การอภิเษกสมรส
ผู้เรียบเรียง : ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษ เสด็จกลับมาประทับในประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้วมักจะเสด็จไปเฝ้าฯสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีที่วังพญาไทอยู่เสมอ และในบางโอกาสก็ประทับแรม ณ พระตำหนัก จึงทำให้ทรงรู้จักกับพระประยูรญาติทั้งหลาย อาทิ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์
เมื่อใดที่สมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักชายทะเลที่หัวหิน ก็โปรดเกล้าฯให้ทั้งสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยทั้งสองพระองค์ พร้อมด้วยเจ้าพี่เจ้าน้ององค์อื่นๆ ทรงโปรดที่จะเสด็จไปทรงสำราญพระอิริยาบถและจัดงานการละเล่นที่ตำหนักแสนสำราญของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งมีบริเวณติดกันกับพระตำหนักของสมเด็จพระบรมราชชนนีอยู่เสมอๆ เป็นเหตุให้ทั้งสองพระองค์ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกันมากยิ่งขึ้น
หลังจากที่ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงผนวชครบไตรมาสแล้ว ทรงลาสิกขา ในปีถัดมาได้ทรงกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่าทรงมีพระหฤทัยผูกพันในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อภิเษกสมรสดังความตอนหนึ่งว่า
“...บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้า ได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ...”
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระยศขณะนั้น) องค์ต้นราชสกุลสสวัสดิวัตน์ พระอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ กับ หม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี (พระยศขณะนั้น) พระชายา
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับเป็นพระราชธุระขอหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีต่อพระบิดา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน ในวันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๑ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นการพิธีครั้งแรกตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วย การเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๑ ซึ่งให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะทำการพิธีนั้นได้
ในการพิธีอภิเษกสมรสในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้มีการสอบถามความสมัครใจของคู่ที่จะทำการสมรสก่อน กล่าวคือ เมื่อเสด็จออก ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมานแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) แต่ยังเป็นมหาเสวกโท พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ สมุหพระนิติศาสตร์ ตั้งกระทู้กราบทูลและทูลถามคู่อภิเษกสมรสว่า
(ชาย) ฝ่าพระบาทตั้งพระหฤทัยจะทรงรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นพระชายา เพื่อทรงถนอมทะนุบำรุงด้วยความเสน่หาและทรงพระเมตตาสืบไปจนตลอดฤา? ทรงรับสั่งตอบว่าข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น
(หญิง) ท่านตั้งหฤทัยที่จะมอบองค์ของท่านเป็นพระชายาแห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ด้วยความเสน่หาจงรักสมัครจะปฏิบัติอยู่ในพระโอวาทแห่งพระสามีสืบไปจนตลอดนั้นฤา? ทรงรับสั่งตอบว่าข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น
เมื่อเสร็จการพิธีแบบตะวันตกแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรตและทรงเจิมคู่อภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณีของไทย และองค์คู่อภิเษกสมรสได้ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน”เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงลงพระปรมาภิไธยในช่องพระนาม “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และช่อง “ผู้ทรงเป็นประทานแลพยานในการแต่งงาน” แล้วโปรดเกล้าฯให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ ๑๒ พระองค์ ทรงลงพระนามเป็นพยานด้วย โดยสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงลงพระนามถัดจากพระปรมาภิไธย ส่วนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงนั้นมิได้เสด็จฯไปทรงร่วมงาน เนื่องจากทรงพระประชวรและประทับอยู่ที่พระตำหนักน้ำ วังศุโขทัย ริมคลองสามเสน ซึ่งเป็นวังส่วนพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนฯ ซึ่งพึ่งสร้างขึ้นใหม่
ในขั้นตอนสุดท้าย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยง และเมื่อจวนเสร็จเสวยพระกระยาหารได้มีพระราชดำรัสพระราชทานพร และทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ดื่มถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา (พระชันษา ๒๕ ปี) และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา (พระชันษา ๑๔ ปี)
การพระราชพิธีอภิเษกสมรสในครั้งนั้นมีความพิเศษอยู่สามประการ คือ
ประการแรก เริ่มมีการพิธีด้วยการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรส ดังเช่นธรรมเนียมของชาวตะวันตกเป็นครั้งแรกว่าจะทรงรักษาสัญญาต่อกันอย่างซื่อตรง
ประการที่สอง องค์คู่อภิเษกสมรสได้ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน”เป็นคู่แรกในสยาม
ประการที่สาม เกิดมีของชำร่วยเกิดขึ้นครั้งแรก คือแหวนทองคำลงยาประดับเพชรและมีจารึกว่าอภิเษก พระราชทานเฉพาะเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ ๑๒ พระองค์ที่ทรงลงพระนามเป็นพยาน
นับตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองพระองค์ได้ทรงครองชีวิตสมรสโดยทรงรักษาสัญญาที่ทรงเปล่งในวันนั้นอย่างมั่นคงสมบูรณ์ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙ ก็ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนาม หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีโดยสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายและราชประเพณี ทั้งสองพระองค์ได้ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นพระคู่ขวัญทรงมีพระราชจริยาวัตรในการรักษาความซื่อสัตย์ต่อกันโดยตลอด นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราคนในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ราชเลขาธิการ, สำนัก. ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์สำหรับพระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันอังคารที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๘. (๒๕๒๘). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. “ครั้งแรกในสยาม” สกุลไทย ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐.