พรรคเส้นด้าย
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
พรรคเส้นด้าย (สด.) (Zendai Party : ZDP) เป็นพรรคการเมืองที่ได้ยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยมีชื่อเดิมว่า พรรคพลังพลเมืองไทย ซึ่งในเวลาต่อมาในเวลาต่อมาที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคพลังพลเมืองไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยมีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น “พรรคพลเมืองไทย”[1] ก่อนที่ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ[2] และได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก คริส โปตระนันทน์ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่พร้อมกับเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็นพรรคเส้นด้าย โดยยึดมั่นอุดมการณ์ "ทำให้คนไทยยืนได้ด้วยตัวเอง" และได้มีการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2566 ลานกีฬาห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร[3] ทั้งนี้ นอกจากมี นายคริส โปตระนันทน์ เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ยังมีนายพีรพล กนกวลัย หรือ "เฮียเล้า" สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท พรรคก้าวไกล เป็นเลขาธิการพรรค และนางสาว ศศิร์ภัทรา พชิราพิชาพัฒน์ เป็นโฆษกพรรค โดยมีกรรมการบริหารพรรคจำนวนทั้งสิ้น 7 คน[4]
จากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า พรรคเส้นด้าย มีสมาชิกทั้งหมด 10,423 คน โดยมีสมาชิกจำนวนมากที่สุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,059 คน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,062 คน ภาคเหนือจำนวน 1,842 คน และภาคใต้ จำนวน 1,460 คน ในส่วนข้อมูลสาขาพรรคนั้น พรรคเส้นด้ายมีสาขาพรรคทั้งหมด 7 แห่ง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 แห่ง ภาคเหนือ จำนวน 2 แห่ง ภาคกลางและภาคใต้ ภูมิภาคละ 1 แห่ง ในขณะที่พรรคเส้นด้ายมีตัวแทนทั้งหมด 31 คน กระจายอยู่ในภาคกลางจำนวน 11 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 คน และภาคใต้ จำนวน 8 คน[5]
ภาพ : ตราสัญลักษณ์พรรคเส้นด้าย[6]

จากกลุ่มเส้นด้าย ความขัดแย้งในพรรคก้าวไกลสู่พรรคเส้นด้าย
นายคริส โปตระนันทน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเส้นด้ายได้นำเสนอว่า พรรคเส้นด้ายเป็นหลักฐานและวิธีคิดที่เกิดขึ้นของมวลชนกลุ่มหนึ่งในช่วงโควิด-19 ช่วงนั้นรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันเกิด “กลุ่มเส้นด้าย” ขึ้น คือกลุ่มประชาชนอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือผู้คนในวิกฤติโควิด-19 ให้กับประชาชนคนที่ไม่มีเส้นในสังคมไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 27 เมษายน 2564 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะคอยช่วยเหลือประสานงานหาเตียงให้กับผู้ป่วย[7] ซี่งในช่วงเวลานั้นกลุ่มเส้นได้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 380,000 คน โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งเป็นความเข้มแข้งจากฐานราก เมื่อพรรคเส้นด้ายใช้วิธีคิดแบบนี้มาทำการเมืองจึงจะเกิดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริง ๆ จากฐานคิดเช่นนี้ จึงนำไปสู่คำถามถึงความเป็นไปได้ที่ต้องมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่บอกว่าประชาชนแข็งแรง ประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐ สิ่งที่พรรคการเมืองอื่นพยายามจะนำเสนอว่าจะต้องช่วยประชาชนผ่านนโยบายหรือวิธีการแจกต่าง ๆ น่าจะเป็นแนวทางในการที่พัฒนารัฐไทยที่ไม่ถูกต้อง[8]
ภาพ : การเปิดตัวพรรคเส้นด้ายที่ลานกีฬาห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร[9]

ด้านความเกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มเส้นด้ายกับพรรคการเมืองนั้น กล่าวได้ว่า นายภูวกร (เจตน์) ศรีเนียน และนายคริส โปตระนันทน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย เป็นผู้มีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีทีมงานและเครือข่ายของกลุ่มเส้นด้าย จำนวน 12 คน ลงสมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในนามพรรคก้าวไกล รวมทั้งสมัครในนาม “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” และเป็นผู้สมัครอิสระ[10] อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดปัญหาความขัดแย้งและความคิดเห็นไม่ตรงกันกับพรรคก้าวไกลรวมทั้งความต้องการในการอยากทำงานการเมืองในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง[11] นายคริส โปตระนันท์ ซึ่งเดิมมีความตั้งใจจะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคก้าวไกล เขตจตุจักร พญาไท ราชเทวี กรุงเทพมหานคร ได้ลาออกจากพรรคก้าวไกลตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พร้อมกับสมาชิกพรรคบางคนแล้วไปตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคเส้นด้าย โดยให้ความสำคัญกับนโยบายและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และพร้อมสู้ศึกในสนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566[12]
พรรคเส้นด้ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคเส้นด้ายได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จำนวน 20 เขต เฉพาะในกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 11 คน หมายเลข 64 โดยมีพันตำรวจเอกชาติพรรณ โชติช่วง เป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ทั้งนี้พรรคเส้นด้ายไม่ได้เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค
ภาพ : สื่อโฆษณานโยบายของพรรคเส้นด้าย [13]
![]() |
![]() |
นโยบายพรรคเส้นด้ายที่ใช้ในการหาเสียง คือ การมุ่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนด้วยแนวคิดที่ว่าประเทศไทยถูกครอบงำจากระบบเส้นสายซึ่งทำให้คนไม่มีเส้นไม่สามารถแข่งขันบนกติกาที่เสมอภาคได้ ซึ่งรากของปัญหาเกิดมาจากโดยที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่าง ๆ มักจะออกนโยบายแบบ "แจกเงิน" จะเอาเสียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง โดยแลกกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจพัง ก่อให้เกิดภาระทางการคลัง ผู้มีอำนาจก็ทุจริตปิดโอกาสของคนไม่มีเส้น พรรคเส้นด้ายจะมุ่งสร้างรัฐไทยเป็นรัฐที่มีวินัยทางการคลัง เป็นรัฐที่ไม่แทรกแซงเรื่องการทำมาหากินของประชาชน เป็นรัฐที่ไม่มีเส้นสาย และเป็นประเทศสำหรับคนไม่มีเส้น[14]
ตาราง : แสดงผลคะแนนของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเส้นด้าย ในปี พ.ศ. 2566[15]
ชื่อ-สกุลของผู้สมัคร |
จังหวัด |
เขตเลือกตั้ง |
คะแนนที่ได้รับ |
---|---|---|---|
นายคงธัช เตชะวิเชียร | กรุงเทพมหานคร |
เขต 1 |
264 |
นางสาวอังสณา เนียมวณิชกุล |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 2 |
665 |
นายสุรสิทธิ์ มัจฉาเดช |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 3 |
244 |
นายศรราม สีบุญเรือง |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 5 |
305 |
นายคริส โปตระนันทน์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 6 |
2,574 |
นายทันธรรม วงษ์ชื่น |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 7 |
252 |
นางสาวเต็มสินี โสภาสมสวัสดิ์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 8 |
516 |
นายอุเทน ไม้สนธิ์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 9 |
594 |
นายสรรเสริญ บุญเกษม |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 11 |
263 |
นายปวัน เลิศพยับ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 13 |
188 |
นางสาวจิตภินันท์ วงษ์ขันธ์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 15 |
252 |
นายโสภณ แก้วศรีจันทร์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 17 |
376 |
นางสาวไปรยา หลำลาย |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 18 |
- |
นายวรภัทร์ ละออง |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 19 |
118 |
นางสาวฉัตรฉกฎ ดวงจิตพุทธคุณ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 22 |
475 |
นายขจรศักดิ์ น้อยประดิษฐ์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 23 |
348 |
นายสมัชญา พงศพัศเดชา |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 25 |
164 |
นายสุวัฒน์ ไรโอ สมิทธ์กุล |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 31 |
227 |
นายยุทธนา ทองแสนดี |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 32 |
336 |
นายปลวัชร แสงกิตติกร |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 33 |
229 |
ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคเส้นด้ายได้คะแนนบัญชีรายชื่อรวม 10,410 คะแนน โดยไม่ได้รับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและการจัดสรรในระบบบัญชีรายชื่อ
อ้างอิง
[1] “ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคพลเมืองไทย (ชื่อเดิมพรรคพลังพลเมืองไทย)”, สืบค้นจาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17074989.pdf(11 กรกฎาคม 2566).
[2] "รทสช."มีส.ส.เพิ่ม หลัง "ศิลัมพา" เข้าสังกัด - ส่ง "พลท." ให้ "คริส" ดูแล ”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews. com/politics/ 1054415(11 กรกฎาคม 2566).
[3] “เลือกตั้ง 2566 : ชาวห้วยขวาง แห่ให้กำลังใจ "คริส โปตระนันทน์" พรรคเส้นด้าย”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/ news/politic/2646165(11 กรกฎาคม 2566).
[4] “พรรคเส้นด้าย”, สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/62 (11 กรกฎาคม 2566).
[5] “พรรคเส้นด้าย”, สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/62 (11 กรกฎาคม 2566).
[6] “พรรคเส้นด้าย - Zendai Party”, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/zendaiparty.org (11 กรกฎาคม 2566).
[7] “กลุ่มเส้นด้ายเผย ไม่เกี่ยวข้องกับ ก้าวไกล”, สืบค้นจาก https://board.postjung.com/1400185 (11 กรกฎาคม 2566).
[8] “ทำความรู้จัก 'พรรคเส้นด้าย' พรรคที่ไม่เอา 'นโยบายประชานิยม'”, สืบค้นจาก https://www.komchadluek.net/news/ politics/544799 (11 กรกฎาคม 2566).
[9] “จากกลุ่มเส้นด้าย สู่ ‘พรรคเส้นด้าย’ คริส โปตระนันทน์ นำลูกทีมประกาศอุดมการณ์กำจัดระบบเส้นสายให้หมดจากประเทศ ”, สืบค้นจาก https://thestandard.co/zendai-party-chris-potranandana/(11 กรกฎาคม 2566).
[10] “กลุ่มเส้นด้ายเผย ไม่เกี่ยวข้องกับ ก้าวไกล”, สืบค้นจาก https://board.postjung.com/1400185 (11 กรกฎาคม 2566).
[11] “คริส โปตระนันทน์ ลาออกพรรคก้าวไกล ไม่ทนระบบ “โปลิตบูโร”, สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/politics/news-1199366 (11 กรกฎาคม 2566).
[12] "คริส โปตระนันท์" ยืนยันเดินหน้าทำงานการเมืองกับ "พรรคเส้นด้าย" ปัดย้ายซบภูมิใจไทย ตามรอย "สายไหมต้องรอด"”, สืบค้นจาก https://www.one31.net/news/detail/61818 (11 กรกฎาคม 2566).
[13] “พรรคเส้นด้าย - Zendai Party”, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/zendaiparty.org/posts/pfbid02a5nUYwet2 pfLvMWEFwZnUGMTgFu7mGLx3BkBNooh695Y6mT1m8q178UfhydThQwol?locale=th_TH (11 กรกฎาคม 2566).
[14] “พรรคเส้นด้าย”, สืบค้นจาก https://www.vote62.com/party/เส้นด้าย/(11 กรกฎาคม 2566).
[15] “พรรคเส้นด้าย”, สืบค้นจาก https:// official.ectreport.com/by-party/(11 กรกฎาคม 2566).