ชาติไทย (พ.ศ. 2517)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคชาติไทย (2517)
พรรคชาติเป็นพรรคที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 โดยมีนายประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค นายชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเลขาธิการพรรค คำขวัญพรรคชาติไทย คือ “สามัคคี ก้าวหน้า มั่นคง”
นโยบายของพรรคชาติไทย
นโยบายทั่วไปของพรรคชาติไทยคือ พรรคชาติไทยจะมุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อาจจำเป็นต้องใช้เวลาระยะยาว พรรคชาติไทยจะแก้ไขปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคมให้น้อยลง โดยรีบจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิต กับองค์การสินเชื่อสำหรับเกษตรกร พรรคชาติไทยยึดหลักการพัฒนาโดยมองว่าเรื่องสวัสดิภาพ ปัญหาปากท้อง และการเกษตร เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น ในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลต้องมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยต้องพยายามใช้วัตถุดิบทางการเกษตร และการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้องดำเนินการพัฒนาทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ไปพร้อมกัน
นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคชาติไทยมองว่าปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่ตามมาจากภาวะเศรษฐกิจในระดับโลก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขทั้ง 2 ระดับควบคู่กันไป โดยการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น พรรคชาติไทยจะดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้นตามลำดับ ส่วนการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศนั้น พรรคชาติไทยจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นและดึงเงินลงทุนจากต่างชาติให้มากขึ้น
นโยบายด้านการบริหารราชการ พรรคชาติไทยเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก การมีระเบียบราชการจำนวนมากและมีความซ้ำซ้อนนี้ นอกจากจะทำให้เกิดการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการหลบเลี่ยงระเบียบกฎหมายแล้ว ยังทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงานด้วย นอกจากนั้น พรรคชาติไทยจะมุ่งพัฒนาการบริหารราชการโดยเน้นที่ตัวผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานราชการเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเป็นแบบอย่างการประพฤติปฏิบัติที่ดีแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย
นโยบายด้านการพัฒนาเมือง พรรคชาติไทยจะมุ่งพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าขาย โดยจะย้ายส่วนราชการสำคัญของเมืองหลวงออกไปยังจังหวัดปริมณฑล ในทำนองเดียวกับแนวคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากนั้นจะมีการสร้างโมโนเรล ถนนต่างระดับ โทลโรด สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบรถเมล์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลสำหรับให้บริการคนมีรายได้น้อย และรถเมล์เอกชนสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีรายได้มากขึ้น
นโยบายด้านการศึกษา พรรคชาติไทยยึดหลักการจัดการศึกษาโดยรัฐต้องให้การศึกษาแก่ชุมชนอย่างสอดคล้องกับสภาพสังคม มีการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรการศึกษา ครูอาจารย์ และมีการผลิตบุคลากร สร้างโรงเรียน รวมถึงแจกจ่ายอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเพียงพอในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รัฐบาลจะต้องยกย่องครูให้เป็นปูชนียบุคคล รัฐต้องยกฐานะชีวิตความเป็นอยู่ของครูให้ดีขึ้น และต้องมุ่งเน้นหลักสูตรวิชาที่จำเป็นต้องการพัฒนาประเทศให้มาก โดยเฉพาะการพัฒนาการศึกษาอาชีวะ เพื่อให้มีบุคลากรรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต
นโยบายด้านสังคม พรรคชาติไทยจะสร้างสวัสดิการทุกด้าน นับตั้งแต่การสร้างแฟลตสำหรับผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่อยู่อาศัย การจัดหางานให้คนมีงานทำมากขึ้น จะส่งเสริมภาคเกษตรกรรม โดยดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกร แต่จะดำเนินการโดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิและสร้างความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการเรื่องค่าครองชีพเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีพได้อย่างพออยู่พอกิน แต่ไม่ใช่การขึ้นค่าแรงโดยไม่มีหลักการ
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคชาติชาติจะยึดหลักการเป็นมิตรกับทุกประเทศที่ไม่มีเจตนาเป็นภัยต่อประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจะต้องผูกมิตรสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น จะส่งเสริมให้รัฐเป็นผู้ติดต่อทำการค้าระหว่างประเทศ โดยผลักดันการออกพระราชบัญญัติการค้าโดยรัฐ และพระราชบัญญัติห้ามการติดต่อกับคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจะเน้นการฑูตเพื่อเชิญชวนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในเมืองไทยโดยไม่จำกัดสัญชาติ ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างบรรยากาศความน่าเชื่อถือให้มากขึ้นด้วย
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคชาติไทยส่งผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 210 คน โดยผู้สมัครของพรรคชาติไทยได้รับเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 28 คน นับเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากเป็นอันดับสามรองจากพรรคประชาธิปัตย์ 72 คน และพรรคธรรมสังคม 45 คน
ที่มา
สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518
ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524