ธัมมาธิปไตย (พ.ศ. 2546)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคธัมมาธิปไตย

พรรคธัมมาธิปไตยจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2546[1] โดยมีนายสุพัฒก์ ชุ่มช่วย ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและนายสุรพงษ์ แว่นแก้ว ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค[2] ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พรรคธัมมาธิปไตยได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเนื่องจากนายสุพัฒก์ ชุ่มช่วย[3] ได้ลาออกจาการเป็นสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคทำให้ลคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งพรรคจำเป็นที่จะต้องสรรหาหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ซึ่งสุดท้ายแล้วหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ได้แก่นายสุรพงษ์ แว่นแก้ว ที่อดีตเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคส่วนเลขาธิการพรรคคนใหม่นั้นก็ได้แก่นายกมล ศรีนอก สุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ยุบพรรคธัมมาธิปไตย[4] ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสองเนื่องจากไม่ส่งแบบรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปี พ.ศ. 2548

ในส่วนของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคในช่วงที่ยังไม่ถูกยุบนั้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549พรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 5 คนและแบบแบ่งเขตจำนวน 4 คน ซึ่งทั้งหมดมิได้รับการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับแนวนโยบายของพรรคนั้นเนื่องจากนโยบายของพรรคเกิดจากความร่วมมือและร่วมใจของกลุ่มคนที่รัก ศรัทธาและหวงแหนพระศาสนาดังนั้นจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาเป็นอันดับแรกดังจะเห็นได้จากรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญซึ่งมีดังต่อไปนี้คือ[5]


ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

1. เทิดทูนศาสนาและนำหลักธรรมไปปฏิบัติจริง

2. ปฏิรูปกฎหมาย โครงสร้างทางราชการและองค์กรทางศาสนาให้สอดคล้องกับหลักธรรมของศาสนา

3. เผยแพร่ศาสนาผ่านบุคคลและสื่อทุกรูปแบบ

4. ทะนุบำรุงศาสนสถานและศาสนวัตถุ

5. จัดตั้งกองทุนศาสนา

6. สนับสนุนให้บุคลากรทางศาสนาไปดูงานยังแหล่งกำเนิดของศาสนาทุกๆ ปี

7. ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด

8. ปฏิรูปศาสนาทุก 5 ปี


ด้านการศึกษา

1. เรียนฟรีอย่างน้อย 12 ปี

2. ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

3. รัฐกับเอกชนร่วมมือกันบริหารการศึกษา

4. ปฏิรูประบบตำแหน่ง ค่าตอบแทนพัฒนา และการฝึกอบรมบุคคลากรทางการศึกษา


ด้านความมั่นคง

1. ป้องกันภัยคุกคามต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

2. ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน

3. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติทั้งปวง

4. ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองและการประกอบอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ จากชาวต่างชาติ


ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและยาเสพติด

1. ให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต ประพฤติมิชอบและการจำหน่ายยาเสพติด

2. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการทุจริตในหน่วยงานของตน

4. ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบและการกระทำผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด

5. ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและปัญหายาเสพติด


ด้านแรงงานและสวัสดิการทางสังคม

1. จัดหางานให้ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. พัฒนาฝีมือแรงงาน

3. ให้ค่าตอบแทนแก่ผู้แจ้งเบาะแสแหล่งงานที่มีตำแหน่งว่าง

4. ปราบปรามผู้ประกอบการการจัดหางานที่เอารัดเอาเปรียบ

5. จัดสวัสดิการและให้ความคุ้มครองแรงงาน

6. จัดให้มีประกันสังคม


ด้านสาธารณสุข

1. บริการฟรีสำหรับคนจน

2. ปฏิรูปกระบวนการบริหาร จัดการด้านบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ทันสมัย

3. ส่งเสริมให้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพื่อพัฒนาทางการแพทย์


ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

1. เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

2. ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มการเมืองภาคประชาชน

3. จัดการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยในทุกระดับการศึกษา

4. ปฏิรูประบบราชการให้ส่วนกลางมีขนาดเล็ก

5. ปฏิรูประบบตำแหน่ง อัตราค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

6. จัดการประกวดและให้รางวัลแก่นักการเมืองและข้าราชการประจำที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

7. ส่งเสริมบทบาท หน้าที่ขององค์กรอิสระ


ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง

1. ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

2. เศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมและเป็นธรรม

4. เร่งรัดการพัฒนาด้านการตลาดและเงินทุน

3. รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินและการคลัง

4. ปฏิรูประบบภาษีอากร

5. จัดสรรงบประมาณประเทศแบบยืดหยุ่น

6. ปฏิรูปการเงิน การคลัง และงบประมาณให้ทันสมัย

7. ส่งเสริมการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศ


ด้านการพาณิชย์

1. ลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยทุกประเภท

2. ส่งเสริมให้มีตลาดเพิ่มมากขึ้น

3. ยกระดับการผลิตสินค้า

4. จัดให้มีการค้นคว้าวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้า

5. สนับสนุนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

6. จัดตั้งกองเรือพาณิชย์เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ


ด้านการเกษตรและสหกรณ์

1.จัดให้มีการเกษตรแบบผสมผสาน

2.ปฏิรูปการถือครองที่ดิน

3.พัฒนาเกษตรกรแบบบูรณาการ

4.จัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ

5.ค้นคว้า วิจัยเพื่อวางแผนการผลิตสินค้าทางการเกษตร

6.ปฏิรูประบบสหกรณ์

7.จัดตั้งกองทุนการเกษตร

8.จัดตั้งโรงงานเกษตรอุตสาหกรรม


นโยบายอุตสาหกรรม

1. ส่งเสริม สนับสนุนการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกระดับ

2. ปรับโครงสร้างการผลิตอยู่เสมอ

3. สร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรุ่นใหม่

4.ยกเว้นภาษีให้กับธุรกิจที่ประกอบกิจการกำจัดมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อม


ด้านการคมนาคมขนส่ง

1. ขยายเส้นทางคมนาคมขนส่งภาย

2. ปฏิรูประบบการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง

3. ปฏิรูประบบสัญญาณการจราจร

4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชน


นโยบายพลังงาน

1. ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยเพื่อผลิตพลังงานและกระแสไฟฟ้าจากผลผลิตทางการเกษตร

2. สนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมในการจัดหาแหล่งพลังงานธรรมชาติ

3. เพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า


ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1. ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อการผลิตและการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ

2. วางแผนและเร่งรัดการผลิตกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้เพียงพอ

3. ปฏิรูประบบกฎหมาย โครงสร้างระบบราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทันสมัย

4. ส่งเสริมความก้าวหน้าและความมั่นคงของนักวิทยาศาสตร์

5. ประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์


ด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา

1. จัดพิมพ์แผนที่และเอกสารแนะนำแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั่วประเทศ

2. บรรจุความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

3. การผลิตและพัฒนามัคคุเทศก์มืออาชีพ

4. ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและสถานประกอบการด้านกีฬาและการท่องเที่ยวดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวและนักกีฬา

5. ปฏิรูประบบการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นธุรกิจที่เกื้อกูลกันมากที่สุด

7. ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายเป็นประจำ

8. ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาทุกระดับ

9. สร้างนักกีฬามืออาชีพ


ด้านกระบวนการยุติธรรม

1. ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยกระบวนการยุติธรรมทั้งตัวบทกฎหมายและพฤติกรรม

2. ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย

3. ดูแลระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ

4. ปฏิรูปการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกระบวนการยุติธรรม

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 92ง หน้า 60
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 92ง หน้า 121
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 96ง หน้า 52
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 47ก หน้า 1-68
  5. สรุปจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 92ง หน้า 60-79