เมืองพัทยา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:41, 25 สิงหาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

รายชื่อผู้เขียน ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรทัย ก๊กผล


เมืองพัทยา

ที่มาของการจัดตั้งเมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

ในทางการบริหารแล้ว “เมืองพัทยา” คือ หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 โดยการยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือ ซึ่งเจตนารมณ์ในการจัดตั้งเมืองพัทยาให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของรัฐบาลสมัยนั้น ก็เพื่อทดลองนำเอาระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง (City Manager) หรือที่เรียกกันว่า รูปแบบสภา-ผู้จัดการ ที่เทศบาลหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้อยู่นำมาทดลองใช้ในประเทศไทย โดยหากเป็นไปตามระบบของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (local council) และส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดหาว่าจ้างผู้ที่มีความเหมาะสมมาเป็นผู้จัดการเมือง กล่าวคือ สภาเป็นผู้ว่าจ้างผู้จัดการซึ่งจะอยู่ในวาระที่กำหนด เช่น 2 ปี หรือ 4 ปี รูปแบบนี้ผู้บริหารมาจากการว่าจ้าง เพื่อให้ได้ผู้บริหารมืออาชีพและปลอดจากการเมือง

เมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521

1) โครงสร้างการบริหารงานภายใน

การจัดโครงสร้างการบริหารงานภายในของเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สภาเมืองพัทยาและปลัดเมืองพัทยา มีรายละเอียด ดังนี้

(1) สภาเมืองพัทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติมีสมาชิก 17 คน ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจาก 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 9 คน และประเภทที่สอง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 8 คน โดยสมาชิกทั้งสองประเภทจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ทั้งนี้ ภายหลังจากการเลือกตั้ง สภาเมืองพัทยาจะเลือกสมาชิกคนหนึ่งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นนายกเมืองพัทยาและเป็นประธานสภาเมืองพัทยาในเวลาเดียวกัน โดยนายกเมืองพัทยามีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปีแต่อาจได้รับเลือกใหม่ได้ โดยสภาเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

- วางนโยบายและอนุมัติแผน เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการเมืองพัทยา

- พิจารณาและอนุมัติร่างข้อบัญญัติ

- แต่งตั้งบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกเป็นคณะกรรมการวิสามัญเพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาเมืองพัทยา แล้วรายงานต่อสภาหรือเพื่อให้คำแนะนำแก่สภาเมืองพัทยาหรือปลัดเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี

(2) ปลัดเมืองพัทยา ในการบริหารกิจการของเมืองพัทยา มีปลัดเมืองพัทยาเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งมาจากการว่าจ้างของสภาเมืองพัทยา (และอาจจะมีรองปลัดเมืองพัทยาจำนวนไม่เกิน 2 คนเข้ามาทำหน้าที่ช่วยปลัดเมืองพัทยาด้วยก็ได้) โดยอายุในการจ้างปลัดเมืองพัทยามีคราวละ 4 ปี สำหรับผู้ที่จะสามารถได้รับการว่าจ้างให้มาเป็นปลัดเมืองพัทยาและรองปลัดเมืองพัทยานี้จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

หนึ่ง ถ้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 6 หรือเทียบเท่าตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สอง ถ้าเป็นพนักงานในองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ต้องเคยดำรงตำแหน่งซึ่งมีอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าระดับ 6 ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และสาม เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีพนักงานและลูกจ้างอยู่ในความรับผิดชอบไม่น้อยกว่า 100 คน หรือมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท หรือมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในความรับผิดชอบไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของปลัดเมืองพัทยานั้น ประกอบด้วย

1. ร่างแผนเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยา

2. บริหารกิจการตามนโยบายและแผนของสภาเมืองพัทยา

3. ร่างข้อบัญญัติงบประมาณและข้อบัญญัติอื่นเพื่อเสนอต่อสภาเมืองพัทยา

4. ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย และข้อบัญญัติ

5. รวบรวมปัญหาในการบริหารราชการเมืองพัทยา พร้อมด้วยข้อเสนอแนะเพื่อเสนอสภาเมืองพัทยา

6. รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของเมืองพัทยาต่อสภาเมืองพัทยา

7. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้บัญญัติตามกฎหมาย

2) อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา

ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ได้กำหนดให้เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การรักษาความสงบเรียบร้อย

(2) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

(3) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง

(4) การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม

(5) การรักษาความสะอาดของถนน ทางเดิน และที่สาธารณะ

(6) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

(7) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา

(8) การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ

(9) การควบคุมอนามัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น

(10) การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว

(11) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายระบุเป็นหน้าที่ของเทศบาลนคร หรือของเมืองพัทยา

3) การบริหารการเงินและงบประมาณ

ในการอธิบายเกี่ยวกับระบบการบริหารการเงินและงบประมาณของเมืองพัทยานี้ จะแบ่งการอธิบายออกเป็น 2 ส่วน คือ รายได้ และรายจ่าย ดังนี้

(1) รายได้ของเมืองพัทยา ที่มาของรายได้ของเมืองพัทยานั้นมาจากแหล่งที่มาหลัก ๆ ได้แก่ หนึ่ง รายได้ที่เมืองพัทยาจัดเก็บเอง ประกอบด้วย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์และผลประโยชน์อื่นเนื่องในการฆ่าสัตว์ ภาษีน้ำมัน และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาล สอง เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

(2) รายจ่ายของเมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 ได้กำหนดให้การจ่ายเงินของเมืองพัทยาต้องเป็นไปตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเท่านั้น โดยเมืองพัทยาอาจมีรายจ่ายดังต่อไปนี้

- เงินเดือน

- ค่าจ้างประจำ

- ค่าจ้างชั่วคราว

- ค่าตอบแทน

- ค่าใช้สอย

- ค่าวัสดุ

- ค่าครุภัณฑ์

- ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง

- เงินอุดหนุน

- รายจ่ายตามข้อผูกพัน

- รายจ่ายอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยหรือข้อบัญญัติกำหนด

4) การบริหารงานบุคคล

ระบบการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยานั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเมืองพัทยาเรียกว่า “พนักงานเมืองพัทยา” มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อปลัดเมืองพัทยา ทั้งนี้ ระเบียบพนักงานเมืองพัทยาจะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล โดยถือว่าเมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนคร และปลัดเมืองพัทยามีอำนาจบังคับบัญชาเทียบเท่านายกเทศมนตรี

ทั้งนี้ พนักงานเมืองพัทยาจะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ซึ่งมีคณะอนุกรรมการวิสามัญ อีก 2 คณะได้แก่ หนึ่ง คณะอนุกรรมการ (อ.ก.ท.) วิสามัญ พิจารณาวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของพนักงานเทศบาล และพนักงานเมืองพัทยา ประกอบด้วยอนุกรรมการ 19 คน ซึ่งมีตัวแทนจากราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสอง คณะอนุกรรมการ (อ.ก.ท.) วิสามัญ พิจารณากำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือน การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การเลื่อนระดับ การเลื่อนขั้นเงินเดือน การเปลี่ยนสายงานและการต่ออายุราชการของพนักงานเทศบาลและพนักงานเมืองพัทยา ประกอบด้วยอนุกรรมการ 15 คน ซึ่งมีตัวแทนจากราชการส่วนกลางและสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ในระดับจังหวัด พนักงานเทศบาลยังอยู่ภายใต้การดูแลของคณะอนุกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดชลบุรี (อ.ก.ท.จังหวัดชลบุรี) อีกด้วย

5) สภาพปัญหาในการบริหารเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521

การบริหารเมืองพัทยาในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษระบบสภา - ผู้จัดการเมืองนี้ประสบกับปัญหาหลายประการ ได้แก่

(1) ปัญหาด้านความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง (สภา) กับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ตำแหน่งนายกเมืองพัทยาก็คือประธานสภา อันเป็นตำแหน่งทางฝ่ายสภามิใช่ฝ่ายบริหาร ในขณะที่ปลัดเมืองพัทยานั้นโดยแท้จริงเป็นฝ่ายบริหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในการบริหารงานของเมืองพัทยาว่าใครเป็นผู้บริหารเมืองพัทยา

(2) ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ในระยะที่มีการริเริ่มนำเอาระบบการปกครองแบบสภา - ผู้จัดการเมืองเข้ามาทดลองใช้ในเมืองพัทยานั้น มีวัตถุประสงค์ให้ท้องถิ่นมีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพและมีเสถียรภาพพอสมควรในการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานให้กับหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วโดยมากจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่บริหารเมืองพัทยาอย่างมีประสิทธิภาพ

(3) ปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของขนาดพื้นที่เมืองพัทยา โดยทั่วไปการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสภา - ผู้จัดการเมือง (City - Manager) นั้น เป็นรูปแบบที่ใช้บริหารในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กหรือขนาดปานกลาง แต่ในกรณีของเมืองพัทยาซึ่งนับว่าเป็น “เทศบาลนคร” อีกแห่งหนึ่ง จึงนับว่าเป็นพื้นที่ที่ขนาดใหญ่จนเกินการบริหารในรูปแบบดังกล่าวนี้ที่จะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) การบริหารของเมืองพัทยามิได้ใช้รูปแบบของสภา - ผู้จัดการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ การบริหารรูปแบบดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในขณะที่ระบบแบบที่ใช้ในเมืองพัทยานั้น สภามาจากการเลือกตั้งกึ่งหนึ่ง (9 คน) ส่วนอีกกึ่งหนึ่ง (8 คน) มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้สภาของเมืองพัทยาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะถูกครอบงำจากส่วนอื่นที่ทำหน้าที่กำกับดูแล

โครงสร้างเมืองพัทยาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542

1) โครงสร้างการบริหารงานภายใน

ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดโครงสร้างการบริหารเมืองพัทยาใหม่ โดยการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 เป็นการปรับเปลี่ยนกฎหมายเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาฉบับนี้ ได้กำหนดรูปแบบโครงสร้างแตกต่างไปจากเดิมหลายประการ โดยโครงสร้างภายในของเมืองพัทยารูปแบบใหม่ ประกอบด้วย

(1) สภาเมืองพัทยา ประกอบด้วย สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา จำนวน 24 คน อยู่ในวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง และให้สภาเมืองพัทยาเลือกสมาชิกเป็นประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 2 คน มีหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นให้เป็นไปตามข้อบังคับเมืองพัทยา (มาตรา 26-27) นอกจากนี้ ยังมีปลัดเมืองพัทยาให้ทำหน้าที่เลขานุการสภาเมืองพัทยา มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ และการจัดประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาเมืองพัทยามอบหมาย

(2) นายกเมืองพัทยา สำหรับผู้บริหารเมืองพัทยาได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งใช้รูปแบบผู้จัดการเมืองกลายมาเป็นรูปแบบใหม่ที่คล้ายคลึงกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ นายกเมืองพัทยาจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา โดยหลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา จะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยนายกเมืองพัทยาจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ และสามารถแต่งตั้งรองนายกเมืองพัทยาเพื่อช่วยเหลือในการบริหารราชการเมืองพัทยาได้จำนวนไม่เกิน 4 คน

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา ประกอบด้วย

- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

- มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

- สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยาในวันสมัครรับเลือกตั้งและได้เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ ให้เมืองพัทยาในปีที่สมัครหรือในปีก่อนปีที่สมัคร 1 ปี โดยนายกเมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ (มาตรา 48) ดังต่อไปนี้

- กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบัญญัติ และนโยบาย

- สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเมืองพัทยา

- แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกเมืองพัทยา เลขานุการนายกเมืองพัทยา ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา ประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษา

- วางระเบียบเพื่อให้งานของเมืองพัทยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

- ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย หรือตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเมืองพัทยาหรือนายกเทศนตรีหรือคณะเทศมนตรี

ในส่วนของฝ่ายบริหารนี้ก็ยังมีการจัดแบ่งส่วนราชการของเมืองพัทยา (มาตรา 54-56) ออกเป็น

(1) สำนักปลัดเมืองพัทยา ซึ่งมีปลัดเมืองพัทยาเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเมืองพัทยาและลูกจ้างเมืองพัทยาจากนายกเมืองพัทยา และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกเมืองพัทยามอบหมาย

(2) ส่วนราชการอื่น ตามที่นายกเมืองพัทยาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย

2) อำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยา

ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 กำหนดให้เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การรักษาความสงบเรียบร้อย

(2) การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

(3) การคุ้มครองและดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

(4) การวางผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้าง

(5) การจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม

(6) การจัดการจราจร

(7) การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

(8) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล และการบำบัดน้ำเสีย

(9) การจัดให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา

(10) การจัดให้มีการควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ และที่จอดรถ

(11) การควบคุมอนามัยและความปลอดภัยในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพ และสถานบริการอื่น

(12) การควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว

(13) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(14) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของเทศบาลนครหรือของเมืองพัทยา

3) การบริหารงานบุคคล

ระบบการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยานั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเมืองพัทยาเรียกว่า “พนักงานเมืองพัทยา” มีสายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อปลัดเมืองพัทยา ทั้งนี้ ระเบียบพนักงานเมืองพัทยาจะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบพนักงานเทศบาล โดยถือว่าเมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนคร และปลัดเมืองพัทยามีอำนาจบังคับบัญชาเทียบเท่านายกเทศมนตรี

องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา เรียกว่า “คณะกรรมการพนักงานเมืองพัทยา” ประกอบด้วย

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน

(2) นายอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดชลบุรีจำนวน 3 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีประกาศกำหนดว่าเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

(3) ผู้แทนเมืองพัทยาจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายกเมืองพัทยา สมาชิกสภาเมืองพัทยาซึ่งสภาเมืองพัทยาคัดเลือกจำนวน 1 คน ปลัดเมืองพัทยา และผู้แทนพนักงานเมืองพัทยาซึ่งคัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน

(4) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งคัดจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านระบบราชการ ด้านการบริหารการจัดการหรือด้านอื่นที่จะเป็นประโยชน์แก่การบริหารงานบุคคลของเมืองพัทยา

เอกสารอ่านเพิ่มเติม

1. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2546.

2. สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะ. “การศึกษาสภาพปัญหาแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการบริหารและแนวทางการพัฒนาพื้นที่เกาะสมุย”, รายงานการวิจัยเสนอต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546. รายงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่เกาะสมุย โดยได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพพื้นที่โดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสภาพปัญหาภายใน หน่วยงานที่จัดทำบริการหรือรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมการบริหารจัดการในพื้นที่เกาะสมุยได้เป็นอย่างดี รวมถึงคณะผู้วิจัยได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของเกาะสมุยอีกด้วย

3. สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะ. “การจัดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ: ศึกษากรณีจังหวัดภูเก็ต”, รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย, 2541. เป็นงานหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดรูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของจังหวัดภูเก็ต โดยได้เสนอแนะโครงสร้างเกี่ยวกับการบริหารเมืองภูเก็ตโดยละเอียด

ที่มา

สถาบันพระปกเกล้า. สารานุกรมการปกครองท้องถิ่น หมวดที่ 3 พัฒนาการและรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทยลำดับที่ 6 เรื่องเมืองพัทยาและองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอื่นๆ. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2547 .

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ. ทิศทางการปกครองท้องถิ่นของไทยและต่างประเทศเปรียบเทียบ. กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2546.