นายทหารอาชีพผู้ทรงใฝ่สันติวิถี
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
ปัจจุบัน คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ทราบว่า ก่อนที่จะต้องทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบอาชีพอะไร ทั้งๆ ที่หากศึกษาพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรอย่างใส่ใจ ย่อมทราบว่าทรงศึกษาวิชาทหารและทรงเป็นนายทหารมาเป็นเวลา ๑๔ ปีก่อนหน้า และเห็นได้ว่าทรงตั้งพระราชหฤทัยจะทรงยึดการทหารบกเป็นอาชีพ อีกทั้งทรงเป็นนายทหารอาชีพผู้ทรงใฝ่สันติวิถี
ทรงศึกษาวิชาทหารและทรงเป็นนายทหารบกประจำการ
กล่าวโดยสังเขป สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนศุโขไทยธรรมราชาทรงเตรียมพระองค์เข้าสู่อาชีพทหารตั้งแต่เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากวิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ โดยได้เสด็จเข้าศึกษาที่ราชวิทยาลัยทหารบกของประเทศอังกฤษที่เมืองวูลลิช ในแผนกวิชาทหารปืนใหญ่ม้า เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๕๖ ครั้นทรงสำเร็จการศึกษานั้นแล้ว ทรงครองพระยศนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพบกอังกฤษ ด้วยมิได้ทรงถือสัญชาติอังกฤษ แต่กระนั้นได้เสด็จเข้าประจำการที่กรมทหารปืนใหญ่ม้ารักษาพระองค์ของอังกฤษที่เมืองออลเดอร์ช็อต ทรงฝึกหัดการบังคับบัญชาทหารและทรงปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ของนายทหาร ณ ที่นั้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘
เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงแสดงพระประสงค์จะเสด็จไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระสหายนายทหารอังกฤษในการสงครามนั้นที่บนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป แต่มิได้ทรงได้รับอนุญาตเนื่องด้วยทรงมีสัญชาติสยาม ประเทศซึ่งยังคงวางตัวเป็นกลางในสงครามโลกนั้นอยู่ในขณะนั้น แสดงว่าทรงมีพระอุปนิสัยเยี่ยงทหารหาญ มิได้ทรงมีความขลาด
เมื่อเสด็จกลับสยามประเทศเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ทรงเข้ารับราชการทหารบกในทันที ทรงปฏิบัติหน้าที่นายทหารทำการบังคับบัญชารวมทั้งในการซ้อมรบ ทรงได้รับการเลื่อนพระยศตามลำดับจากนายร้อยตรีจนถึงนายพันโทในเวลาประมาณ ๕ ปี
ต่อมา เมื่อเสด็จพร้อมพระชายาไปทรงรักษาพระโรคที่ประเทศฝรั่งเศสจนหายประชวรแล้วและด้วยทรงเห็นว่าพระองค์เองยัง “ไม่มีความรู้พอที่จะรับราชการทหารบกให้เป็นประโยชน์ได้จริงและเป็น credit แก่ตน” จึงต้องพระประสงค์ทรงศึกษาเพิ่มเติมด้วยทุนของพระองค์เอง “เพื่อไม่ให้เปลืองเงินหลวง” ดังหนังสือที่พระองค์กราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] แสดงถึงความตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงยึดราชการทหารเป็นอาชีพ
ครั้นทรงได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้เสด็จเข้าประจำที่กองทัพน้อยที่ ๒๐ ณ เมืองนางซี (Nancy) ตั้งแต่ต้นเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ถึงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ทอดพระเนตรกิจการของทหารเหล่าต่างๆ ต่อด้วยการทรงศึกษาหลักสูตรชั้นนายพันตรีและหลักสูตรชั้นนายพันเอก จนถึงเกือบสิ้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๕ จากนั้นได้เสด็จไปทรงร่วมในการซ้อมรบระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
ต่อมาได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกเอโกล เดอ แกร์ (Ecole de Guerre) จนทรงสำเร็จการศึกษาและทรงรับประกาศนียบัตรเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการเสมอเหมือนกับนายทหารฝรั่งเศสในพ.ศ. ๒๔๖๗ และเสด็จออกจากกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เสด็จผ่านสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง เสด็จนิวัติพระนครในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงเข้าปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก พระยศนายพันเอก และในปีต่อมาทรงเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ และผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒[2][3] รัฐสภา ๒๕๒๓: ๓๖-๔๒ และราชเลขาธิการ ๒๕๓๑: ๒๕-๓๓)
ในช่วงนี้ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดทอนรายจ่ายฝ่ายทหารเพื่อประหยัดงบประมาณโดยรวม พระองค์ได้ทรงแสดงพระดำริไปในทางเดียวกันกับเจ้านายและนายทหารสำคัญๆ อื่นๆ ที่เป็นกรรมการ ว่า การทหารยังขาดกำลังรบและยุทธปัจจัย จึงไม่สมควรจะตัดทอนงบประมาณ แต่หากจำเป็นก็ควรรวมทหารบกกับทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ลดเวลาการเกณฑ์ทหารลง ลดอัตราค่าเบี้ยกันดารและลดอัตราเงินเดือนเป็นการชั่วคราวเฉพาะในยามเศรษฐกิจกับตกต่ำเท่านั้น[4]
แต่แล้วในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ นั้นเอง พระองค์ต้องทรงรับราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ในพระราชวงศ์จักรี รวมระยะเวลาที่ทรงศึกษาวิชาทหารและทรงเป็นนายทหารประจำการประมาณ ๑๔ ปี ดังกล่าวแล้ว
ทรงใฝ่สันติวิถีตลอดรัชสมัย
เมื่อต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้ว่าทรง “เป็นนายทหารบกตามอาชีวะ” เมื่อทรงมีพระราชดำรัสตอบในการทรงรับพระยศจอมพลทหารบกและทหารเรือและรับสั่งต่อไปว่าจะทรง “เอาใจใส่ในกิจการทหารบกอยู่เสมอและจะพยายามให้กองทัพบกของเราเจริญทัดเทียมชาติอื่น” สำหรับทหารเรือ ซึ่งมิได้ทรงเป็น ก็ทรง “ยืนยันอยู่เสมอว่าเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันพระราชอาณาจักรของเรา จะเลิกเสียไม่ได้เป็นอันขาด” ควรที่จะต้อง “ใช้ทหารบกทหารเรือทำการกลมเกลียวกันที่สุด” จึงจะป้องกันพระราชอาณาเขตได้ และ “กำลังทางอากาศ...ต่อไปภายหน้าจะเป็นกำลังสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง”[5] เห็นได้ว่าทรงเน้นเรื่องการทะนุบำรุงกำลังทหารประเภทต่างๆ ให้เจริญไว้เพื่อประกอบภารกิจป้องกันประเทศ ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงสภาป้องกันพระราชอาณาจักรให้ทำหน้าที่พิจารณานโยบายและดำเนินการป้องกันพระราชอาณาจักรได้โดยเด็ดขาด ”[6]
หากพิจารณาให้กว้างออกไป เห็นได้ว่าในการทรงทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วยนั้นทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ตั้งแต่ต้นรัชกาลว่าจะทรงทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและสังคมด้วยการเลือกนำประเพณีเดิมและประเพณีใหม่มาประกอบกันและอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะแก่จังหวะเวลา เพื่อที่ว่ากระบวนการนั้นจะได้ไม่ทำให้เกิดความระส่ำระสาย ไร้เสถียรภาพ หรือความขัดแย้งรุนแรงเสียเลือดเนื้อรวมความว่าทรงใฝ่สันติวิถีเหนืออื่นใด ทั้งๆ ที่ทรงถือว่าทรงเป็นทหารอาชีพ
ต่อมา เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องปรับงบประมาณให้ได้ดุล และรัฐบาลของพระองค์ได้ใช้วิธีการปรับลดรายจ่ายเพื่อการนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดทอนงบประมาณการทหารอย่างได้สัดส่วนกับของกระทรวงอื่นๆ แต่ให้เหลือเพียงพอแก่การป้องกันประเทศ แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะทรงถือว่าทรงเป็นทหารและทรงเห็นแก่การทหารเพียงใดก็ตาม เมื่อทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลแล้ว ก็ทรงตระหนักว่าจะต้องทรงประกอบพระราชกิจหน้าที่ไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศในภาพรวมมากกว่าที่จะทรงเลือกที่รักมักที่ชัง อีกทั้งได้ทรงนำแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายในการทหารซึ่งทรงร่วมมีดำริไว้แต่ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ มาใช้ทีละมาตรการ จนกระทั่งถึงการรวมทหารบกและทหารเรือไว้ในกระทรวงเดียวกัน
โดยที่ทรงทราบว่ามาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลต่อกำลังใจของทหารบางส่วน จึงได้ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานข้าราชการกระทรวงกลาโหมชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา “ระหว่างเพื่อนทหารด้วยกัน” และทรงแสดงพระราชหฤทัยหวังว่า “นายทหารโดยเฉพาะคงจะเห็นใจและรู้สึกมีน้ำใจดีต่อข้าพเจ้ามากกว่าคนอื่น” และ “เอาใจช่วยผู้ที่จะต้องต่อสู้กับสงครามการเงิน” เหมือนกับในทางกลับกัน “ ถ้าหากเป็นเวลาสงครามมาติดพระนคร เงินของรัฐบาลย่อมต้องใช้ในการทหารหมด”[7] เห็นได้ว่าทรงใช้ความที่เคยทรงเป็นนายทหาร ประกอบกับพระวาทศิลป์ที่ตั้งอยู่บนความจริงเป็นแนวทางในทรงพยายามรักษาสถานการณ์มิให้มีความระส่ำระสายจนเป็นความรุนแรง
ที่สำคัญ เมื่อคณะราษฎรได้ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงเลือกที่จะรบหรือหนี แต่ได้ทรงอนุโลมยอมทรงรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพระราชประสงค์และได้ทรงดำเนินการสู่ระบอบนั้นอย่างเป็นขั้นตอนมาตลอดก่อนหน้านั้น ยังผลให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นไม่มีการเสียเลือดเนื้อ นับว่าทรงเลือกสันติวิถีในภาวะเข้าด้ายเข้าเข็มสำหรับพระองค์
ครั้นเมื่อทหารสองฝ่ายจับอาวุธรบกันเองในเหตุการณ์ซึ่งได้รับขนานนามว่า “กบฏบวรเดช” ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระราชหฤทัยยิ่งที่ได้ทรงทราบว่าคนไทยรบกันเองโดยมีการเสียเลือดเนื้อ จึงได้ทรงสื่อความให้ทั้งสองฝ่ายไปเฝ้าฯ ที่สวนไกลกังวล หัวหิน ที่ซึ่งประทับอยู่ในขณะนั้น เพื่อที่จะได้ทรงเป็น “คนกลาง” ในการเจรจากันให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ แต่เมื่อปรากฏว่าไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสนองพระราชดำริ พระองค์จึงทรงเสี่ยงพระชนมชีพเสด็จพระราชดำเนินกลางดึกด้วยเรือยนต์ลำเล็กมุ่งสู่สงขลา เพื่อที่พระมหากษัตริย์ องค์พระประมุขของชาติ จักได้ประทับเป็นต่างหากไปจากความขัดแย้งรุนแรงถึงเลือดเนื้อระหว่างทหารและคนไทยด้วยกันเอง นับว่าเป็นเหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งได้ทรงแสดงว่าไม่ทรงนิยมความรุนแรง
ต่อมา เมื่อความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลของคณะราษฎรเกี่ยวกับครรลองของระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญมีมากขึ้น ก็ได้ทรงเลือกที่จะใช้วิธีการเจรจาหาความตกลงจากที่ประทับขณะเสด็จประพาสอังกฤษและเมื่อไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ ก็ได้ทรงเลือกที่จะทรงปลีกพระองค์จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่หากแตกหักย่อมเป็นอันตรายยิ่งแก่ประเทศชาติ ด้วยการสมัครพระทัยลาออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ นับเป็นครั้งสำคัญที่ทรงเลือกที่จะทรงใช้สันติวิถีโดยที่ไม่ได้ทรงละทิ้งหลักการที่ทรงยึดถือเกี่ยวกับระบบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
อดีตนายทหารอาชีพผู้เสด็จสวรรคตในยามสงคราม
เมื่อทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (พ.ศ. ๒๔๗๘ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในประเทศอังกฤษต่อไปอย่างสงบในพระราชสถานะพลเรือน ทรงเผชิญกับภาวะที่ต้องทรงย้ายที่ประทับเพื่อเลี่ยงอันตรายจากลูกระเบิดกลางเวหาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนพระโรคเบียดเบียนมากขึ้น จึงได้เสด็จฯ กลับ “บ้าน” “นอกประเทศ” “บ้านเกิด” ของพระองค์ และแล้วเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายในพระอาการสงบ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
แปลกแต่จริงที่ว่า พระชะตาชีวิตของพระองค์เกี่ยวข้องกับการสู้รบและการทหารมาตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพเมื่อไม่กี่เดือนหลังจากที่เรือรบฝรั่งเศสฝ่าด่านป้องกันที่ปากน้ำมาถึงกลางพระนครได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนกระทั่งถึงเสด็จสวรรคต บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะได้ทรงสถิตอยู่ในแดนที่สุขสงบเป็นแน่
อ้างอิง
- ↑ รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รัฐสภา), หน้า ๓๕.
- ↑ รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รัฐสภา), หน้า ๓๖-๔๒.
- ↑ รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รัฐสภา), หน้า ๒๑๕-๒๑๖.
- ↑ ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุพ , หน้า ๒๕-๓๓.
- ↑ รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รัฐสภา), หน้า ๒๑๗.
- ↑ รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รัฐสภา), หน้า ๒๒๒-๒๒๓.
- ↑ รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: รัฐสภา), หน้า ๒๑๔-๒๑๘ และ ๒๔๔-๒๔๕.
บรรณานุกรม
รัฐสภา, ๒๕๒๓. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: รัฐสภา.
ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุพ.