การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 29 เมษายน 2531
ผู้เรียบเรียง พุทธชาติ ทองเอม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นการทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง โดยพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกาตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี ให้อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดตามวาระ อันมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่[1] ด้วยเหตุนี้ การยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ฝ่ายบริหารนำมาใช้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่การยุบสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของไทยแต่ละครั้งจะมีเหตุผล ความจำเป็นแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้นด้วย
บทนำ
ตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ. 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วรวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง[2] ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 6 ปี (เมื่อปี พ.ศ. 2481) ในสมัยที่พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติอันเนื่องมาจากการแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณของ นายถวิล อุดล กับคณะ ที่ขอให้รัฐบาลจัดทํารายละเอียดทั้งรายรับและรายจ่ายประกอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ[3][4][5] ครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 12 เกิดเมื่อปี 2549 ในรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อันมีสาเหตุมาจากวิกฤตทางการเมือง มีการชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตําแหน่ง ซึ่งนับวันการชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง อาจมีการฉวยโอกาสของผู้ไม่ประสงค์ดีสร้างสถานการณ์ จนเป็นผลร้ายต่อประเทศชาติ แม้รัฐบาลจะได้ดําเนินการขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายอย่างกว้างขวางก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้[6] ส่วนในกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 เมษายน 2531 ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คณะรัฐมนตรี นับเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7[7][8] ของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย
สาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 29 เมษายน 2531
การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการการยุบสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่การใช้อำนาจจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากราษฎร ซึ่งจะเป็นผลให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง ดังนั้น การที่รัฐบาลจะการยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง จะมีสาเหตุ ความจำเป็นต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป รวมทั้งสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้นด้วย ทั้งนี้ เหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 29 เมษายน 2531 ปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 โดยมีข้อความดังต่อไปนี้[9]
“โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า นับแต่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ปรากฏว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรคไม่สามารถจะดำเนินการในระบบพรรคการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมืองยังไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็นหรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่”
นอกจากปัญหาในเรื่องเอกภาพของพรรคการเมืองแล้ว[10] เหตุการณ์ทางการเมืองยังทวีความรุนแรงขึ้น มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งบรรจุระเบียบวาระเพื่อให้มีการอภิปรายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2531 อีกทั้ง การยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531[11] ยังมีสาเหตุเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์จํานวนหนึ่ง ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยกมือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/2531 วันที่ 28 เมษายน 2531 ทำให้รัฐมนตรีสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 16 คน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 29 เมษายน 2531 ทำให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง
การยุบสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 29 เมษายน 2531 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้บังคับในขณะนั้น
ขณะที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติลักษณะของการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้[12]
1. การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
2. การยุบสภาผู้แทนราษฎร ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา
3. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายในเก้าสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
4. การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
5. การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง
ผลกระทบของการยุบสภาสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 29 เมษายน 2531
การยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้งย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านกฎหมาย การเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง ซึ่งผลกระทบดังกล่าวย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ที่บังคับใช้ในขณะที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น ๆ สำหรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2527 ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2528 ที่ได้บัญญัติถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้[13][14]
1. สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 และที่ได้รับเลือกตั้งทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงในเวลาต่อมา รวมทั้งสิ้น 347 คนสิ้นสุดลง ดังนั้น ในระหว่างที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเวลาที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร กิจการต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร อาทิ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติก็ต้องหยุดตามไปด้วย
2. การดำรงตำแหน่งของประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2529 ต้องพ้นจากตำแหน่ง
3. กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น การดำเนินกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ตามที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมายต่อไปอีกไม่ได้ ดังนั้น กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 ซึ่งมี 3 ประเภท คือคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญ และคณะกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรต้องพ้นจากตำแหน่ง
4. รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรีที่เหลือจำนวน 29 คน จากทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้น 45 คน (รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 16 คน) ต้องพ้นจากตำแหน่ง
5. มีการเลือกตั้งทั่วไป รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง โดยบัญญัติให้พระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน และตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531
6. ร่างพระราชบัญญัติเป็นอันตกไป
สำหรับร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ โดยเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภานั้น ในวันที่ 29 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันยุบสภาผู้แทนราษฎรมีร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา ดังนี้
1. ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่เสร็จ
- ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้พิจารณา ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ได้บรรจุระเบียบวาระในเรื่องค้างพิจารณาของระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4/2531 วันพุธที่ 27 เมษายน 2531 จำนวน 77 ฉบับ และบรรจุระเบียบวาระในเรื่องเสนอใหม่ของระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5/2531 วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2531 จำนวน 2 ฉบับ
- ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณายังไม่เสร็จ ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแล้ว และอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งรายชื่อร่างพระราชบัญญัติที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรมีรวมทั้งสิ้น 13 ฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติครู พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติสภาการเกษตรแห่งชาติ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติสภาตำบล พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ....
2. ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาพิจารณายังไม่เสร็จ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ และได้เสนอต่อวุฒิสภาแล้ว เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรทำให้ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภาต้องตกไป ซึ่งรายชื่อร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาพิจารณายังไม่เสร็จมีรวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติปรามปราบการค้าประเวณี พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3. ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอมา และวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยตามรัฐธรรมนูญต้องยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ลงมติยืนยันตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรายชื่อร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบมี 3 ฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาทางวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. .... ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 ไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรในคราวประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1/2530 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2530 และร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติในวาระที่ 1 ไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในคราวประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1/2530 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันศุกร์ที่ 4 กันยายน 2530 เป็นต้น
4. ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว แต่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน โดยร่างพระราชบัญญัตินั้นคณะกรรมาธิการร่วมกันยังพิจารณาไม่เสร็จ หรือพิจารณาเสร็จแล้ว แต่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ร่างพระราชบัญญัตินั้นจึงถูกยับยั้งไว้ก่อน และสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งรายชื่อร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมมี 3 ฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน และร่างพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้วแต่วุฒิสภาไม่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วย ซึ่งมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกยับยั้งไว้ตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม การยุบสภาถือเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ทำให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นทางออกที่มิขัดต่อกฎหมาย และถึงแม้ว่าอาจทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล แต่ก็นับว่ายังเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนถือว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
อ้างอิง
- ↑ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
- ↑ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
- ↑ สถิติการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย มี 11 ครั้ง. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจากhttp://library2.parliament.go.th/library/content_article/spa11st.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
- ↑ วีระพันธ์ มุขสมบัติ. ยุบสภา. รัฐสภาสาร. ปีที่ 31 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2526.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548 หน้า 569-634.
- ↑ สถิติการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย มี 11 ครั้ง. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจากhttp://library2.parliament.go.th/library/content_article/spa11st.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
- ↑ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
- ↑ อุมาสีว์ สะอาดเอี่ยม. ผลกระทบจากการยุบสภา 2531. รัฐสภาสาร. ปีที่ 36 ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2531 หน้า 1-42.
- ↑ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 เล่มที่ 105 ตอนที่ 69 29 เมษายน 2531 ฉบับพิเศษหน้า 1-2.
- ↑ อุมาสีว์ สะอาดเอี่ยม. ผลกระทบจากการยุบสภา 2531. รัฐสภาสาร. ปีที่ 36 ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2531 หน้า 1-42.
- ↑ สุภาวดี นครจันทร์. การยุบสภา (40/10). รัฐสภาสาร. ปีที่ 40 ฉบับที่ 10, ตุลาคม 2535 หน้า 1-10.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548 หน้า 569-634.
- ↑ อุมาสีว์ สะอาดเอี่ยม. ผลกระทบจากการยุบสภา 2531. รัฐสภาสาร. ปีที่ 36 ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2531 หน้า 1-42.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548 หน้า 569-634.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ณฐพร วรปัญญาตระกูล. การยุบสภา (Dissolution of parliament). รัฐสภาสาร. ปีที่ 48 ฉบับที่ 12, ธันวาคม 2543.
ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ. ปัญหาทางกฎหมาย การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย. รัฐสภาสาร. ปีที่ 48 ฉบับที่ 12, ธันวาคม 2543.
พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 เล่มที่ 105 ตอนที่ 69. 29 เมษายน 2531 ฉบับพิเศษหน้า 1-2.
วีระพันธ์ มุขสมบัติ. ยุบสภา. รัฐสภาสาร. ปีที่ 31 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2526.
สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548.
สุภาวดี นครจันทร์. การยุบสภา (40/10). รัฐสภาสาร. ปีที่ 40 ฉบับที่ 10, ตุลาคม 2535.
อุมาสีว์ สะอาดเอี่ยม. ผลกระทบจากการยุบสภา 2531. รัฐสภาสาร. ปีที่ 36 ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2531.
บรรณานุกรม
ณฐพร วรปัญญาตระกูล. การยุบสภา (Dissolution of parliament). รัฐสภาสาร. ปีที่ 48 ฉบับที่ 12, ธันวาคม 2543.
ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ. ปัญหาทางกฎหมาย การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย. รัฐสภาสาร. ปีที่ 48 ฉบับที่ 12, ธันวาคม 2543.
พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 เล่มที่ 105 ตอนที่ 69. 29 เมษายน 2531 ฉบับพิเศษหน้า 1–2.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย, [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
วีระพันธ์ มุขสมบัติ. ยุบสภา. รัฐสภาสาร. ปีที่ 31 ฉบับที่ 11, พฤศจิกายน 2526.
สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2539.
สถิติการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย มี 11 ครั้ง. [ข้อมูลออนไลน์] สืบค้นจากhttp://library2.parliament.go.th/library/content_article/spa11st.pdf สืบค้นวันที่ 25 กันยายน 2552.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548.
สุภาวดี นครจันทร์. การยุบสภา (40/10). รัฐสภาสาร. ปีที่ 40 ฉบับที่ 10, ตุลาคม 2535.
อุมาสีว์ สะอาดเอี่ยม. ผลกระทบจากการยุบสภา 2531. รัฐสภาสาร. ปีที่ 36 ฉบับที่ 5, พฤษภาคม 2531.