พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2517

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง อลิศรา พรหมโชติชัย


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517 เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511 ซึ่งได้แก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และลักษณะของบุคคลต้องห้ามซึ่งไม่สามารถสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้ ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดได้ดังนี้

1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517 ได้มีการแก้ไขในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล โดยไม่ได้กล่าวถึงบุคคลสัญชาติไทยที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการเฉพาะ แต่สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายนั้น ยังคงต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายฉบับก่อนหน้า นั่นคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ [1]

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517 ยังได้แก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลบางประการสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงชาติซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตามมาตรา 17 ทวิ (4) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 โดยกฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าวจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้นั้นจะต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล[2] แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ได้ตัดสิทธิผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองอื่นๆ ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะเคยเป็นสมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล และหากมีคุณสมบัติสอดคล้องกับกฎหมายอื่นๆกำหนดไว้ด้วยก็ให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้

2. การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517 ได้แก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้ [3]

(1) กฎหมายฉบับใหม่ได้ตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่บิดาเป็นคนต่างด้าว แต่ระบุไว้แต่เพียงกรณีที่บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะต้องมีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ กล่าวคือ บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือมีความรู้เทียบเท่า นอกจากนั้น ยังต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย [4]

(3.1) รับหรือเคยรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

(3.2) เคยเป็นข้าราชการหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ชั้นตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่าได้ไม่ต่ำกว่าชั้นตรีขึ้นไป

(3.3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการสุขาภิบาล กรรมการตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล

(3.4) มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันนับตั้งแต่ได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

(2) กฎหมายก่อนหน้าได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง[5] แต่กฎหมายฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517 ได้กำหนดอายุของผู้มีสิทธิสมัครเลือกตั้งให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

3. การแก้ไขลักษณะของบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2517 ได้แก้ไขลักษณะของบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครเลือกตั้งจากเดิมที่เคยบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 สองประการด้วยกัน ดังต่อไปนี้

(1) กฎหมายเดิมได้กำหนดไว้ว่าบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยให้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท[6] ไม่มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้ ซึ่งกฎหมายใหม่ได้แก้ไขโดยกำหนดให้บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท[7]

(2)กฎหมายเดิมได้กำหนดไว้ว่าบุคคลที่เป็นข้าราชการที่ถูกไล่ออกหรือปลดออก เพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยมิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญหรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐ ซึ่งถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างแล้วแต่กรณี ถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 5 ปี ไม่มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้ [8] ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขโดยรวมเอาพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย เป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลด้วย และเพิ่มระยะเวลานับตั้งแต่วันที่บุคคลซึ่งกระทำผิดเพราะทุจริตต่อหน้าที่และมีโทษถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้าง แล้วแต่กรณี ถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 7 ปี[9] ไม่มีสิทธิสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลได้

ที่มา

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 85, ตอนที่ 108, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2511

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2517, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 91, ตอนที่ 154, วันที่ 17 กันยายน 2517
  2. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 85, ตอนที่ 108, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2511
  3. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่7) พ.ศ.2517, เพิ่งอ้าง, หน้า 426, มาตรา 5
  4. เพิ่งอ้าง, หน้า427-428, มาตรา 6
  5. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511, เพิ่งอ้าง, หน้า 838, มาตรา 9
  6. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511, เพิ่งอ้าง, หน้า836-837, มาตรา 18
  7. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งว่าสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่7) พ.ศ.2517, เพิ่งอ้าง, หน้า 428-429, มาตรา 8
  8. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511, เพิ่งอ้าง, หน้า836-837, มาตรา 18
  9. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งว่าสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่7) พ.ศ.2517, เพิ่งอ้าง, หน้า 428-429, มาตรา 8