พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง อลงกรณ์ อรรคแสง


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482[1] เป็นกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับที่สอง โดยก่อนหน้านี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479[2] ซึ่งเป็นกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย

ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481[3] และได้ยกเลิกกฎหมายเทศบาลฉบับเดิมคือพระราชบัญญัติการจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476[4] ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย[5]

พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบและที่มาของสภาเทศบาลได้แก่ กำหนดให้จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลมีจำนวนที่คงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรเหมือนในกฎหมายฉบับก่อนหน้า โดยกำหนดให้สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิก 9 คน สภาเมืองมีสมาชิก 18 คน และสภาบาลนครมีสมาชิก 36 คน [6]

 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 พิจารณาได้ดังต่อไปนี้

เขตเลือกตั้ง

เขตเลือกตั้ง พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยไม่ใช้ระบบตัวแทนจากหมู่บ้านหรือตำบลละ 1 คนซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479 แต่ได้เปลี่ยนเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตมีสมาชิกสภาเทศบาลได้ 3 คน[7] ดังนั้นเทศบาลตำบลจึงแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 3 เขต เทศบาลเมืองแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 6 เขต และเทศบาลนครแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 12 เขต กรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่า 1,500 คน ให้จัดแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นออกเป็นหน่วยลงคะแนน โดยให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วยไม่เกิน 1,500 คน[8]

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง [9]

2.1 ต้องมิใช่ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในวันเลือกตั้ง

2.2 มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ ผู้มีสัญชาติไทยคนใด

2.2.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้ประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายรับราชการทหาร หรือเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือ ครูโรงเรียนประชาชนบาลโดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
2.2.2 ถ้าเป็นบุคคลที่แปลงชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอันกำหนดไว้ในข้อ 2.2.1 หรือได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับแต่เมื่อแปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี

2.3 มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

2.4 ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเทศบาลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง

2.5 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

2.6 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้

2.7 ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช

2.8 ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

คุณลักษณะของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล [10]

3.1 ไม่ใช่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาให้กักกันหรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดส่วนตัวหรือฐานประมาท

3.2 มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่ ผู้มีสัญชาติไทยคนใด

3.2.1 ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนภาษาไทยจนได้ประกาศนียบัตรไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) หรือได้รับราชการประจำการตามกฎหมายรับราชการทหาร หรือเป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือ ครูโรงเรียนประชาชนบาลโดยมีเงินเดือนประจำแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี
3.2.2 ถ้าเป็นบุคคลที่แปลงชาติเป็นไทย ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอันกำหนดไว้ในข้อ 3.2.1 หรือได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรติดต่อกันนับแต่เมื่อแปลงชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี

3.3 มีอายุไม่ต่ำกว่า 23 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

3.4 ต้องมีพื้นความรู้ดังนี้

3.4.1 ในกรณีเทศบาลนคร ต้องมีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 ตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) หรือมีความรู้ซึ่งกระทรวงธรรมการรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าจำเป็นในกรณีแห่งเทศบาลใด จะประกาศกำหนดพื้นความรู้ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 เฉพาะเทศบาลนั้นก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้
3.4.2 ในกรณีแห่งเทศบาลเมือง ต้องมีความรู้สอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ หรือมีความรู้ซึ่งกระทรวงธรรมการรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าจำเป็นในกรณีแห่งเทศบาลใด จะประกาศกำหนดพื้นความรู้ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาสามัญเฉพาะเทศบาลนั้นก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้
3.4.3 กรณีเทศบาลตำบล ต้องมีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

3.5 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

3.6 ไม่เป็นบุคคลหูหนวกและเป็นใบ้

3.7 ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือ นักบวช

3.8 ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

3.9 ไม่เป็นผู้อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญ

3.10 ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ

3.11 ไม่เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลไม่สั่งให้พ้นจากคดี

3.12 บุคคลที่เป็นโรคติดต่อตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง

3.13 ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล ครูประชาบาลหรือลูกจ้างรัฐบาลซึ่งมีเงินเดือนและประจำในจังหวัด

การลงคะแนนเลือกตั้ง[11]

1. ให้เทศบาลคัดบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแยกออกตามหน่วยลงคะแนน แล้วประกาศไว้ ณ ที่ลงคะแนนและที่อื่นซึ่งเห็นได้ง่ายไม่น้อยกว่า 4 แห่งในหน่วยลงคะแนนนั้นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน

2. บุคคลใดไม่มีชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยลงคะแนนใด ถ้าเห็นว่าตนสมควรมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยนั้น อาจร้องต่อคณะกรรมการตรวจคะแนน ถ้าคณะกรรมการตรวจคะแนนวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิลงคะแนนในหน่วยนั้นก็ให้เติมชื่อผู้ร้องลงในบัญชี ถ้าวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยนั้นก็ให้ยกคำร้องเสีย ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจคะแนนยกคำร้องหรือไม่แก้ไขเพิ่มเติมหรือถอนชื่อในบัญชีตามคำร้อง ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลพิจารณา

3. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดเห็นว่าตามบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ปรากฏชื่อบุคคลที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยลงคะแนน อาจร้องต่อคณะกรรมการตรวจคะแนนให้ถอนชื่อนั้นออกจากบัญชี

4. ในวันเลือกตั้ง ให้เปิดการลงคะแนนตั้งแต่ 08.00 – 16.00 น.

5. ในวันเลือกตั้ง เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดไปแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนนแล้ว ให้กรรมการตรวจคะแนนตรวจสอบบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าปรากฏชื่อผู้นั้นในบัญชีรายก็ให้หมายเหตุไว้ในบัญชี แล้วจึงให้ลงคะแนนได้ ในขณะที่กรรมการตรวจคะแนนจะส่งบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้ใด ต้องอ่านชื่อและที่อยู่ของผู้นั้นโดยเสียงดัง หากผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งคนใดทักท้วงว่าผู้นั้นมิใช่บุคคลผู้มีชื่อในบัญชี ให้คณะกรรมการตรวจคะแนนชี้ขาดว่าจะให้ผู้นั้นลงคะแนนหรือไม่ แล้วทำบันทึกไว้ คำชี้ขาดของคณะกรรมการตรวจคะแนนให้เป็นที่สุด

6. ในการลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องลงคะแนนด้วยตนเอง และจะทอดบัตรเลือกตั้งได้บัตรเดียว ในการทอดบัตรเลือกตั้ง ให้ยื่นบัตรแก่กรรมการตรวจคะแนนผู้ประจำหีบบัตรเลือกตั้ง และให้กรรมการนั้นใส่บัตรลงในหีบทันที

7. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดได้รับบัตรเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนแล้วไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้ใด ให้คืนบัตรนั้นแก่กรรมการตรวจนับคะแนน และให้กรรมการตรวจคะแนนบันทึกไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

การนับคะแนนและการประกาศผล [12]

5.1 เมื่อเสร็จการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ให้กรรมการตรวจนับบัตร ตรวจบัตร และนับคะแนนโดยเปิดเผย มิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน และเมื่อการนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้กรรมการตรวจคะแนนประกาศผลของการเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งนั้น แล้วเรียบทำรายงานแสดงผลการนับคะแนน

5.2 ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ให้ผู้สมัคร 3 คนซึ่งได้คะแนนสูงกว่าผู้อื่นได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ในกรณีที่คะแนนเท่ากัน ให้ผู้สมัครซึ่งคะแนนเท่ากันจับสลากต่อหน้าคณะเทศมนตรีเพื่อยุติว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้ง

โดยสรุปการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพุทธศักราช 2482 เป็นระบบการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ กล่าวคือเขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกสภาเทศบาล 3 คน และระบบการนับคะแนนเป็นแบบเสียงข้างมากอย่างง่าย (Simple Majority) หรือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้คะแนนมากที่สุด 3 คนแรกก็เป็นได้รับเลือกตั้ง

 

ข้อห้ามกระทำผิดการเลือกตั้งและบทกำหนดโทษ [13]

6.1 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ใดจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนในการเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือจงใจรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้กลายเป็นบัตรเสีย หรือจงใจอ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือจงใจทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความจริง มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงพันบาท หรือจำคุกตั้งแต่เดือนหนึ่งขึ้นไปจนถึงห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่าสี่ปีและไม่เกินแปดปี

6.2 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ใดมีหน้าที่จัดการอย่างใด ๆ ในการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือกระทำการอันใดโดยเจตนาขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย กฎข้อบังคับหรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวแก่การเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.3 ข้าราชการประจำการและพนักงานเทศบาลผู้ใดใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ อันเป็นอุปการะ หรือเป็นโทษแก่การเลือกตั้งของผู้สมัครคนใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.4 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ใดอ่านหรือตรวจดูหรือยอมให้ผู้อื่นอ่านหรือตรวจดูเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งก่อนมีการคลี่บัตรออกเพื่อนับคะแนน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.5 ผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ใดแจ้งแก่ผู้ใดให้ทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งซึ่งได้ลงคะแนนไว้ หรือให้ทราบจำนวนคะแนนอันได้ลงไว้สำหรับบุคคลใด หรือให้ทราบว่าผู้ใดลงคะแนนหรือไม่ก่อนประกาศผลการนับคะแนน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

6.6 ผู้สมัครหรือผู้ใดให้ หรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดๆ แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใด โดยเจตนาจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองก็ดี หรือให้แก่ผู้อื่นก็ดี หรือให้งดเว้นมิให้ลงคะแนนให้แก่ผู้ใดก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี

6.7 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งบังอาจสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี

6.8 ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะใดๆ ให้ผู้สิทธิเลือกตั้งใช้เพื่อไปลงคะแนน หรือกลับ หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนหรือกลับ โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะซึ่งต้องเสียตามปกติ หรือผู้ใดกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครคนใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.9 บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติเป็นไทยผู้ใดกระทำการช่วยเหลือผู้สมัครผู้ใดโดยตรงหรือโดยปริยาย หรือเข้าไปมีส่วนหรือใช้อิทธิพลในการเลือกตั้งด้วยประการใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองร้อยบาทขึ้นไปจนถึงสองพันบาท หรือจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

6.10 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดๆ เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยให้คำมั่นว่าจะลงคะแนนเลือกตั้ง หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งผู้ใด มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาแปดปี

6.11 ผู้ใดมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย บังอาจเปิดหีบบัตรเลือกตั้งซึ่งได้ปิดตั้งไว้เพื่อการลงคะแนนก็ดี หรือซึ่งได้ปิดเพื่อรักษาไว้ภายหลังการเลือกตั้งได้เสร็จแล้วก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.12 ผู้ใดมิได้มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย กระทำด้วยประการใดๆ โดยเจตนาขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่ลงคะแนน หรือเข้าไปในที่ลงคะแนน หรือมิให้ไปถึงที่ดั่งว่านั้นภายในกำหนดเวลาที่จะขอแก้บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.13 ผู้ใดลงเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งซึ่งมิใช่ของตนโดยเจตนาทุจริต หรือบังอาจขีดเขียนหรือทำเครื่องสังเกตโดยเจตนาทุจริต หรือบังอาจขีดเขียนหรือทำเครื่องสังเกตโดยวิธีใดๆ ไว้ที่บัตรเลือกตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.14 ผู้ใดลงคะแนนเลือกตั้ง หรือพยายามลงคะแนนโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยลงคะแนนนั้นได้ก็ดี ทอดบัตรหรือพยายามทอดบัตรมากกว่าบัตรหนึ่งหรือมากกว่าครั้งหนึ่งในการลงคะแนนเลือกตั้งก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี

6.15 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใด โดยเจตนาทุจริตในการเลือกตั้ง ไม่คืนบัตรเลือกตั้งให้กรรมการตรวจคะแนน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาสี่ปี่

6.16 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ลงคะแนนหรือในที่ประชาชนชุมนุมกันอยู่เพื่อรอการเข้าไปขอแก้บัญชีหรือลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

6.17 นายจ้างทั้งปวงต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ลูกจ้างในอันที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ใดกระทำการละเมิดมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท

6.18 ในวันที่คณะกรรมการตรวจคะแนนประชุมกันและในวันเลือกตั้ง ผู้ใดชักชวนขอคะแนนหรือทำการโฆษณาใดๆ ภายในปริมณฑลสามสิบเมตรแห่งที่ลงคะแนน หรือใช้เครื่องเปล่งเสียง หรือทำเสียงอื่นใดโดยประการที่รบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การเลือกตั้ง แม้ว่าจะนอปริมณฑลดังกล่าว มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ

ที่มา

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2479.

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482.

พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 มิถุนายน 2477.

พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 1 เมษายน .

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482.

พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 1 เมษายน .

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2482 หน้า 1637-1669.
  2. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พุทธศักราช 2479, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2479 หน้า 604-630.
  3. พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481,ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 56 วันที่ 1 เมษายน 2482 หน้า 155-186.
  4. พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 51 วันที่ 24 มิถุนายน 2477 หน้า 82-107.
  5. องค์กรปกครองท้องถิ่นในที่นี้หมายถึงการปกครองตนเอง (Local self-government) ไม่นับรวมถึงสุขาภิบาลที่มีการจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่อาจนับได้ว่าเป็นการปกครองตนเอง แต่มีลักษณะเป็นการปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ (Local state-government) มากกว่า
  6. พระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2481, อ้างแล้ว, มาตรา 59, 62 และ 65.
  7. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482, อ้างแล้ว, มาตรา 4.
  8. เพิ่งอ้าง, มาตรา 26.
  9. เพิ่งอ้าง, มาตรา 16, 17 และ 18.
  10. เพิ่งอ้าง, มาตรา 19, 20, 21 และ 22.
  11. เพิ่งอ้าง, มาตรา 35, 40, 41, 43, 47, 48 และ 49.
  12. เพิ่งอ้าง, มาตรา 51 และ 54.
  13. เพิ่งอ้าง, มาตรา 59, 60, 61, 62, 63, 64, 65, 66, 67, 68, 69, 70, 71, 72, 73, 74, 75 และ 76.