การ์ดภาคีเพื่อประชาชน
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
การ์ดภาคีเพื่อประชาชน คือ เครือข่ายความร่วมมือและทำงานร่วมกันของกลุ่มการ์ด (guard) หรือ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และทำกิจกรรมทางการเมืองในการเรียกร้องประชาธิปไตยรวมถึงต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา
การ์ดภาคีเพื่อประชาชน ได้ประกาศจัดตั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ ถนนอักษะ โดยมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องดูแลมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมในทุก ๆ กิจกรรมการชุมนุมตามวิถีทางในแบบสันติวิธี รวมทั้งสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออก รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันสถาบันกษัตริย์
ภาพ : การแถลงการณ์ของการ์ดภาคีเพื่อประชาชน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563[1]

การได้จัดตั้งและสมาชิกกลุ่ม “การ์ดภาคีเพื่อประชาชน”
ภายใต้เป้าหมายที่จะจัดการให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย กลุ่มต่าง ๆ ที่ร่วมการชุมนุมจึงร่วมมือกันในการได้จัดตั้งกลุ่ม “การ์ดภาคีเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นการรวบรวมทีมการ์ดทั้งหมดกว่า 1,500 คน[2] จากเครือข่ายความร่วมมือเริ่มต้น จำนวน 10 กลุ่ม โดยมี นายเกวลัง ธัญญเจริญ หรือ เก่ง อาชีวะ หรือ เก่ง นครหลวง และ นายกิตติ์พิวัฒน์ สีบุญเรือง หรือ เอ็ม ปลดแอก เป็นแกนนำและผู้ประสานงานระหว่างแกนนำหลัก[3] ในเครือข่ายที่เป็นสมาชิก ดังนี้
(1) การ์ดปลดแอก จัดตั้งเพื่อปกป้องมวลชน สนับสนุนเพื่อนร่วมอุดมการณ์โดยไม่ยึดติดแกนนำ มุ่งเน้นให้ทีมงานและประชาชนปลอดภัย
(2) การ์ดมวลชน จัดตั้งจากกลุ่มมวลชนอาสาเพื่อปกป้องประชาชน สนับสนุนอุดมการณ์ของมวลชน
(3) การ์ดราษฎร จัดตั้งเพื่อปกป้องราษฎร ที่เข้าร่วมชุมนุมและสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง
(4) ราษฎรฝั่งธน จัดตั้งเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ในข้อเรียกร้อง 3 ข้อ พร้อมทั้งปกป้องและดูแลประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม
(5) การ์ดเฉพาะกิจ จัดตั้งเพื่อสนับสนุนในอุดมการณ์และข้อเรียกร้องเกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ที่ต้องการปกป้องประชาชนแบบเฉพาะกิจ
(6) PHOENIX GUARD หรือเดิมใช้ชื่อ การ์ดอากิระพลังมวลชน เกิดจากกลุ่มนักเพาะกายและกลุ่มวัยทำงาน จัดตั้งเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยและข้อเรียกร้องของประชาชนร่วมดูแลมวลชนให้ปลอดภัย อย่างสันติวิธี
(7) ทีมองค์กรบอดี้การ์ด สเปเชียล ฟอร์ส (Bodyguard Special Forces : BSF) หรือ การ์ดรบพิเศษ มี นายพลาม พรมจำปา ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็นอดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษ ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร เป็นหัวหน้ากลุ่มทำหน้าที่ปกป้องประชาชนเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของมวลชน
(8) พิราบขาว เพื่อปกป้องมวลชนให้ได้รับความปลอดภัยในการเข้าร่วมชุมนุมที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญไทย เพื่อให้ได้รับความสะดวกรวมถึงสวัสดิภาพในการชุมนุมและเฝ้าระวังบุคคลที่ไม่หวังดีต่อกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทุกคน โดยยึดหลักการรักษาสันติทุกวิถีทาง
(9) อาชีวพิทักษ์ประชาชน เป็นการ์ดกลุ่มพี่น้องอาชีวะที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมปกป้องและดูแลประชาชน และสนับสนุนในข้อเรียกร้องของประชาชน
(10) การ์ดนนทบุรี เป็นทีมการ์ดคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่มีอุดมการณ์เดียวกันร่วมปกป้องมวลชนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
(11) เฟมินิสต์ปลดแอก เป็นขบวนการของผู้หญิงทั้งประเทศที่กระจายกันทำงานใน ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งบทบาทในฐานะการ์ดภาคีเพื่อประชาชน กลุ่มนี้ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางใจในพื้นที่ชุมนุม สอดส่องและรับเรื่องการคุกคามทางเพศและเป็นฝ่ายสนับสนุนได้เมื่อมีเหตุ เพื่อจุดมุ่งหมายให้ม็อบเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่ม "Secure ranger" ที่ดูแลเรื่องการคุกคามในม็อบ โดยเชิญชวนผู้ชุมนุมว่าหากรู้สึกไม่ปลอดภัยให้สังเกตการ์ดปลอกแขนสีรุ้งและทางกลุ่มจะเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งกลุ่ม "Voice from friend" ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครือข่ายเปิดรับร้องเรียนเรื่องล่วงละเมิด และคุกคามทางเพศ จุดยืนของกลุ่มนี้ นอกจากจะสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมราษฎรแล้ว ยังเสนอว่าต้องไม่มีประเด็นการคุกคามทางเพศอีก รวมทั้งขอประณามการกระทำที่คุกคามความเป็นมนุษย์[4]
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา กลุ่ม “อาชีวะฟันเฟืองประชาธิปไตย” ที่เคยเข้าร่วมเป็นการ์ดภาคีเพื่อประชาชนในช่วงแรกของการก่อตั้ง ได้ถอนตัวออกไป เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยให้เหตุผลว่า ทางกลุ่มเป็นเพียงมวลชนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อพบปะพูดคุยสร้างมิตรภาพเพื่อนำไปสู่การทำสิ่งที่ก่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและเดินหน้าเรียกร้องประชาธิปไตยเคียงข้างเพื่อนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน มิได้มีจุดมุ่งหมายหลักในการรวมตัวกันเพื่อเป็นการ์ดของการชุมนุม อีกทั้งสมาชิกกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยส่วนหนึ่งเป็นเพียงเยาวชนวัยเดียวกับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้จำเป็นต้องคำนึงความปลอดภัย[5] เช่นเดียวกับ “กลุ่มการ์ดปลดแอก” ที่ได้ออกแถลงการณ์ขอลาออกจากกลุ่มการ์ดภาคีเพื่อประชาชน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 โดยยังคงยึดมั่นใน 3 ข้อเรียกร้องของการชุมนุม และยังคงร่วมงานเคียงข้างกับทุกกลุ่ม เพื่อปกป้องมวลชนและสนับสนุนทุกกิจกรรมในการเรียกร้องประชาธิปไตยของทุกภาคส่วน[6]
ด้านการทำงานร่วมกันของการ์ดภาคีเพื่อประชาชนนั้น แม้ว่าจะสนับสนุนการชุมนุมที่นำโดยคณะราษฎรเช่นเดียวกันกับกลุ่มวีโว่ (WeVo) (We Volunteer) ซึ่งมีบทบาทในการเป็นกลุ่มคนแถวหน้าในการชุมนุม ภายใต้การนำของ นายปิยรัฐ จงเทพ และแม้ว่าจะมีการประสานร่วมงานกันแต่ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกัน[7] โดยทางการ์ดภาคีเพื่อประชาชน ได้มีการจัดทำปลอกแขนสัญลักษณ์ที่แตกต่างไปเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ทั้งนี้ แนวทางการจัดการของกลุ่มการ์ดภาคีเพื่อประชาชนนั้นมีความแตกต่างจากแนวทางของกลุ่มวีโว่ (WeVo) ที่จะไม่มีการส่งรายชื่อสมาชิกให้แก่แกนนำกลุ่มคณะราษฎร เพื่อขึ้นทะเบียนและจัดระเบียบการ์ด เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัว ทั้งยังมีความกังวลเรื่องข้อมูลที่อาจจะรั่วไหล[8]
นอกจากการแสดงบทบาทของการดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมแล้ว การ์ดภาคีเพื่อประชาชนยังมีข่าวปรากฏในหน้าสื่อ ทั้งกรณีที่มีแกนนำได้รับบาดเจ็บจากเหตุถูกยิงระหว่างเหตุปะทะระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับกลุ่มราษฎร ที่ชุมนุมติดตามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบริเวณรัฐสภา แยกเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และการที่มีการ์ดได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบาดเจ็บสาหัสหลังจากยุติการชุมนุมของคณะราษฎร วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 บริเวณแยกรัชโยธิน[9] และข้อกล่าวหาว่ามีสมาชิกของกลุ่มเป็นผู้โยนระเบิดที่สามย่าน เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ 2564 เป็นต้น [10]
อ้างอิง
[1] “ม็อบ 22 พฤศจิกา ประกาศตั้งกลุ่ม “การ์ดภาคีเพื่อประชาชน”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/ 9630000120323 (20 กรกฎาคม 2564).
[2] “การ์ดภาคีเพื่อประชาชน' ร่วมปกป้อง #ม็อบ22พฤศจิกา ที่ถนนอักษะ”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/ detail/909032 (20 กรกฎาคม 2564).
[3] เจาะเครือข่าย 'การ์ด' ราษฎร '2 ก๊ก' อาชีวะ จัดทัพใหม่”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909491 (20 กรกฎาคม 2564) และ “การ์ดราษฎร” : เปิดโครงสร้าง ภารกิจ และผู้สนับสนุน”. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-55098182 (20 กรกฎาคม 2564).
[4] “ผู้หญิงปลดแอกเปลี่ยนชื่อเป็น 'เฟมินิสต์ปลดแอก' เพื่อเปิดกว้าง มุ่งเท่าเทียมทางเพศ”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/ 2020/11/90426(20 กรกฎาคม 2564).
[5] “ฟันเฟืองประชาธิปไตย ประกาศ ถอนตัวจากการ์ดภาคีฯ ชี้ห่วงอาชีวะเยาวชน”. สืบค้นจาก https://www.brighttv.co.th/news/ politics/ gear-withdraw-from-guard (20 กรกฎาคม 2564).
[6] “การ์ดปลดแอก ประกาศลาออกภาคีการ์ดม็อบ หลังมีแต่เรื่องฉาวใช้ความรุนแรง”. สืบค้นจาก https://truthforyou.co/37078/(20 กรกฎาคม 2564).
[7] “เปิดตัวกลุ่ม "การ์ดภาคีเพื่อประชาชน" ยัน ยังเป็นแนวร่วม "โตโต้" ปิยรัฐ”. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/ politic/1981543(20 กรกฎาคม 2564).
[8] “การ์ดภาคีเพื่อปชช. ยัน ไม่ขึ้นทะเบียนกับ ไมค์ ระยอง”. สืบค้นจาก https:// www.pptvhd36.com/news/การเมือง/137606(20 กรกฎาคม 2564).
[9] “เกิดเหตุยิง-ระเบิดดังสนั่นรัชโยธิน ม็อบการ์ดราษฎรถูกยิงบาดเจ็บสาหัส นำตัวส่ง รพ.ผ่าตัด”. สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/ SvtsEOwob(20 กรกฎาคม 2564).
[10] “จนท.คุมตัว หายไป 4 ชม. 2 การ์ดภาคีเพื่อประชาชน ถูกนำตัวมา สน.ปทุมวันแล้ว คาดคดีระเบิดที่จามจุรีสแควร์ ”. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91407(20 กรกฎาคม 2564).