สงวน ตุลารักษ์
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สงวน ตุลารักษ์ : ทูตไทยผู้ลี้ภัยในจีน
คนอาจรู้จักว่านายสงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนหนึ่ง และก็อาจรู้ว่านาย สงวน ตุลารักษ์ เป็นเสรีไทยด้วยคนหนึ่ง แต่อาจมีคนไม่รู้ว่านายสงวน ผู้นี้เคยเป็นทูตไทยประจำประเทศจีนที่ต้องขอลี้ภัยอยู่ในจีนจนเป็นความลำบากที่ทำให้ต้องมาติดคุกอยู่ในเมืองไทยในภายหลัง นายสงวน ตุลารักษ์ จึงเป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองไทยที่น่ารู้จักอีกคนหนึ่ง นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้ก่อการฯสายพลเรือนถูกนำเข้ามาร่วมงานทางสายนาย ปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ได้เป็นนักเรียนนอก
นายสงวน เป็นคนอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านเกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2445 เป็นบุตรของนายนัฐ และนาง ฟัก ตอนเด็กเรียนอยู่หลายโรงเรียน ทั้งโรงเรียนที่บางคล้า ที่ธนบุรี ที่พระนคร กลับไปเรียนที่ฉะเชิงเทรา รวมทั้งไปที่พิษณุโลก แล้วมาจบที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้วิชาครูประโยคมัธยม เมื่ออายุ 19 ปี ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมจนจบเป็นเนติบัณฑิต ในปี 2468 และที่โรงเรียนกฎหมายนี่เองที่นายสงวน ได้รู้จักกับนายกลึง พนมยงค์ ที่พานายสงวน ให้ไปรู้จักกับ นายปรีดี พนมยงค์ ชีวิตครอบครัวของนายสงวน นั้นท่านได้แต่งงานกับ นางสาวบุญมา วิบูลย์สวัสดิ์ มีบุตรและธิดาอย่างละคน ศึกษาจบออกมาอาชีพแรกของนายสงวน ก็คือเป็นครู อยู่ที่โรงเรียนวัดสุวรรณาราม จังหวัดธนบุรี และเมื่อเรียนจบกฎหมายก็ได้ร่วมกับเพื่อนตั้งโรงเรียนสอนติวกฏหมาย และตั้งสำนักงานทนายความชื่อ "ผดุงธรรม" โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่ชุมนุมของเพื่อนมาพูดคุยถึงเรื่องต่างๆ
การเข้าร่วมเป็นผู้ก่อการฯนั้นเชื่อว่าท่านคงถูกชวนจากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้ก่อ
การฯ สายพลเรือน และนายสงวน ยังได้ชวนน้องชายวัย 19 ปี ชื่อกระจ่าง เข้ามาร่วมงานด้วย การร่วมงานของนายสงวน ในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องสำคัญมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรกด้วย งานสำคัญนอกสภาที่ นายสงวน ช่วยคณะราษฎรคือทำหนังสือพิมพ์ชื่อ "'24 มิถุนา" เพื่อเป็นสื่อนำความเห็นในเรื่องประชาธิปไตย แต่ก็น่าเสียดาย ที่"'24 มิถุนา" ต้องปิดไปในปี 2476 เมื่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกอีกฝ่ายหนึ่งเล่นงานว่ามีแนวทางไปแบบคอมมิวนิสต์ เรื่องตรงนี้ คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ได้เขียนเล่าเอาไว้ว่า
"คุณสงวน ตุลารักษ์ บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ซึ่งขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ได้บอกว่า หนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา นั้นออกโดยทุนรอนของคุณสงวนฯเอง แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญอยู่ในขณะนั้น ได้ขอร้องให้คุณสงวนหยุดกิจการหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา เสีย โดยพระยาราชวังสัน ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ คุณสงวนบอกว่าเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงยินยอมเลิกกิจการ"
การที่นายสงวน มีความรักและเคารพหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ท่านจึงถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิดหรือศิษย์เอก ดังที่มีเรื่องเล่าว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถึงกับพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่พิจารณาเกี่ยวกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐฯ มีความตอนหนึ่งที่คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ได้ยกบันทึกรายงานการประชุมมาให้ดู
"พระยามโนฯ 'การประกาศโครงการออกมานั้น ขอให้ฟังเสียงข้างนอกบ้าง ว่าหลวงประดิษฐ์นั้นเป็นผู้บงการในวงการรัฐบาลนี้ และนายสงวน (ตุลารักษ์) นายซิม (วีรไวทยะ) เป็นโมคคัลลาห์ สารีบุตรของหลวงประดิษฐฯ แยกกันไม่ออก'
หลวงประดิษฐฯ ว่าที่จริงนั้น นายสงวนกับซิมนั้นเป็นลูกศิษย์ของใต้เท้า ขอให้ไปเปิดดูทะเบียนโรงเรียนกฎหมาย จะเห็นได้ว่านายสงวนสอบไล่ได้ในปี 2470 และเวลานั้นผมยังไม่ได้สอน และใต้เท้าเป็นครูสอนกฎหมายมรดก'
พระยามโนฯ จริง ควรจะเป็นลูกศิษย์ข้าพเจ้ามากกว่า ' "
เมื่อพระยามโนฯปิดสภาและมีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ฯต้องเดินทางไปต่างประเทศครั้งนั้น นายสงวน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯก็ต้องหลบออกไปบ้านนอก คือไปเลี้ยงปลาและทำนาอยู่ที่คลองด่านหรือที่เรียกกันสมัยนั้นว่าบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล และนาย ปรีดีกลับมา นายสงวนจึงกลับเข้าพระนครมาร่วมกันกับนายซิมทำหนังสือพิมพ์อีก ชื่อ "สัจจา" หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ว่าพวกอำนาจเก่าเปรียบเทียบว่าเหมือน "หนังสือพิมพ์ปราฟดา" ของคอมมูนิสต์รัสเซีย (โดยท่านเรียกว่า "สัจจัง" ) ที่จริงคำว่า "สัจจา" กับ "ปราฟดา" นั้นมีความหมายเหมือนกันคือ"ความจริง" แต่ที่เปรียบเทียบนั้นคงมองว่า"สัจจา"เป็นหนังสือแนวซ้ายมากกว่า
ตั้งแต่ปี 2477 นายสงวน ก็เข้าทำงานราชการครั้งแรกที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกทั่วไป ทั้งนี้นายสงวนได้ลาออกจากสมาชิกสภาพร้อมกับนายซิม วีระไวทยะ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม ปี 2476 แล้วการมาทำงานที่กรมราชทัณฑ์ท่านจึงได้ไปเป็นผู้บัญชาการเรือนจำภาค ที่บันนังสตา จังหวัดยะลาอยู่ประมาณ 2 ปี แล้วจึงได้ย้ายงานมาที่กระทรวงการคลังเป็นหัวหน้ากองโรงงานยาสูบในปี 2483 วันที่ญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และรัฐบาลไทยตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย จนทำให้ผู้นำไทยที่ไม่เห็นด้วยคิดที่จะต่อต้านญี่ปุ่น ได้ไปประชุมกันที่บ้านพักนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งในตอนบ่ายและตอนค่ำของวันนั้น นายสงวนเป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมประชุมในค่ำวันนั้นและตกลงกันที่จะต่อต้านญี่ปุ่น ดังนั้นนายสงวนจึงเป็นผู้ที่เข้าร่วมคิดทำงานในขบวนการเสรีไทยมาตั้งแต่ต้นคนหนึ่ง และก็ได้ทำงานที่ยากและสำคัญของการปฏิบัติการเสรีไทยดังที่ปรากฏต่อมา
นายสงวน ตุลารักษ์ เข้าร่วมงานเสรีไทยมาได้ 2 ปี ท่านก็ออกปฏิบัติการสำคัญ นั่นก็คือเป็นตัวแทนของหัวหน้าเสรีไทยเดินทางไปติดต่อกับจีนที่จุงกิง คุณสงวนไม่ได้ไปคนเดียวแต่พาไปทั้งครอบครัว มีภรรยา บุตร ธิดา และน้องชายอีกคนคือคุณกระจ่าง กับนายแดง คุณะดิลก และนายวิบูลย์วงศ์ วิมลประภา คุณสงวนได้บันทึกเล่าเอาไว้เองว่า
"ได้ออกเดินทางเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม 2486 โดยรถไฟไปพระตะบอง เพื่อเดินทางต่อไปไซ่ง่อนและฮานอย (เราได้บอกทางญี่ปุ่นไว้ว่า จะเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อซื้อใบยาสูบ ขณะนั้นผมเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบอยู่ จึงเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับลูกๆก็อ้างว่าจะพาไปเรียนต่อ) แต่แล้วเมื่อถึงฮานอย เราก็ไม่ได้ลงเรือไปญี่ปุ่น .."
แต่คณะพากันขึ้นรถไปเมืองไฮฟองและลงเรือต่อไปที่เมืองชายแดนของจีน จากนั้นต้องปลอมตัวเป็นคนญวน เดินทางด้วยรถ ด้วยเรือ และรถไฟ ผ่านเมืองอีกหลายเมือง กว่าจะถึงเมืองจุงกิง ก็เป็นวันที่ 1 กันยายน ปี 2486 รวมเวลาเดินทางถึง 45 วัน จึงเป็นการเดินทางที่ทั้งยากลำบากและนานวันมากด้วย ที่จุงกิงคุณสงวนได้พบกับคุณจำกัด พลางกูร และคุณสงวนกับคุณแดง คุณะดิลก ยังต้องเดินทางต่อไปสหรัฐฯ ดังนั้นคุณสงวนจึงรู้จักพลพรรคเสรีไทยสายอเมริกาหลายคน
การปฏิบัติงานช่วงที่อยู่ต่างประเทศนี้ประมาณ 2 ปี ตอนต้นปี 2487 รัฐบาลไทยได้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการ ฐานเป็นชนชาติศัตรู เมื่ออยู่ต่างประเทศจึงยังไม่กระทบกระเทือน ขณะนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หลังสงครามและหลังรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐบาลใหม่ก็ได้ยกเลิกคำสั่งไล่ออกดังกล่าว ปลายสงครามและปลายสมัยรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2488 คุณสงวน จึงเดินทางกลับประเทศไทยจากศรีลังกา ดังที่ธิดาของท่านคือ คุณ รำไพ ตุลารักษ์ บันทึกไว้ว่า
"คุณพ่อเดินทางเข้าเมืองไทยโดยเครื่องบิน พร้อมด้วยคุณพิเศษ ปัตตะพงษ์ และคุณวิเชียร วายวานนท์ เครื่องบินตกจากทางวิ่ง เครื่องเสียหาย แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย"
การเมืองไทยในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกอันเนื่องมาจากการพ่ายแพ้สงครามโลกของฝ่ายอักษะ ประเทศไทยเองก็มีภาระอันหนัก เนื่องมาจากการดำเนินการของรัฐบาลไทยในช่วงสงคราม ที่เสี่ยงต่อการที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ชนะเล่นงานได้ ดังนั้นเมื่อสงครามยุติ นายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ จึงนำรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้รัฐบาลใหม่ของไทยเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ นายทวี บุณยเกตุ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลบริหารประเทศเพื่อรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ นี้ คุณสงวน กลับมาถึงเมืองไทยได้เพียงเดือนกว่าๆ ก็รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย และต่อมาเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี มาเป็น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช คุณสงวนก็ยังอยู่ในคณะรัฐบาล เพียงแต่ย้ายกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่าท่านได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามด้วย แต่พอถึงเดือนตุลาคมปีนั้น นายกรัฐมนตรีก็ดำเนินการยุบสภาโดยกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489
การเมืองไทยในตอนนั้น การเมืองภายนอกพอจะเบาลง การเมืองภายในมีการแบ่งฝ่ายกันชัดขึ้น ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาด้วยกันลงเลือกตั้งแข่งขันในเขตเดียวกันก็มี คือนาย ควง อภัยวงศ์ กับนายวิลาส โอสถานนท์ แข่งขันในเขตเดียวกันที่จังหวัดพระนคร ตอนนั้นคุณสงวนจึงคิดจะลงเลือกตั้งที่จังหวัดตน และได้ร่วมกับอดีตเสรีไทยทางภาคอิสาน จัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรคสหชีพ ตัวคุณสงวนสมัครลงเลือกตั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่นายควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คุณสงวนได้รับตำแหน่งสำคัญอีกครั้งในสมัยรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำนครนานกิง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2489 นับว่าเป็นงานที่ท้าทาย ความสัมพันธ์ตอนที่เป็นเสรีไทยน่าจะทำให้ท่านเป็นตัวแทนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ไทยจีนให้ดีขึ้น แต่คุณสงวนเป็นทูตได้ประมาณหนึ่งปีก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมืองไทยที่มีผลกระทบถึงคุณสงวน
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เกิดการรัฐประหารในเมืองไทย ล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ คุณสงวนไม่เห็นด้วย จึงขอลาออกจากตำแหน่งและขอลี้ภัยอยู่ในเมืองจีน ซึ่งเป็นการลี้ภัยที่นานเป็นสิบปี เพราะคณะรัฐประหารและหลวงพิบูลสงคราม เป็นรัฐบาลสืบต่อมานาน รอดความพยายามจะยึดอำนาจของกลุ่มอื่นได้ถึงสิบปี จนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเมื่อปี 2500 จนมีรัฐบาลของพลโท ถนอม กิตติขจร คุณสงวนจึงได้เดินทางกลับไทย และต้องมาสู้คดีที่ถูกข้อหาคอมมูนิสต์ ระยะแรกขอประกันได้ จึงสู้คดีอยู่นอกคุก จนต่อมาจอมพล สฤษดิ ได้ปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้ง คุณสงวนถูกถอนประกัน จนต้องเผชิญวิบากกรรมทางการเมือง บันทึกชีวิตของคุณสงวนเขียนไว้ว่า
“'20 ต.ค.2501 เกิดเป็นรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงโดนคำสั่งให้ถอนการประกันตัว และให้ส่งคดีไปดำเนินการโดยศาลทหารในกระทรวงกลาโหม ระหว่างนั้นถูกควบคุมตัวที่เรือนจำลาดยาวรวมกับผู้ต้องหาคดีการเมือง"
คุณสงวน ถูกควบคุมตัวจนป่วย จึงได้รับการประกันออกมารักษาตัว ต่อมาก็ได้รับการถอนฟ้องคดีในปี 2508 คุณสงวนได้มีชีวิตอยู่ดูความลุ่มๆดอนๆของประชาธิปไตยสืบมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2538