ชีวิตที่ดีกว่า (พ.ศ. 2542)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคชีวิตที่ดีกว่า (2542)

พรรคชีวิตที่ดีกว่าจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2542 [1] โดยมีนายพจน์กรณ์ ตันติภิรมย์ ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและนายวันชัย ช่องดารากุล ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค [2]

ในส่วนของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคนั้นในการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 พรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 1คน [3] แต่ในแบบแบ่งเขตไม่ส่งผู้สมัครแต่อย่างใด [4]


รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ [5]

ด้านการบริหารและการปกครอง 1. พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ให้มีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราช ความมั่นคงและเพื่อการพัฒนาประเทศ 3. ให้ความอุปถัมภ์ทุกศาสนาที่มีอยู่ในสังคมไทย 4. ส่งเสริมการสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ 5. แก้ไขสนธิสัญญาบางฉบับให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม 6. ปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับยุคสมัย 7. ปฏิรูประบบราชการใหม่ 8. ปรับปรุงระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรม 9. เสริมสร้างกำลังใจและสวัสดิการให้แก่ข้าราชการ 10. เลิกเก็บภาษีเงินได้ผู้ออกจากงานและผู้เกษียณอายุราชการทุกกรณี

ด้านสังคมและการเมือง 1. จัดระบบกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ 2. จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การบริหารงานขององค์กรอิสระ 3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 4. พัฒนาการเมืองให้มีคุณธรรม จริยธรรมและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน 5. กระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่น 6. ให้ความคุ้มครองและพัฒนา เด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชายและสงเคราะห์คนชรา และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 7. ส่งเสริมให้มีบริการทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึง 8. สร้างสังคมไทยให้มีความเป็นปึกแผ่น

ด้านการศึกษา 1. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาการต่างๆ 2. สร้างโอกาสให้คนไทยได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง 3. จ่ายเงินหรือคูปองเรียนฟรีถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 4. จัดตั้งศูนย์พัฒนาชีวิตของผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป

ด้านเศรษฐกิจ 1. กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 2. จัดระบบการถือครองและเช่าที่ดินอย่างเหมาะสม 3. สนับสนุนและคุ้มครองระบบสหกรณ์ 4. ส่งเสริมให้ประชากรในวัยทำงานมีงานทำ 5. สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี 6. ส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางเศรษฐกิจ 7. พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในส่วนภูมิภาคให้เท่าเทียมชีวิตในเมืองหลวง 8. สนับสนุนภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม 9. ปรับปรุงและลดอัตราค่าบริการระบบสาธารณูปโภค 10. ให้เงินหรือคูปองรักษาพยาบาลฟรี 11. แก้ไขระบบประกันสังคม 12. ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการที่มีความสามารถได้มีโอกาสทำงาน 13. ให้เงินหรือคูปองและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป 14. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนไปทำงานต่างต่างประเทศ 15. ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ 16. สนับสนุนการสร้างงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น 17. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการให้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนอื่นๆ 18. สนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน 19. แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 20. จัดระบบการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 21. ปรับระบบธนาคารพาณิชย์ให้มีความมั่นคงน่าเชื่อถือ 22. ปรับปรุงระบบดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเป็นธรรม 23. ปกป้องและคุ้มครองธุรกิจของรัฐและเอกชนไม่ให้ต่างชาติเข้ามาถือครอง 24. ให้คูปองแก่ผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไปนั่งรถโดยสารฟรี

ในส่วนของนโยบายพรรคนั้นแม้ว่าพรรคจะได้จัดทำนโยบายและได้แถลงไว้เมื่อทำการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคในปี 2542 แล้วก็ตามแต่เมื่อถึงปี 2544 พรรคก็ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยทำการยกเลิกนโยบายเก่าทั้งหมดและประกาศใช้นโยบายใหม่ซึ่งมีนโยบายดังต่อไปนี้คือ[6]


นโยบายของพรรคชีวิตที่ดีกว่า พ.ศ. 2544

ด้านการบริหารและการปกครอง 1. พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ให้มีกำลังทหารไว้เพื่อรักษาเอกราช ความมั่นคงและเพื่อการพัฒนาประเทศ 3. ให้ความอุปถัมภ์ทุกศาสนาที่มีอยู่ในสังคมไทย 4. ส่งเสริมการสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ 5. แก้ไขสนธิสัญญาบางฉบับให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม 6. ออกกฎหมายให้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง เป็นธรรมกับทุกคนและเหมาะสมกับกาลสมัย 7. ปรับปรุงและลดขั้นตอนการปฏิบัติงานของระบบราชการให้เหมาะสมและรวดเร็ว 8. ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายภาษีบางประเภทให้เหมาะสมและเป็นธรรม 9. สร้างขวัญกำลังใจและให้สวัสดิการแก่ข้าราชการอย่างเพียงพอ

ด้านสังคมและการเมือง 1. จัดระบบกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ 2. กระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและจัดสรรงบประมาณให้องค์กรอิสระอย่างเพียงพอ 3. กระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นสามารถตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในท้องถิ่นของตนเองได้ 4. ส่งเสริมการเมืองให้มีคุณธรรมและจริยธรรมและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน 5. ส่งเสริมการให้บริการด้านการสาธารณสุขฟรีแก่ประชาชน 6. ให้ความคุ้มครองและพัฒนา เด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชายและสงเคราะห์คนชรา และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 7. สร้างสังคมไทยให้มีความเป็นปึกแผ่น 8. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจทางการเมือง

ด้านการศึกษา 1. จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการค้นว้าวิจัยด้านวิทยาการต่างๆ 2. ให้โอกาสคนไทยได้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้มากขึ้น 3. ทำให้คนไทยมีความสามารถพร้อมที่จะปรับตัวรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง 4. สนับสนุนด้านการเงินให้ประชาชนได้รับการศึกษาฟรีไม่น้อยกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 5. จัดตั้งศูนย์พัฒนาชีวิตของผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป

ด้านเศรษฐกิจ 1. จัดระบบการถือครองให้มีการใช้อย่างเหมาะสมและจัดแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง 2. ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ให้มีทุกพื้นที่และมีทุกประเภทของระบบสหกรณ์ 3. สนับสนุนให้มีอาชีพและงานใหม่ๆเพื่อมารองรับประชากรวัยทำงาน คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรีเป็นพิเศษและให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน 4. ลดราคาค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้มพร้อมทั้งยกเลิกเงินประกันต่างๆ ที่เรียกเก็บจากประชาชน 5. ปลดหรือลดหนี้สินแก่เกษตรกร แรงงานภาครัฐ และเอกชน 6. สนับสนุนด้านการเงินให้เป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป เด็ก คนพิการและคนว่างงานบางประเภท 7. ปรับปรุงระบบธนาคารให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชนและนานาชาติ 8. ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อม 9. พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในส่วนภูมิภาคให้เท่าเทียมกับชีวิตในเมืองหลวง


อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 128
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 168
  3. สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 26 ฉบับที่ 35 หน้า 957
  4. คณะกรรมการการเลือกตั้ง,ข้อมูล สถิติ และผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2544 หน้า 35-36
  5. สรุปความจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 128-136
  6. สรุปความจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 50ง หน้า 15-22