คนขอปลดหนี้ (พ.ศ. 2546)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคคนขอปลดหนี้

พรรคคนขอปลดหนี้ เดิมชื่อพรรคเกษตรมหาชน แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “พรรคคนขอปลดหนี้” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2546 โดยมี นายดารัณ หมีเทศ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

นับแต่เดิมที่ใช้ชื่อว่าพรรคเกษตรมหาชน ก็ถือได้ว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งมิใช่ในประเด็นความเป็นพรรคใหญ่หรือเป็นตัวเก็งในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด หากแต่เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มีการเปลี่ยนชื่อพรรคหลายครั้งกล่าวคือ มีการเปลี่ยนจาก “พรรคเกษตรมหาชน” ไปเป็น “พรรคคนขอปลดหนี้” และเปลี่ยนเป็น “พรรคไทเป็นไท” ซึ่งเป็นชื่อพรรคที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้นโยบายของพรรคที่ค่อนข้างแหวกแนวก็ทำให้พรรคคนขอปลดหนี้เรียกความสนใจต่อประชาชนได้พอสมควร ซึ่งจากการประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2547 พบว่า พรรคคนขอปลดหนี้ มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 535,989 คน ซึ่งมีจำนวนสมาชิกพรรคสูงเป็นลำดับที่ 6 ของจำนวนพรรคการเมืองทั้งหมดที่จดทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น และอีกประการหนึ่งก็คือ ความน่าสนใจของตัวหัวหน้าพรรคซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคกิจสังคม ซึ่งหัวหัวหน้าพรรคนั้นจะมีการเปลี่ยนชื่อและ/หรือนามสกุลทุกครั้งที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในด้านนโยบายนั้น พรรคคนขอปลดหนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่จากเมื่อครั้งที่ใช้ชื่อว่าพรรคเกษตรมหาชน โดยนโยบายหลักๆที่น่าสนใจนั้น มีดังนี้

นโยบายออกกฎหมายยกหนี้สิน หรือปลดหนี้ หรือรัฐบาลเป็นผู้ใช้หนี้แทนคนไทยทั้งประเทศ โดยต้องให้รัฐบาลออกกฎหมายรับโอนหนี้ของคนไทยทุกคนมาเป็นหนี้ของรัฐบาลรายละไม่เกินห้าแสนบาท ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากพรรคได้จัดตั้งรัฐบาลและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว หลังจากนั้นต้องจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินใช้หนี้แทนคนไทยที่เป็นหนี้ และได้ร่วมลงชื่อขอปลดหนี้ไว้กับทางพรรคคนขอปลดหนี้ก่อนหน้าที่พรรคจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยจัดทำเป็นงบประมาณผูกพันประจำปีจนสิ้นสุดโครงการ

นโยบายออกกฎหมายกระจายงาน กระจายเงิน กระจายอำนาจ โดยพรรคจะมีนโยบายแต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับต่างๆ ดังนี้ แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับหมู่บ้านๆ ละ 1 คน เรียกว่า หัวหน้าหมู่บ้าน ยกเว้น หมู่บ้านใดมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเกิน 500 คน ให้แต่งตั้งได้ 2 คน เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าหมู่บ้านจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้าน ได้รับเงินเดือนๆ ละหนึ่งหมื่นบาท และจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งล้านบาท หลังจากพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ตัวแทนพรรคระดับหมู่บ้านมีหน้าที่สรรหาสมาชิกและจัดตั้งหัวหน้าคุ้ม รวมทั้งให้ความรู้เรื่องนโยบายพรรค โดยเฉพาะเรื่องการปลดหนี้ตามที่พรรคกำหนด และต้องสรรหาสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตามที่พรรคกำหนด

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับหัวหน้าคุ้ม เรียกว่า ตัวแทนพรรคระดับหัวหน้าคุ้มจำนวนไม่น้อยกว่า 24 คน ภายในหมู่บ้านเดียวกัน และให้หัวหน้าแต่ละคุ้มมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งสรรหาสมาชิก เพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตามที่พรรคกำหนดจำนวนคุ้มละ 10 คน หัวหน้าคุ้ม มีฐานะเป็นข้าราชการการเมืองเช่นเดียวกัน และให้มีตำแหน่งเรียกว่า หัวหน้าคุ้ม ได้รับเงินเดือนๆ ละห้าพันบาท สำหรับค่าตอบแทนแต่ละคุ้มจะได้คุ้มละหนึ่งล้านบาท หลังจากพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลภายใน 180 วัน โดยกำหนดให้จัดสรรเงินค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกของแต่ละคุ้มรายละเก้าหมื่นบาท ส่วนหัวหน้าคุ้มได้รับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งแสนบาท และทุกคนจะได้รับการปลดหนี้รายละไม่เกินห้าแสนบาท ภายใน 48ชั่วโมงหลังจากได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับตำบลๆ ละ 1 คน เรียกว่า หัวหน้าตำบลเพื่อทำหน้าที่สรรหาและแต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านตามที่พรรคกำหนด เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว หัวหน้าตำบลจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งหัวหน้าตำบล มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าอำเภอ บริหารจัดการตามที่พรรคกำหนดภายในตำบลที่รับผิดชอบ ได้รับเงินเดือนๆ ละสามหมื่นบาท พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนจำนวนสามล้านบาท ภายใน 180 วัน

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับอำเภอๆ ละ 1 คน หัวหน้าอำเภอ เพื่อทำหน้าที่สรรหาและแต่งตั้งหัวหน้าตำบลตามที่พรรคกำหนด เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว หัวหน้าอำเภอจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งหัวหน้าอำเภอ มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหัวหน้าจังหวัด บริหารจัดการตามที่พรรคกำหนดภายในอำเภอที่รับผิดชอบ ได้รับเงินเดือนๆ ละห้าหมื่นบาท พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนจำนวนสามล้านบาท ภายใน 180 วัน

แต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับจังหวัดๆ ละไม่น้อยกว่า 1 คน ตามที่พรรคกำหนด เรียกว่า หัวหน้าจังหวัด เพื่อทำหน้าที่สรรหาและแต่งตั้งหัวหน้าอำเภอตามที่พรรคกำหนด เมื่อพรรคได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว หัวหน้าจังหวัดจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีจังหวัด มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สอดส่องดูแลข้าราชการและบริหารจัดการภายในจังหวัดที่รับผิดชอบตามที่พรรคกำหนด ได้รับเงินเดือนๆ ละหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนจำนวนห้าล้านบาทภายใน 180 วัน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายขจัดการทุจริต โกงกิน โดยนโยบายของพรรคคนขอปลดหนี้นั้นจะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ปลดข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ หรือนักธุรกิจเอกชนที่สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ โดยมีพฤติกรรมอันควรเชื่อได้ว่ามีการโกงหรือทุจริต และตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดตามกฎหมายด้วย

ส่วนมาตรการลดการผูกขาดทางธุรกิจนั้น พรรคคนขอปลดหนี้จะยกเลิกรูปแบบเงิน ธนบัตรรัฐบาลไทย ราคา 100 บาท 500 บาท 1,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาให้นำมาแลกเปลี่ยนกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง หรือคลังจังหวัด หรือธนาคารชาติ และเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาล โดยการออกพันธบัตร (ภายในประเทศ) ตรวจสอบธนาคารและสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดให้เป็นที่เชื่อถือของผู้ฝากเงินให้มีประสิทธิภาพ ปรับระบบนโยบายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นของรัฐบาลให้มีสภาพคล่อง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ให้เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศและส่งเสริมให้คนไทยให้เป็นผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของรัฐในสัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดเพื่อไม่ให้ต่างชาติครอบงำ เน้นให้เป็นธนาคารในท้องถิ่นหรือเป็นธนาคารเพื่อการ สหกรณ์ ต้อให้อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจเงิน และการธนาคารเป็นของคนไทยทุกวิถีทาง นักธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐหรือรัฐให้ดำเนินการแทนจะต้องแสดงทรัพย์สินหนี้สินของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าหาที่มาไม่ได้ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ธุรกิจที่มีการผูกขาด เช่น สุรา เบียร์ โทรศัพท์มือถือ ยางมะตอย ฯลฯ ต้องให้มี การค้าแบบเสรี แข่งขันและกระจายสัมปทานไปสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด

สำหรับนโยบายที่สามารถเรียกความสนใจจากสังคมได้อีกข้อหนึ่งก็คือ นโยบายการเปลี่ยนคำนำหน้านามของผู้ที่มีความผิดปกติทางเพศ โดยนโยบายของพรรคที่ได้ประกาศไว้อย่างเป็นทางการระบุว่า “ในสังคมไทยมีบุคลิกอีกประเภทหนึ่งที่มีสภาพจิตใจแตกต่างกับเพศชายหรือเพศหญิงโดยเป็นมาตั้งแต่แรกเกิดเป็น "ชาย" แต่สภาพจิตใจและรูปร่างลักษณะท่าทางเป็น "หญิง" เห็นสมควรสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก "นาย" เป็น "นางนาย" หรือ "นายนาง" แล้วแต่กรณีเมื่ออายุครบ 20 ปี โดยให้จิตแพทย์ให้การรับรอง และในกรณีที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศหรือแต่งงานแล้ว ให้ใช้คำนำหน้าว่า "นางสาว" หรือ "นาง" เมื่อนายแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแปลงเพศหรือสามีให้การรับรอง”

สำหรับความน่าสนใจของตัวหัวหน้าพรรคนั้น นายบุญนาค หมีเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุโขทัย พรรคกิจสังคม และพรรคความหวังใหม่ ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ชื่อสกุลว่า “นายชูชาติ ประธานธรรม” ชื่อเดิม “นายกุศล หมีเทศ” หรือ "นายปราบสะดา หมีเทศ" หรือ "นายกุศล หมีเทศทอง" หรือ "นายดารัณ หมีเทศ" ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนชื่อสกุลเพื่อความเป็นสิริมงคลทุกครั้งที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนด้านกิจกรรมการเมืองนั้น พรรคคนขอปลดหนี้ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 โดยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเป็นจำนวนทั้งสิ้น 120 คน ซึ่งผลการเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว ในขณะที่ผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนั้น พรรคคนขอปลดหนี้ได้รับคะแนนเสียงทั้งสิ้น 231,053 คะแนน ซึ่งคิดเป็น 0.76% ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด

การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของพรรคคนขอปลดหนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 โดยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเป็นจำนวนทั้งสิ้น 113 คน แต่ภายหลังถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้งเหลือเพียง 50 คน โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า สมาชิกพรรคคนขอปลดหนี้ได้รับการเลือกตั้ง 1 คน คือ นายมาโนช เสนาชู เขต 9 จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวถูกตัดสินว่าเป็นโมฆะ จึงได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2549

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2549 นั้น ผู้สมัครจากพรรคคนขอปลดหนี้ได้รับการเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 3 คนด้วยกัน คือ นางพรจณัฐ ศรีรัตนานันท์ เขต 1 จังหวัดเพชรบุรี นายเปลื้อง บุญศรี เขต 3 จังหวัดพัทลุง และนายอับดุลคอเด เจ๊ะอูเซ็ง เขต 1 จังหวัดนราธิวาส แต่ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ก็ได้เกิดรัฐประหารขึ้นเพื่อยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 คนของพรรคคนขอปลดหนี้จึงต้องออกจากตำแหน่งไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2549 “พรรคคนขอปลดหนี้” ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อพรรคอีกครั้งเป็น “พรรคไทเป็นไท”

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 146 ง หน้า 28-32

สยามจดหมายเหตุ ปีที่ 29 พ.ศ.2547 หน้า 1021-1022

http://www.thaipenthai.org/user_about_detail.php เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552

http://th.wikipedia.org/wiki/พรรคไทเป็นไท เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552