9 ธันวาคม พ.ศ. 2476

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:17, 9 ตุลาคม 2556 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุต...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เป็นวันที่มีพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ขึ้นเป็นครั้งแรกจำนวน 78 คนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยวิธีเลือกตั้งทางอ้อม ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ทั้งนี้เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มาตรา 65 ที่บัญญัติว่า

“เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทมีจำนวนเท่ากัน

(1) สมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทมาตรา 16, 17

(2) สมาชิกประเภทที่ 2 ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475”

ถ้าดูจากรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จำนวน 78 คนนี้เทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่เป็นชุดชั่วคราวจะเห็นว่าคนเก่าจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามา และที่น่าสังเกตก็คือคนสำคัญที่มีบทบาทในการยึดอำนาจเมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่ได้รับแต่งตั้งเข้ามา 4 คน โดย 3 คนแรกที่เป็นผู้นำทางทหารในกลุ่ม “สี่ทหารเสือ” ซึ่งหายไปคือ นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช นายพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และนายพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ ส่วนสายพลเรือนแต่เคยมียศทางทหาร คือ นายประยูร ภมรมนตรี ซึ่งบุคคลที่หายไปเหล่านี้เป็นกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงพิบูลสงคราม

แต่หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐมนูธรรม และหลวงโกวิทอภัยวงศ์ ทั้ง 3 คุณหลวงกับสมาชิกคณะราษฎรหรือกลุ่มผู้ก่อการทั้งทหารและพลเรือนได้รับแต่งตั้งหลายคน อันจะเป็นกำลังที่คอยช่วยรัฐบาลของคณะราษฎรต่อไปในช่วงระยะเวลาแรก