2 เมษายน พ.ศ. 2549

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:08, 3 ตุลาคม 2556 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุต...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังการประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การยุบสภาครั้งนี้ดูแล้วก็เป็นที่แปลกใจมาก เพราะพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคเพิ่งจะชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นการชนะอย่างถล่มทลาย เพราะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพียงพรรคเดียวเกินกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงในสภาผู้แทนฯ คือได้เกินกว่า 300 เสียง จากสมาชิกสภาผู้แทนฯ ทั้งหมด 500 คน

แต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 โดยมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมากเกินกว่าสองในสามแล้วก็ตาม ก็หาได้ทำให้รัฐบาลมั่นคงอย่างที่คาดคิดไม่ ประมาณปีเดียวหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงคัดค้านและต่อต้านทางการเมืองทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีการชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง จนทำให้นายกรัฐมนตรีเลือกทางยุบสภา โดยมีการอ้างเหตุผลว่า

“ได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้าการชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้า จนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวาย สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นจะใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด หรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา...”

เมื่อยุบสภาแล้วทุกฝ่ายก็น่าจะมองไปที่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 แต่การเลือกตั้งครั้งนี้กลับมีผู้มองว่าทางรัฐบาลเอาเปรียบยุบสภาแล้วรีบกำหนดวันเลือกตั้งแบบกระชั้นชิดเลย ดังนั้น จึงเกิดการประท้วงไม่เข้าร่วมลงเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านเดิม 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ย่อมเข้าร่วมในการเลือกตั้ง ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเลย แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ที่น่าสังเกตก็คือการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นี้เป็นการเลือกตั้งที่มีคนไปเลือกตั้งจริงมาก เพราะกฎหมายบังคับ แต่มีผู้เลือกตั้งที่ไม่ออกเสียงเลือกผู้ใดเลยมีจำนวนมากถึง 9 ล้านคน

ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นี้ ถูกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบ จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ดังปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ว่า

“การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุแห่งคำร้องคือ ในส่วนที่เกี่ยวกับกำหนดวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 เฉพาะมาตรา 4 ตามเหตุแห่งคำร้อง ข้อ 1 ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ตลอดจนการดำเนินการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว และการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับมติในการจัดคูหาเลือกตั้ง ตามเหตุแห่งคำร้องข้อ 2 ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง การประกาศผลการเลือกตั้ง

ดังนั้น คณะกรรมการเลือกตั้งจึงต้องพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งได้เสนอว่าน่าจะเป็นวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แต่แล้วในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 กรรมการเลือกตั้งที่เหลืออยู่เพียง 3 คนก็ถูกคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุก และต่อมากรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 ท่านนี้ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่งทันที ทำให้ต้องดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ ในเวลาที่มีความสับสนเกี่ยวกับการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่นี้ ก็เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นใหม่แทนการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ถูกเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนด