31 มีนาคม พ.ศ. 2476

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:33, 25 ตุลาคม 2556 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2476 เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประเทศไทยได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลออกมาใช้ กฎหมายฉบับนี้ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่วางรูปแบบการปกครองท้องถิ่นหรือกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจฉบับแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในตอนนั้นเป็นรัฐบาลที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีเจ้าพระยาพิชัยญาติเป็นประธานสภา

รัฐบาลได้เริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ให้สภาผู้แทนฯ พิจารณาครั้งแรกในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2476 โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ริเริ่มร่างกฎหมายนี้เป็นผู้ชี้แจงมีความว่า

“...จึงได้หยิบเอารูปการณ์ของเทศบาลนั้นขึ้นร่างเป็นพระราชบัญญัติและเสนอรัฐบาลเสียชั้นหนึ่งก่อน ขอให้เทศบาลได้มีโอกาสที่จะเริ่มจัดตั้งหรือจัดทำขึ้นได้ในปีหน้า คือใน พ.ศ. 2477 และในต้นปี 2477 นี้ ก็คงจะได้เริ่มการได้นั้น แต่ว่าการที่จะทำกิจการให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เราก็จำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายอีกหลายฉบับต่อไป... การที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมาก็เพื่อปรารถนาที่จะให้เพื่อนสมาชิกทั้งหลายลงมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ส่วนราชการที่เราจะดำเนินต่อไปว่าเราจะวางรูปแบบตามนี้ คือดำเนินตามคล้าย ๆ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเหมือนกัน กล่าวคือจะเห็นได้จากเทศบาลตำบล คณะมนตรีตำบล และสภาตำบล เพื่อให้ราษฎรได้รู้จักวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญไปในตัว คือราษฎรจะได้ฝึกการปกครองในตำบลย่อย ๆ ของตนเพื่อประโยชน์แก่การที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภานี้ต่อไป...”

วันที่ 21 นั้น สภาผู้แทนก็ได้ลงมติรับหลักการ และอีก 10 วันต่อมาก็เป็นกฎหมายออกมาใช้ แต่การตั้งเทศบาลขึ้นเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นได้มีขึ้นจริงใน พ.ศ. 2478 โดยได้ยกสุขาภิบาลที่มีอยู่เดิม ขึ้นเป็นเทศบาล จำนวน 35 แห่ง ส่วนเทศบาลกรุงเทพมหานครนั้นได้มีกฎหมายจัดตั้งเทศบาลกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2479 และตั้งเทศบาลกรุงเทพมหานครขึ้นมาได้ใน พ.ศ. 2480 ในวันที่ 1 เมษายน

กฎหมายเทศบาลฉบับแรกนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมมาเรื่อยตั้งแต่ พ.ศ. 2481 จนถึง พ.ศ. 2496 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเทศบาล เป็นกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลออกมาใช้แทน