ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทนำ

ในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนนั้น เรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่อาเซียนมุ่งหวังที่จะให้การรับรองและคุ้มครองไว้ โดยมีการให้การยอมรับในเรื่องนี้ในเอกสารหลายฉบับ เช่น แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 26 [1] หรือ กฎบัตรอาเซียน[2] นอกจากนี้อาเซียนก็ได้ให้การรับรองคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากลและสนับสนุนให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามปฏิญญาเวียนนา จวบจนปี ค.ศ. 2009 อาเซียนได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ให้คำปรึกษาในเรื่องของสิทธิมนุษยชนพร้อมทั้งพัฒนาในเรื่องดังกล่าว และจัดทำปฏิญญาที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้น[3] ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 ก็ได้มีการรับรอง “ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และมีการย้ำจุดยืนในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการนำปฏิญญาอาเซียนว่าสิทธิมนุษยชนไปบังคับใช้ [4]

หลักการพื้นฐานของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

หลักการพื้นฐานคือการยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศ อายุ ศาสนา หรือความต่างในด้านอื่นประการใดๆย่อมมีสิทธิและได้รับประโยชน์ตามที่ปฏิญญาฉบับนี้บัญญัติไว้เหมือนกันทุกคน เช่น สิทธิที่จะได้รับกายอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิ โดยสิทธิต่างๆที่ได้รับนั้นจะต้องเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดของบุคคลนั้นในสังคม ชุมชน ประเทศชาติ มีการรับรองว่าสิทธิของสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสหรือผู้อ่อนแออื่นๆนั้นก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งซึ่งต้องไม่ถูกละเมิด นอกจากนี้ยังมีการยอมรับว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิทธิสากลที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ และทุกคนจะต้องได้รับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกันภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนนั้นให้คำนึงถึงความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจการเมือง กฎหมาย สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศาสนา [5]

สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

1. สิทธิพลเมือง ซึ่งโดยหลักแล้วคือการที่ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองในชีวิต เนื้อตัวร่างกาย ทรัพย์สิน ความคิดจิตใจ สิทธิในการดำรงชีพ สิทธิในเรื่องของสัญชาติ และสิทธิในการแสดงออกทั้งในทางการเมืองและในเรื่องอื่นๆ เท่าที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวจะมุ่งไปที่ความมั่นคงปลอดภัยของสิ่งต่างๆเหล่านี้ และมุ่งไม่ให้มีการแทรกแซง การขัดขวาง หรือการพรากไปซึ่งการใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการคุ้มครองดังกล่าวประชาชนทุกคนจะต้องได้รับอย่างเท่าเทียมและเป็นกลาง

2. สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น สิทธิในการทำงานและการใช้สิทธิทางการแรงงาน สิทธิที่เด็กจะไม่ถูกนำมาหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิทธิในการดำรงชีพด้วย ปัจจัยสี่ มีน้ำดื่มที่สะอาดและมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สิทธิในสวัสดิการสังคม สิทธิในการศึกษา และสิทธิในการเลือกชมศิลปะและวัฒนธรรม

3. สิทธิในการพัฒนา ซึ่งหมายถึงการได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาในด้านต่างๆอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเศรษฐกิจ การเมืองวัฒนธรรม โดยรัฐมีหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆเหล่านั้นให้แก่ประชาชน พร้อมกันนี้รัฐต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและพัฒนารัฐไปในแนวทางที่สอดคล้องกับสิทธิเหล่านั้น

4. สิทธิในสันติภาพ หมายถึงการที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยสิ่งที่รัฐสามารถทำได้เพื่อให้บรรลุผลในสิทธิข้อนี้คือการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศสมาชิกด้วยกันและสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาค [6]

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการที่จะวางหลักเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มผู้ที่อ่อนแอและผู้ด้อยโอกาส เช่น สตรี เด็ก ผู้สูงวัย ผู้ทุพพลภาพ หรือชนกลุ่มน้อย และความพยายามที่จะว่าหลักในเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบ แต่ท้ายที่สุดแล้วยังไม่สามารถนำเรื่องดังกล่าวกำหนดลงไว้ในปฏิญญาได้ [7]

ปัญหาของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

แม้ว่าจะมีการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้วนั้น แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์อยู่มากทั้งในด้านเนื้อหาของตัวปฏิญญาและการจัดทำร่างปฏิญญา โดยมีการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) หลายๆองค์กรที่คัดค้านปฏิญญาดังกล่าว โดยได้ให้เหตุผลต่างๆ เช่น

1. การให้ความคุ้มครองตามปฏิญญาฉบับดังกล่าวนั้นต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ระบุไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล เพราะมีการกำหนดให้ “การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นไปตามความแตกต่างกันในด้านต่างๆไม่ว่าจะสังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง” ซึ่งการกำหนดเช่นนี้เป็นการขัดกับหลักที่ว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีความเท่าเทียมกัน

2. ความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง กล่าวคือ ตัวแทนในการยกร่างและให้คำปรึกษาในการจัดทำปฏิญญานี้นั้นไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเพียงพออีกด้วย

3. สิทธิของผู้อ่อนแอหรือผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างชัดเจนภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการวางหลักว่าสิทธิของผู้ด้อยโอกาสหรือผู้อ่อนแอ อย่างเช่น เด็ก สตรี หรือบุคคลชายขอบนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง แต่กลับไม่มีบทบัญญัติอื่นใดเสริมขึ้นมาว่าบุคคลเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร

4. บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่เป็นหัวใจสำคัญนั้นคลุมเครือและไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น การบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการลักพาตัว ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีมาตรการใดที่มีประสิทธิภาพมาป้องกัน

5. เนื้อหาของปฏิญญาไม่สะท้อนถึงความความต้องการที่แท้จริงของประชาชนอาเซียน หลายองค์กรเห็นว่าการที่บัญญัติให้การได้รับสิทธิบางประการให้ขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศนั้นๆ หรือให้อำนาจรัฐสมาชิกในการกำหนดขอบเขตการประกันสิทธิทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน [8]

ความท้าทายในการจัดทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ความท้าทายประการแรกคือทัศนคติของผู้เข้าร่วมการร่างปฎิญญา ในการจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นจะมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนตัวแทนของแต่ละประเทศเข้าเป็นคณะกรรมการร่างปฏิญญา แต่บางประเทศเลือกที่จะส่งข้าราชการระดับสูงเป็นตัวแทน ซึ่งทำให้การยกร่างดังกล่าวอาจจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมไปถึงความพยายามของบางประเทศที่จะลดความสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้กลายเป็นเพียงกรอบความร่วมมือ [9]

ประการที่สอง ระบบการตัดสินใจของคณะกรรมการยกร่างนั้นเป็นแบบ “ฉันทามติ” ซึ่งกรรมการทุกคนจะต้องเห็นพ้องตรงกัน ระบบการตัดสินใจเช่นนี้ทำให้การจัดทำร่างปฏิญญานั้นยากและล่าช้าเป็นอย่างมาก [10]

ประการที่สามคือ การขาดความร่วมมือกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆในอาเซียนและภาคประชาสังคมต่างๆ หนึ่งในสาเหตุของปัญหานี้ก็คือ การที่การทำงานของคณะกรรมการยกร่างนั้นขึ้นอยู่กับหน่วยงานในประชาคมอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นมีความเกี่ยวโยงในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง ซึ่งการขาดความร่วมมือดังกล่าวทำให้โครงสร้างและแผนการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆมีความซ้ำซ้อนกัน

ความท้าทายประการสุดท้ายก็คือ การจัดทำร่างให้สอดคล้องกับการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งในการรวมตัวกันนั้นจะมีการเปิดเสรีในด้านต่างๆทั้งการขนย้ายสินค้าและแรงงาน รวมไปถึงการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งการทำเช่นนี้ย่อมทำให้สภาพปัญหาในเรื่องของสิทธิมนุษยชนแตกต่างจากตอนที่มีการจัดทำร่างปฏิญญานี้ขึ้น การที่จำทำให้ร่างดังกล่าวมีประสิทธิภาพบังคับใช้ได้จริงในประชาคมอาเซียนจึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก [11]

บรรณานุกรม

ภาคิน นิมมานนรวงศ์.2556. “สิทธิมนุษยชนอาเซียน : ตู้โชว์ความเป็นสากล.” http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/524394 (accessed May 27, 2015.)

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2556. http://www.nesac.go.th/web/upload/modDocument/file_8997113779344_tn-47-266.pdf (accessed May 29, 2015.)

เสรี นนทสูติ.2557. “ความท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียน.” http://www.aichr.or.th/article-detail/16/ (accessed May 29, 2015.)

Bantekas Ilias, Oette Lutz. International Human Right Law and Practice. Cambridge: Cambridge University Press, 2013.

Veronica Uy. 2012. “5 reasons NGOs reject current version of ASEAN Human Rights Declaration.” http://www.interaksyon.com/article/43083/5-reasons-ngos-reject-current-version-of-asean-human-rights-declaration (accessed May 29, 2015.)

อ้างอิง

  1. Joint Communique of the Twenty-Sixth ASEAN Ministerial Meeting. (1993). Article 16
  2. Charter of Association of Southeast Asia Nations. (2007). Article 1.7
  3. Bantekas Ilias, Oette Lutz. International Human Right Law and Practice. (Cambridge: Cambridge University Press, 2013.), 269.
  4. Phanom Penh Statement on The Adoption of The ASEAN Human Right Declaration (AHRD) (2012).
  5. ASEAN Human Right Declaration (2012)
  6. ASEAN Human Right Declaration (2012)
  7. สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2556. http://www.nesac.go.th/web/upload/modDocument/file_8997113779344_tn-47-266.pdf (accessed May 29, 2015.)
  8. Veronica Uy. (2012). “5 reasons NGOs reject current version of ASEAN Human Rights Declaration.” http://www.interaksyon.com/article/43083/5-reasons-ngos-reject-current-version-of-asean-human-rights-declaration (accessed May 29, 2015.)
  9. ภาคิน นิมมานนรวงศ์.2556. “สิทธิมนุษยชนอาเซียน : ตู้โชว์ความเป็นสากล.” http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/524394(accessed May 27, 2015.)
  10. Term of Reference of ASEAN Intergovernmental Commission on Human Right (2009): Article 6.1
  11. เสรี นนทสูติ.2557. “ความท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียน.” http://www.aichr.or.th/article-detail/16/ (accessed May 29, 2015.)