กฎหมาย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:09, 7 มกราคม 2557 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รติกร เจือกโว้น


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ กติกา หรือ มาตรฐานที่ใช้เป็นแนวทางพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลอื่น ด้วยเหตุที่กฎหมายมีสภาพบังคับ ทำให้สมาชิกในสังคมทุกคนจะต้องรู้กฎหมาย ผู้ใดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ความหมายของกฎหมาย

คำว่า กฎหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542[1] นั้น หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้ให้ความหมายของกฎหมายไว้ดังนี้

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย[2] ได้พิจารณากฎหมายใน 2 ลักษณะ คือ กฎหมายตามเนื้อความ และกฎหมายตามแบบพิธี โดยกฎหมายตามเนื้อความ หมายความถึง กฎหมายซึ่งบทบัญญัติ มีลักษณะเป็นกฎหมายแท้ กล่าวคือ มีลักษณะเป็นข้อบังคับซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ ในสมัยใหม่ส่วนใหญ่เป็นข้อบังคับของรัฐ ส่วนกฎหมายตามแบบพิธี หมายความถึง กฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมาย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นเข้าลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่

มานิตย์ จุมปา[3] อธิบายไว้ว่า กฎหมาย หมายถึง กฎเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติของบุคคลในสังคมซึ่งบุคคลจะต้องปฏิบัติตามหรือควรจะปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะได้รับผลร้ายหรือไม่ได้รับผลดีที่เป็นสภาพบังคับโดยเจ้าหน้าที่ในระบบกฎหมาย

สมยศ เชื้อไทย[4] อธิบายไว้ว่า กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผนความประพฤติของมนุษย์ในสังคมซึ่งมีกระบวนการบังคับที่เป็นกิจจะลักษณะ

จะเห็นได้ว่า กฎหมายนั้นมีความหมายในหลายแง่มุม ซึ่งการนิยามความหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามแนวความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกันตามลักษณะของสังคมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความต้องการของประชาชนในสังคมนั้น ๆ ทั้งนี้ จากความหมายของกฎหมายข้างต้น สามารถจำแนกลักษณะของกฎหมายได้ 4 ประการ[5] คือ

1. กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ หมายความว่า กฎหมายต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือทำไม่ได้

2. กฎหมายต้องกำหนดความประพฤติของบุคคล ความประพฤติในที่นี้ ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้การควบคุมของจิตใจ ซึ่งความประพฤติของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนั้น ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ ต้องมีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย และต้องกระทำภายใต้การควบคุมของจิตใจ

3. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ กฎหมายจะมีสภาพบังคับเพื่อให้มนุษย์จำต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น โดยสภาพบังคับของกฎหมายมีทั้งสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายและสภาพบังคับที่เป็นผลดี

4. กฎหมายต้องมีกระบวนการที่แน่นอน เนื่องจากปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เป็นต้น การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องมีกระบวนการที่แน่นอน

ที่มาของกฎหมาย

ที่มาของกฎหมายหรือบ่อเกิดของกฎหมาย หมายถึง รูปแบบการแสดงออกซึ่งกฎหมาย[6]สำหรับกฎหมายไทยซึ่งใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (civil law) กฎหมายมีที่มา 3 ประการ คือ

1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร[7]ได้แก่ กฎหมายที่รัฐได้ตราขึ้นไว้เป็นข้อบังคับกำหนดความประพฤติของบุคคล และประกาศให้ราษฎรทราบ สำหรับประเทศไทย โดยปกติกฎหมายได้ประกาศให้ราษฎรทราบในราชกิจจานุเบกษา

2. จารีตประเพณี หมายถึง ทางปฏิบัติหน้าที่ประพฤติสืบต่อกันมาในสังคมหนึ่ง จนกลุ่มคนในสังคมนั้นมีความรู้สึกร่วมกันว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะมีผลผูกพันในฐานะเป็นกฎหมาย[8] จารีตประเพณีสามารถใช้ในฐานะบทสำรอง ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ก็นำมาใช้ได้ทันที ทั้งนี้ ในระบบกฎหมายไทยจารีตประเพณีมีทั้งที่บัญญัติไว้และมิได้บัญญัติไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษร[9]

3. หลักกฎหมายทั่วไป หมายถึง หลักกฎหมายที่ยอมรับนับถือกันอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น[10] หลักกฎหมายทั่วไปจึงมีลักษณะกว้างกว่าหลักกฎหมายธรรมดา กว้างกว่าบทบัญญัติกฎหมาย เมื่อหลักกฎหมายทั่วไปเป็นหลักที่กว้างมาก ผู้ที่มีหน้าที่ในการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปก็คือผู้พิพากษาในฐานะศาลซึ่งจะค้นหาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้บังคับในระบบกฎหมาย[11]

ศักดิ์ของกฎหมาย

ศักดิ์ของกฎหมายเป็นการพิจารณาลำดับชั้นแห่งค่าบังคับของกฎหมาย[12]ทั้งนี้ เพราะกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ใช้บังคับอยู่มีหลายประเภท และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน การจัดศักดิ์ของกฎหมายจึงมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายนั้น จะพิจารณาจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ศักดิ์ของกฎหมายเป็นดังนี้[13]

1. รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทุกฉบับ ดังนั้น กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับ

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่อธิบายขยายความเพื่อประกอบเนื้อความในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ ละเอียดชัดเจน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยถือว่ากฎหมายประเภทนี้มีลักษณะและหลักเกณฑ์พิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการกำหนดกระบวนการในการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติทั่วไป โดยกำหนดในลักษณะที่ให้ความสำคัญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป

3. พระราชบัญญัติ/พระราชกำหนด/ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายลำดับชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราพระราชบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภาจะตราพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

ประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายในลำดับเดียวกับพระราชบัญญัติ องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตราประมวลกฎหมาย คือ รัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีลักษณะเรียบเรียงเรื่องราวไว้อย่างเป็นหมวดหมู่เดียวกันและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ปัจจุบันมีประมวลกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[14]

พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการบัญญัติให้กับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติได้ในกรณีพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการการดำเนินการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนร่วม โดยหลังจากมีการประกาศใช้ พระราชกำหนดนั้นแล้ว จะต้องนำพระราชกำหนดมาให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะกลายเป็นกฎหมายถาวร แต่หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ พระราชกำหนดก็จะสิ้นผลไป โดยการดำเนินการใด ๆ ก่อนที่พระราชกำหนดจะสิ้นผลไป ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังจะปรากฏว่าพระราชกำหนดสิ้นผลไป

4. พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด โดยพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ได้กำหนดหลักการใหญ่ ๆ ไว้ ซึ่งเป็นสาระสำคัญโดยรวมและให้ออกพระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เพื่ออธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ตามหลักการในพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดนั้น เมื่อพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บท คือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดแล้ว พระราชกฤษฎีกาจะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดไม่ได้ รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย

5. กฎกระทรวง/ประกาศกระทรวง กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระราชกฤษฎีกา แต่มีศักดิ์ของกฎหมายที่ต่ำกว่า การดำเนินการออกกฎกระทรวงนั้น รัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะบัญญัติกฎกระทรวงออกมาโดยมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่งให้อำนาจไว้ ประกาศกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเช่นเดียวกันกับกฎกระทรวง แต่มีความแตกต่างกันที่ประกาศกระทรวงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเหมือนกับกฎกระทรวง แต่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้[15]

6. ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นข้อบัญญัติที่กฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบัญญัติขึ้นใช้บังคับ คือ มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งอำนาจในการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับในท้องถิ่นในรูปแบบของข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้น จะเป็นอำนาจที่ได้รับมาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ โดยทั่วไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการตราข้อบัญญัติต่าง ๆ ได้ ดังนี้ คือ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และ ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อกฎหมายได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติเสร็จสิ้นแล้ว การจะนำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับนั้น มีหลักพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ

1. การใช้กฎหมายเกี่ยวกับเวลา

1.1 วันเริ่มใช้บังคับแห่งกฎหมาย[16] ในทางปฏิบัติกำหนดไว้ดังนี้

- กรณีปกติ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยปกติจะเริ่มใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทราบข้อความของกฎหมายนั้นล่วงหน้า 1 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป

- กรณีรีบด่วน พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชกฤษฎีกา อาจจะกำหนดให้ใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปก็ได้ เพราะถ้าช้าไปอาจจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ประเทศ

- พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่น อาจกำหนดวันใช้บังคับลงไว้ในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นนั้นในอนาคต โดยกำหนดวันที่แน่นอนหรือกำหนดให้ใช้เมื่อระยะเวลาหนึ่งได้ล่วงพ้นไป เพื่อให้เจ้าพนักงานและประชาชนเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นได้ หรือเพื่อให้ทางราชการมีโอกาสเตรียมพร้อม เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นนั้น

- พระราชบัญญัติอาจกำหนดให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินั้นในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จะใช้พระราชบัญญัตินั้นจริง ๆ ในท้องที่ใดเวลาใดก็ให้ประกาศในพระราชกฤษฎีกาอีกชั้นหนึ่ง ในกรณีนี้ พระราชบัญญัติได้ออกมาใช้เป็นกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่นำไปใช้จริง ๆ จนกว่าจะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุสถานที่และเวลาที่ใช้บังคับให้เหมาะสมต่อไป ที่ทำเช่นว่านี้ก็เพื่อจะให้รัฐบาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาเพื่อให้นำกฎหมายมาใช้ให้เหมาะสมแก่สภาพของท้องที่และให้เวลาเจ้าพนักงานของรัฐบาลเตรียมการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย

1.2 การมีผลย้อนหลังของกฎหมาย[17] โดยทั่วไปแล้วกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลังได้นั้นเป็นเรื่องข้อยกเว้น ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 2 ประการ คือ ประการแรก ต้องระบุให้ชัดเจนในกฎหมายนั้นเองว่า ให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง และประการที่สอง การบัญญัติกฎหมายให้ย้อนหลังนั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ว่ากฎหมายฉบับใด ๆ ก็ไม่อาจขัดหรือแย้งได้ ถ้ากฎหมายฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้น ๆ ไม่สามารถจะใช้บังคับได้

1.3 การยกเลิกกฎหมาย เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ย่อมมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการยกเลิกกฎหมายนั้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้ [18]

- การยกเลิกกฎหมายโดยตรง มีได้ใน 3 กรณี คือ

กรณีที่ 1 มีการกำหนดเวลายกเลิกกฎหมายไว้ในกฎหมายฉบับนั้นเอง

กรณีที่ 2 มีกฎหมายฉบับใหม่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันระบุยกเลิกไว้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน หรือกฎหมายอื่น ๆ หรือกฎหมายฉบับต่อ ๆ มาได้บัญญัติยกเลิกไว้ ซึ่งในการยกเลิกนี้อาจเป็นการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ หรือเป็นการยกเลิกกฎหมายนั้นเฉพาะบางบทบางมาตราก็ได้ โดยการจะยกเลิกอย่างไรต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายฉบับนั้น

กรณีที่ 3 เมื่อได้ประกาศใช้พระราชกำหนด แต่ต่อมารัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น ในกรณีเช่นนี้ก็มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดไปในตัว ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างที่บังคับใช้พระราชกำหนดนั้น

- การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติโดยชัดแจ้งให้ยกเลิก แต่เป็นที่เห็นได้จากกฎหมายฉบับใหม่ ว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายเก่าไปในตัวด้วย ซึ่งมีได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

กรณีที่ 1 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีบทบัญญัติในกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นอย่างเดียวกัน กรณีนี้ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าในกรณีเช่นเดียวกันนั้น เพราะต้องถือว่ากฎหมายใหม่ดีกว่ากฎหมายเก่า และกฎหมายใหม่ไม่ประสงค์จะให้ใช้กฎหมายเก่า แม้ว่าจะมีข้อความเดียวกับกฎหมายใหม่ก็ตาม

กรณีที่ 2 กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีข้อความขัดแย้งกันหรือไม่ตรงกัน คือ กฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีการบัญญัติข้อความไว้ไม่เหมือนกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย

กรณีที่ 3 กรณีที่กฎหมายเก่ามีข้อความขัดกับกฎหมายใหม่ คือ ข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเก่ากับกฎหมายใหม่นั้นบัญญัติไว้ตรงข้ามกัน ทั้ง ๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน จึงถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าโดยปริยาย

- การยกเลิกกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญ[19] เนื่องด้วยกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญจะมีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้ เมื่อสงสัยว่ากฎหมายฉบับใดน่าจะมีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่ากับว่ากฎหมายกฎหมายนั้นถูกยกเลิกไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

2. การใช้กฎหมายเกี่ยวกับสถานที่ กฎหมายไทยจะใช้บังคับแก่เหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้น ภายในราชอาณาจักรไทยเท่านั้นตาม “หลักดินแดน” โดยคำว่า “ราชอาณาจักร” หมายถึง[20]

(1) พื้นดินในประเทศไทย รวมถึงแม่น้ำแม่น้ำลำคลองในประเทศไทยด้วย

(2) ทะเลอันเป็นอ่าวไทยตามพระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502

(3) ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล

(4) พื้นอากาศเหนือ (1) (2) และ (3)

(5) เรือไทยและอากาศยานไทย สำหรับในคดีอาญาเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร”

อย่างไรก็ดี มีกฎหมายบางฉบับที่ไม่นำไปใช้ทั่วประเทศ แต่ใช้เฉพาะท้องที่ใดท้องที่หนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498

ตามหลักดินแดนนี้ มิใช่ว่ากฎหมายของไทยจะใช้ได้เฉพาะในราชอาณาจักรดังที่ได้กล่าวมาเสมอไป แต่มีข้อยกเว้นบางประการในเรื่องหลักดินแดน กล่าวคือ อาจมีการกำหนดให้ใช้พระราชบัญญัติบางฉบับบังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ แต่กรณีต้องระบุไว้โดยเจาะจง ซึ่งมีกฎหมายที่สำคัญอยู่ 2 ฉบับ ที่ได้ยกเว้นหลักการดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 และกฎหมายอาญา

3. การใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล กฎหมายของรัฐมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าคน ๆ นั้น จะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว นอกจากนี้ บางกรณีรัฐยังมีอำนาจเหนือพลเมืองที่มีสัญชาติของรัฐที่อยู่นอกดินแดน และแม้แต่คนต่างด้าวที่อยู่นอกดินแดน ถ้าการกระทำของบุคคลเหล่านั้นกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการ ที่กฎหมายของไทยจะไม่ใช้บังคับกับบุคคลเหล่านี้ อันได้แก่

(1) ข้อยกเว้นตามกฎหมายไทย ซึ่งบัญญัติยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับแก่บุคคลบางคนหรือบางจำพวก

(2) ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง[21]

การตีความและการอุดช่องว่างของกฎหมาย

การตีความกฎหมาย หมายถึง การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคำไม่ชัดเจนแน่นอน คือกำกวมหรือมีความหมายได้หลายทาง เพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคำของบทบัญญัติของกฎหมายว่ามีความหมายอย่างไร[22] ซึ่งเหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมายก็เพราะว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าที่เกิดขึ้นในภายหน้าได้ทุกกรณี จึงไม่สามารถบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมทุกกรณี นอกจากนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติอาจมีความผิดพลาดในเรื่องการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับได้ เช่น บัญญัติกฎหมายไว้เคลือบคลุมหรือขัดแย้งกันเอง[23] เช่นนี้ การใช้กฎหมายจึงต้องมีการตีความกฎหมาย

การตีความกฎหมายต้องพิเคราะห์ตัวอักษรให้ได้ความหมายของตัวอักษร และการจะรู้ความหมายของตัวอักษรได้ต้องพิเคราะห์เหตุผลหรือความมุ่งหมายของกฎหมาย การตีความกฎหมายจึงต้องพิจารณาประกอบกันไป 2 ด้าน คือ[24] พิเคราะห์ตัวอักษร และพิเคราะห์ความมุ่งหมายของกฎหมาย (เจตนารมณ์ของกฎหมาย) แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องพิจารณาตัวอักษรก่อน ถ้าไม่ชัดจึงดูความมุ่งหมาย หากแต่ต้องตีความทั้งตัวอักษรและความมุ่งหมายประกอบไปด้วยกัน ทั้งนี้ การตีความกฎหมายจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างไปตามลักษณะของกฎหมาย โดยแยกพิจารณาเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การตีความกฎหมายทั่วไป ต้องใช้ทั้งการตีความตามตัวอักษรประกอบกับการตีความตามเจตนารมณ์

1.1 การตีความตามตัวอักษร เป็นการพิจารณาความหมายของกฎหมายจากตัวบทกฎหมายนั้น แยกออกได้เป็น 3 กรณี คือ

- กรณีใช้ภาษาสามัญ เมื่อใดคำในตัวบทกฎหมายใช้คำซึ่งเป็นภาษาสามัญที่ใช้อยู่กันทั่วไป ก็ให้เข้าใจตามความหมายที่เข้าใจกันอยู่ตามธรรมดาทั่วไป

- กรณีใช้ภาษาทางวิชาการหรือภาษาเทคนิค ก็ต้องถือความหมายตามที่เข้าใจกันในวงวิชาการนั้น

- กรณีที่กฎหมายได้ให้บทนิยามความหมายไว้ ในบางกรณีกฎหมายประสงค์ให้คำที่ใช้ในกฎหมายมีความหมายต่างไปจากความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป กฎหมายก็จะมีบทนิยามความหมายของคำนั้น ๆ ไว้

1.2 การตีความตามเจตนารมณ์ เป็นการค้นหาความหมายของถ้อยคำในบทกฎหมายจากเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมายนั้น ๆ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละเรื่องมีไม่เหมือนกัน เช่น เจตนารมณ์ของกฎหมายอาญามุ่งที่จะควบคุมการกระทำผิดและลงโทษผู้กระทำความผิด ในขณะที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มุ่งที่จะให้มีการชดใช้เยียวยาความเสียหาย

2. การตีความกฎหมายพิเศษ ซึ่งในที่นี้ กฎหมายพิเศษ หมายถึง กฎหมายที่มีโทษอาญา ซึ่งโดยหลัก ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ยังรวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่มีโทษทางอาญาด้วย เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เป็นต้น เหตุที่การตีความกฎหมายอาญามีลักษณะแตกต่างไปจากการตีความกฎหมายทั่วไป ก็เพราะกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ในการลงโทษบุคคล ซึ่งการลงโทษนั้นกระทบสิทธิของประชาชน จึงต้องใช้กฎหมายอาญาด้วยความระมัดระวัง โดยกฎหมายอาญามีหลักเกณฑ์ในการตีความ ดังต่อไปนี้

- กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด

- กฎหมายอาญาจะตีความให้เป็นการลงโทษหรือเพิ่มโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นไม่ได้

- กฎหมายอาญาในกรณีเป็นที่สงสัยต้องตีความให้เป็นผลดีแก่ผู้ต้องหา

ช่องว่างของกฎหมาย หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายจารีตประเพณีที่จะนำไปใช้ปรับแก่ข้อเท็จจริงได้ กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อมาใช้ปรับแก่กรณีไม่พบ โดยช่องว่างของกฎหมายนั้น เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ กรณีผู้บัญญัติกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย หรือกรณีผู้บัญญัติกฎหมายคิดถึงช่องว่างแห่งกฎหมายนั้น แต่เห็นว่าสำหรับกรณีที่เป็นช่องว่างแห่งกฎหมายยังไม่สมควรบัญญัติไว้ให้ตายตัว[25]

โดยการอุดช่องว่างของกฎหมายนั้น เมื่อไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ จะมีเครื่องมือที่นำมาใช้ในการอุดช่องว่างของกฎหมาย[26] ตามลำดับ คือ

- จารีตประเพณี ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ ในการอุดช่องว่างของกฎหมายจะใช้จารีตประเพณี โดยจารีตประเพณีจะต้องมีลักษณะ ดังนี้

(1) ต้องใช้บังคับมาเป็นเวลานาน

(2) ต้องเป็นที่ยอมรับและถือตามของมหาชนทั่วไป

(3) ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย

(4) ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน

- บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้และไม่มีจารีตประเพณีที่จะใช้ปรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะต้องใช้บทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งหมายถึง การให้เหตุผลโดยอ้างความคล้ายคลึงกัน โดยเป็นการเทียบเคียงข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี โดยพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงนั้นมีความคล้ายคลึงกันหรือไม่ หรือบทบัญญัตินั้นเป็นบทบัญญัติที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ ถ้าใกล้เคียงกันถึงขนาดก็เป็นบทกฎหมายที่นำมาอุดช่องว่างได้[27]

- หลักกฎหมายทั่วไป ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้และไม่มีจารีตประเพณีที่จะใช้ปรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สามารถเทียบเคียงหาบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้ การอุดช่องว่างของกฎหมายจะต้องอาศัยหลักกฎหมายทั่วไปซึ่งเป็นหลักที่กว้างมาก โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการค้นหาหลักกฎหมายทั่วไปก็คือผู้พิพากษาในฐานะศาลซึ่งจะค้นหาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้บังคับในระบบกฎหมาย

กฎหมายนั้นมีส่วนสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยและสร้างความเป็นธรรมให้กับประเทศชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นการที่ประเทศชาติใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใด หากมีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตาม ก็ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

อ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, หน้า 4.
  2. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 36, 43.
  3. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 30.
  4. สมยศ เชื้อไทย. (2553). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 64.
  5. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 30-39.
  6. เรื่องเดียวกัน, หน้า 45.
  7. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 54-56.
  8. หยุด แสงอุทัย. (2535). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. กรุงเทพฯ : ประกายพรึก, หน้า 207. อ้างถึงใน มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 65.
  9. ดิเรก ควรสมาคม. (2554). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 74.
  10. ไพจิตร ปุญญพันธุ์. (2540, กรกฎาคม-กันยายน) “หลักกฎหมายทั่วไป”. ดุลยพาห. 44, 3, หน้า 177.
  11. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 68.
  12. สมยศ เชื้อไทย. (2540). กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป เล่ม 1. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 107. อ้างถึงใน ดิเรก ควรสมาคม. (2554). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 80.
  13. [13] มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 78-79.
  14. ดิเรก ควรสมาคม. (2554). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า 81.
  15. เรื่องเดียวกัน, หน้า 82.
  16. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 62-63.
  17. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 89.
  18. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 63-64.
  19. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 91.
  20. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 92.
  21. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 92-95.
  22. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 118.
  23. ธานินทร์ กรัยวิเชียร และวิชา มหาคุณ. (2539). การตีความกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, หน้า 1. อ้างถึงใน มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 100.
  24. ปรีดี เกษมทรัพย์. (2526). กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, หน้า 62. อ้างถึงใน มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 100.
  25. หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 128-129.
  26. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 112-118.
  27. ปรีดี เกษมทรัพย์. (2526). กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, หน้า 75. อ้างถึงใน มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 115.

เอกสารแนะนำให้อ่านต่อ

พิธินัย ไชยแสงสุขกุล. (2539). นิติปรัชญา ภาค 1 : เล่มที่ 1 ว่าด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางกฎหมาย. กรุงเทพฯ : เอสบีซีธุรกิจและวัฒนธรรม.

บรรณานุกรม

โกเมศ ขวัญเมือง. (2549). การศึกษาแนวใหม่ : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

ดิเรก ควรสมาคม. (2554). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

ไพจิตร ปุญญพันธุ์. (2540, กรกฎาคม-กันยายน) “หลักกฎหมายทั่วไป”. ดุลยพาห. 44, 3,

มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (2555). ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

สมยศ เชื้อไทย. (2553). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

หยุด แสงอุทัย. (2552). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ดูเพิ่มเติม

• รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550