การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นการจัดการเลือกตั้งสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร เพื่ออำนวยความสะดวกและประกันการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐบาลต่างประเทศอาจกำหนดตามหลักอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐนั้น สำหรับวันลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะกำหนดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือเอกอัครราชทูต
การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีขั้นตอนดำเนินการ คือ เอกอัครราชทูตในประเทศซึ่งได้มีผู้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะต้องประกาศกำหนด วัน เวลา สถานที่เลือกตั้ง และวิธีการลงคะแนน พร้อมทั้งปิดประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบโดยทั่วกัน โดยจะต้องดำเนินการภายใน 10 วันนับแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสามารถกำหนดจำนวนวันลงคะแนนได้มากกว่าหนึ่งวันตามความเหมาะสม โดยมีเงื่อนไขว่าวันสุดท้ายของวันลงคะแนนต้องก่อนวันเลือกตั้งในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่าหกวัน
ประเทศใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง เอกอัครราชทูตจะจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในประเทศนั้น โดยอาจให้มีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งหรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์หรือโดยวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการจัดตั้งสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งก็ได้ ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะต้องเป็นผู้ที่ได้แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดก่อนวันเลือกตั้ง 30 วัน และให้ถือว่าเป็นการแจ้งความประสงค์การใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งตามปกติ นั่นคือ เมื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว จะถือว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นหมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่จะได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าตามเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
สำหรับการดูแลการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมถึงมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามระเบียบนี้ สำหรับเอกอัครราชทูตในประเทศที่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น จะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งโดยอนุโลม
เอกอัครราชทูตยังมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศนั้น ๆ เป็นพิเศษได้อีกด้วย เช่น การจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้ง หรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือกลับจากที่เลือกตั้งก็ให้กระทำได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประเทศใดไม่มีสถานเอกอัครราชทูต หรือมีเหตุจำเป็นไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจะไม่จัดให้มีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งในประเทศนั้นก็ได้
ที่มา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2550