พรรคพลังบูรพา
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

พรรคพลังบูรพา (พบ.) เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า PALANG BURAPHA PARTY (PB) เป็นพรรคการเมืองที่เปลี่ยนชื่อมาจาก “พรรคพลังชล” ซึ่งมีการก่อร่างและฐานสมาชิกตั้งต้นในจังหวัดชลบุรี และก่อตั้งโดยนางสติล คุณปลื้ม ภรรยาของกำนันเป๊าะ หรือนายสมชาย คุณปลื้ม[1] ผู้เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ชาวจังหวัดชลบุรี ผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก โดยมีบุตรชายของนางสติล ได้แก่ นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรีหลายสมัยเป็นที่ปรึกษาพรรคพลังชล พร้อมด้วยกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกลุ่มชลบุรี โดยได้มีพิธีเปิดที่ทำการพรรคพลังชลที่บางแสนใน วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งในขณะนั้นนักการเมืองกลุ่มชลบุรีมีความเห็นร่วมกันว่า ควรจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาจังหวัดชลบุรีให้มีความเจริญรุดหน้ายิ่งขี้นไป จึงได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในนาม “พรรคพลังชล” เพื่อเป็นการเมืองของประชาชน มั่งมั่นสร้างความก้าวหน้าของชาติสร้างความสามัคคีของชนในชาติ สร้างความเป็นธรรม[2] โดยมีคำขวัญว่า "เทิดทูนสถาบัน ยึดมั่นประชาชน" โดยมีนายเชาวน์ มณีวงษ์ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน และเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชลบุรี เป็นหัวหน้าพรรคพลังชลเป็นคนแรก[3] และนายปิลันธน์ดิลก จิตรธรรม เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคพลังชลมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎร จำนวนทั้งสิ้น 6 คน จากทั้งหมด 8 ที่นั่งในจังหวัดชลบุรี จำนวน 7 คน[4] และได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย สนับสนุนนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ที่ประชุมใหญ่พรรคพลังชลได้มีมติเลือก นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นหัวหน้าพรรค และนายพันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา เป็นเลขาธิการพรรค ในเวลาต่อมานายสนธยาได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังชล เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกเมืองพัทยา ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่วนนายพันธุ์ศักดิ์พร้อมอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพลังชล ยกเว้นนาง สุกุมล คุณปลื้ม ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค และได้ย้ายไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และจากการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อ วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เพื่อทำการเลือกหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก นายเชาวน์ มณีวงษ์ อดีตหัวหน้าพรรคพลังชล กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังชลอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเลขาธิการพรรค ได้แก่ นายสุระ เตชะทัต ซึ่งเคยเป็นอดีตโฆษกพรรคพลังชล[5]
ทั้งนี้ ถือได้ว่าการเกิดขึ้นของพรรพลังชลในขณะนั้น นอกจากถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองภายใต้อิทธิพลของกลุ่มตระกูลคุณปลื้มแล้ว ยังถือลักษณะเป็นพรรคท้องถิ่นนิยมที่เน้นรักษาพื้นที่ของตนเอง เน้นนโยบายที่จะผลักดันการแปรงบประมาณลงมาพัฒนาจังหวัด เพื่อที่จะสร้างความผูกพันกับฐานเสียง และเลือกกลับมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง[6] ร่วมกับกลุ่มการเมืองท้องถิ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ได้แก่ นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีและกลุ่มเรารักชลบุรี
จุดเริ่มต้นของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคพลังบูรพาเริ่มต้นเมื่อพรรคพลังชลมีการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2566 ใน วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมีวาระสำคัญคือ การเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคพลังบูรพาโดยสาเหตุในการเปลี่ยนชื่อพรรคเกิดจากการพิจารณาและคิดร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย และเห็นพ้องคำว่าพรรคพลังบูรพา เพื่ออยากให้เห็นการขับเคลื่อนของพรรคในภาพที่กว้างขึ้น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และความหมายของพรรคพลังบูรพา เป็นการรวมพลังความรัก ความสามัคคีของประชาชน[7] เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งภาคตะวันออกและพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยด้วย โดยทางพรรคพร้อมเปิดรับแนวคิด สมาชิกพรรค ผู้ที่จะมาร่วมอุดมการณ์ของพรรคจากประชาชนทุกพื้นที่ในประเทศให้มาช่วยกันขับเคลื่อนพรรคเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคพลังชลเมื่อปี พ.ศ. 2561 ให้ยกเลิกทั้งฉบับ และให้ใช้ข้อบังคับพรรคพลังบูรพา พ.ศ. 2566 แทน เพื่อให้เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์ในการบริหาร และทิศทางแนวทางของพรรค เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวของพรรคการเมืองเพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่เกิดขึ้นปี พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ได้จดแจ้งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคพลังบูรพาไว้ที่ เลขที่ 36/2 ถ.บางแสนล่าง ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี โดยมีนายเชาวน์ มณีวงษ์ เป็นหัวหน้าพรรคพลังบูรพา
ภาพ : การจัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2566 ของพรรคพลังชลเพื่อเปลี่ยนชื่อพรรค[8]

พรรคพลังบูรพา ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค จำนวน 7 คน ที่ได้แต่งตั้งใน วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566 มีรายชื่อดังนี้
(1) นายเชาวน์ มณีวงษ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
(2) นายพฤฒิพงศ์ สิงห์โตทอง ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
(3) นายสุระ เตชะทัต ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
(4) นางสาววันเพ็ญ เตียวลักษณ์ ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกพรรค
(5) นายชัยพจน์ จำเริญนิติพงศ์ ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสมาชิกพรรค
(6) นายปิลันธน์ดิลก จิตรธรรม ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค
(7) นายอโณทัย เจริญสันติสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค
จากฐานข้อมูลพรรคการเมืองของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า พรรคพลังบูรพามีสมาชิกทั้งหมด 15,492 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง จำนวน 11,468 คน รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,965 คน ภาคเหนือ จำนวน 1,127 คน โดยมีสมาชิกในภาคใต้จำนวนน้อยที่สุด จำนวน 932 คน ในส่วนของข้อมูลสาขาพรรคมีสาขาทั้งหมด 4 คน กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคต่าง ๆ ภูมิภาคละ 1 สาขา และมีตัวแทนพรรคทั้งหมด 2 คน โดยทั้งหมดอยู่ในภาคกลาง[9]
พรรคพลังบูรพากับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
แม้พรรคพลังบูรพาจะเคยประกาศว่าส่งผู้สมัครทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่ออย่างแน่นอน[10] โดยพรรคพลังบูรพา โดยนายสนธยา คุณปลื้ม อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา ได้เตรียมการย้ายออกจากพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าไม่ได้เป็นตัวหลักในการเป็นแกนนำในการจัดการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ[11] และหาพรรคการเมืองเพื่อสังกัดในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เนื่องจากความขัดแย้งกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งอดีตสมาชิกพรรคพลังชลที่มีความพยายามสร้างฐานในเมืองชลให้เข้มแข็งและขยายอิทธิพลไปทั่วภาคตะวันออก ที่ทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองในชลบุรีเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีกระแสข่าวรวมถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า นายสนธยาจะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคพลังบูรพา เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นการต่อยอดจากของเดิม คือ พรรคพลังชลที่เคยใช้เป็นตัวแบบของพรรคจังหวัดหรือพรรคท้องถิ่น[12]
ในที่สุดตระกูลคุณปลื้ม นำโดยนายสนธยา คุณปลื้ม ได้ย้ายกลับพรรคเพื่อไทยในฐานะหัวหน้าทีมชลบุรี และประสานร่วมมือกับกลุ่มสามมิตรของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่จะย้ายกลับเข้าพรรคเพื่อไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อแข่งขันกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น ในฐานะหัวหน้าทีมชลบุรี แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการแย่งชิงที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในจังหวัดชลบุรี ซึ่งมี จำนวน 10 เขต[13] ส่งผลให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคพลังบูรพาไม่มีการส่งผู้สมัครทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังบูรพาแต่อย่างใด[14] อย่างไรก็ดี หลังจากการเลือกตั้งบทบาทของพรรคพลังบูรพาที่ปรากฏในสื่อมวลชน โดยเฉพาะนายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังบูรพา ในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ที่อาจทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจ เนื่องจากขัดเจตนารมณ์เสียงส่วนมาก อาจลุกฮือออกมาลุกลามบานปลายไปสู่ความขัดแย้ง[15] เป็นต้น
อ้างอิง
[1] “เปิดประวัติ “กำนันเป๊าะ” ผู้มากบารมีสีเทา แห่งบางแสน”, สืบค้นจาก https:// www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/104976(5 กรกฎาคม 2566).
[2] “บ้านใหญ่เปิด “พรรคพลังชล” สู้ศึกเลือกตั้ง”, สืบค้นจาก http://www.pattayadailynews.com/th/2011/05/06/เปิด-พรรคพลังชล-สู้เลือก/ (5 กรกฎาคม 2566).
[3] “รศ.เชาวน์ มณีวงษ์”, สืบค้นจาก http://www.lib.buu.ac.th/buuarchives/chaow-maniwong/(5 กรกฎาคม 2566).
[4] “ย้อนดูผลเลือกตั้ง 54 ฐานเสียงของแต่ละพรรคอยู่ที่ไหน? ”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/ย้อนดูผลเลือกตั้ง-54-ฐานเ/(5 กรกฎาคม 2566).
[5] “พรรคพลังชล ครบรอบ 11 ปี จัดพิธีไหว้ศาลพระภูมิ ศาลตายาย และไหว้กลางแจ้ง หวังเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ให้สมาชิกพรรค”, สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/345294(5 กรกฎาคม 2566).
[6] “พรรคสุพรรณฯ-พรรคโคราช-พรรคชายแดนใต้ เพื่อท้องถิ่นหรือแค่พรรครอเสียบ? ”, สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/ politician-family/(5 กรกฎาคม 2566).
[7] “พรรคพลังชล” เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พลังบูรพา” รับศึกเลือกตั้งครั้งหน้า”, สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/ politic/2611280(5 กรกฎาคม 2566).
[8] “พลังชลเปลี่ยนชื่อ “พลังบูรพา” พร้อมส่งผู้สมัครสู้เลือกตั้ง ซัดวิชามารโจมตี เชื่อ ปชช.แยกได้จริงไม่จริง”, สืบค้นจาก https:// mgronline.com/politics/detail/9660000007398(5 กรกฎาคม 2566).
[9] “พรรคพลังบูรพา (พบ.) ”, สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/25 (5 กรกฎาคม 2566).
[10] ““พลังชล” เปลี่ยนชื่อเป็น “พลังบูรพา””, สืบค้นจาก https://tna.mcot.net/politics-1101367 (5 กรกฎาคม 2566).
[11] บทวิเคราะห์ : ประมุขใหญ่บ้านบางแสน “สนธยา คุณปลื้ม” https://www.thaipbs.or.th/news/content/326027
[12] “พรรคพลังบูรพา” บ้านใหม่ “คุณปลื้ม” ขยายฐานรุกรบ ล็อกเป้าตะวันออก”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews. com/politics/1030418(5 กรกฎาคม 2566).
[13] “เจาะเกมเลือกตั้ง 2566 : ศึกบ้านใหญ่ชลบุรี "สนธยา-เสี่ยเฮ้ง" “มังกรบูรพา”ใครตัวจริง”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/ politics/detail/9660000026134(5 กรกฎาคม 2566) , “บทวิเคราะห์ : ประมุขใหญ่บ้านบางแสน “สนธยา คุณปลื้ม” ”, สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/326027 (5 กรกฎาคม 2566).
[14] “พรรค: พลังบูรพา”, สืบค้นจาก https://www. pptvhd36.com/เลือกตั้ง2566/รายชื่อผู้สมัคร/แบบบัญชีรายชื่อ/169 (5 กรกฎาคม 2566).
[15] “สุระ-พลังบูรพา ดักคอพรรคเสียงข้างน้อย ร่วมมือส.ว.ชิงตั้งรัฐบาล”, สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/all-news/372316/ (5 กรกฎาคม 2566).