กิจกรรม ยืน หยุด ขัง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” คือ การจัดกิจกรรมในรูปแบบของการยืนนิ่งตามหลักสันติอหิงสา ไม่มีการปราศรัยใด ๆ มีเพียงการยกป้ายข้อความต่าง ๆ เช่น “ปล่อยเพื่อนเรา” “คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาการเมือง” “ปล่อยลูกหลานเรา” และ “คืนสิทธิประกันตัวคืนความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม” เป็นต้น[1] เพื่อเรียกร้องปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งยังคงถูกกักขังอยู่ในเรือนจำ โดยยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดให้ได้ออกมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมในข้อหาความผิดต่าง ๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 รวมทั้งการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน_พ.ศ._2548 เป็นต้น ซึ่งจุดเริ่มต้นกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เกิดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ และนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งแรกนั้น จัดขึ้นวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564  บริเวณหน้าศาลฎีกา ซึ่งแต่เดิมจะทำการยืนเป็นเวลา 112 นาที ก่อนปรับลดเป็น 1 ชั่วโมง 12 นาที เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ท้ายกิจกรรมจะมีการเปล่งเสียงตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” สถานที่จัดกิจกรรมเริ่มจากทำการศาลฎีกา สนามหลวง ก่อนที่คณะราษมัม ซึ่งเป็นมารดาและครอบครัวของแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังจะได้ไปจัดกิจกรรมนี้ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งยังได้รับความสนใจขยายวงกว้างออกไปดึงดูดคนรุ่นใหม่ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไปเข้าร่วม “ยืน” ในกิจกรรมนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากกลุ่ม OctDem หรือกลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย[2]ที่ประกาศเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมจนทำให้การจัดกิจกรรมมีมวลชนเข้าร่วมกว่า 400 คน ตลอดจนมีการนำเสนอเนื้อหาที่กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น[3]

 

ภาพ : การทำกิจกรรม ยืนหยุดขัง 112 นาที หน้าศาลฎีกา นำโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ [4]

RTENOTITLE
RTENOTITLE

 

          อย่างไรก็ดี การจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นต้นแบบกระจายออกไปยังหลายจังหวัดตามสถานศึกษา มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ หน้าเรือนจำ ที่ทำการศาลจังหวัด และสำนักงานองค์กรระหว่างประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐม เชียงใหม่ ลำปาง อุดรธานี ตรังและที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนำโดยคณะราษฎรอุบล ยังได้มีการรณรงค์ให้ประชาชน ร่วมลงชื่อในกิจกรรม “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” เรียกร้องให้ยกเลิกการมีวุฒิสภา พร้อมเรียกร้องให้ตรากฎหมายลงโทษผู้กระทำการรัฐประหารเพื่อไม่ให้มีการทำรัฐประหารในอนาคต [5] รวมทั้งที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นการกิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับร่วมกับกลุ่มดาวดิน กลุ่มขอนแก่นพอกันทีและคณะราษฎรขอนแก่น ที่การกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ไม่ได้มีเพียงประเด็นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น ทั้งมีการเพิ่มข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทบทวนการยกเลิกสัญญาจ้าง นายเดวิด เสต็กฟรัส นักวิชาการอิสระด้านประชาธิปไตย หลังถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่นเลิกจ้างตามคำชี้แจงของผู้บริหาร[6] เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีการเคลื่อนไหวแบบปัจเจกชน ด้วยการยืนหน้าบ้านแล้วถ่ายรูปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์พร้อมป้ายประกาศเจตนารมณ์ “ปล่อยเพื่อนเรา”[7]

 

ภาพ : การจัดกิจกรรม "ยืนหยุดขัง นครปฐม 112 นาที” เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 ที่หน้าศาลแขวงจังหวัดนครปฐม[8]

Stand, stop, imprison (2).png
Stand, stop, imprison (2).png

 

Stand, stop, imprison (3).png
Stand, stop, imprison (3).png

 

          นอกจากนี้แล้ว กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ยังได้ขยายตัวไปในกิจกรรมในรูปแบบที่คล้ายกัน ได้แก่ กิจกรรม “อยู่ หยุด ขัง” โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมชุม และพรรควิฬาร์ รวมทั้งกิจกรรม “ยืน หยุด ยุทธ์” โดยกลุ่มวีโว่ (We Volunteer) ในการจัดกิจกรรมยืนชูสามนิ้ว เคารพธงชาติบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือเรียกร้องสิทธิการประกันตัวตามกระบวนการยุติธรรม ปล่อยแกนนำราษฎรและนักกิจกรรมทางการเมืองออกจากเรือนจำเพื่อให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แม้ศาลได้พิจารณาให้ประกันตัวแกนนำคณะราษฎรและแนวร่วมคนอื่น ๆ ได้แก่ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นงสาววรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา และ นางสาวพรหมศร วีระธรรมจารี “ฟ้า” ในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2564[9] แต่กิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ทั้งบริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวงและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและแนวร่วมนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

          ด้านผลของการจัดกิจกรรมนอกจากจะได้รับความสนใจจากมวลชนกลุ่มสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว กล่าวได้ว่าผลจากการทำกิจกรรมทางการเมืองนี้ ได้นำไปสู่การถูกหมายเรียกจากตำรวจ เช่น กรณีมารดาของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร ที่โดนหมายเรียกจากสน.ชนะสงคราม จากการจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคเกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ข้อ 2.5 และ ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  มาตรา 18 ในการจัดกิจกรรมหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564[10] เช่นเดียวกับกรณีของผู้ร่วมกิจกรรม “อยู่ หยุด ขัง” ที่บริเวณหน้าศาลฎีกาเมื่อ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 ได้ถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจกล่าวหาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 39 ในการกระทำการติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นฐาน ซึ่งถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 200 บาท[11] ในขณะที่สื่อมวลชนที่ติดตามและนำเสนอข่าวของกิจกรรมนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อาทิ วอยซ์ ทีวี ที่ถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาว่าการออกอากาศรายการ “VOICE GO” ในหัวข้อ “อยู่หยุดขัง จนกว่าจะ #ปล่อยเพื่อนเรา” “หวัง ตุลาการ ไม่รับใบสั่ง เคารพสิทธิมนุษยชน” และ “ผูกโบขาว เรียกสำนึก-คืนความยุติธรรม” มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดตาม มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 รวมไปถึงการถูกตรวจสอบในการกระทำผิดต่าง ๆ เช่น การโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น [12]

 

อ้างอิง

[1] “ราษฎรตรังทำกิจกรรม “ยืนหยุดขัง”1ชั่วโมง12นาที”, สืบค้นจาก https://www.banmuang.co.th/news/region/231472(24 กรกฎาคม 2564).

[2] “'กลุ่มOCTDEM'ร้อง'ศาลฎีกา'ให้ประกันผู้ต้องหาทางการเมืองไม่ว่าจะข้อหาใด”, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews. com/news/detail/930563(24 กรกฎาคม 2564).

[3] “โฟกัส การเมือง กิจกรรม ยืน หยุด ขัง สงบ เรียบร้อย”, สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_6335828 (24 กรกฎาคม 2564).

[4] “พลเมืองโต้กลับ ประกาศ ยืนหยุดขัง 112 นาที หน้าศาลฎีกาทุกวัน จนกว่าแกนนำราษฎรจะได้สิทธิ์ประกันตัว”, สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/ohRXgRoJl(24 กรกฎาคม 2564).

[5] “คณะราษฎรอุบล ยืน หยุด ขัง 112 นาที เรียกร้องปล่อยแกนนำ”, สืบค้นจาก  https://today.line.me/th/v2/article/P8pZ5V(24 กรกฎาคม 2564).

[6] “คณะราษฎรขอนแก่นจัดกิจกรรม"ยืนหยุดขัง"จี้ปล่อยตัวแกนนำสู้คดี”, สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/social/local/ 650703(24 กรกฎาคม 2564).

[7] “คลัสเตอร์ ‘ยืน หยุด ขัง’ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ระบาดเชื้อกระจาย หลาย จว. ตอกย้ำความอยุติธรรม” , สืบค้นจาก https://www.mati chonweekly. com/column/article_421417(24 กรกฎาคม 2564).

[8] “นครปฐม "คณะราษฏร" นครปฐม ชูป้าย ยืน หยุด ขัง หน้าศาลแขวงจังหวัดนครปฐม” , สืบค้นจาก https://www.komchadluek. net/news/local/464293(24 กรกฎาคม 2564).

[9] “อิสรภาพแกนนำม็อบ3นิ้ว กับเงื่อนไขที่ตกลงกับศาล” , สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/main/detail/102338(24 กรกฎาคม 2564).

[10] “แม่ “รุ้ง-ปนัสยา” โดนหมายเรียก สน.ชนะสงคราม ร่วม “ยืนหยุดขัง” หน้าศาลฎีกา”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/onlines ection/detail/9640000048317(24 กรกฎาคม 2564).

[11] “3 ผู้ร่วม “อยู่ หยุด ขัง” หน้าศาลฎีกา ถูกตร.คุมตัว อ้างเหตุ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ก่อนส่งเทศกิจเปรียบเทียบปรับ”, สืบค้นจาก https://tlhr2014. com/archives/28917(24 กรกฎาคม 2564).

[12] “วอยซ์ ทีวี จ่อจอดำอีกรอบ กรณีข่าวยืนหยุดขังหน้าศาล “ศิโรตม์” เผย” , สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/marketing/ news-712347(24 กรกฎาคม 2564).