เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:26, 14 สิงหาคม 2556 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย

พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยจัดตั้งเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 [1] โดยมี นายประเดิม ดำรงเจริญ [2] เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งในสังคมไทย กล่าวคือเป็นช่วงที่มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตรจากหลากหลายภาคส่วนของสังคม ในส่วนของนโยบายหลักของพรรคนั้นมุ่งเน้นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารปลอดสารพิษ อาหารที่ปลอดภัย โดยคนทุกชนชั้นในสังคมสามารถเข้าถึงได้

การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นทางการของพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนจำนวน 40 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 77 คน ซึ่งทั้งหมดมิได้รับเลือกให้ได้รับตำแหน่งเลยมีแต่คนเดียว รายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ [3]

1. ด้านการบริหารจัดการ

สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐในทุกระดับ จัดให้มีการการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกระดับรวมทั้งสร้างพันธมิตรระหว่างพรรคที่มีนโยบายคล้ายคลึงกัน

2. ด้านเศรษฐกิจ

สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการร่วมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อให้เกิดการผลิตแบบครบวงจร สร้างหลักประกันให้แก่เกษตรกรในทุกๆด้าน จัดหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรและส่งเสริมการเกษตรแบบปลอดสารพิษ พัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรมโดยส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนและจัดให้มีการคุ้มครองแรงงานโดยเท่าเทียมกัน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติแทนน้ำมันโดยมีแผนงานที่ชัดเจน

3. ด้านสังคม

สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐในทุกระดับ มุ่งสู่การเป็นรัฐสวัสดิการโดยสร้างหลักประกันให้ประชาชนในหลากหลายด้านเช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ปฏิรูปการเรียนรู้ ยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต จัดเก็บภาษีมรดก จัดให้ท้องถิ่น ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

4. ด้านการต่างประเทศ

สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในระดับประเทศเพื่อการสร้างสันติภาพ การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชน จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 70ง หน้า 109
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 70ง หน้า 138
  3. สรุปความจากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 123 ตอนที่ 70ง หน้า109-111