การคอลเอาท์กับการเมืองไทย
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และ นน ศุภสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์_จันทร์โอชา มีจากหลายทิศทาง ทั้งในภายในสภาผู้แทนราษฎรและการชุมนุมขับไล่บนท้องถนน มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เกิดกระแสปรากฏการณ์เรียกร้องให้ผู้มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักดนตรี ผู้มีชื่อเสียงในวงการอื่น รวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ได้แสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ และออกมาแสดงตัวว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นก็ยังมีกระแสการเรียกร้องโดยประชาชนทั่วไปฝั่งต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ ที่ต้องการให้ผู้มีชื่อเสียงในสังคมได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นต่อปัญหาในสังคม ปรากฏการณ์ของการเรียกร้องให้บุคคลที่มีชื่อเสียงออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองนี้ถูกเรียกโดยรวมว่าเป็นการ “คอลเอาท์” (Call Out) ก่อให้เกิดข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมและปฏิกิริยาตอบโต้จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังสะท้อนถึงความคาดหวังของผู้คนทั่วไปจากบุคคลที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะบุคลากรในวงการบันเทิงว่าควรจะมีจุดยืนประเด็นทางสังคมหรือการเมือง
ความหมายของการ “คอลเอาท์”
คำว่า “คอลเอาท์” (Call Out) ถูกใช้เพื่อสื่อถึงการเรียกร้องให้ผู้มีชื่อเสียงได้ออกมาพูดหรือแสดงจุดยืนต่อประเด็นทางสาธารณะต่าง ๆ บุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ ได้แก่ ศิลปิน ดารา นักแสดง นักดนตรี ซึ่งมุ่งเรียกร้องให้บุคคลที่มีชื่อเสียงออกความเห็นในประเด็นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมไปถึงวิธีการแก้ไข
แนวคิดการคอลเอาท์สัมพันธ์กับความเห็นที่ว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ต้องตอบสนองต่อความต้องการของแฟนคลับหรือผู้สนับสนุน เชื่อว่าบุคคลผู้มีชื่อเสียงนั้นมีศักยภาพในการนำเสนอประเด็นปัญหาสาธารณะให้เป็นที่รับรู้และสร้างผลสะเทือนได้ดีกว่าบุคคลโดยทั่วไป[1]
ในต่างประเทศจะเห็นได้ว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้ร่วมแสดงความเห็นหรือจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การนำเสนอถึงปัญหาการคุกคามหรือความเท่าเทียมทางเพศ การช่วยนำเสนอถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ-สีผิว ในกระแสการเคลื่อนไหว Black Lives Matter รวมไปถึงด้านการเมือง เช่น การแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ของสหรัฐอเมริกา[2]
ในกรณีของไทยนั้น การคอลเอาท์ถูกนำเสนอโดยสื่อสังคมออนไลน์และสื่อกระแสหลัก โดยได้รับการตอบรับจากคนทั่วไปว่าหมายถึง การเรียกร้องให้บุคคลมีชื่อเสียงได้ออกมาแสดงออกซึ่งจุดยืนต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสาธารณะในสังคมหรือแสดงความเห็นทางการเมืองสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
การคอลเอาท์ในบริบทการเมืองไทย
อันที่จริงผู้มีชื่อเสียงในสังคมไทยได้แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างกว้างขวางนับแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้ว พวกเขายังมีบทบาทอย่างสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข (กปปส.)[3] แต่ในช่วงเวลาก่อนการรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 นั้นยังไม่ใช้คำว่า “คอลเอาท์” แต่กล่าวได้ว่ามีขบวนการ Art Lane, กลุ่มนักร้อง นักแสดง นักออกแบบ คนในวงการแฟชั่น ดารา ที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนกว่ายุค พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยซ้ำ พวกเขาเดินแบบ ร้องเพลงบนเวที ร่วมปราศรัย ทำงานศิลปะ ออกแบบเสื้อผ้าและสินค้าเพื่อระดมทุนให้กับ กปปส. อย่างเปิดเผย
กระแสการคอลเอาท์ที่ปรากฏขึ้นในบริบทของการเมืองไทยใน ปี 2563 โดยเฉพาะครึ่งหลัง ปี 2563 ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อเรียกร้องและการชุมนุมปรากฏให้เห็นและรับรู้ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาจากการดำเนินการโดยรัฐต่อการระบาด ทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาลอย่างมาก
ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ ผู้มีชื่อเสียงในสังคมบางส่วนได้แสดงจุดยืนทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องให้ผู้มีชื่อเสียงโดยเฉพาะคนในวงการบันเทิงแสดงจุดยืนหรือทำหน้าที่เป็น “กระบอกเสียง” เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ในด้านหนึ่ง มีผู้เห็นว่าการที่ผู้มีชื่อเสียงได้ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือตอบรับการคอลเอาท์เป็นสิ่งที่ขัดต่อภาพลักษณ์หรือการรับรู้ของสังคมโดยทั่วไป ว่าบุคลากรในวงการบันเทิงมักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือแสดงท่าทีไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม[4] ในบางครั้งคนในวงการบันเทิงถูกมองว่าให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่เพิกเฉยหรือไม่แสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ในประเทศ[5] ซึ่งมีการอธิบายว่าเป็นผลจากโครงสร้างของวงการบันเทิงไทยที่ทำให้เกิดความ “ลอยตัว” เหนือการเมืองของศิลปินดารา เช่น การควบคุมกิจการโทรทัศน์โดยหน่วยงานรัฐ หรือกลุ่มทุนที่มีส่วนปิดกั้นศิลปินดาราในการแสดงความเห็นหรือจุดยืนทางการเมือง รวมถึงมุมมองโดยทั่วไปของสังคมในแง่ลบว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง[6]
อย่างไรก็ตาม การที่ศิลปินดาราได้แสดงท่าทีคอลเอาท์หรือนำเสนอจุดยืน แสดงมุมมองทางการเมือง อาจเป็นผลมาจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่แพร่หลายเป็นที่นิยมทำให้ศิลปิน-ดารา หรือผู้มีชื่อเสียงสามารถสร้างชื่อเสียง ความนิยม สื่อสาร ตลอดจนสัมพันธ์กับแฟนคลับหรือผู้สนับสนุนได้โดยตรง โดยไม่ถูกควบคุมโดยต้นสังกัด ทำให้ศิลปินดารามีอิสระในการแสดงความเห็นส่วนตัว รวมถึงความเห็นส่วนตัวของพวกเขาในทางการเมืองด้วยเช่นกัน[7]
การคอลเอาท์เกิดขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์พิเศษ เช่น ในช่วงการชุมนุมในเดือนสิงหาคม 2563 หรือภายหลังการสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563, 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งได้มีดารา ศิลปิน ผู้มีชื่อเสียงแสดงความเห็นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียสนับสนุนการชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐและความไม่เปิดกว้างรับฟังของรัฐบาล เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง[8] การคอลเอาท์ยังเกิดในช่วงที่ปัญหาจากการบริหารของรัฐบาลในการจัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 บรรดาศิลปินดาราจำนวนมากได้ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาลแสดงความเห็นเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ ในช่วงเดียวกันนี้ ศิลปิน ดาราก็ได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพิ่มขึ้นในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น ภายหลังจากที่มีกระแสว่ารัฐบาลจะดำเนินคดีกับศิลปิน ดาราที่ตอบรับการคอลเอาท์[9]
มาตรการที่รัฐบาลใช้จัดการกับการคอลเอาท์คือการอ้างประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการระบุความผิดว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนักหรือส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย[10] รูปแบบของการคอลเอาท์ โดยที่ศิลปิน ดารา ผู้มีชื่อเสียงของไทยตอบรับนั้น มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การแชร์หรือโพสต์รูปถ่ายการเข้าร่วมชุมนุม การแชร์ข่าวสารการชุมนุมหรือประเด็นข้อเรียกร้องผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย จนถึงการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซึ่งในบางกรณีเป็นการแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา[11]
ปัจจัยการตอบรับการคอลเอาท์ของผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ ได้แก่
ประการแรก แนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองส่วนบุคคลของศิลปินดาราผู้นั้น ๆ เอง ซึ่งไม่พอใจต่อการบริหารของรัฐบาล สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย ตลอดจนการที่พวกเขาเห็นว่าจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว[12]
ประการที่สอง ความรู้สึกไม่สามารถวางเป็นกลางได้ในบางประเด็น หรือทำตัววางเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความไม่เป็นประชาธิปไตยหรือการใช้อำนาจโดยรัฐ พวกเขาเชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการสื่อสารให้ประเด็นดังกล่าวเป็นที่รับรู้โดยกว้างขวางได้[13]
ประการที่สาม เป็นข้อสังเกตโดยประชาชนบางส่วนที่เห็นว่าการคอลเอาท์โดยศิลปินดาราบางส่วนนั้น เกิดขึ้นได้เพราะกลัวกระแสความนิยมจะตกต่ำในช่วงที่มีกระแสการคอลเอาท์ของศิลปินดาราหลายราย ดังนั้น ศิลปินหรือผู้มีชื่อเสียงบางส่วนต้องตอบรับการคอลเอาท์เพื่อเพิ่มหรือรักษาความนิยมให้กับตนเอง
ในส่วนสาเหตุที่ประชาชนเรียกร้องให้ศิลปินหรือผู้มีชื่อเสียงได้แสดงจุดยืนนั้น มี 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก ประชาชน บุคคลธรรมดา หรือแฟนคลับที่เรียกร้องให้ศิลปินดาราผู้มีชื่อเสียงได้แสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองนั้นก็เพราะว่าศิลปินดารา ผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป รวมไปถึงความคาดหวังให้ศิลปินหรือผู้มีชื่อเสียงได้แสดงออกหรือช่วยเหลือ แสดงความสนับสนุนในประเด็นที่แฟนคลับหรือผู้สนับสนุนกำลังเคลื่อนไหวเรียกร้อง ศิลปินและผู้มีชื่อเสียงไม่ควรเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนหรือปัญหาในสังคม[14]
ประการที่สอง ผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีความสามารถหรือมีอิทธิพลในการแสดงความเห็นที่ช่วยให้การสื่อสารได้รับความสนใจจากสังคมได้มากกว่าผู้คนทั่วไป[15]
ประการที่สาม พวกเขาเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ดังนั้น การนำเสนอแนวคิดหรือตั้งคำถามต่อความเป็นกลางทางการเมืองในสภาวะที่เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับฝ่ายอำนาจนิยม หรือ “เผด็จการ” ดังนั้น การแสดงตัวเป็นกลางก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนฝ่ายอำนาจนิยมหรือฝ่ายรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[16]
ประการสุดท้าย การเรียกร้องให้แสดงจุดยืนนั้นกระทำการผ่านการแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มแฟนคลับหรือผู้ชื่นชอบศิลปิน K-POP ที่นิยมใช้งานทวิตเตอร์ และมักจะเรียกร้องให้ศิลปินที่ชื่นชอบได้แสดงจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ[17]
กระแสของการ คอลเอาท์ยังมีความสัมพันธ์กับกระแส Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรออนไลน์ ซึ่งหากมีศิลปิน ดารา หรือผู้มีชื่อเสียงเพิกเฉยต่อการคอลเอาท์ โดยไม่แสดงจุดยืนต่อปัญหาการเมืองก็จะถูก “แบน” โดยแฟนคลับหรือประชาชนโดยทั่วไป โดยประกาศไม่สนับสนุนผลงานของศิลปิน ตลอดจนสินค้าที่ศิลปินดารารายนั้นเป็นผู้นำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าด้วย
ศิลปินดารามีท่าทีเพิกเฉยไม่รับรู้ต่อการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุมก็จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นดาราปรสิตที่เกาะกินประชาชนแต่ไม่ยอมออกมาแสดงจุดยืนช่วยเหลือดูและประชาชน เกิดกระแส “แบนดาราปรสิต” ซึ่งการคอลเอาท์ยังรวมไปถึงดารา นักร้องต่างประเทศ โดยเฉพาะนักแสดงชาวเกาหลีหรือคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี เกิดกระแสการแบนแทกุกไลน์ กล่าวคือ ผลจากการที่ศิลปินไทยที่ทำงานในวงการบันเทิงเกาหลีแต่ไม่มีท่าทีแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ในไทย[18] นอกจากนั้น ยังมีการเรียกศิลปินดาราที่ไม่แสดงจุดยืนว่าเป็นพวก “อิกนอร์” ที่มาจากคำว่า Ignorant
ในทางกลับกัน หากศิลปิน ดาราคนไหนที่แสดงจุดยืนหรือร่วมแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะได้รับความนิยมหรือมีผู้ติดตามมากยิ่งขึ้นจากผู้คนในฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่างจากศิลปิน ดาราที่ไม่มีท่าทีหรือไม่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ที่จำนวนผู้คนเลิกติดตามลดลงในสัดส่วนใหญ่[19]
ในอีกด้านหนึ่ง การคอลเอาท์ก็อาจเกิดผลในทางลบ เช่น การเลิกจ้างงานศิลปินที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองบางราย โดยผู้ว่าจ้างให้เหตุผลว่าไม่สบายใจจากการที่ศิลปินแสดงออกทางการเมือง[20] มีการถกเถียงถึงความเหมาะสมในการเรียกร้องหรือกดดันให้ศิลปิน ดารา ผู้มีชื่อเสียงให้ออกมาแสดงจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งยังมีการให้เหตุผลเพื่อปกป้องศิลปินดาราบางส่วนว่าศิลปินถูกควบคุมโดยสัญญาหรือจากต้นสังกัด ทำให้ดาราหรือศิลปินไม่สามารถแสดงจุดยืนได้อย่างอิสระ[21] รวมไปถึงผู้ที่วิจารณ์ว่าการคอลเอาท์ทำให้ศิลปินดาราสูญเสียรายได้หรืองานได้โดยไม่มีหลักประกันรองรับ[22] อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏว่ามีกรณีของดาราศิลปินที่แสดงท่าที “คอลเอาท์” แล้วได้รับการสนับสนุนและถูกรับจ้างในการโฆษณาสินค้าที่นำประเด็นทางการเมืองมาใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน[23]
ปฏิกิริยา
กระแสการคอลเอาท์ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและมีปฏิกิริยาจากฝ่ายรัฐบาล ดังนี้
ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลนอกจากการแสดงความไม่เห็นด้วยหรือความไม่พอใจต่อการแสดงความเห็นทางการเมืองวิจารณ์รัฐบาลของศิลปิน ดารา และผู้มีชื่อเสียงแล้ว ยังเห็นว่าการคอลเอาท์เป็นกลยุทธ์การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลแบบใหม่ที่สืบเนื่องมาจากกลยุทธ์การใช้นักเรียนนักศึกษาหรือเยาวชนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มไม่สำเร็จ[24] ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าการคอลเอาท์มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายไม่ได้เป็นการวิจารณ์โดยสุจริต รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลเท็จ[25] หรือการนำเสนอว่าการคอลเอาท์ให้วิจารณ์รัฐบาลไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ได้แก้ไขปัญหา[26] พร้อมกับเสนอว่ากระแสการคอลเอาท์เป็นการบีบบังคับ ข่มขู่ ชี้นำ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งขัดแย้งกับการสนับสนุนประชาธิปไตย[27] ทั้งยังได้เตือนให้ผู้มีชื่อเสียงอย่าหลงไปตามกระแสการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล[28] นอกจากนั้น ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยังได้เผยแพร่หรือนำเสนอข้อมูลว่าดาราศิลปินชาวไทยที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลไทยทำให้ผู้ติดตามหรือแฟนคลับชาวจีนได้แสดงความไม่พอใจและประกาศ “แบน” ศิลปินดาราเหล่านี้ผ่านโซเชียลมีเดียจีนด้วยเช่นกัน[29]
ส่วนฝ่ายที่เคลื่อนไหวหรือมีความเห็นในทางต่อต้านรัฐบาลก็ได้วิพากษ์การตอบรับการคอลเอาท์ของดารา ศิลปินบางคนว่าเป็นการทำตามกระแสตาม ๆ กัน เพื่อไม่ให้ “ตกขบวน”[30]หรือการวิพากษ์ดาราศิลปินบางส่วนที่ไม่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน หรือพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาหรือบางคนตอบรับการคอลเอาท์อย่าง “พอเป็นพิธี” เช่น การโพสต์เพียงข้อความว่าไม่สนับสนุนความรุนแรง หรือ “ขอให้ปลอดภัย” ภายหลังการสลายการชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใน วันที่ 16 ตุลาคม โดยไม่กล่าวถึงปัญหาหรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเปิดเผย[31]
ส่วนฝ่ายรัฐบาลหรือผู้สนับสนุนรัฐบาล มีปฏิกิริยาในทางที่เน้นการใช้กฎหมาย เช่น ในเดือนกรกฎาคม 2564 สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือต่อตำรวจนครบาลให้มีการตรวจสอบการคอลเอาท์ของศิลปิน-ผู้มีชื่อเสียงที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 โดยได้รวบรวมรายชื่อและหลักฐานการแสดงความเห็นของผู้มีชื่อเสียงเพื่อประกอบการตรวจสอบ โดยสนธิญากล่าวว่าเป็นการแสดงความเห็นที่ไม่เป็นความจริงและทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและอาจผิดกฎหมาย[32]
อภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการการตรวจสอบการเผยแพร่และดำเนินคดีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จฯ และการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโซเชียลมีเดีย (คตส.) ซึ่งเป็นทนายความที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งความต่อ ดนุภา คณาธีรกุล หรือ “มิลลิ” ศิลปินวัยรุ่นซึ่งแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในข้อหาดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ซึ่งดนุภาถูกปรับในข้อหาดังกล่าว[33] ในขณะที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แสดงความเห็นว่าศิลปินดาราหรือผู้มีชื่อเสียงควรไตร่ตรองในการแสดงความเห็นที่จะมีผลต่อประชาชนทั่วไป รวมถึงกล่าวว่าในการโพสต์ข้อความหรือแสดงความเห็นควรศึกษาให้รอบด้านและมีความเป็นกลาง เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะ[34]
[1] พิมพ์ชนก พุกสุข, “โครงสร้างแบบไหน ทำไมไทยไม่มีพื้นที่ให้ดังแสดงความเห็นจนเราต้อง call-out,” The 101, (3 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.the101.world/call-out-culture/. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565.
[2] Piraporn Witoorat, “เป็นดาราพูดเรื่องการเมืองได้ไหม?: ว่าด้วยบุคคลสาธารณะกับอิสระทางความเห็นที่หายไป,”The MATTER, (18 กุมภาพันธ์ 2563). เข้าถึงจาก https://thematter.co/social/celebrities-and-politics/101101.เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565.
[3] บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. 2564. การเมืองไทยร่วมสมัย พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า, หน้า 239-244.
[4] “Time to Call Out, Thai Stars Show Solidarity with Protest Leaders,” workpointTODAY, (13 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://workpointtoday.com/time-to-call-out/. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565.
[5] ซีนิว วิวเว่อร์ 4K, Facebook, (14 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/cnew.official/posts/2880918598822485/. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[6] พิมพ์ชนก พุกสุข, “โครงสร้างแบบไหน ทำไมไทยไม่มีพื้นที่ให้ดังแสดงความเห็นจนเราต้อง call-out,” The 101.
[7] Ilada Pitsuwan, “ย้อนมองโครงสร้างวงการบันเทิงไทยที่ ‘เสรีภาพดารา’ ไม่เคยอยู่ในสมการ,” workpointTODAY, (3 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก https://workpointtoday.com/freedom-celebrity-thailand/. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[8] “Time to Call Out, Thai Stars Show Solidarity with Protest Leaders,” workpointTODAY; “ดารา-นักแสดงร่วมประณามใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม,” มติชนออนไลน์, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/entertainment/news_2398928.; “ดารา-คนดัง ที่ออกมาเคลื่อนไหว กรณี ม็อบ 28 ก.พ. มีใครบ้าง,” ประชาชาติธุรกิจ, (1 มีนาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.prachachat.net/politics/news-621907.เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[9] ทัศนีย์ สาลีโภชน์, “เรียกสอบวิจารณ์รัฐบาล...จุดกระแสคนบันเทิงตบเท้า call out,” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (23 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/950733. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[10] “มุมมองเวทีวิชาการ Call Out มิใช่ต่อต้าน แต่เป็นข้อเสนอนโยบาย,” Hfocus, (24 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.hfocus.org/content/2021/07/22400. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[11] อรัณย์ หนองพล, “#วันนี้ดาราCallOutหรือยัง เมื่อคนบันเทิงไทยร่วมแสดงจุดยืนไม่ให้คุกคามประชาชน พร้อมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยได้อย่างปลอดภัย,” The Standard, (13 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก https://thestandard.co/thai-celebrities-standing-up-for-not-threaten-people/. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[12] Worakan J., “‘เลือกข้างได้แต่ต้องพูดออกมา’ สนทนาเรื่องศิลปินและการเมือง กับจ๋าย-ไททศมิตร,” The MATTER,(11 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจากhttps://thematter.co/social/politics/conversation-with-jai-taitosmith/130596.เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[13] ตรีนุช อิงคุทานนท์, “‘ยิ่งถูกกด ยิ่งรู้สึกว่าต้องพูด’ การเมืองและความฝันของอวัช รัตนปิณฑะ,” The Momentum, (10 เมษายน 2564). เข้าถึงจาก https://themomentum.co/closeup-awat-ratanapintha/. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[14] รุ่งนภา พิมมะศรี, “แฟนคลับเรียกร้องคนดังแสดงจุดยืน ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นความคาดหวังต่อคนที่รัก (กัน?),”The Interview, (30 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://theinterviewclub.com/opinion-call-out/. เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[15] Ilada Pitsuwan, “ย้อนมองโครงสร้างวงการบันเทิงไทยที่ ‘เสรีภาพดารา’ ไม่เคยอยู่ในสมการ,” workpointTODAY.
[16] รุ่งนภา พิมมะศรี, “แฟนคลับเรียกร้องคนดังแสดงจุดยืน ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นความคาดหวังต่อคนที่รัก (กัน?),”The Interview.
[17] เทวฤทธิ์ มณีฉาย, “ชาวทวิตเตอร์เริ่มเขย่าการเมืองได้อย่างไร? พลังติ่งเกาหลี ‘น่ากลัว’ แค่ไหน?,” ประชาไท, (13 มกราคม 2564). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2021/01/91178. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[18] Sutthipath Kanittakul, “รวมแฮชแท็ก cancel culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรสุดเข้มข้นแห่งปี 2020,”The MATTER, (22 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก https://thematter.co/quick-bite/cancel-culture-2020/131472.เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[19] “ชาวเน็ตเทียบยอดฟอล ญาญ่า VS โฟกัส ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สวนทางชัดเจน,” The Bangkok Insight, (20 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thebangkokinsight.com/news/lifestyle/entertainment/459845/. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[20] “‘ก้อย-ปุ้มปุ้ย-โฟกัส’ ฟาดจุก ๆ ถูกยกเลิกงานเพราะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง,” Sanook, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.sanook.com/news/8276458/. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[21] Sutthipath Kanittakul, “รวมแฮชแท็ก cancel culture หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรสุดเข้มข้นแห่งปี 2020,” The MATTER, (22 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก https://thematter.co/quick-bite/cancel-culture-2020/131472. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[22] “ทัวร์จอด! ‘มดดำ’ เจอดราม่า พูดดาราไม่กล้า ‘call out’ กลัวตกงาน,” เดลินิวส์, (30 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://d.dailynews.co.th/entertainment/853357/. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[23] “สัมภาษณ์เจ้าของครีมอีฟส์ เลือกโฟกัสเป็นพรีเซนเตอร์ ให้โอกาสนักแสดงที่พูดเรื่องการเมือง,” workpointTODAY, (30 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก https://workpointtoday.com/ceo-eves-marketing-strategy/. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[24] แสงเทียน อยู่เถา, อ้างใน, “ชำแหละลึก ยุทธวิธีต่อสู้ทางการเมืองรูปแบบใหม่ ใช้นักร้อง-ดารา เป็นเครื่องมือ โจมตีนายกฯ,” สถาบันทิศทางไทย, (25 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.thaimoveinstitute.com/38725/?anm=. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[25] “Call out=แสดงจุดยืน หรือด่าหยาบคาย,” ผู้จัดการออนไลน์, (23 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://mgronline.com/politics/detail/9640000072000.
[26]เชียร์ลุง,Facebook, (26 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/watch/?v=798741487467995. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[27] “‘เล็ก คาราบาว’ สุดทนโดนข่มขู่ให้ด่ารัฐบาล ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น แกนนำ 3 นิ้ว ดิ้นคอมเมนท์เพียบ,” ไทยโพสต์, (13 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.thaipost.net/main/detail/109613?fbclid=IwAR2PlEIteFXMw3kvvtDrCmXxD4eYmvGy9crwk8HvwTGUT4VGCthmREIl6ug. เมื่อวันที่
[28] “ได้ใจ! สื่อจีนชม ‘อั้ม-เบลล่า’ ไล่แบนดาราบางกลุ่ม ‘นานา’ โดนโต้เจ็บแสบ ‘คอลเอาต์’ เหยื่อการเมือง?,” ผู้จัดการออนไลน์, (25 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://mgronline.com/politics/detail/9640000072837. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565.
[29] “เดือด! โซเชียลจีนรณรงค์แบน ‘ดาราไทย’ ปมด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค,” Nation Online, (3 สิงหาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.nationtv.tv/news/378831292. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565.
[30] มันแกว รุ่งตะวัน, Facebook, (21 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/ehodkaw/posts/1729797350541729. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[31] “‘#แบนดาราปรสิต’ ปรากฏการณ์วัดใจ ‘ดารา’ สะท้อนภาพ Elite-Privilege,” ไทยรัฐออนไลน์, (19 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/entertain/news/1956414. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565.
[32] “ร้อง บช.น. ตรวจสอบดารา-นักร้อง Call out สถานการณ์ ‘โควิด’ อ้างไม่จริง,” มติชนออนไลน์, (21 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2840566. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[33] “ดารา call out: ทนายนายกฯ แจ้งความ ‘มิลลิ’ ข้อหาหมิ่นประมาท หลังวิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์,” บีบีซีไทย,
(22 กรกฎาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-57925336. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565.
[34] อ้างแล้ว.