คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ที่มาและความสำคัญ

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงในยุคสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะการกระทำละเมิดต่อกลุ่มเป้าหมายที่เด็กและสตรีซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่านั้น เป็นประเด็นปัญหาที่ ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือทั้งในระดับสากลและในระดับภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง อาเซียนได้ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหากับประเด็นดังกล่าวนี้อย่างจริงจังมากขึ้นจึงได้สร้างกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งจากแนวคิดที่ว่า จะต้องมีองค์กรที่คอยสอดส่อง ดูแล และปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้ ดังนั้นอาเซียนจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children – ACWC:คณะกรรมการACWC) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women) แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (Vientiane Action Programme (VAP) 2004-2010) กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างประชาคมอาเซียน 2009-2015 (Roadmap for the ASEAN Community 2009-2015) [1]

ประวัติความเป็นมา

คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (คณะกรรมการACWC) เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 10 และถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม ค.ศ.2009 [2] และก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปีต่อมา[3] ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการ ACWC นั้น นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นใจในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันต่อเด็กและสตรี

โครงสร้างองค์กร

คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของอาเซียนในระดับระหว่างรัฐบาล (intergovernmental body) มีสถานะเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษา มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 20 คน ประกอบด้วยผู้แทนด้านสิทธิเด็กประเทศละ 1 คน และผู้แทนด้านสิทธิสตรี ประเทศละ 1 คน [4]

วาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยการดำรงตำแหน่งของผู้แทนสองคนแรกจะเหลื่อมล้ำกันเพื่อให้การดำเนินงานของ คณะกรรมการACWC เป็นไปอย่างต่อเนื่องนั่นคือ หนึ่งในสองคนแรกจะทำหน้าที่เป็นเวลาสี่ปีครึ่ง และผู้แทนอาจได้รับการต่ออายุได้อีกไม่เกิน 1 วาระ [5]

สำหรับประเทศไทยนั้นมีการจัดการคัดเลือกผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยในปัจจุบันมี ดร. สายสุรี จุติกุล และนางกานดา วัชโรทัย เป็นผู้แทนไทย ทั้งนี้ นางกานดา ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ACWC [6]

ขอบเขตอำนาจหน้าที่และการดำเนินการ

อำนาจหน้าที่ (Terms of Reference – TOR) ของ คณะกรรมการACWC นั้น ได้รับการรับรองโดยความรับผิดชอบของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 23-25 ตุลาคม ค.ศ.2009 [7] ที่ประเทศไทย

วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและเด็กในภูมิภาคอาเซียน และมีหน้าที่ในการส่งเสริมสิทธิตามข้อตกลงเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรี( The Convention on the Elimination of Violence Against Women (CEDAW) ) และข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ( The Convention on the Rights of the Child (CRC) ) ซึ่งได้รับการให้สัตยาบันแล้วโดยรัฐสมาชิกทั้งหมด[8] โดยคำนึงถึงภูมิหลังของกลุ่มคนเหล่านี้ในแง่ของความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจของภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิและความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ การก่อตั้ง คณะกรรมการACWC ยังเกิดขึ้นเพื่อเป็นองค์กรสนับสนุนและดูแลในเรื่องของคุณภาพชีวิต การพัฒนาศักยภาพ และการมีบทบาทและมีส่วนร่วมของเด็กและสตรีในกระบวนการต่างๆของประชาคมอาเซียน และช่วยสร้างความตระหนักในการปฏิบัติการให้บรรลุตามเป้าประสงค์ภายใต้กรอบกฎบัตรอาเซียน และสอดคล้องกับกลไกข้อตกลงระดับนานาชาติต่อไป

ความท้าทาย

ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูงและส่วนใหญ่จะมีวัฒนธรรมที่ผู้ชายมีบทบาทเหนือผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ศาสนามีบทบาทสูงในการจัดระเบียบทางสังคม สิทธิสตรีและเด็กอาจถูกละเมิดได้โดยง่าย ดังนั้นในการที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กให้มีประสิทธิภาพอาเซียนจะต้องสอดแทรกหรือปรับเปลี่ยนให้กฎเกณฑ์ทางสิทธิมนุษยชนประสานเข้ากับวัฒนธรรมและจารีตประเพณีท้องถิ่น รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในด้านการยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก นอกจากนี้จะอาเซียนต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรผู้ให้บริการนักสังคมสงเคราะห์ที่ชำนาญในเรื่องของเด็กและสตรีอีกด้วย อนึ่งคณะกรรมการ ACWC จะต้องทำงานตามมาตรฐานสากล หลีกเลียงการตีความเพื่อสร้างบรรทัดฐานระดับภูมิภาคที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล มีการวางแผนและดำเนินการติดตามงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเด็นทางด้านปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ในอนาคตควรมีการเรียกร้องให้ ACWC พัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการพิทักษ์สิทธิสตรีและเด็กมากกว่าแค่เป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น

บรรณานุกรม

กรมอาเซียน. 2554. “คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children – ACWC).” http://www.baanjomyut.com/library_2/asean_community/43.html (accessed June 16 , 2015)

กรมอาเซียน4. 2555. “คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก.” http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121218-095754-259440.pdf (accessed June 7 ,2015)

กองอาเซียน. 2557. “คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children –ACWC).” http://202.183.149.112/asccnet//images/users/asccmsdhs/docs/ewt_dl_link7.pdf (assessed June 16, 2015)

Minnesota's research university,2015. “Terms of Reference of the ASEAN Commission for the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC) “ http://www1.umn.edu/humanrts/research/Philippines/ASEAN%20TOR%20on%20the%20%20Rights%20of%20Women%20and%20Children.pdf. (assessed June 16, 2015)

Right in ASEAN online platform.2015. “ASEAN Commission on the Rights of Women and Children.” http://humanrightsinasean.info/asean-commission-rights-women-and-children/about.html (accessed June 16, 2015)

Working Group for an ASEAN Human Rights Mechanism. 2010. ”Inaugurated: ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children.” http://www.aseanhrmech.org/news/ASEAN-commission-inaugurated.htm (accessed June 7 ,2015)

อ้างอิง

  1. กรมอาเซียน4. 2555. “คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก.” http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20121218-095754-259440.pdf(accessed June 7 ,2015)
  2. Working Group for an ASEAN Human Rights Mechanism. 2010. ”Inaugurated: ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children.” http://www.aseanhrmech.org/news/ASEAN-commission-inaugurated.htm(accessed June 7 ,2015)
  3. Right in asean online platform.2015. “ASEAN Commission on the Rights of Women and Children.” http://humanrightsinasean.info/asean-commission-rights-women-and-children/about.html (accessed June 16, 2015)
  4. Minnesota's research university,2015. “Terms of Reference of the ASEAN Commission for the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children (ACWC) “ http://www1.umn.edu/humanrts/research/Philippines/ASEAN%20TOR%20on%20the%20%20Rights%20of%20Women%20and%20Children.pdf. (assessed June 16, 2015)
  5. กองอาเซียน. 2557. “คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children –ACWC).” http://202.183.149.112/asccnet//images/users/asccmsdhs/docs/ewt_dl_link7.pdf(assessed June 16, 2015)
  6. กรมอาเซียน4. 2555. อ้างแล้ว., หน้า1.
  7. กรมอาเซียน. 2554. “คณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก(ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children – ACWC).” http://www.baanjomyut.com/library_2/asean_community/43.html(accessed June 16 , 2015)
  8. เพิ่งอ้าง.