การส่งเสริมอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ธิกานต์ ศรีนารา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การส่งเสริมอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ของรัฐไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

การปลูกฝังสำนึกถึงความเป็นชาติเริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่เป็นการปลูกฝังที่กระทำผ่านกระบวนการการศึกษาเป็นหลัก โดยสร้างความหมายของชาติในลักษณะที่เป็นถิ่นที่เกิดที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนในประเทศสยาม ภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ และโดยการสั่งสอนให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีของรัฐ คือ เป็นผู้ที่รักชาติ ยอมเสียสละเพื่อชาติ และมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการตอบสนองการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการตั้งคำถามของกลุ่มคนที่ผ่านการปลูกฝังความคิดเรื่องหน้าที่พลเมืองและเป็นผู้ที่ได้รับศึกษาแบบใหม่ที่เริ่มเห็นบทบาทของตนในฐานะส่วนหนึ่งของชาติที่สามารถมีส่วนในการกำหนดอนาคตของชาติได้ การตั้งคำถามของคนเหล่านี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของราษฎรที่มีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกสั่นคลอนลงอย่างมาก ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ถูกสั่นคลอนอีกโดยทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งรู้จักกันในนาม “กบฏ ร.ศ. 130” พวกเขาต้องการให้ประเทศสยามปกครองอย่างลิมิตเต็ดมอนากี เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินหรือเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยจะมีการทำหนังสือกราบบังคมทูลโดยละม่อมหรือไม่ก็ยกกำลังเข้าล้อมพระราชวัง[1]

อุดมการณ์ชาตินิยมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อันเป็นยุคที่สยามได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติแล้ว[2] หลักการแห่งอุดมการณ์ของรัชกาลที่ 6 แสดงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทรงเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจนที่สุด สิ่งแรกที่ทรงตอบโต้คือ ความนิยมในลัทธิการปกครองอื่นที่ไม่ใช่ราชาธิปไตย เป็นเรื่องของคนที่ไม่ใช่ “ไทย” เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับ “ชาติไทย” ประเด็นต่อมาที่ทรงเน้นคือ “ความหมายของชาติไทย”, “รูปแบบของความเป็นไทย” และ “หน้าที่ของคนไทย” ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาสำคัญที่ทรงปลูกฝังให้คนไทยต้องยึดมั่น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องประสบกับภัยพิบัติ คือ ถูกดูดกลืนโดยชาวจีน ซึ่งพระองค์เห็นว่าชาวจีนเป็นอันตรายเพราะจะมาทำลาย “ความเป็นไทย” และจะใช้อิทธิพลครอบครองแผ่นดิน ผลประโยชน์และการดำเนินชีวิตของคนไทย[3]

ความคิดที่อยู่เบื้องหลังอุดมการณ์ชาตินิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ ความคิดเรื่อง “ความเป็นไทย” ที่ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีผู้เสนอว่า ทรงได้รับอิทธิพลมาจากความคิดเรื่อง “God, Queen, and Country” ของอังกฤษ แต่ก็ถูกโต้แย้งว่า สถาบันทั้ง 3 มีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นเพียงบุคคลแรกที่นำ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาใช้ในลักษณะของ “อุดมการณ์” และเน้นความสำคัญไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ การสร้างฐานพระราชอำนาจของพระองค์เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชนิพนธ์ต่างๆ ก็จะเห็นว่า “ชาติไทย” ในอุดมคติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบไปด้วย 3 สถาบันหลัก นั่นคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์[4]

ตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามที่จะสร้าง “ความไว้ใจ” หรือ “ความจงรักภักดี” ต่อพระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ราษฎรสยาม เพื่อความมั่นคงทางการเมือง และสร้างความรู้สึกรักชาติและสร้างความสามัคคีกันระหว่างคนในชาติ พระองค์ถือว่า “ชาติไทย” เป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด ที่คนในชาติจะต้องเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องเอาไว้ ในแง่ของเนื้อหาและอัตลักษณ์ของ “ชาติไทย” พระองค์ทรงอธิบายว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px ...เราเกิดมาในชาติคนกล้าหาญ รักเจ้า รักชาติ ศาสนา จนไม่กลัวความตายไม่เสียดายชีวิตคนเหล่านี้เป็นปู่ย่าตายายของเราทั้งหลายท่านสู้สละความสุขสำราญตลอดจนชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมืองและศาสนา เพื่อจะได้ให้เราเป็นไทยอยู่สมนาม…เราเกิดมาในชาติไทย เราเกิดมาเป็นไทย เราต้องตายเป็นไทย ถ้าจะต้องเป็นข้าเขาแล้ว เราก็เท่ากับตาย เพราะเราก็จะเรียกตัวเราว่าไทยไม่ได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อถึงเวลาที่มีภัยอันตรายมาสู่ประเทศบ้านเมืองของเราแล้ว แม้ใครไม่ยอมสละชีวิตของตนเพื่อป้องกันชาติบ้านเมืองก็จงเลิกเป็นไทยเสียเถิด อย่าเอาชื่อไทยไปใช้เรียกชื่อตนให้เพื่อนบ้านพลอยอายด้วยเลย ผู้ที่ไม่ยินยอมฟังพร้อมอยู่ในใจว่าจะสละชีวิตเพื่อรักษาพระเจ้าแผ่นดิน รักษาชาติบ้านเมือง และรักษาศาสนาอันเป็นที่นับถือของตนแล้ว ก็ควรหลบหน้าไปเสียให้พ้นถิ่นฐานบ้านคนไปอยู่โดยลำพังตนอันเป็นที่รักยิ่งกว่าชาติศาสนา นั้นเสียดีกว่า...[5] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

จะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ 6 ทรงถือว่า “ความเป็นไทย” ที่ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องชี้วัดหรือเป็นคำจำกัดความของผู้ที่เป็น “คนไทย” ตามคำนิยามของพระองค์ ผู้ที่เรียกตนเองว่า “คนไทย” คือ ผู้ที่ “ต้องตกลงใจว่าเป็นไทยและประพฤติให้เหมือนคนไทยทุกอย่างทุกสถาน” นั่นก็คือ การจงรักภักดีต่อชาติและพระเจ้าแผ่นดิน [6] พระองค์ทรงอธิบายว่า “ชาติ” คือ คำที่ใช้เรียกคณะชนที่อยู่ร่วมกัน คน “ชาติไทย” ก็คือคนที่เกิดเป็นไทยเกิดในหมู่ชนที่เรียกนามตัวเองว่า “ไทย”[7] ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ถือว่า ศาสนา คือ องค์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่ของชาติ นั่นคือ ชาติกับศาสนาเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเพราะถ้าสิ้นชาติศาสนาก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าศาสนาเสื่อมสลายประชาชนย่อมขาดคุณธรรม และชาติก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้[8]

สำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ “ความเป็นไทย” หรือ “ชาติไทย” อันที่สามนั้น ตามพระราชาธิบายของรัชกาลที่ 6 พระมหากษัตริย์มิได้เป็นเพียงผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ศูนย์รวมของความศรัทธาเท่านั้น แต่ยังก้าวไกลไปถึงการเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏแก่สายตาของนานาประเทศ เปรียบประดุจ “ธงชัยของชาติ”[9] ด้วย พระองค์ทรงชี้ว่า พระราชภาระของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคสมัยของพระองค์มิได้มีเพียงการทำความเจริญให้เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังทรงเป็นผู้นำเกียรติคุณและศักดิ์ศรีของชาติให้เป็นที่ปรากฏแก่ชาวโลกด้วย นั่นก็คือ การนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและอยู่ในฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ ดังนั้น พระมหากษัตริย์ตามความหมายที่ใช้ในการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “ชาติไทย” เป็นสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกหรือทำลายได้ เพราะ “กษตริย์ก็คือชาติ” และ “ชาติก็คือกษัตริย์”[10]

ในสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปลุกเร้าให้ประชาชนแสดงความรักชาติโดยการแสดงความ “จงรักภักดี” เชื่อฟังพระองค์ ไม่ควรคัดค้าน ติเตียนพระบรมราโชวาทในการบริหารประเทศใดๆ ทั้งสิ้น โดยทรงอ้างว่า การปฏิบัติตามแนวทางนี้เป็นหลักแห่งความสามัคคีเพื่อมิให้ “ชาติแตกเป็นเสี่ยง” ดังนั้น หน้าที่พลเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็คือ เชื่อฟังผู้นำและรักผู้นำ ในการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม รัชกาลที่ 6 ได้ทรงใช้บทพระราชนิพนธ์ บทละคร และพระบรมราโชวาท เป็นสื่อในการปลูกฝัง โดยมีข้าราชการและปัญญาชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก สาระสำคัญของบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลุกใจเสือป่า เทศนาเสือป่าพระร่วง หรือ ขอมดำดิน ล้วนแล้วแต่เป็นการชี้ให้เห็นความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมในหมู่คนไทยด้วยการทำให้ “ชาวจีน” กลายเป็นศัตรูของชาติ ส่วนการเผยแพร่พระราชนิพนธ์นั้นก็มีทั้งการพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนำออกแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพาร ข้าราชการ และจำหน่ายบุคคลทั่วไป ส่งไปให้โรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง รวมทั้งการทำเป็นบทละคร ให้คนทั่วไปได้เข้าชม[11]

นอกจากสื่อชนิดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงใช้ ธงชาติสยาม เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต่อประชาชนด้วย พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบธงชาติสยามจากธงช้างมาเป็น “ธงไตรรงค์” ซึ่งมีแถบสีสามสี ได้แก่ สีแดง ขาว และน้ำเงิน โดยได้ทรงนิยามความหมายของแถบสีทั้งสามนี้ว่า สีขาว คือ สีบริสุทธิ์เป็นเครื่องหมายของพระรัตนตรัยและธรรมมะ สีแดง คือ สีเลือดที่จะยอมสละได้เพื่อรักษาชาติและศาสนา ส่วนสีน้ำเงิน เป็น สีส่วนพระองค์ซึ่งเป็นสีที่พระองค์ทรงโปรดปราน ดังนั้น ความรักชาติ ความเลื่อมใสในศาสนา และความจงรักภักดีต่อมหากษัตริย์ จึงเป็นเนื้อหาของอุดมการณ์ของรัฐในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทำการปลูกฝังให้ราษฎรพลเมืองสยามเกิดขึ้นในสำนึกของตน โดยสืบทอดมาจากลักษณะนิสัยแห่งบรรพบุรุษของชาติที่สืบต่อกันมายาวนานเป็นพันๆปี[12] ดังที่พระองค์ทรงอธิบายว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px เราอุทิศตัวเราทั้งหลาย และอุทิศกำลังกายกำลังสติปัญญาไว้เพื่อป้องกันรักษาชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ สิ่งซึ่งเป็นที่เคารพรักใคร่ทั้ง 3 คือ ความเป็นไทยของเราอย่าง 1 ความมั่นคงของชาติเราอย่าง 1 พระศาสนาของเราอย่าง 1 สามอย่างนี้ปู่ย่าตายายของเราได้ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อป้องกันแล้ว; เราทั้งหลายผู้เป็นบุตรหลานย่อมมีหน้าที่ๆ จะต้องทำให้สมควรที่เป็นบุตรหลานของท่านต้องไม่ให้มีผู้ใดว่าได้[13] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

นโยบายชาตินิยมในสมัยรัชกาลที่ 6 มีเป้าหมายเพียงเพื่อการธำรงรักษาไว้ซึ่ง “รูปแบบความเป็นไทย” แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การรักษารูปแบบเดิมนั้นมิได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทแต่ประการใด การดำเนินพระราโชบายและพระราชจริยวัตรบางประการมิอาจจะให้คำอธิบายในเชิงบวกแก่กลุ่มที่มีความคิดนอกระบบได้ อีกทั้งสื่อในการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมเองกลับย้อนคำอธิบายเรื่อง “ความรักชาติ” อย่างกว้างขวาง คำถามถึงรูปแบบความเป็นไทยที่เพิ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 คือระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในต้นรัชกาลที่ 7 นับเป็นปัญหาที่สั่งสมและไม่อาจแสวงหาทางออกที่เหมาะสมได้[14]

ในที่สุด เวลาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็สิ้นสุดลงด้วยการปฏิวัติของ “คณะราษฎร” ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 บทบาทของพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดลงด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม, คณะราษฎรก็ยังคงไว้ซึ่ง “รูปแบบของความเป็นไทย” ที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างไว้ แต่ในฐานะใหม่ นั่นคือ สัญลักษณ์แห่งความสืบเนื่อง ทั้งนี้เพราะคณะราษฎรไม่สามารถจะหาคำอธิบายอื่นมาทดแทนเพื่อให้ประชาชนยอมรับในอำนาจและความชอบธรรมของกลุ่มตนได้ อีกทั้ง อุดมการณ์ใหม่ที่ให้ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งแปลกใหม่อย่างมากสำหรับคนไทยโดยเฉพาะในระดับชาวบ้านด้วยแล้ว ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันใหม่ๆ เช่น รัฐสภา นายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่ง “ผู้นำ” ก็ดูจะเป็นความยากลำบากที่ประชาชนจะยอมรับและศรัทธาได้[15]

การส่งเสริมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475

แม้ว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์จะถูกจำกัดพระราชอำนาจลง แต่คณะราษฎรก็ยังคงไว้ซึ่ง “รูปแบบของความเป็นไทย” ที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างไว้ แต่ในฐานะใหม่ นั่นคือ สัญลักษณ์แห่งความสืบเนื่อง โดยสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากการกำหนดนโยบายของผู้ปกครองคนต่อๆ มาเกี่ยวกับ “ธงไตรรงค์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้เชิญธงไตรรงค์ขึ้นเหนือพระที่นั่งอนันตสมาคมแทนธงมหาราชประจำองค์พระมหากษัตริย์ และต่อมาก็ใช้ธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์ในโอกาสสำคัญๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ[16] ในช่วงรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ใช้ธงไตรรงค์เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความรักชาติและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนสยาม โดยได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับธงชาติขึ้นหลายฉบับ เช่น มีการออกกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่อง “ระเบียบการชักธงชาติสยาม” ใน พ.ศ. 2478[17]

กล่าวได้ว่า การใช้ธงไตรรงค์เพื่อปลูกฝังความรักชาติในหมู่ประชาชนในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ได้กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังคงอยู่ต่อไปได้ในระบอบการปกครองแบบใหม่ ในปลายปี พ.ศ. 2479 สำนักงานโฆษณาการของรัฐบาลได้เรียบเรียงปาฐกถา เรื่อง “ธงชาติ” เผยแพร่ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง มีความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ธงชาติของเราเป็นธงสามสี มีสีแดง สีขาว และสีขาบ หรือที่เรียกกันติดปากว่า สีน้ำเงิน สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงศาสนา และสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์”[18] ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้บรรจุอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ซึ่งปรากฏอยู่ในสีของธงชาติไว้ใน “แบบเรียน” สำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาด้วย เช่น ใน “หนังสืออ่านหน้าที่ราษฎร เล่ม 2” อธิบายว่า “ธงไตรรงค์ที่มีสามสีนี้ไม่ใช่ประกอบขึ้นให้สวยงามเท่านั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในสีนั้นๆ ด้วย กล่าวคือ สีขาวหมายถึงศาสนา สีแดงหมายถึงชาติ สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ให้รู้ว่าประเทศสยามเรามีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”[19]

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487) อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถูกบดบังและแทนที่ด้วยอุดมการณ์ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรือ “ลัทธิผู้นำ” ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามได้สร้างขึ้น การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลา 5 ปีนี้ ชื่อประเทศถูกเปลี่ยนจาก “สยาม” เป็น “ไทย”(พ.ศ. 2482) ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของ “การสร้างชาติ” มีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยเข้าสู่วงโคจรแห่งอำนาจของญี่ปุ่น ความอ่อนแอของ “ลัทธิรัฐธรรมนูญ” ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามหันไปสร้างฐานสนับสนุนของตนด้วย “ลัทธิชาตินิยม” และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นในเอเชีย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้สร้างฐานสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย “ลัทธิทหาร” และ “ลัทธิผู้นำ” ไทยเข้าสู่สงครามครั้งนั้นในฝ่ายของญี่ปุ่น เป็นประเทศเล็กเพียงประเทศเดียวที่ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ[20]

จากความพยายามที่จะ “สร้างชาติ” โดยการสถาปนาอุดมการณ์ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ขึ้นแทนที่อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็นคนแรกที่ทำให้คำว่า “ผู้นำ” มีความสำคัญในทางการเมืองขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2485 เขากล่าวว่า “ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่ คือ พระเจ้าแผ่นดินของเขา ของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คนเลื่อมใสถึง ยึดมั่น พระมหากษัตริย์ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ เวลาคับขันจะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี”[21] และนโยบาย “การสร้างชาติ” ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การทยอยออกประกาศ “รัฐนิยม” ทั้ง 12 ฉบับ[22]

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่น่าสังเกตุอยู่ว่า แม้จอมพล ป. พิบูลสงครามจะพยายามชูอุดมการณ์ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ขึ้นมาแทนที่อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังคงใช้ธงไตรรงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในนโยบาย “การสร้างชาติ” ของเขาด้วย ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนใน “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่มีใจความขึ้นต้นว่า “ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล”[23] แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้ความหมายใหม่แก่ธงไตรรงค์โดยทำให้กลายเป็น “เครื่องหมายแทนชาติ”[24] ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ธงชาติของประชาชนพลเมืองในชาติไทยและในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังจะเป็นได้ถึงธงชาติของปวงผู้คนที่มีเชื้อสายอยู่ใน “สกุลไทย” ทั้งหมดด้วย[25]

การส่งเสริมอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติในวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้ตั้งพรรคชาติสังคมเพื่อสนับสนุนรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจรให้มีเสถียรภาพ นโยบายพรรคชาติสังคมนี้จะเป็นพื้นฐานนโยบายทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเวลาต่อมา นโยบายพรรคชาติสังคมประกอบด้วย ชาตินิยมและสังคมนิยม ชาตินิยมหมายถึงการยกย่องเทิดทูนลักษณะและสถาบันสำคัญของชาติไทย เช่น การรักษาเอกราช การยึดถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของชาติ สังคมนิยมหมายถึง แนวดำเนินการบริหารประเทศของรัฐบาลที่จะใช้อำนาจควบคุมในด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของชาติดำเนินไปในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ทั้งบุคคลและส่วนรวม โดยให้มีการกระจายรายได้และแบ่งปันรายได้ทั้งหลายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง[26] แต่ต่อมาเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต้องการรับความช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาจึงได้ปรับเปลี่ยนแนวนโยบายของพรรคชาติสังคมให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่ต่อต้านอุดมการณ์สังคมนิยม นั่นคือ ต้องเปลี่ยนนโยบายจาก “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสังคมนิยม” ไปเป็น “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประโยชน์สุขของสังคม”[27]

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากพลโทถนอม กิตติขจรและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ได้วางแผนการสร้างชาติไว้ 3 ด้าน ได้แก่ แผนการเมือง แผนการเศรษฐกิจ และแผนการศึกษา สำหรับแผนการเมือง เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับคณะปฏิวัติ รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้ประชาชนภายในชาติร่วมกันพัฒนาประเทศชาติ คณะปฏิวัติจึงได้ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ของชาติซึ่งแต่เดิมประกอบด้วย “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” มาเป็น “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ดังนั้น การดำเนินนโยบายของคณะปฏิวัตินอกจากจะดำเนินแผนทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาแล้ว ยังได้ดำเนินการสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์และพุทธศาสนาควบคู่กันไปด้วย[28]

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปลี่ยนแปลงวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน มาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นการทำให้สัญลักษณ์ของชาติมาผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ ดังที่จอมพลสฤษดิ์ได้กล่าวว่า “...ชาติจึงเป็นสภาวธรรมอีกอันหนึ่ง ซึ่งไม่มีตัวตนเห็นได้ชัด จำต้องสร้างสิ่งที่ถือเป็นนิมิตหมายสมมุติเป็นสัญลักษณ์ของชาติซึ่งโลกได้คิดขึ้นไว้ 3 อย่าง คือ ธงชาติ เพลงชาติ และวันชาติ”[29] การกำหนดให้วันชาติเป็นวันที่ 5 ธันวาคม จึงเป็นการสร้างสัญลักษณ์ของชาติโดยเน้นความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปลี่ยนแปลงให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติแทนรัฐธรรมนูญ ทำให้นับแต่นั้นเป็นต้นมา อุดมการณ์ของรัฐไทยมีเพียง 3 ประการ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตรย์[30]

ในด้านการศึกษานั้น รัฐได้กำหนดให้การศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีจุดเน้นในการสนับสนุนการเมือง คือ การสร้างเอกภาพและความมั่นคงของชาติ เมื่อพิจารณาหลักสูตรสังคมศึกษาซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างพลเมืองดี จะพบว่าหลักสูตรดังกล่าวได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการสร้างเอกภาพและความมั่นคงของชาติ การกล่อมเกลาปลูกฝังความรู้ความเข้าใจดังกล่าวสนับสนุนนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์โดยตรง รัฐได้กล่อมเกลาให้นักเรียนตระหนักว่า ในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองของชาติ จึงต้องมีหน้าที่ทำนุบำรุงรักษาและพัฒนาประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงก้าวหน้า โดยปฏิบัติตนตามกรอบแห่งวัฒนธรรมและสถาบันของชาติที่รัฐได้เลือกสรรและจัดเป็นระบบ โดยเฉพาะการยึดมั่นและจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อาจกล่าวได้ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือบุคคลสำคัญที่ได้ปรับเปลี่ยนและปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนทำให้อุดมการณ์ดังกล่าวสามารถหยั่งรากมั่นคงในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้[31]

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งถือว่า เป็นความสำเร็จของประชาชนในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร และทำให้บรรยากาศทางการเมืองของไทยเป็นยุคแห่งประชาธิปไตย มีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนาชาวไร่ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน สภาพดังกล่าวได้ทำให้กลุ่มที่เรียกว่า “ฝ่ายขวาจัด” หรือ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” เกิดความไม่พอใจเพราะเห็นว่าเป็นการสร้างความวุ่นวายให้แก่สังคมและเห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องเหล่านั้นเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” เหล่านี้ได้ปลุกอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งพวกเขายึดมั่นมานานขึ้นมาอีกครั้งเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ และใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวร้ายป้ายสีและปลุกกระแสความเกลียดชังต่อขบวนการนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้อย่างสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านขบวนการนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มกระทิงแดง, นวพล, ลูกเสือชาวบ้าน ทำการก่อกวนและขัดขวางการทำกิจกรรมต่างๆ ของฝ่ายก้าวหน้าจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นการสังหารหมู่ทางการเมืองที่โหดร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย[32]

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นิสิต นักศึกษา และประชาชนจำนวนมากได้ทยอยเดินทางเข้าไปร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)ในเขตป่าเขาตามภาคต่างๆ ของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ นายธานินท์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ปลุกอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเน้นความสำคัญของ “สถาบันพระมหากษัตรย์” ในฐานะ “ศูนย์รวมของชาติ” ในหนังสือชื่อ พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ธานินทร์ กล่าวว่า

  1. if:
{{#if:|
border: 1px solid #AAAAAA;

}}" class="cquote"

width="20" valign="top" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px นอกเหนือจากพระราชอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติถวายไว้แล้ว พระมหากษัตริย์ไทยยังทรงเป็นศูนย์รวมของชาติในหลายประการ กล่าวคือ ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีและความเป็นอันหนนึ่งอันเดียวกันของชาติ ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งราชการแผ่นดินทั้งมวล และทรงเป็นศูนย์รวมแห่งวิทยาการระดับชาติ ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงเป็นของคนทุกคนในชาติ ทรงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ความภูมิใจ และความมั่นใจหนึ่งในสามสิ่ง คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่คนไทยทุกคน ทุกฐานะ ทุกความคิดเห็น ต่างยึดมั่นร่วมกัน[33] width="20" valign="bottom" style="color:#B2B7F2;font-size:{{#switch: 10px=20px 30px=60px 40px=80px 50px=100px 60px=120px
{{#if:|

—{{{4}}}{{#if:|, {{{5}}}}}

}}

}}

การชูอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นจนถึงสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์อันสูงสุดของรัฐบาลในอันที่จะเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเคร่งครัด[34] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านการคุกคามจากภัยคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์จะค่อยๆ เบาบางลงในช่วงปี 2526 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เกิดความแตกแยกภายในอย่างรุนแรงและได้สลายตัวลงไปแล้วนั่นเอง แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า อุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ได้หมดหน้าที่ของมันลงตามไปด้วย ในทางกลับกัน อาจกล่าวได้ว่า อุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยอย่างมั่นคง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม. การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546

อัจฉราพร กมุทพิสมัย. อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525

โรจน์ จินตมาศ. “แนวความคิดของผู้นำไทยเรื่อง “ชาติ” กับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว. ปลุกใจเสือป่า. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2506

โสภา ปลบุตร. หนังสืออ่านหน้าที่ราษฎร เล่ม 2 สำหรับชั้นประถมปีที่ 4 พระนครโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช, 2476

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544

วัชรินทร์ มัสเจริญ. “แบบเรียนสังคมศึกษากับการกล่อมเกลาทางการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ศึกษากรณีความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533, ใจ อึ้งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544

สุธาชัยยิ้ม ประเสริฐ (บรรณาธิการ). รวมบทความทางวิชาการ 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2546 ธานินทร์ กรัยวิเชียร. พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2520

นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2538. มานิตย์ นวลละออ. การเมืองยุคสัญลักษณ์ของไทย, กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองรัตน์พริ้นติ้ง, 2540.

อ้างอิง

  1. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546) หน้า 79-81.
  2. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย. (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525) หน้า 7.
  3. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 30-31.
  4. โรจน์ จินตมาศ. “แนวความคิดของผู้นำไทยเรื่อง “ชาติ” กับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531, หน้า 29.
  5. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 84.
  6. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 36-37.
  7. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า. (พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2506) หน้า 56.
  8. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 38.
  9. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า. หน้า 66.
  10. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 39.
  11. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 39-41.
  12. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 93.
  13. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, ปลุกใจเสือป่า. หน้า 58.
  14. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 48.
  15. อัจฉราพร กมุทพิสมัย, อุดมการณ์ชาตินิยมของผู้นำไทย, หน้า 49.
  16. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 127.
  17. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 130-132.
  18. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 141.
  19. โสภา ปลบุตร, หนังสืออ่านหน้าที่ราษฎร เล่ม 2 สำหรับชั้นประถมปีที่ 4 (พระนครโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช, 2476) หน้า 16.
  20. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย. (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544) หน้า 175-177.
  21. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย. หน้า 187.
  22. กตัญญูกตเวทีแด่ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์, 2507. หน้า 18. “รัฐนิยม” ทั้ง 12 ฉบับ ได้แก่ รัฐนิยม ฉบับที่ 1 (24 มิถุนายน 2482) เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ, รัฐนิยม ฉบับที่ 2 (3 กรกฎาคม 2482) เรื่องการป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ, รัฐนิยม ฉบับที่ 3 (2 สิงหาคม 24882) เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย, รัฐนิยม ฉบับที่ 4 (8 กันยายน 2482) เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี, รัฐนิยม ฉบับที่ 5 (1 พฤศจิกายน 2482) เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย, รัฐนิยม ฉบับที่ 6 (10 ธันวาคม 2482) เรื่องทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ, รัฐนิยม ฉบับที่ 7 (21 มีนาคม 2482) เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ, รัฐนิยม ฉบับที่ 8 (1 เมษายน 2483) เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี, รัฐนิยม ฉบับที่ 9 (24 มิถุนายน 2483) เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมือง, รัฐนิยม ฉบับที่ 10 (8 กันยายน 2545) เรื่องกิจประจำวะรของคนไทย, รัฐนิยม ฉบับที่ 11 (8 กันยายน 285) เรื่องกิจประจำวันของคนไทย, รัฐนิยม ฉบับที่ 12 (28 มกราคม 2485) เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ
  23. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 ภาค 1 วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2482, หน้า 1611-1613.
  24. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 153.
  25. ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. หน้า 201.
  26. วัชรินทร์ มัสเจริญ, “แบบเรียนสังคมศึกษากับการกล่อมเกลาทางการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ศึกษากรณีความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533, หน้า 184.
  27. วัชรินทร์ มัสเจริญ, “แบบเรียนสังคมศึกษากับการกล่อมเกลาทางการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ศึกษากรณีความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”, หน้า 32.
  28. วัชรินทร์ มัสเจริญ, “แบบเรียนสังคมศึกษากับการกล่อมเกลาทางการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ศึกษากรณีความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”, หน้า 186.
  29. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “คำปราศรัยในวันชาติ” ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2502-2504, หน้า 14.
  30. วัชรินทร์ มัสเจริญ, “แบบเรียนสังคมศึกษากับการกล่อมเกลาทางการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ศึกษากรณีความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”, หน้า 64.
  31. วัชรินทร์ มัสเจริญ, “แบบเรียนสังคมศึกษากับการกล่อมเกลาทางการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ศึกษากรณีความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”, หน้า 188.
  32. ใจ อึ้งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544) หน้า 126-153. และ ดูรายละเอียดของการที่กลุ่มพลังฝ่ายขวาหยิบอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มาใช้จัดการกับนิสิตนักศึกษาได้ใน พุทธพล มงคลวรวรรณ, “กลุ่มพลังฝ่ายขวาและสถาบันพระมหากษัตริย์ใน ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519’” ใน สุธาชัยยิ้ม ประเสริฐ (บรรณาธิการ), รวมบทความทางวิชาการ 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2546) หน้า 177-208.
  33. ธานินทร์ กรัยวิเชียร, พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย. (กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2520) หน้า 59.
  34. ประมวลสุนทรพจน์ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือประมวลสุนทรพจน์ฯ, 2529)