ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง จุฬาพร เอื้อรักสกุล


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (เขตเหลี่ยมเศรษฐกิจ)

โครงการเขตเหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามเขตแดนที่รวมพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ติดกัน ความร่วมมือในลักษณะนี้เกิดขึ้นแพร่หลายในช่วงเวลาหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่องค์กรความร่วมมือในภูมิภาคเกิดขึ้นแพร่หลายเช่นกัน โดยเขตเหลี่ยมเศรษฐกิจเป็นความร่วมมือในระดับเล็กลงไป คือ ระดับอนุภูมิภาคซึ่งมีโอกาสสำเร็จมากกว่าและรวดเร็วกว่า วัตถุประสงค์สำคัญ คือ การนำจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบของพื้นที่บริเวณนั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้ความแตกต่างด้านปัจจัยการผลิตของแต่ละพื้นที่กลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมหรือทดแทนกัน นอกจากนี้ยังระบุโครงการพัฒนาเฉพาะด้านอย่างชัดเจน สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการ และอาจให้อำนาจเฉพาะในการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการเหลี่ยมเศรษฐกิจยังต้องมีปัจจัยอื่นสนับสนุนด้วย ที่สำคัญคือ นโยบายที่มุ่งมั่นและต่อเนื่องของแต่ละรัฐบาล ความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในระดับรัฐและชุมชนท้องถิ่นที่เข้าร่วม สภาพแวดล้อมด้านสังคมและวัฒนธรรม

ประเทศไทยได้เข้าร่วมในโครงการทั้งภาคเหนือและภาคใต้ คือ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) หรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ[1] โครงการนี้พัฒนามาจากโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ประกอบด้วยพื้นที่ภาคเหนือของไทยกับลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และมณฑลภาคใต้ของจีน โครงการนี้เริ่มโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในปี ค.ศ. 1992 ต่อมา ADB พิจารณาเห็นควรให้ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมเวียดนามและกัมพูชาด้วยและเรียกชื่อว่าโครงการ GMS วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการ GMS คือ ส่งเสริมการค้า การลงทุนการเกษตร และยกระดับการครองชีพของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก ความร่วมมือมี 9 สาขา คือ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือนี้ได้นำมาซึ่งแผนงานลำดับความสำคัญสูง 11 แผนงาน คือ แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North – South Economic Corridor), แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor), แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor), แผนงานพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม (Telecommunications Backbone), แผนงานซื้อ – ขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (Regional Power Interconnection and Trading Arrangements), แผนงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน (Facilitating Cross – Border Trade and Investment), แผนงานเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน (Enhancing Private Sector Participation and Competitiveness), แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะความชำนาญ (Developing Human Resources and Skills Competencies), กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Strategic Environment Framework), แผนงานการป้องกันน้ำท่วมและการจัดการทรัพยากรน้ำ (Flood Control and Water Resource Management), แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยว (GMS Tourism Development)

การดำเนินงานในโครงการที่สำคัญมีอาทิ

1. การพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมและโทรคมนาคมเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค โดยเป็นการเชื่อมเมืองชายแดนในประเทศเหล่านี้ด้วยโครงข่ายถนน/รถไฟ/เครื่องบิน/การเดินเรือตามลำน้ำโขงเพื่อประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ทั้งนี้มีการวางแผนและคาดการณ์ว่าเส้นทางคมนาคมเหล่านี้จะสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองอื่นๆ นอกโครงการได้ด้วย

2. ความร่วมมือด้านพลังงาน ประเทศ GMS ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่ายสายส่งระหว่างรัฐบาล (Inter – Governmental Agreement on Regional Power Trade) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 เป้าหมายคือให้ประเทศสมาชิกร่วมมือและวางแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าที่ประหยัดและมีความมั่นคง รวมทั้งมีกลไกการซื้อขายไฟฟ้าในประเทศสมาชิก

3. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบ Pakage Tour โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์ประสานงานหลัก

ประเทศไทยคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่ตอนบนและเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านสู่ตลาดโลก เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมที่พร้อมกว่าพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม การดำเนินแผนงานต่างๆ ยังค่อนข้างช้าเพราะปัญหาทั้งด้านการจัดการและเงินทุน นอกจากนี้ การคมนาคมที่สะดวกมากขึ้นก็สร้างผลด้านลบแก่ไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ สินค้าราคาถูกจากจีนที่เข้าไทยมากขึ้น ปัญหาอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ เป็นต้น

แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle: IMT - GT)[2] ก่อตั้งโดยการริเริ่มของมาเลเซียในปี ค.ศ. 1993 ประกอบด้วยพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พื้นที่เกือบทั้งหมดของเกาะสุมาตราเหนือ จังหวัดสุมาตราตะวันตก จังหวัดสุมาตราใต้ จังหวัดบังกูลู จังหวัดเรียวและจังหวัดจัมบี และรัฐภาคเหนือของมาเลเซีย คือ เคดาห์ เปรัก ปีนัง เปอร์ลิส เซลัง-งอร์และกลันตัน พื้นที่ในโครงการมีลักษณะสำคัญคือ มาเลเซีย มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้องการย้ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงไปยังบริเวณที่แรงงานมีราคาถูกและมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งที่ดินและวัตถุดิบ พื้นที่อินโดนีเซียเป็นแหล่งเกษตรกรรมและไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเป็นหลัก วัตถุประสงค์ของเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจนี้จึงต้องการให้มีความร่วมมือด้านการผลิต การส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งและระบบสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ โครงการกำหนดร่วมมือใน 6 ด้าน คือ การค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ส่วนกลไกการดำเนินงานมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยภาครัฐเป็นฝ่ายพิจารณาแนวทางการดำเนินงานและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน ส่วนภาคเอกชนได้จัดตั้งสภาธุรกิจร่วมจากสามประเทศเพื่อพิจารณาแผนงานความร่วมมือของภาคเอกชน การศึกษาที่มีอยู่พบว่าการดำเนินงานในโครงการความร่วมมือข้างต้นยังค่อนข้างช้าเพราะปัญหาหรืออุปสรรคคล้ายคลึงกันคือความแตกต่างของพื้นที่ในโครงการ อาทิ ระดับการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างของกฎระเบียบการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความพร้อมของภาคเอกชน ในกรณีไทย ปัญหาสำคัญ คือ ความต่อเนื่องของนโยบายรัฐซึ่งมักเปลี่ยนแปลงตามแต่ละรัฐบาล ในส่วนโครงการ IMT – GT มาเลเซียมีความพร้อมและความกระตือรือร้นในโครงการซึ่งทำให้ได้ประโยชน์มากกว่าพื้นที่อื่นในโครงการ [3]

ที่มา

โครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ, ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธ.ค. 2539.

ธวัช ขวัญจิตร์, สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กรณีศึกษาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย, สารนิพนธ์สาขาวิชาการระหว่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.

พันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์, ม.ล. และศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา, รายงานวิจัยเรื่องผลกระทบของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่อประเทศไทย, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2540.

พีรยศ ราฮิมมูลา และคณะ, แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย, เอกสารวิชาการหมายเลข 2, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2544.

ศิริเพ็ชร อิงควิบูลย์พันธ์, การพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ: ศึกษากรณีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน ในทศวรรษที่ 1990, วิทยานิพนธ์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องซึ่งค้นได้จาก www.mfa.go.th

อ้างอิง

  1. โปรดดูเพิ่มเติมในพันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์, ม.ล. และศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา, รายงานวิจัยเรื่องผลกระทบของโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจต่อประเทศไทย, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2540.
  2. โปรดดูเพิ่มเติมในพีรยศ ราฮิมมูลา และคณะ, แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย, เอกสารวิชาการหมายเลข 2, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2544., ธวัช ขวัญจิตร์, สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กรณีศึกษาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย, สารนิพนธ์สาขาวิชาการระหว่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540. และ โครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ, ส่วนธุรกิจต่างประเทศ ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธ.ค. 2539.
  3. ประมวลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ.