การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512
ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 11 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
ภายหลังการปฏิวัติในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัตินำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าบริหารประเทศ และได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จและนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 และได้มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 นอกจากนั้น ยังได้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511 จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศกำหนดวันจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1512 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 180 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งขึ้นภายใน 240 วัน
เมื่อพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 มีผลบังคับใช้แล้ว ปรากฏว่ามีผู้ร้องขอจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจำนวนมาก ได้แก่ พรรคสหประชาไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคแนวประชาธิปไตย พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา พรรคชาวนาชาวไร่ พรรคสยามใหม่ พรรคประชาพัฒนา พรรคแรงงาน พรรคไทยธิปัตย์ พรรคอิสรธรรม พรรคชาติประชาธิปไตย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่มีความเข็มแข็งและมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มีเพียงสองพรรค คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นเป็นพรรคขนาดเล็กซึ่งมิได้มีฐานในทางการเมืองเข้มแข็งเท่าสองพรรคดังกล่าว
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1512 เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งโดยตรง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนทั้งหมด 219 คน มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 14,820,180 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 7,285,832 คน คิดเป็นร้อยละ 49.10 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง คิดเป็นร้อยละ 73.95 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และจังหวัดพระนครมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.66
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้พบว่า แม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมากส่งผู้สมัครสังกัดพรรคของตนลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกครบทุกที่นั่งมีเพียง 2 พรรคเท่านั้น คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งไม่ปรากฏว่ามีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง นั่นคือต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทน หรือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 219 คน ซึ่งเท่ากับ 110 คนขึ้นไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกเข้ามามากถึง 70คน อย่างไรก็ตาม พรรคสหประชาไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด เนื่องจากพรรคนี้เป็นพรรครัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรค และสมาชิกที่แปรพรรคมาให้การสนับสนุน
ที่มา
กระทรวงมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 2, พระนคร : โรงพิมพ์กรมมหาดไทย, 2502
ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, อนุสารการเมือง, มีนาคม 2522
บุญทัน ดอกไธสง,การเปลี่ยนแปลงทางการบริหารและการเมืองไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2520
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองของไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511
โคทม อารียา, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดองค์กรทางการเมือง เรื่องที่ 5 ระบบการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544
คณิน บุญสุวรรณ, ประวัติรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา, 2542
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519
วิทยา นภาศิริกุลกิจ, ระบบพรรคการเมืองไทย: ศึกษาเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างยุคก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2501 กับสมัยปัจจุบัน, วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2514