เหตุการณ์จลาจลแทนทาลัม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:15, 29 มีนาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ชาติชาย มุกสง ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิป...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ชาติชาย มุกสง


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


เหตุการณ์จลาจลแทนทาลัมในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529

เหตุจลาจลกรณีประท้วงและเผาโรงงานแทนทาลัมที่จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2529 นับเป็นการจลาจลครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดนอกเมืองหลวง และเป็นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจากการพึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญมากในปัจจุบัน เหมืองแร่รากฐานเศรษฐกิจภูเก็ตในอดีต

ตั้งแต่สมัยโบราณมาแร่ดีบุกเป็นทรัพยากรสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับภูเก็ตมาตลอด และเป็นเหตุทำให้ทั้งรัฐไทยและชาวต่างชาติต่างเข้ามาแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์มหาศาลจากแร่ธาตุในภูเก็ต ในขณะที่คนท้องถิ่นกลับได้รับผลประโยชน์น้อยมากแต่ต้องรับภาระทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากคนภายนอกเสมอมา โดยกิจการเหมืองแร่ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของชาวจีนเชื้อสายต่างๆ ภายใต้ระบบเจ้าภาษีนายอากรจนสามารถสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับชาวจีนหลายตระกูลด้วยกัน แต่การทำเหมืองแร่ดีบุกสมัยก่อนที่ทำด้วยแรงงานคนงานชาวจีนเป็นหลักก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องจักรในยุคที่ฝรั่งเข้ามาและกลายเป็นสัมปทานให้กับตระกูลเศรษฐีเก่าและนายทุนรวมทั้งนายหน้าของบริษัทฝรั่งในยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคนนอกเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากแร่โดยชาวบ้านเจ้าของพื้นที่แทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไรตอบแทนนอกจากขุมเหมืองที่ทำลายหน้าดินและขี้ตะกรันแร่ที่กระจายอยู่ทั่วเกาะ

แต่ขี้ตะกรันแร่ที่ถูกมองว่าไร้ค่าและถูกหักค่าไม่บริสุทธิ์ของแร่เวลานำไปขายให้กับโรงงานถลุงแร่ ทั้งที่ส่งไปถลุงยังต่างประเทศหรือในขณะเมื่อมีโรงงานถลุงแร่แห่งเดียวของเกาะภูเก็ตคือโรงงานไทยซาร์โก้ที่อ่าวมะขามเมื่อปี 2506 แล้วก็ตาม ความลับของขี้ตะกรันแร่ที่ถูกปกปิดมานานโดยผู้กุมกิจการถลุงแร่ก็คือขี้ตะกรันแร่เหล่านั้นมีแร่แทนทาลัมปะปนอยู่ด้วยและมีมูลค่ามหาศาลซ่อนอยู่โดยที่นายเหมืองและผู้ทำเหมืองแร่มาหลายชั่วคนไม่ล่วงรู้

แม้ว่ามีนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยาของไทยบางคนที่ทราบว่าพื้นดินภาคใต้มีแร่แทนทาไลต์ในรูปของแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ปะปนอยู่กับแร่ดีบุก ตั้งแต่ปี 2497 แล้วก็ตามแต่เผอิญช่วงนั้นราคาแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ยังไม่สูงมาก และไม่ใช่แหล่งแร่แทนทาไลต์โดดๆ เหมือนเช่นบางประเทศในยุโรป การให้ความสำคัญในทางพาณิชย์ก็เลยไม่ปรากฏชัด คงมีเพียงการบันทึกทางด้านวิชาการไว้เท่านั้นว่า ดีบุกในประเทศไทยจะประกอบด้วยดีบุกบริสุทธิ์ 73.4 เปอร์เซ็นต์ แทนทาลัมเพนต็อกไซด์ 1.1 เปอร์เซ็นต์ เหล็ก 0.5 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นมลทินอื่นๆ มีการประมาณการว่าแทนทาลัมชนิดที่เกิดขึ้นในแหล่งแร่ดีบุกของไทยนี้มีปริมาณเนื้อแร่แทนทาลัมถึง 16 ล้านปอนด์ ซึ่งมากที่สุดในโลกประมาณร้อยละ 27 ของแทนทาลัมในโลก[1] นับเป็นแร่ปริมาณมหาศาลที่กลายเป็นที่ต้องการของนายทุนหลายกลุ่ม

ความสำคัญของแทนทาลัมมาได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อราคาของแร่ธาตุชนิดนี้พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 เป็นต้นมาจากการพัฒนาขึ้นของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่ต้องการแทนทาลัมมาทำเป็นชิ้นส่วนของ “ไมโครชิพ” อันเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการทำเป็นชิพแทนทาลัมคาพาซิเตอร์ (Capacitor) นอกจากนี้แทนทาลัมรวมกับคาร์บอนจะได้แทนทาลัมคาร์ไบด์ที่แข็งจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือตัดเจาะเหล็กกล้าได้ ธาตุตัวนี้ยังถูกนำไปใช้ทำชิ้นส่วนอุปกรณ์การบินอวกาศ เครื่องบิน ขีปนาวุธและเตาอุปกรณ์ปรมาณู[2] ที่กำลังเติบโตอยู่ขณะนั้น ทำให้ราคาแทนทาลัมในตลาดโลกขยับสูงขึ้นอย่างมากจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในปี 2517 เรื่อยมาจนถึงปี 2520 ราคาแทนทาลัม สูงต่อไปเรื่อยๆ คือในปี 2519 อยู่ในระดับราคาปอนด์ละ 25 เหรียญสหรัฐ แล้วก็ขึ้นเป็นเกือบ 30 เหรียญในปี 2520 ซึ่งในช่วงนี้เองที่ตะกรันโบราณบนเกาะภูเก็ตที่ถูกทอดทิ้งนับเป็นร้อยๆ ปี เริ่มมีค่าขึ้นมาทันตาเห็น จนเกิดธุรกิจรับซื้อขี้ตะกรันเพื่อถลุงเอาแทนทาลัมส่งขายต่างประเทศสร้างความร่ำรวยให้กับชาวภูเก็ตหลายคน[3] จนทำให้ขุมทรัพย์นี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจใหญ่ที่จะสร้างโรงงานผลิตแทนทาลัมขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์นี้ เพื่อลดการผูกขาดการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เคยอยู่ในมือของบริษัทถลุงแร่เพียงแห่งเดียวที่เก็บความลับเอาเปรียบชาวภูเก็ตมาโดยตลอด

บริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมจึงอุบัติขึ้นจากกลุ่มทุนต่างชาติ ร่วมกับทุนท้องถิ่น เพื่อทำการผลิตแร่แทนทาลัมในจังหวัดภูเก็ตได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้รับใบอนุญาตให้สร้างโรงงานตั้งแต่ปี 2526 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการในวันที่ 15 สิงหาคม 2529 นับเป็นการก่อตั้งบริษัทผลิตแทนทาลัมขึ้นแห่งแรกในเอเชีย ซึ่งตอนแรกประชาชนไม่ทราบว่าเป็นโรงงานอะไรจึงไม่ได้ประท้วงตั้งแต่เริ่มสร้าง แต่หลังจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มาลงพื้นที่ชี้แจงให้ข้อมูลกับชาวบ้านตั้งแต่ต้นปี 2529 จึงเกิดความหวาดวิตกของคนภูเก็ตที่โรงงานอาจก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม จนก่ออันตรายต่อชีวิตและสุขภาพจนอาจ ”ตายผ่อนส่ง” และที่สำคัญคือผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเพราะภูเก็ตเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญ[4] ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและจวนจะแล้วเสร็จได้เกิดกระแสข่าวสะพัดไปทั่วเกาะภูเก็ต เกี่ยวกับผลกระทบอันอาจเกิดจากสารกัมมันตรังสีที่จะมีขึ้นจากกระบวนการถลุงแร่แทนทาลัม เหตุการณ์ ถูกผูกโยงไปกับข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในรัสเซีย เกิดการรั่ว และโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ ในอินเดียระเบิด ส่งผลกระทบกับชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง นับเป็นตัวปลุกเร้าให้ชาวภูเก็ตตื่นตัวและกลัวภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น

เค้าความขัดแย้งจากการตั้งโรงงานแทนทาลัม

ตั้งแต่ต้นปี 2529 ขบวนการต่อต้านการเปิดโรงงานแทนทาลัม มีการจัดตั้งมวลชนของนักศึกษาและนักวิชาการที่ได้ศึกษาผลกระทบ มีการประชุมแกนนำกลุ่มชาวบ้านหลายสาขาอาชีพเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการจัดเวทีปราศรัยตามจุดสำคัญๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักและร่วมกันคัดค้านโครงการนี้ แม้จะได้รับการชี้แจงจากผู้ประกอบการบ้าง แต่ก็ไม่ให้น้ำหนักความสำคัญกับปัญหานี้มากนัก ฝ่ายนายทุนเจ้าของโรงงานก็มีการกล่าวดูแคลนชาวบ้านขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ไม่สามารถให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยกับชาวบ้านได้ กระแสการต่อต้านจึงยิ่งหนักหน่วงขึ้นเมื่อแผ่นผ้าและโปสเตอร์ประท้วงถูกจัดทำขึ้นเพื่อติดตั้งตามถนนหนทางและที่สาธารณะต่างๆ ทั่วทั้งเมือง คำอธิบายจากผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายโรงงานไม่มีความหมายอีกต่อไป เหลือเพียงคำสั่งให้ยกเลิกโครงการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

หลังจากประชาชนเกิดการตื่นตัวต่อภัยจากโรงงานกันทั่วทั้งเกาะ ทำให้ฝ่ายปกครองก็ต้องออกมาแสดงบทบาท โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2529 กำนันผู้ใหญ่บ้านจากทุกตำบลประมาณ 200 คน นำโดยนายอมร อนันตชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเดินทางไปยังโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม หมู่ที่ 6 ต.รัษฎา ถ.เทพกระษัตรี อ.เมืองภูเก็ต ห่างจากตัวเมือง 1 กิโลเมตร เพื่อศึกษาและพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีข่าวว่าโรงงานนี้อาจก่อให้เกิดมลพิษแก่ประชาชนชาวภูเก็ตอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ได้เปิดโรงงานให้ชมอย่างทั่วถึง นายธรรมเรศน์ สุวรรณภาณุ ผู้จัดการฝ่ายบริหารและบุคคล นายเยี๊ยบ ซุน อัน กรรมการผู้จัดการ และนายอาทร ต้องวัฒนา ประธานสภาจังหวัดภูเก็ต และกรรมการบริษัท ได้ชี้แจงต่อบรรดา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า บริษัทมีความมั่นใจสูงต่อมาตรฐานของโรงงานและระบบการควบคุมการปฏิบัติงานว่ามีความปลอดภัยขอให้ประชาชนหยุดวิตกกังวลอย่าหลงเชื่อตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น แต่ความเลื่อนไหวคัดค้านก็หายุติไม่

ความเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการเปิดโรงงงานมีความชัดเจนขึ้นเมื่อเกิดการนัดรวมตัวกันครั้งแรกในวันที่ 1 มิถุนายน 2529 เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่มนักศึกษา 24 สถาบัน และกลุ่มชมรมอนุรักษ์ 15 สถาบันได้เป็นแกนนำประชาชนจังหวัดภูเก็ตทั้ง 3 อำเภอทั่วทุกตำบลเดินขบวนมารวมกันที่บริเวณตัวเมืองภูเก็ตมุ่งหน้าไปยังบริเวณสวนสาธารณะสะพานหิน อำเภอเมือง แสดงประชามติคัดค้านการเปิดโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม ขบวนประชาชนทั้งหมดประมาณ 60,000 คนได้แห่ป้ายโจมตีผู้บริหารระดับจังหวัดและรัฐบาลที่อนุญาตให้เปิดโรงงานแห่งนี้ จนกระทั่งเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมทั้งหมดได้รวมตัวกันหน้าเวทีอเนกประสงค์สวนสาธารณะสะพานหิน โดยมีนายสุรพล สุดาราประธานชมรมสิ่งแวดล้อมสยามและตัวแทนนักศึกษาประชาชนกล่าวปราศรัย นายสุรพล กล่าวว่าชาวภูเก็ตจะขอคัดค้านไม่ให้รัฐบาลอนุญาตให้ปิดโรงงานแห่งนี้เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตคนแน่นอนโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ และขั้นตอนการดำเนินการของโรงงานมีเงื่อนงำมาโดยตลอด นายสุรพลกล่าวว่า "ผมจะยืนหยัดอยู่กับประชาชนชาวภูเก็ตทุกคน ถ้ารัฐบาลยังดื้อรั้นที่จะออกใบอนุญาตประกอบการให้โรงงานแห่งนี้ในเดือนสิงหาคมแล้ว เราจะพบกันในลักษณะนี้อีกครั้งหนึ่งที่บริเวณหน้าโรงงาน"[5] โดยมีรายงานว่าก่อนหน้าการชุมนุมครั้งนี้ นักศึกษาจาก 24 สถาบันได้รณรงค์ต่อต้านการเปิดโรงงานถลุงแร่และจัดหน่วยไปปราศรัยตามชุมชนต่างๆ ไปทั่วเกาะภูเก็ต เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมหากมีการเปิดโรงงานขึ้น

จากการชุมนุมแสดงพลังครั้งแรกซึ่งเป็นการชุมนุมคนที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ในเทศกาลกินเจที่ลือลั่นของภูเก็ตก็ตาม ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงกลุ่มพลังที่มีศักยภาพมากของกลุ่มตลาดสดกับกลุ่มบางเหนียว ที่ได้ร่วมกันจัดกับกลุ่มประสานงานฯ กลุ่ม 24 สถาบัน ดูเหมือนว่าแนวร่วมของกลุ่มคัดค้านจะขยายตัวกว้างขวางขึ้น การนำที่เคยเป็นเอกภาพก็เริ่มเข้าสู่จุดที่ไร้การจัดตั้ง จึงกลายเป็นช่องว่างที่นักการเมืองที่ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนพยายามแทรกตัวเข้ามาด้วยความหวังว่าจะได้คะแนนเสียงจากประชาชนจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ หลังการชุมนุมสองวันคือวันที่ 3 มิถุนายน 2529 นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องการคัดค้านโรงงานแทนทาลัมเข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะรัฐมนตรีที่ประชุมรับทราบ คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาให้นายจิรายุเป็นประธานกรรมการ แต่ก็ไม่ได้ออกมาตรการใดที่ชัดเจน

ขณะที่ในจังหวัดภูเก็ตความเคลื่อนไหวก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 6 มิถุนายน สภาจังหวัดภูเก็ตได้ประชุมด่วนเพื่อพิจารณาญัตติด่วนเสนอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของโรงงานแทนทาลัมตามมติของประชาชนชาวภูเก็ตเมื่อวันที่ 1 ที่ผ่านมา ผลการประชุมมีมติให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบการโรงงานแทนทาลัม แม้ว่าประธานสภาจังหวัดและสมาชิกอีก 2 คนจะเป็นหุ้นส่วนของบริษัทแต่ก็ได้แถลงว่าจะถอนหุ้นคืนและจะยืนอยู่ข้างประชาชนที่ไม่ต้องการโรงงานที่อาจก่อมลพิษ เช่นเดียวกับสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตลงมติร่วมกับประชาชนคัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัมในอีกสองวันต่อมา ในวันที่ 7 มิถุนายนทางกลุ่มประสานงานเพื่อต่อต้านมลพิษจังหวัดภูเก็ตมีมติให้ปิดโรงงานโดยไม่ฟังคำชี้แจงใดและให้รัฐบาลตอบภายในวันที่ 2 กรกฎาคม ก็ยิ่งทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นอีก

การชุมนุมเพื่อแสดงพลังคัดค้านเกิดขึ้นตามเขตชุมชนต่างๆ ทั่วภูเก็ต อาทิ วันที่ 14 มิถุนายน 2529 ชาวจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประมาณ 10,000 คน รวมตัวชุมนุมกันที่หาดป่าตอง คัดค้านการเปิดโรงงานแทนทาลัมการประชุมได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมโจมตีการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการที่อนุญาตให้มีการเปิดโรงงานอันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อการท่องเที่ยวจนอาจทำให้ไม่มีคนมาเที่ยวได้[6] และในวันที่ 15 มิถุนายน สมาคมพ่อค้าภูเก็ตและหอการค้าจังหวัดภูเก็ตได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาประชามติชาวภูเก็ตที่คัดค้านการเปิดโรงงาน

ต่อมาในวันที่17 มิถุนายน 2529 นายจิรายุ และนายปราโมทย์ สุขุม รักษาการรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกันแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.เปรมได้มีบัญชาให้ชี้แจงถึงกรณีนี้ให้เข้าใจอย่างชัดเจนถึงการพิจารณาของรัฐบาลและอย่าให้บานปลาย ขอให้เน้นถึงความคิดเห็นและความรู้สึกของชาวภูเก็ตรวมทั้ง ผลกระทบทางด้านสังคมต่อการตั้งโรงงานด้วย และว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางหาข้อมูลอย่างรอบด้านและจะกระทำอย่างเปิดเผย โดยนายจิรายุ จะให้คำตอบแก่ชาวภูเก็ตในวันที่ 2 กรกฎาคม 2529 วันเดียวกันบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากกลุ่มธุรกิจป่าตองและชาวภูเก็ตประมาณ 2,000 คน เดินขบวนเข้าพบ นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ให้ยับยั้งการนำเข้ากรดกัดแก้วของโรงงานแทนทาลัมและยับยั้งไม่ให้มีการเปิดโรงงาน นอกจากนี้ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านยังปฏิเสธคำเชิญไปเจรจากันที่กรุงเทพฯ อีกด้วย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ออกหนังสือผ่านสื่อมวลชนเชิญประชาชนให้ไปร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาโรงงานถลุงแร่แทนทาลัม ที่ศาลาประชาคมร่วมกับนายจิรายุ เวลา 09.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน 2529 ซึ่งจะเดินทางมารับฟังปัญหาของประชาชนด้วยตนเอง ทำให้ประชาชนต่างคาดหวังที่จะได้พบและเสนอปัญหาของตนต่อรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบคนนี้

การลุกฮือของฝูงชนกับเหตุการณ์จลาจล

เมื่อข่าวว่านายจิรายุจะเดินทางมารับฟังปัญหาแพร่ออกไป ตั้งแต่วันที่ 22 ชาวภูเก็ตได้เตรียมการให้การต้อนรับนายจิรายุกับคณะที่จะเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เตรียมขบวนต้อนรับ และเตรียมคณะผู้เจรจาให้ยืนยันปิดโรงงานสถานเดียวและร้านค้าเตรียมปิดทั้งจังหวัดในวันรุ่งขึ้น เช้าวันที่ 23 นายจิรายุเดินทางมาถึงสนามบินจังหวัดภูเก็ตเวลาประมาณ 8.45 น. มีขบวนข้าราชการพ่อค้าประชาชนนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนายสนอง รอดโพธิ์ทองไปให้การต้อนรับ ขณะเดียวกันประชาชนฝ่ายคัดค้านประมาณ 600 คนก็ได้เดินทางมาต้อนรับเช่นกันและได้แสดงอาการโห่ขึ้นทันทีที่นายจิรายุไปถึง พร้อมกันนั้นผู้ประท้วงในกลุ่มของผู้สมัครสส.เบอร์ 6 นายเรวุฒิ จินดาพลยังได้แห่โลงศพประธานบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมฯ มาด้วย หลังจากนั้นนายจิรายุได้เดินทางไปสักการะอนุสาวรีย์ท้าวเทพสตรีท้าวศรีสุนทรระหว่างทางเข้าเมืองภูเก็ตในเวลาประมาณ 9.15 น.ปรากฏว่ามีประชาชนมาชุมนุมอยู่ราว 3 พันคนได้โห่ร้องแสดงความไม่พอใจต้อนรับ และเมื่อเดินเข้าไปสักการะอนุสาวรีย์ก็มีฝูงชนเข้ามาห้อมล้อมจนเกิดความวุ่นวายขึ้น และมีฝูงชนเข้ามาทุบรถยนต์ที่นายจิรายุนั่งมาและมีบางส่วนนอนขวางทางไม่ให้รถเคลื่อนไปได้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องขอร้องจึงเดินทางต่อไปได้ โดยนายจิรายุมีกำหนดการไปพบและชี้แจงกับประชาชนที่รออยู่ประมาณ 60,000 คนที่ชุมนุมอยู่ที่ศาลาประชาคมเวลา 9.30 น. แต่เนื่องจากความวุ่นวายของสถานการณ์และการสกัดกั้นของประชาชนทำให้นายจิรายุนั่งรถดูรอบๆและเข้าพักในโรงงแรมภูเก็ตเมอร์ลินที่เตรียมเอาไว้ล่วงหน้าแล้วและตัดสินใจยุติกำหนดการเดินทางไปพบประชาชนที่ศาลาประชาคมตามที่สัญญาไว้ และออกเดินทางจากจังหวัดภูเก็ตไปในเวลาประมาณ 11.00 น . [7]

ในขณะที่ผู้ชุมนุมที่รอพบนายจิรายุอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนจัดเริ่มแสดงความไม่พอใจเมื่อถึงเวลานัดแล้วนายจิรายุไม่มาพบและมีขาวว่าเดินทางไปดูโรงงานก่อนเพราะรถติดมากเข้ามาทีชุมนุมไม่ได้ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 11.15น.มีการเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านในที่ชุมนุมให้ช่วยกันชี้แจงผู้ชุมนุมและควบคุมสถานการณ์ แต่กระแสข่าวการไม่มาพบผู้ชุมนุมทำให้ผู้ร่วมชุมนุมไม่พอใจมากหลังจากเที่ยงวันจึงเริ่มปรากฏความรุนแรงจากฝูงชนด้วยการพยายามจุดไฟเผาศาลาประชาคมและกักตัวนักข่าว เวลาประมาณ 13.00น. ฝูงชนนับหมื่นมารวมตัวอยู่หน้าโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินและขอพบนายจิรายุแต่ผู้บริหารโรงแรมชี้แจงว่านายจิรายุเดินทางออกไปแล้วผู้ชุมนุมไม่เชื่อจึงขอค้นทางโรงแรมอนุญาตให้จัดตัวแทนเข้าค้นแต่มีความเข้าใจผิดจากตำรวจที่ชี้ปืนไปยังผู้ชุมนุมจึงทำให้ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งปาสิ่งของเข้าใส่โรงแรมและมีบางส่วนเข้าทำลายทรัพย์สินของทางโรงแรม จนกระทั่งเวลา 15.30 น.ตำรวจได้รับรายงานว่าประชาชนส่วนหนึ่งบุกเข้าเผารถตู้ของโรงแรมและตัวอาคารจนเกิดความโกลาหลไปทั่ว

ในขณะเดียวกันเวลา 14.00 น.มีผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งราว 10,000 คนไปชุมนุมอยู่หน้าโรงงานก่อนจะบุกพังทลายกำแพงและราดน้ำมันจุดไฟเผาโรงงานขึ้น จนเกิดไฟลุกท่วมไปทั้งโรงงานและฝูงชนยังขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปปฏิบัติงานด้วย ตลอดทั้งบ่ายจังหวัดภูเก็ตเต็มไปด้วยความโกลาหลจากฝูงชนที่พยายามทำลายทรัพย์สินของเอกชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแทนทาลัมด้วยความโกรธแค้น และยังทำลายทรัพย์สินของทางราชการป้อมตำรวจและไฟสัญญาณจราจรเสียหายหลายแห่ง โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะไม่มีผู้บังคับบัญชาสั่งการ จนกระทั่งเวลา 17.30 น.จึงมีตำรวจและทหารเข้าเคลียร์พื้นที่หน้าโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินโดยใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่ค่อยๆ สลายตัวไปออกันตามจุดต่างๆ ต่อมาในช่วงค่ำรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ค่อยเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ ต่อมาได้จับกุมผู้ร่วมจลาจลเพิ่มขึ้นอีกหลายคน

จากเหตุการณ์จลาจลมีการเผาโรงงานแทนทาลัมและบุกทำลายโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินคาดว่าได้ก่อความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท จนกระทั่งวันที่ 30 มิถุนายน นายสนอง รอดโพธิ์ทองได้รับคำสั่งย้ายเข้าเป็นผู้ตรวจการในกระทรวงมหาดไทยเพื่อลงโทษในกรณีที่ปล่อยให้มีการจลาจลขึ้น ส่วนกรรมการบริษัท ไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสตรีประเทศไทยจำกัดได้ประชุมกันในวันที่ 27 มิถุนายนมีมติให้ย้ายโรงงานจากภูเก็ตไปตั้งที่อื่น ทั้งนี้แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะพิจารณาถึงความเหมาะสม และในวันต่อมาก็ได้มีการจับกุมนายเรวุฒิ จินดาพลผู้สมัครสส.ภูเก็ตเบอร์ 6 พรรคพลังใหม่กับน้องชายคือนายรณชัยในข้อหาร้ายแรงร่วมกับพวกเกิน 10 คน ก่อการจลาจลยุยงส่งเสริมให้มีการเผาทรัพย์สินเอกชนและทรัพย์สินสาธารณะ และจากแถลงการณ์ของรัฐบาลกรณีเกิดความไม่สงบในจังหวัดภูเก็ตจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่แล้วนั้น สรุปว่ามีผู้เข้าร่วม 2 กลุ่มคือผู้เข้าร่วมคัดค้านโดยสันติวิธีมาตั้งแต่ต้น กับอีกพวกหนึ่งคือกลุ่มผู้ถือโอกาสนำเหตุการณ์ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ต่อตนทางการเมืองและธุรกิจ ซึ่งได้ทำการยั่วยุประชาชนโดยทำให้เกิดความโกรธแค้นและสร้างสถานการณ์ให้นำไปสู่การเข้าใจผิดของประชาชนชาวภูเก็ตจนเกิดจลาจลขึ้น

เบื้องหลังการจลาจลและผลประโยชน์จากแทนทาลัม

แม้ว่าการเกิดเหตุการณ์จลาจลนั้นหลายฝ่ายต่างพยายามสรุปว่าเกิดจากการควบคุมมวลชนไม่มีประสิทธิภาพและปล่อยให้เกิดอารมณ์ของฝูงชนจากการรอคอยที่ยาวนานแล้วไม่สมหวัง ต่างมีอารมณ์จากความร้อนของอากาศ ความหิว และความหงุดหงิดที่ไม่ได้รับการตอบสนองดังที่คาดหวังเพราะไม่มีผู้รับผิดชอบ แต่ได้มีการวิเคราะห์กันถึงเหตุผลที่คนภูเก็ตมาร่วมชุมนุมต่อต้านโรงงานแทนทาลัมจนถึงขั้นลุกฮือขึ้นก่อจลาจลของชาวภูเก็ตในครั้งนั้นว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังจากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนมากเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้จากสาเหตุภายในโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจและพัฒนาการทางประวัติสาสตร์ของภูเก็ตเอง

สาเหตุหนึ่งที่พยายามอธิบายกันคือความไม่พอใจของชาวภูเก็ตที่ดูเหมือนกับถูกหลอกมาตลอดเวลาหลายสิบปีในเรื่องแร่แทนทาลัม และผลประโยชน์ทั้งหมดได้ตกอยู่กับนายทุนเพียงไม่กี่คน และการสร้างโรงงานขึ้นก็มีผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงนายทุนไม่กี่คน ที่สำคัญคือมลพิษจากโรงงานอาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจการท่องเที่ยงของภูเก็ตที่กำลังเติบโตอย่างมาก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั่วถึงมากกว่า การประท้วงอย่างแข็งขันของผู้ประกอบการท่องเที่ยวดูจะให้ความกระจ่างต่อเรื่องนี้ได้ดี

ประการที่สองมีสาเหตุมาจากการแข่งขันทางการเมืองโดยใช้ประเด็นโรงงานแทนทาลัมเพื่อแย่งชิงคะแนนนิยมจากประชาชนชาวภูเก็ตในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นการต่อสู้กันของกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอำนาจหลายกลุ่ม บางกลุ่มอย่างเช่นกลุ่มของผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 6 พรรคพลังใหม่ที่ชื่อเรวุฒิ จินดาพล ก็มาในมาดแปลกด้วยการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าถ้าเขาได้รับเลือกเข้าสภาเป็น ส.ส. ก็จะต่อสู้เรื่องแทนทาลัมอย่างหัวชนฝาไม่ให้โรงงานนี้เปิดได้ และหากทำไม่สำเร็จเขาก็เตรียมโลงศพเอาไว้แล้ว 3 โลง โลงหนึ่งสำหรับผู้อนุญาตให้ตั้งโรงงานฯ อีกโลงหนึ่งสำหรับเจ้าของโรงงานนายเอี๊ยบ ซุน อัน และโลงสุดท้ายสำหรับตัวเขา เพราะเขาจะยิงตัวตายทันทีที่หน้ารัฐสภา

ในขณะที่นักวิชาการด้านสังคมวิเคราะห์ว่าการต่อสู้ด้วยพลังมวลชนเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ในภูเก็ตนั้นสะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการมาในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของภูเก็ตเอง ตั้งแต่ยุคของการก่อจลาจลอั้งยี่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาแล้ว เนื่องจากมีนายทุนที่สะสมทุนและต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กันมาโดยตลอดในภูเก็ต ความขัดแย้งกันด้านผลประโยชน์ของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่เป็นนายทุนเชื้อสายจีนเหล่านี้นี่เองที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งจนนำไปสู่การนำพลังประชาชนมาเป็นเครื่องมือในการก่อจลาจลขึ้นครั้งนี้ โดยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แหลมคมระหว่างธุรกิจเหมืองแร่ที่มีมายาวนานและเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจภูเก็ตกับธุรกิจใหม่ที่หลายตระกูลเริ่มหันไปจับและกำลังรุ่งเรืองสุดขีดนั่นคือธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งความขัดแย้งที่สำคัญคือการก่อมลพิษของเหมืองแร่ที่อาจจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวโดยตรง

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของภูเก็ตหลังการจลาจล

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์จลาจลเผาโรงงานไทยแลนด์แทนทาลัมในปลายทศวรรษ 2520 เริ่มมีกลุ่มทุนท้องถิ่นบางกลุ่มที่เบนเข็มทิศการทำธุรกิจมาสู่การท่องเที่ยว เนื่องจากเห็นแล้วว่า ถึงที่สุดอนาคตของภูเก็ตหนีไม่พ้นที่ต้องเปลี่ยนจากเมืองทำแร่ที่ดำรงมานาน มาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตได้ดีและมีทีท่าว่าสามารถหากินได้ไม่หมดสิ้น การลงทุนด้านการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล การสร้างโรงแรมที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆกำลังดำเนินไปด้วยดีและนำภูเก็ตไปยังทิศทางของการเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่การทำเหมืองกลับขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงเพราะเป็นกิจการที่ก่อความสกปรกให้เกิดไปทั่วพื้นที่

หลังเหตุการณ์จลาจลการทำเหมืองแร่บนเกาะภูเก็ตแทบจะยุติลงไปโดยสิ้นเชิง พื้นที่ที่เคยเป็นขุมเหมืองถูกพัฒนาใหม่ขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรือขุดแร่กลางทะเลที่เคยบดบังทัศนียภาพความสวยงามของชายหาดเริ่มหายไป โครงการก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ทตามชายหาดต่างๆ เริ่มขยายตัวขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่สำคัญคือมีเม็ดเงินจากหลากหลายแหล่ง "ทุน" เริ่มต้นหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ภูเก็ต หลังจากรัฐบามีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในต้นทศวรรษ 2530 ก็เลยทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัวและมีชีพจรเศรษฐกิจหมุนวนอยู่กับการท่องเที่ยวจนปัจจุบัน

ในอีกด้านหนึ่งกรณีแทนทาลัมได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยมากขึ้น จนสามารถเป็นกระแสที่สามารถต่อต้านการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ การต่อต้านโรงงานแทนทาลัมจนนำไปสู่การจลาจลนับเป็นจุดสำคัญของการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งด้วย ที่พิสูจน์ว่ากระแสสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่คนในสังคมให้ความสนใจมากขึ้น

ที่มา

กระทรวงอุตสาหกรรม. รายงานสรุปเรื่อง การศึกษาเกี่ยวกับอันตรายและปัญหามลพิษของโรงงานบริษัท ไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสตรี จำกัด. กรุงเทพฯ: กระทรวงอุตสาหกรรม, 2529.

กองบรรณาธิการ, “เบื้องหลัง”แทนทาลัม” ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์”, ผู้จัดการรายเดือน ปีที่3 ฉบับที่ 34 (กรกฎาคม 2529), หน้า 55.

กองบรรณาธิการมติชน. ขุมทองแทนทาลัม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2529.

ประทุมพร วัชรเสถียร. “วิกฤตการณ์แทนทาลัมคำถามจากสามัญสำนึก”. มติชน. (วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2529). หน้า 7.

ภูวดล ทรงประเสริฐ. “การจลาจลบนเกาะภูเก็ต”. มติชน (วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2529). หน้า 7.

มติชน, วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2529.

มติชน, วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2529.

มติชน, วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2529.

มติชน, วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2529.

มติชน, วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2529.

มติชน, วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2529.

อ้างอิง

  1. กองบรรณาธิการ, “เบื้องหลัง”แทนทาลัม” ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์”, ผู้จัดการรายเดือน ปีที่3 ฉบับที่ 34 (กรกฎาคม 2529), หน้า 49-50.
  2. กองบรรณาธิการ, “เบื้องหลัง”แทนทาลัม” ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์”, ผู้จัดการรายเดือน ปีที่3 ฉบับที่ 34 (กรกฎาคม 2529), หน้า 46.
  3. กองบรรณาธิการ, “เบื้องหลัง”แทนทาลัม” ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์”, ผู้จัดการรายเดือน ปีที่3 ฉบับที่ 34 (กรกฎาคม 2529), หน้า 55.
  4. มติชน, วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2529 หน้า 1-2.
  5. มติชน, วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2529, หน้า 2.
  6. มติชน, วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2529.
  7. มติชน, วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2529, หน้า 1,16.