13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 เป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แทนพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2486 การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ส่วนกลางต้องการ เพราะในระยะเวลานั้นเป็นเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และสมาชิกประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลนั่นเอง ดังนั้นรัฐบาลจึงมีอำนาจมาก
ที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งก็คือในกฎหมายเทศบาลฉบับนี้บัญญัติให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง ดังปรากฏในมาตรา 7 วรรค 2
“ให้เทศบาลเป็นทบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น”
แต่การแบ่งเทศบาลเป็น 3 ระดับ ก็ยังเหมือนกฎหมายเดิมที่มีมาก่อนหน้านั้นคือ มีเทศบาลตำบลเป็นระดับแรก เทศบาลเมืองเป็นระดับที่สองและเทศบาลนครเป็นระดับที่ 3
ที่สำคัญคือสมาชิกสภาเทศบาลนั้นมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเลือกตั้งและประเภทแต่งตั้งนี่ก็สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติอย่างชัดเจน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นเช่นนี้ ดังนั้น สภาเทศบาลจึงถูกกำหนดให้เหมือนกัน แต่สภาเทศบาลพัฒนาได้เร็วกว่า เพราะใน พ.ศ. 2499 ได้มีการแก้ไขกฎหมายเทศบาลให้เหลือสมาชิกเพียงประเภทเดียว คือ สมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ดังนั้นการปกครองท้องถิ่นในช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงอยู่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น เพราะการจะตั้งเทศบาลได้นั้นท้องถิ่นนั้นต้องมีความเจริญพอสมควร ซึ่งก็อยู่ในบริเวณที่เจริญที่สุดของอำเภอ แต่ก็ไม่ทุกอำเภอ อำเภอที่ยังเจริญไม่มากพอก็ให้มีสุขาภิบาลจัดตั้งขึ้น แต่นายอำเภอซึ่งเป็นข้าราชการประจำก็เป็นผู้บริหารจัดการ ท้องถิ่นที่เป็นชนบทนั้นก็อยู่ในอำนาจของการปกครองส่วนภูมิภาคที่จะบริหารจัดการ จนกระทั้งอีก 2 ปีต่อมาจึงได้มีความคิดที่จะกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นชนบทดังจะเห็นได้จากการเกิดองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ดีสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่จัดตั้งตามมา