างแล้ว, น.25-75.
[20] วาสนา นาน่วม, อ้างแล้ว, น. 278.
[21] นโยบายรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, เข้าถึงจาก http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program1-4.jsp?t_ser=14135&gcode=14137&Txt_condition= เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[22] "สนธิ" เป็นรองนายกฯ ด้าน "สุรยุทธ์" เผยแวว นั่งควบ มท.1, เข้าถึงจาก http://prachatai.org/journal/2007/10/14373 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[23] ‘รัฐบาลขิงแก่’ ไม่ใช่ฉายาสื่อทำเนียบฯ ตั้ง, เข้าถึงจาก http://www.dailynews.co.th/politics/291252 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[24] ‘รัฐบาลขิงแก่’ ไม่ใช่ฉายาสื่อทำเนียบฯ ตั้ง, เข้าถึงจาก http://www.dailynews.co.th/politics/291252 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[25] ‘รัฐบาลขิงแก่’ ไม่ใช่ฉายาสื่อทำเนียบฯ ตั้ง, เข้าถึงจาก http://www.dailynews.co.th/politics/291252 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[26] วาสนา นาน่วม, อ้างแล้ว, น.144-149.
[27] เพิ่งอ้าง, น.167-172.
[28] อัยการสั่งไม่ฟ้อง “สุรยุทธ์” ชี้ขาดเจตนารุกเขายายเที่ยง, เข้าถึงจาก http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000002631 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559.
[29]รื้อถอนบ้านพล.อ.สุรยุทธ์ที่เขายายเที่ยงแล้ว, เข้าถึงจาก http://www.tnews.co.th/html/contents/7069/ เมื่อวันที่ 7เมษายน 2559.