ประเทศกูมี
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
ความนำ
“ประเทศกูมี” เป็นเพลงแนวแร็พ/ฮิบฮอบ (rap/hip-hop) ของกลุ่มศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Rap Against Dictatorship (RAD) เผยแพร่ครั้งแรกในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 เนื้อหาของเพลงมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมการเมืองของไทย วัฒนธรรมอุปถัมภ์ และอำนาจนิยมในหมู่ชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบ และไร้ซึ่งความพร้อมรับผิดของรัฐบาลทหารไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในอดีต ทั้งนี้ทันทีที่มิวสิควีดีโอ “ประเทศกูมี” ถูกเผยแพร่ผ่านช่อง Youtube ในเดือนเดียวกัน โดยมีฉากเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลาฯ 2519 เป็นพื้นหลัง เพลง “ประเทศกูมี” ก็ได้รับการตอบรับและสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายความมั่นคงว่าอาจเข้าข่ายขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จนท้ายที่สุดกระแสดังกล่าวก็เลาบางลงไป เพลง “ประเทศกูมี” เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วไม่เพียงเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น หากยังถูกกล่าวถึงในระดับนานาชาติอีกด้วย จนกระทั่งได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent จาก Human Right Foundation ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมอบให้กับผู้กล้าหาญที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านความยุติธรรม
“ประเทศกูมี” กับการสะท้อนสังคมการเมืองและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ
ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะไรเฟิล
ประเทศที่พล่ามแต่ศีลธรรมแต่อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟล
ประเทศที่กฎหมายไม่สู้พระธรรมหรือไบเบิ้ล
ประเทศที่คนดีดีมี มีสดุดีเป็นไอดอล
ประเทศที่ตุลาการมีบ้านพักบนอุทยาน
ประเทศที่ใจกลางกรุงกลายเป็นทุ่งสังหาร
ประเทศที่ผู้นำทานอิฐทานปูนเป็นของหวาน
ประเทศกูมี
ประเทศกูมี
ท่อนเปิดของเพลง “ประเทศกูมี” ใช้ภาษาที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา เล่าเรียงปมประเด็นปัญหาผ่านเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย ทั้งเพื่อตั้งคำถามและกระตุกความคิดผู้ฟังให้นึกย้อนถึงความผิดปกติที่ผู้คนในสังคมคุณชินจนมองข้ามหรืออาจไม่กล้าทวงถามออกมาตรง ๆ เพลง “ประเทศกูมี” เป็นเพลงแรกที่ปล่อยออกมาของศิลปินในโปรเจ็คที่เรียกว่า Rap Against Dictatorship (RAD) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของศิลปินแร็ปเปอร์ 10 คน ต่างมีความสนใจร่วมกันในประเด็นการเมืองร่วมสมัย โดยการรวมตัวกันครั้งนี้ว่า Rap Against Dictatorship หรือ RAD เป็นโปรเจ็กต์ที่ต้องการมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ริเริ่มโดยสมาชิก 4 คน ก็คือ Liberate P, Jacoboi, ET และ Hockhacker หลังจากนั้นจึงชักชวนศิลปินคนอื่นให้เข้ามาร่วมด้วย ดังที่ ET หนึ่งในสมาชิกของโปรเจ็คนี้ กล่าวว่า “คือมันจะไม่ใช่รูปแบบของวง ผมขอเรียกสั้น ๆ ว่าไม่ใช่รูปแบบวง RAD แต่มันเป็นโปรเจ็กต์ เป็นเหมือนฮับที่เราอยากให้คนที่อยากพูดเรื่องการเมืองมาร่วมกันโดยที่ใครอยากพูดก็อาจจะมาเสนอเราภายหลังก็ได้ว่ามีโปรเจ็กต์เพลงการเมืองที่อยากให้เราช่วยในภายหลังก็ได้”[1]
สำหรับจุดเริ่มต้นของเพลง “ประเทศกูมี” นั้น เกิดจาก Liberate P สมาชิกก่อตั้งอีกคนหนึ่งซึ่งทำเพลงการเมืองมาตั้งแต่ปี 2559 อาทิ เพลง Oc(t)ygen เพลง Capitalism และเพลงประเทศกูไม่มี แต่มีเพลงหนึ่งที่แต่งไว้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ใช้ชื่อว่า “ประเทศกูมี” จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์ RAD ขึ้นเพื่อชักชวนศิลปินคนอื่นเข้ามาช่วยทำ ทั้งนี้แม้ “ประเทศกูมี” จะเป็นเพลงการเมืองที่มีประเด็นหลากหลายถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงและดูเหมือนมีทิศทางที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เนื่องจากมีศิลปินรวมกันถึง 10 คน แต่จุดร่วมที่สะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา ก็คือการต่อต้านเผด็จการ และเมื่อเป็นการต่อต้านเผด็จการแล้ว ศิลปินจึงแสดงออกมาว่าประเทศไทยมีอะไรในสายตาของแต่ละคน[2] ดังที่พวกเขาให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งกับประชาไทว่า “จุดร่วมของเราคือการต่อต้านระบบเผด็จการ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงเผด็จการจากทหารอย่างเดียวด้วย ทหารอาจจะชัดเจนที่สุดที่เอาอำนาจ เอาอาวุธปืน เอาความกลัวเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของคนปกติ แต่เราก็ยังมีเผด็จการการปกครองส่วนท้องถิ่น เผด็จการรัฐสภา ที่คนที่อยู่ในสภาเป็นพวกเดียวกันหมด ไม่มีใครค้านใคร”[3] อย่างไรก็ตาม เนื้อหาตลอดทั้งเพลงที่มีความยาว 4.51 นาที นั้น ก็ไม่ได้เป็นการเปิดประเด็นใหม่แต่อย่างใด หากเพียงหยิบยกประเด็นที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่แล้วในสังคมการเมืองไทย ขึ้นมาสื่อสารในรูปแบบของการแร็พให้ผู้ฟังที่เป็นคนชั้นกลางเมือง อันได้แก่คนรุ่นที่ทำงานหรือยังเป็นวัยรุ่นอยู่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และหันมาสนใจประเด็นการเมืองในชีวิตประจำวัน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ “ประเทศกูมี” แตกต่างจากเพลงแนวต่อต้านอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ก็คือการหยิบยกประเด็นเรื่อง “สิทธิ” ของประชาชนขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจัง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริงของสังคมการเมืองไทย ในแง่นี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเพลงที่ต้องการก่นด่ารัฐบาลหรือแสดงความโกรธเคืองเพื่อเป้าหมายแค่ความสะใจเท่านั้น แต่มีความพยายามให้ผู้ฟังฉุกคิดถึงปัญหาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน[4] เพราะสำหรับ RAD แล้ว หากต้องการจะแก้ปัญหา หรือ เปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองให้ดีขึ้นได้ ก็จำเป็นต้องให้ความสนใจกับการเมืองเป็นพิเศษ เพราะ “การเมืองสำหรับเรามันคงเป็นเรื่องการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วสุดท้ายมันก็กลับไปที่การเมือง อำนาจทุกอย่างก็มาจากการเมือง ถ้าเราไม่สนใจการเมือง เราก็คงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การสนใจการเมืองมันก็คือการหาวิธีที่จะเปลี่ยนอะไรที่เราไม่ชอบให้มันดีขึ้น”[5]
แม้เพลง “ประเทศกูมี” จะถูกเผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ วันที่ 14 ตุลาคม 2561 แต่สิ่งที่ทำให้เพลงนี้เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางก็คือมิวสิควีดีโอ ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกผ่านช่อง YouTube เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2561 โดยมีพื้นหลังเป็นภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 บริเวณใต้ต้นมะขาม ณ ท้องสนามหลวง และปรากฏชายพร้อมเก้าอี้กำลังทุบตีชายผู้หนึ่งที่ถูกแขวนคออย่างทารุณ อันรายล้อมด้วยผู้ชมซึ่งแสดงอากัปกิริยาแตกต่างกัน ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับมิวสิควีดีโอดังกล่าว (ซึ่งเคยมีประสบการณ์กำกับภาพในภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน มาก่อน) เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังว่า “6 ตุลา มันคือ อาการทางกายภาพของความเจ็บป่วยของประเทศนี้ที่ปัจจุบันมันยังไม่ล้าสมัย”[6] แม้จะเป็นการผลิตซ้ำภาพความรุนแรงโหดร้าย แต่เนื่องจากผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้จนก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอยู่บ่อย ๆ จึงต้องการนำเสนอความจริงเพื่อให้เกิดการเพ่งมองอย่างตรงไปตรงมา เพราะนั่นเท่ากับเป็นการซื่อสัตย์ต่อความคิดของตัวเองมากกว่าที่จะจมอยู่กับความหลอกลวง[7] ขณะที่ Jacoboi สมาชิกของ RAD เห็นว่า 6 ตุลาฯ 19 คือภาพเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดในการที่รัฐเข้ามาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนจนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรง “เราก็เลยเลือกจุดที่ extreme ที่สุดขึ้นมา ภาพจะได้ชัดว่ามันคือจุดที่คนถูกรัฐทำให้แตกแยกกัน แล้วพอคนฟาดกันเองระดับนั้น รัฐก็เข้ามาฉวยโอกาส ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเผด็จการฝ่ายขวาแบบคลาสสิกเต็มตัวแบบที่ผมว่าน่าจะขวาที่สุดเท่าที่บ้านเราเคยมี”[8]
ดนตรี กับ การเมืองไทย
ดนตรี บทกวี และงานวรรณกรรม มักถูกใช้เพื่อแสดงออกถึงความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ของมวลชนฝ่ายซ้ายในหลายประเทศททั่วโลก มักปรากฏกลุ่มปัญญาชนผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐหรือรัฐบาลที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น เนื่องจากผลงานประพันธ์เหล่านี้เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ขณะเดียวกันผู้คนก็สามารถเสพซื้อความหมายที่แฝงอยู่ในสื่อประพันธ์ได้ไม่ยากนัก จนส่งผลให้ความคิดอุดมการณ์แนวต่อต้านแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในการเมืองไทยที่มีการเคลื่อนไหวมวลชนขนาดใหญ่นั้น นอกเหนือไปจากการปราศรัยแสดงจุดยืน แนวทาง และอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว ก็ยังปรากฏการใช้สื่อประพันธ์รูปแบบต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบในการปลุกเร้ามวลชนควบคู่ไปกับสื่อบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ หากกล่าวเฉพาะผลงานเพลง การเคลื่อนไหวมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็อาศัยงานเพลงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ โดยการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีวิทยุที่ พคท. ใช้เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและแนวคิดอุดมการณ์ อาทิ เพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ ของนายผี หรือ สหายไฟ (อัศนี พลจันทร์) เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เพลงเปิบข้าว เพลงวีรชนปฏิวัติ และเพลงอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงปฏิวัติชาติไทย แต่งโดยประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นต้น
เมื่อถึงช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 นอกจากจะปรากฏงานวรรณกรรมและบทกวีเพื่อชีวิต ซึ่งแพร่หลายทั้งที่สามารถระบุผู้แต่งและไม่ปรากฏผู้แต่งแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงเพื่อชีวิตที่มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่จากกดบังคับ ความอยุติธรรม และความลำบากยากเข็ญ เพื่อไปสู่อนาคตที่มีความหวัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่อต้านสงคราม (counter culture) และวัฒนธรรมฮิปปี้จากอเมริกัน[9] สำหรับเพลงซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อาทิ เพลงเพื่อมวลชน แต่งโดย กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ เพลงสู้ไม่ถอย แต่งโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพลงดอกไม้จะบาน แต่งโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา เพลงหนุ่มสาวเสรี ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นต้น ต่อมาเมื่อคนหนุ่มสาวต้องเข้าป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับ พคท. เพลงแนวปฏิวัติปลดแอกที่มีความต่อเนื่องมาจากวัฒนธรรมฝ่ายซ้ายก่อนหน้านั้น ได้ผสมผสานเข้ากับบริบทที่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 เนื้อหาของเพลงในช่วงนี้จึงมีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ความมอยุติธรรมของรัฐไทย ให้กำลังใจในการต่อสู้ของกองทัพปลดแอก การเชิดชูวีรกรรมของผู้วายชน การเผยแพร่อุดมการณ์ฝ่ายซ้าย รวมถึงความโหยหาครอบครัวและคนรักที่ห่างไกล เพลงในช่วงนี้ อาทิ เพลงจากลานโพธิ์ถึงภูพาน ที่แต่งโดย วัฒน์ วรรลยางกูร เพลงถั่งโถมโหมแรงไฟ และเพลงเดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง แต่งโดยสุรชัย จันทิมาธร เพลงดาวแดงแห่งภูพาน ศิลา โคมฉาย (วินัย บุญช่วย) เพลงเทิดวีรกรรม 6 ตุลา แต่งโดย วรี โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) เพลงตุลาชัย แต่งโดย ปกรณ์ รวีวร และเพลงบินหลากู้เสรี แต่งโดยวิสา คัญทัพ และจิ้น กรรมมาชน เป็นต้น
ตลอดทศวรรษ 2520 ถึง 2530 นักศึกษาปัญญาชนผู้เข้าร่วมกับ พคท. เริ่มทยอยออกจากป่ากลับคืนสู่เมืองตามนโยบาย 66/23 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในบรรดานักศึกษาปัญญาชนเหล่านี้ ได้รวมถึงศิลปินซึ่งเคยสร้างสรรค์ผลงานแนวปฏิวัติมาก่อนด้วย จึงทำให้เกิดแนวเพลงเพื่อชีวิตที่รับใช้สังคมซึ่งได้รับความนิยมสูงในช่วงเวลานั้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่แตกต่างไปจากเพลงเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหาไปในเชิงการปฏิวัติ ทว่าสะท้อนกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส ด้อยการศึกษา การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อมาหางานทำในเมืองใหญ่ การเข้าถึงทรัพยากรอย่างจำกัด สัมฤทธิ์ผลของระบบการศึกษา สถานภาพของนักศึกษาปัญญาชน หรืออย่างมากที่สุดก็คือการมุ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในวิทยานิพนธ์ "วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (2525-2550)" ของ ณัฏฐณิชา นันตา ได้ชี้ให้เห็นว่าช่วงปลายทศวรรษ 2530 เพลงเพื่อชีวิตยังคงสะท้อนปัญหาสังคมและการเมืองแต่เปลี่ยนขอบเขตของเนื้อหาไปสู่ประเด็นการด้อยโอกาสและการใช้ทรัพยากรของรัฐ ก่อนที่ศิลปินเพื่อชีวิตจะต้องเผชิญกับสภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งทำให้พวกเขาจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับธุรกิจดนตรีมากขึ้นและมีเนื้อหาตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปากท้องและความรัก จนท้ายที่สุดนำไปสู่การเกิดแนวเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต[10] ส่วนในทางการเมืองนั้น ศิลปินเพื่อชีวิตก็เข้าไปมีบทบาทในตลาดการเมืองเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีการแต่งเพลงและขับร้องเพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคและผู้สมัครคนต่าง ๆ
กล่าวได้ว่า การใช้เพลงเพื่อรณรงค์ทางการเมืองปรากฏให้เห็นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เพราะนอกจากจะสร้างความสุนทรีย์ทางอารมณ์ให้แก่ผู้ฟังได้แล้ว ยังสื่อสะท้อนแนวคิด จุดยืน และถ้อยความที่สื่อถึงจุดมุ่งหมายของการต่อสู้ได้มากกว่าสื่อบันเทิงรูปแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การใช้เพลงเพื่อรณรงค์ทางการเมืองกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในการเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาชุมนุมประท้วงและเดินขบวนขับไล่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย[11] กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)[12] หรือกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)[13] ก็ตาม เป็นที่น่าข้อสังเกตว่า เมื่อช่องทางในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอื่น ๆ ถูกปิดกั้นและไม่สามารถส่งผลสะเทือนต่ออำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพลงซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานสร้างสรรค์จึงปรากฏตัวขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ในแง่นี้ “เพลงประเทศกูมี” จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่อต้านของมวลชนในรูปแบบงานสร้างสรรค์และก่อให้เกิดสุนทรียภาพในการรับชมรับฟังไปในเวลาเดียวกัน
“ประเทศกูมี” กับกระแสตอบรับจากสังคมและปฏิกิริยาจากภาครัฐ
การปล่อยมิวสิควีดีโอเพลง "ประเทศกูมี" ผ่านช่อง Youtube ในวันที่ 23 ตุลาคม 2561 ก่อให้เกิดกระแสทางสังคมจากกลุ่มผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง แต่ทันทีที่มิวสิควีดีโอถูกเผยแพร่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบว่า "คนที่อยู่ในคลิปก็จะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่า มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือไม่"[14] เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. ชี้แจงว่า "เบื้องต้นจากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ที่ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน"[15] อย่างไรก็ตาม การถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐเช่นนี้ก็ยิ่งก่อให้เกิดกระแสความสนใจที่มีต่อเพลง "ประเทศกูมี" อย่างรวดเร็ว ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ภายใน 24 ชั่วโมง มียอดผู้เข้าชมคลิปมิวสิควีดีโอพุ่งสูงถึง 9 ล้านครั้ง[16] และพุ่งไปถึง 16 ล้านครั้งเมื่อผ่านไปเพียง 6 วัน[17] (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2563 มียอดผู้เข้าชมจำนวนมากกว่า 81 ล้านครั้ง) ยิ่งไปกว่านั้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 เพลงดังกล่าวยังขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต iTunes Thailand ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ต้องจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลดสำหรับการฟัง[18]
เพลง "ประเทศกูมี" ก่อให้เกิดกระแสเชิงวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสม ถึงขนาดกล่าวว่าหากใครชอบเนื้อหาเพลงนี้ขอให้ลบออกจากการเป็นเพื่อนทันที สำหรับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ได้แสดงความเสียใจที่เยาวชนคนหนุ่มสาวใช้ความรู้ด้านดนตรีไปในทางที่ไม่เหมาะสมเพราะ "คนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย อาจจะได้รับความสนุกสนาน สะใจในการใช้ข้อมูลตอบโต้หรือกล่าวว่ารัฐบาล แต่อยากให้ดูว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย" และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนคนอื่น ๆ[19] ขณะที่ ผู้จัดการสุดสัปดาห์ (3 พฤศจิกายน 2561) ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วเพลง “ประเทศกูมี” เป็น “แร็ปสร้างสรรค์” หรือ “แร็ปสุมไฟการเมือง” ไม่เพียงเพราะว่าหยิบบางส่วนเสี้ยวของข้อเท็จจริงขึ้นมานำเสนอจึงเป็น “ความจริง” ที่มี “การจัดตั้ง” เท่านั้น หากยังชวนเชื้อให้ผู้ฟังร่วมต่อต้านรัฐบาลทหารอีกด้วย[20] ที่สำคัญก็คือทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้แสดงความคิดเห็นต่อเพลงนี้ว่า
เรื่องอะไรไม่สำคัญอย่าไปสนใจ เรื่องในเว็บไซต์ ในโซเชียล เปิดดูสิจากเพลงอะไรก็ไม่รู้ อย่าไปสนใจ ผมไม่สนใจ สนใจมันทำไม สนใจก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็คิดแล้วกันว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ใช้วิจารณญาณว่าอย่างไร ฟังแล้วว่าอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ มันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ[21]
ในอีกด้านหนึ่ง บุคคลสาธารณะก็ออกมาให้การสนับสนุนกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ว่า "เพลง ประเทศกูมี ไม่ดียังไง ทำไมถึงว่าขัด คสช. น่าสนใจ แต่ถึงยังไงผมก็ยังชอบเพลงนี้ ร้องเป็นแต่เพลงแหล่ แร็ปไม่เป็น ไม่งั้นจะหัดร้องบ้าง" เช่นเดียวกับ อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย เจริญปุระ ที่ทวีตว่า "ตอนแรกก็ฟังปกติ พอดิ้นกันเยอะ ๆ เลยกดซื้อเลย #ประเทศกูมี"[22] ส่วน จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรชื่อดัง ทวีตตอบโต้การจับตาของฝ่ายรัฐว่า "ประเทศชาติไม่ได้เสียหายเพราะเพลงหรอก ประเทศชาติเสียหายเพราะทหารไม่รู้จักหน้าที่ มายึดอำนาจแล้วลิดรอนสิทธิเสรีภาพ คุกคามคนอื่น ประเทศชาติเสียหายเพราะรัฐประหาร ประเทศชาติเสียหายเพราะคนไม่เคารพกติกาและเสียงส่วนรวม"[23] เป็นต้น เมื่อถึงสิ้นปี 2561 ศิลปินกลุ่ม RAD ก็ได้รับเลือกจาก ประชาไท ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2561 เพราะแสดงให้เห็นถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและมีความกล้าหาญในวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ[24] ต่อมาศิลปินกลุ่ม RAD เจ้าของผลงาน "ประเทศกูมี" ก็ได้รับรางวัล Václav Havel Prize for Creative Dissent จาก Human Right Foundation ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมอบให้กับผู้กล้าหาญที่มีความคิด สร้างสรรค์ในการคัดค้านความยุติธรรม โดยมีการโพสต์ข้อความลงบน Facebook แฟนเพจ Rap Against Dictatorship เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ว่า "เพลงของเราพูดแทนไปหมดแล้ว เวทีนี้ย้ำเราอีกครั้งว่า "ทั่วโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศไทย" #ประเทศกูมี"[25]
บทส่งท้าย
เพลงแร็พเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิบฮอบที่ต้องการสะท้อนความเป็นจริงของสังคมและพยายามที่จะทลายกรอบการปิดกั้นเสรีภาพ โดยการถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อสภาพชีวิต ความเป็นจริงได้ประสบพบเจอออกไปสู่สาธารณชน จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่เพลง "ประเทศกูมี" จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ "ประเทศกูมี" ถูกจับตามองจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด ก็ส่งผลให้เพลงนี้กลายเป็นกระแสสังคมทั้งในโลกโซเชียลมีเดียและโลกทางกายภาพ เป็นที่น่าสังเกตว่าตามปกติแล้วหากรัฐใช้อำนาจกดบังคับปิดกั้นเสรีภาพมากเพียงใด ก็จะเกิดพื้นที่เสรีภาพใหม่ ๆ เกิดขึ้น เพื่อหลบเลี่ยงจากการตรวจจับและเพื่อให้มีอิสระในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของผู้คนในสังคมนั้น ๆ ในกรณีของ "ประเทศกูมี" อาจมีผลลัพธ์มิได้รุนแรงถึงขั้นที่จะทำให้รัฐไทยและสังคมไทยสั่นคลอนมากนัก แต่ก็เป็นตัวชี้วัดได้ว่าผู้คนในสังคมกำลังตระหนักถึงสภาพปัญหาแท้จริงที่ดำรงอยู่ ทั้งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่เคยถูกพิจารณาว่าดีงาม อาทิ อำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ ความอยุธรรม การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำในทางอำนาจและโอกาสของผู้คนอีกจำนวนมากในสังคมไทย อย่างน้อยที่สุด "ประเทศกูมี" ได้ทำหน้าที่สะท้อนตัวตน (self-reflection) ที่ถูกหลงลืม มองข้าม และบอกปัดปฏิเสธถึงสภาพปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชากร สำคัญที่สุดก็คือเป็นอุปสรรคกีดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย
บรรณานุกรม
“RAD ย้ำโลกรู้เกิดอะไรขึ้นที่ไทย เพลง ‘ประเทศกูมี’ พูดแทนหมดแล้ว." มติชนออนไลน์. (29 พฤษภาคม 2562). <https://www.matichon.co.th/politics/news_1515851>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
“กระพือยอดวิวท่วมจอ ประเทศกูมี วันเดียว 9 ล้าน." ไทยรัฐออนไลน์. (28 ตุลาคม 2561). <https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1404757>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
“กระแส '#ประเทศกูมี' หลังเจอ 'ศรีวราห์' จุดประเด็นขัด-ไม่ขัด คสช.." Voice TV. (26 ตุลาคม 2561). <https://voicetv.co.th/read/S1zbkrl3Q>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
“จอห์น วิญญู เผยเหตุผลหลักที่ประเทศเสียหาย ลั่นไม่ใช่เพราะเพลง #ประเทศกูมี." โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (27 ตุลาคม 2561). <https://www.posttoday.com/v5/ent/news/569014>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
เจมส์ มิตเชลล์. (2557). "เพลงแดงและเพลงเหลือง: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการใช้ดนตรีของ นปช. และพันธมิตรฯ." อ่าน (ธันวาคม).
“ชำแหละ #ประเทศกูมี ความจริงที่มาจากการ “จัดตั้ง”." ผู้จัดการออนไลน์. (3 พฤษจิกายน 2561). <https://mgronline.com/daily/detail/9610000109487>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
ณัฏฐณิชา นันตา. (2553). "วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (2525-2550)." วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
“ชชา ตันติวิทยาพิทักษ์. "‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ." ประชาไท. (25 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79297>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
“บุคคลแห่งปีของประชาไท 2561: RAD เพราะ ‘ประเทศกู (ยังไม่) มี’ เสรีภาพที่จะพูด." ประชาไท. (27 ธันวาคม 2561). <https://prachatai.com/journal/2018/12/80261>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2548). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ :การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
“‘ประเทศกูมี' งานเข้า ปอท.ซัดให้ร้ายประเทศไทย เข้าข่ายผิด 'พ.ร.บ.คอมพ์'." ไทยรัฐออนไลน์. (27 ตุลาคม 2561). <https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1404284>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
“‘ประเทศกูมี' เผด็จการ : แร็ปเพื่อสิทธิ์ในการส่งเสียงของประชาชน." Voice TV (24 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/BJopsR2jm>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
““ประเทศกูมี” ทะลุ 16 ล้านวิว ขณะ “บิ๊กโจ๊ก” จ่อออกหมายจับ พร้อมนานาทัศนะทั้งชอบ-ไม่ชอบ." Workpoint News. (28 ตุลาคม 2561). <https://workpointnews.com/2018/10/28/ประเทศกูมี-ทะลุ-16-ล้านว/>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
“เพลงประเทศกูมี : ผกก. เอ็มวี ชี้ ผลงานสะท้อนความจริง." บีบีซี. (26 ตุลาคม 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45995390>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
“ยิ่งต้าน ยิ่งแรง!! ‘ประเทศกูมี’ ขึ้นอันดับ 1 ‘iTunes Thailand’." มติชนออนไลน์. (27 ตุลาคม 2561). <https://www.matichon.co.th/social/news_1198183>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
วารี วิไล. (2562). "สำรวจไทม์ไลน์การเมือง และ พื้นที่ “เพลงเพื่อชีวิต” “พลิกเปลี่ยน” ไม่ยั้งมือ จาก 2516-2562." มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม)
““ศรีวราห์" สั่งตรวจสอบเนื้อเพลง "ประเทศกูมี"." ThaiPBS. (26 ตุลาคม 2561). <https://news.thaipbs.or.th/content/275330>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
อำนาจ เอี่ยมสำอางค์ และอังสุรีย์ พันธ์แก้ว. (2554). "การวิเคราะห์ภาพสะท้อนทางสังคมที่ปรากฏในบทเพลง : ศึกษางานเพลงของกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย." งานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, กรุงเทพฯ.
อ้างอิง
[1] "'ประเทศกูมี' เผด็จการ : แร็ปเพื่อสิทธิ์ในการส่งเสียงของประชาชน," Voice TV (24 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/BJopsR2jm>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[2] "'ประเทศกูมี' เผด็จการ : แร็ปเพื่อสิทธิ์ในการส่งเสียงของประชาชน," Voice TV (24 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/BJopsR2jm>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[3] นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์, "‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ," ประชาไท, (25 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79297>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[4] "'ประเทศกูมี' เผด็จการ : แร็ปเพื่อสิทธิ์ในการส่งเสียงของประชาชน," Voice TV (24 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/BJopsR2jm>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[5] นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์, "‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ," ประชาไท, (25 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79297>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[6] นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์, "‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ," ประชาไท, (25 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2018/10/79297>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[7] "เพลงประเทศกูมี : ผกก. เอ็มวี ชี้ ผลงานสะท้อนความจริง," บีบีซี, (26 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-45995390>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[8] "'ประเทศกูมี' เผด็จการ: แร็ปเพื่อสิทธิ์ในการส่งเสียงของประชาชน," Voice TV (24 ตุลาคม 2561), เข้าถึงจาก <https://voicetv.co.th/read/BJopsR2jm>. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563.
[9] ดูเพิ่มใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ :การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548).
[10] ณัฏฐณิชา นันตา, "วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (2525-2550)," (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553).
[11] อำนาจ เอี่ยมสำอางค์ และอังสุรีย์ พันธ์แก้ว, "การวิเคราะห์ภาพสะท้อนทางสังคมที่ปรากฏในบทเพลง : ศึกษางานเพลงของกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย," งานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (กรุงเทพฯ: 2554).
[12] เจมส์ มิตเชลล์, "เพลงแดงและเพลงเหลือง: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการใช้ดนตรีของ นปช. และพันธมิตรฯ," อ่าน (ธันวาคม, 2557).
[13] วารี วิไล, "สำรวจไทม์ไลน์การเมือง และ พื้นที่ “เพลงเพื่อชีวิต” “พลิกเปลี่ยน” ไม่ยั้งมือ จาก 2516-2562," มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2562)
[14] ""ศรีวราห์" สั่งตรวจสอบเนื้อเพลง "ประเทศกูมี"," ThaiPBS, (26 ตุลาคม 2561), <https://news.thaipbs.or.th/content/275330>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[15] "'ประเทศกูมี' งานเข้า ปอท.ซัดให้ร้ายประเทศไทย เข้าข่ายผิด 'พ.ร.บ.คอมพ์'," ไทยรัฐออนไลน์, (27 ตุลาคม 2561), <https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1404284>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[16] "กระพือยอดวิวท่วมจอ ประเทศกูมี วันเดียว 9 ล้าน," ไทยรัฐออนไลน์, (28 ตุลาคม 2561), <https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1404757>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[17] "“ประเทศกูมี” ทะลุ 16 ล้านวิว ขณะ “บิ๊กโจ๊ก” จ่อออกหมายจับ พร้อมนานาทัศนะทั้งชอบ-ไม่ชอบ," Workpoint News, (28 ตุลาคม 2561), <https://workpointnews.com/2018/10/28/ประเทศกูมี-ทะลุ-16-ล้านว/>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[18] "ยิ่งต้าน ยิ่งแรง!! ‘ประเทศกูมี’ ขึ้นอันดับ 1 ‘iTunes Thailand’," มติชนออนไลน์, (27 ตุลาคม 2561), <https://www.matichon.co.th/social/news_1198183>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[19] "กระแส '#ประเทศกูมี' หลังเจอ 'ศรีวราห์' จุดประเด็นขัด-ไม่ขัด คสช.," Voice TV, (26 ตุลาคม 2561), <https://voicetv.co.th/read/S1zbkrl3Q>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[20] "ชำแหละ #ประเทศกูมี ความจริงที่มาจากการ “จัดตั้ง”," ผู้จัดการออนไลน์, (3 พฤษจิกายน 2561), <https://mgronline.com/daily/detail/9610000109487>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[21] "ชำแหละ #ประเทศกูมี ความจริงที่มาจากการ “จัดตั้ง”," ผู้จัดการออนไลน์, (3 พฤษจิกายน 2561), <https://mgronline.com/daily/detail/9610000109487>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[22] "กระแส '#ประเทศกูมี' หลังเจอ 'ศรีวราห์' จุดประเด็นขัด-ไม่ขัด คสช.," Voice TV, (26 ตุลาคม 2561), <https://voicetv.co.th/read/S1zbkrl3Q>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[23] "จอห์น วิญญู เผยเหตุผลหลักที่ประเทศเสียหาย ลั่นไม่ใช่เพราะเพลง #ประเทศกูมี," โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (27 ตุลาคม 2561), <https://www.posttoday.com/v5/ent/news/569014>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[24] "บุคคลแห่งปีของประชาไท 2561: RAD เพราะ ‘ประเทศกู (ยังไม่) มี’ เสรีภาพที่จะพูด," ประชาไท, (27 ธันวาคม 2561), <https://prachatai.com/journal/2018/12/80261>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.
[25] "RAD ย้ำโลกรู้เกิดอะไรขึ้นที่ไทย เพลง ‘ประเทศกูมี’ พูดแทนหมดแล้ว," มติชนออนไลน์, (29 พฤษภาคม 2562), <https://www.matichon.co.th/politics/news_1515851>. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563.