Gerrymandering

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:49, 7 สิงหาคม 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : อำนาจ ธนานันทชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          กลวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบต่อการนับผลคะแนน หรือที่รู้จักกันในเทอมของคำว่า Gerrymandering ซึ่งต้นกำเนิดของศัพท์คำนี้มีที่มาจากชื่อของนาย Elbridge Gerry ผู้ว่าการรัฐ Massachusetts อีกทั้งยังเป็นหนึ่งใน 56 ผู้ลงนามในคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (Declaration of Independence) ในปี ค.ศ. 1776 จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาของมลรัฐในปี ค.ศ. 1812 Elbridge Gerry ได้ใช้อำนาจของตนในฐานะผู้ว่าการรัฐออกกฎหมายปรับเปลี่ยนเขตการเลือกตั้งใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่พรรคของตนเองซึ่งในขณะนั้นคือพรรค Democratic-Republican Party จนมีชัยชนะเหนือพรรค Federalist Party ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งในการเลือกตั้งขณะนั้น การกระทำดังกล่าวของเขาถูกสื่อท้องถิ่นวิจารณ์อย่างหนักและมีการวาดแผนภาพล้อเลียนการแบ่งเขตที่สร้างความไม่เป็นธรรมนี้จนออกมาเป็นรูปของสัตว์ประหลาดที่มีลักษณะคล้ายกับตัวซาลาแมนเดอร์ โดยมีการประดิษฐ์คำขึ้นใหม่ที่ใช้ชื่อสกุล Gerry มาผสมกับคำว่า Salamander จนกลายมาเป็นคำว่า Gerrymander ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ 

 

Gerrymandering (1).png
Gerrymandering (1).png

ที่มา : Public Wise Research (2022b)

 

          ทั้งนี้ สารานุกรม Britannica ได้ให้นิยาม Gerrymandering ไว้ว่าเป็นการกระทำในการกำหนดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้งอันเป็นไปในทางที่ให้ผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมแก่พรรคการเมืองหนึ่งหรือไปลดทอนคะแนนเสียงของชนกลุ่มน้อยทางภาษาหรือชาติพันธุ์อื่น 

 

          “The practice of drawing the boundaries of electoral districts in a way that gives one political party an unfair advantage over its rivals or that dilutes the voting power of members of ethnic or linguistic minority groups.” (Duignan, 2023)

 

          เมื่อพิจารณาถึงที่ไปที่มาในความหมายของศัพท์คำนี้ จะเห็นถึงนัยยะสำคัญในเรื่องของการใช้กลวิธีที่สร้างความไม่เป็นธรรมโดยใช้หลักทางคณิตศาสตร์มาสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้ง ในการได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนในระบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา โดยหลักแล้วจะคำนึงถึงปัจจัยทางด้านจำนวนประชากร ภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง กระนั้น การใช้กลวิธีแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ก่อให้เกิดการบิดเบือนผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง เพราะแทนที่จะได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชน กลับกลายเป็นการได้มาซึ่งตัวแทนของพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เกิดขึ้น (Public Wise Research, 2022a) นั่นเพราะเป็นผลสืบเนื่องจากการลงคะแนนเสียงของประชากรในเขตนั้น ๆ ถูกกำหนดขึ้นใหม่จากการปรับ/เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่เลือกตั้งจนส่งผลกระทบต่อสัดส่วนฐานเสียงของแต่ละพรรคการเมืองภายในเขตเลือกตั้งจนนำไปสู่ชัยชนะในเกมการเมืองผ่านตัวเลขจากระบบการลงคะแนน (Mathematic triumph of politics)

          ในสหรัฐอเมริกาการทำความเข้าใจการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือ Gerrymandering ในเบื้องต้น ควรที่จะต้องเข้าใจถึงเรื่องของวิธีการแบ่งสัดส่วนใหม่อีกครั้ง (reapportionment) และการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ (redistricting) การแบ่งสัดส่วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดสรรจำนวนผู้แทนในแต่ละมลรัฐตามขนาดของประชากร ซึ่งโดยปกติแล้วการแบ่งสัดส่วนของผู้แทนตามแต่ละมลรัฐมักเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญมากเท่าใดนัก (Public Wise Research, 2022b) นั่นเป็นเพราะ จำนวนผู้แทนถูกกำหนดจากจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนผู้แทนในแต่ละมลรัฐไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาสหรัฐหรือสภาคองเกรส (Congress) ที่ซึ่ง 435 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และ 100 ที่นั่งในวุฒิสภา (Senate) ก็ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ในทางกลับกันการขีดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้งกลับเป็นเรื่องที่กลายเป็นประเด็นอย่างเด่นชัด เพราะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดการกระจายตัวของผู้แทนในระดับท้องถิ่น ซึ่งในมลรัฐเล็ก ๆ ที่มีประชากรจำนวนน้อยมักไม่พบปัญหาในเรื่องนี้มากนัก เพราะมักได้รับจัดสรรให้มีจำนวนผู้แทนเพียงคนเดียว แต่มักจะเกิดปัญหาในกรณีของมลรัฐขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้แทนหลายที่นั่ง และมักเกิดคำถามขึ้นว่าจะต้องใช้วิธีในการขีดเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้งแบบใดถึงจะเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่อาศัยอยู่ในมลรัฐนั้น ๆ เพื่อให้การเลือกตั้งมีการแข่งขันกันอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และได้มาซึ่งผู้แทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอย่างเเท้จริง

          Public Wise Research (2022b) ได้กล่าวถึง การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมไว้ว่ามีการใช้ 3 กลวิธี อันได้แก่

          1) การกะเทาะ (cracking) หมายถึง การลดทอนอำนาจหรือฐานเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ลดน้อยลงด้วยการจัดให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งหลายเขต

          2) การบรรจุ (packing) หมายถึง การมัดรวมเอาคะแนนเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้รวมอยู่ในเขตเดียวกันเพื่อเป็นการตีกรอบไม่ให้มีอำนาจในการออกเสียงในเขตอื่น และ

          3) การซ้อนทับ (stacking) หมายถึง การผนวกเอากลุ่มที่เป็นเสียงส่วนน้อย (minority) เข้าไปในกลุ่มของเสียงส่วนใหญ่ (majority) ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้กลุ่มของเสียงส่วนน้อยถูกกลืนหายไป

          ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า Gerrymandering ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากที่มีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ First-past-the-post system หรือ Winner-take-all กล่าวคือ พรรคที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งก็จะกวาดชัยชนะยกทั้งเขตมลรัฐนั้นไป

          เพื่อให้เห็นภาพของ Gerrymandering ได้ชัดเจนขึ้น สมมติให้มีการแข่งขันเลือกตั้ง 2 พรรค ระหว่างพรรคสีฟ้าและพรรคสีแดง จะเห็นได้ว่าจำนวนคะแนนเสียงของพรรคสีฟ้ามีมากกว่าพรรคสีแดง กล่าวคือ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 50 คน พรรคสีฟ้าจะได้คะแนนเสียงอยู่ที่ 30 คะแนน หรือ 60% ในขณะที่พรรคสีแดงได้คะแนนเสียงน้อยกว่าอยู่ที่ 20 คะแนน หรือ 40% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด หากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 5 เขต และมีผู้ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทน 1 คนต่อ 1 เขตเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งในอันที่ควรจะเป็นเพื่อความเป็นธรรม คือ การได้ผู้แทนตามสัดส่วนที่สะท้อนถึงเสียงของผู้เลือกตั้ง หรือก็คือ การที่พรรคสีฟ้าได้ผู้แทน จำนวน 3 คน และพรรคสีแดงได้ผู้แทน จำนวน 2 คน ตามลำดับ

 

Gerrymandering (2).png
Gerrymandering (2).png

 

          แต่วิธีในการลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต่างกันสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ในการเลือกตั้งที่ต่างกันแม้จะมีคะแนนคงเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการลากเส้นแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคใดพรรคหนึ่ง ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไป เช่น พรรคสีแดงไม่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนในทุกเขตเลือกตั้ง เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ไปสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมากให้กับพรรคสีฟ้าจนทำให้พรรคสีฟ้าสามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ หรือในกรณีที่การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กับพรรคสีแดงจากแต่เดิมได้ผู้แทนเพียงแค่ 2 คน เมื่อมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่กลับได้จำนวนผู้แทนเพิ่มขึ้นและกลายเป็นพรรคที่มีจำนวนผู้แทนเป็นเสียงข้างมากในสภาแทน

 

Gerrymandering (3).png
Gerrymandering (3).png

 

          แม้ว่า Gerrymandering หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งที่สร้างความไม่เป็นธรรมนั้นจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในการเลือกตั้งสหรัฐมาทุกยุคทุกสมัย แต่กระนั้นศาลสูงของสหรัฐ (Supreme Court) ก็ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่า Gerrymandering เป็นเรื่องที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ หรือกล่าวคือ ยังไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย นั่นเพราะรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ที่เป็นกลางในการพิจารณาว่าการแบ่งเขตการเลือกตั้งแบบใดที่สร้างความไม่เป็นธรรม (Lieb, 2019) อีกทั้งรัฐแต่ละรัฐต่างมีอิสระในการแบ่งเขตการเลือกตั้งตามจำนวนผู้แทนที่ถูกจัดสรรในเขตแดนของตน นั่นเพราะผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการแบ่งเขตการเลือกตั้ง คือ สภานิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐ (state legislature) ไม่ใช่รัฐบาลกลาง (federal government) ดังนั้น การจัดการกับ Gerrymandering จึงต้องอาศัยกฎหมายท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐนั้น ๆ ในการพิจารณาว่าการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้สร้างความไม่เป็นธรรมทางการเมืองนั้นละเมิดต่อบทบัญญัติของท้องถิ่นตนหรือไม่อย่างไร แต่กระนั้น หลายครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดระบุได้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นั้นเกิด Gerrymandering ขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว การลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นไม่ได้ถูกตีกรอบเป็นเส้นตรงหรือตารางรูปเหลี่ยมแบบเรขาคณิต แต่ถูกกำหนดด้วยการแบ่งตามตัวเลขจำนวนประชากรตามแต่ละเขตที่ต้องกำหนดเขตการเลือกตั้งให้มีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะอาศัยตัวเลขอ้างอิงการการทำสำมะโนประชากรในทุก 10 ปี ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในแต่ละเขตไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามธรรมชาติอย่างการเกิดและการตาย หรือการอพยพย้ายถิ่น เข้า-ออก ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการตีเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งสิ้น ความคลุมเครือในเรื่องของ Gerrymandering มักถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในช่วงที่มีการเลือกตั้งสหรัฐในทุกคราไม่ว่าจะเป็นสื่อทางการหรือสื่อท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนตื่นตัว และช่วยกันตรวจสอบถึงที่มาที่ไปในการแบ่งเขตเลือกตั้งว่ามีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน เนื่องด้วย เมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมาการกล่าวหาเรื่องความไม่เป็นธรรมในการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นกรณีพิพาทฟ้องร้องกันในศาลของสหรัฐอยู่มากมายหลายคดี (Wang, 2023)

          สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระในการทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งทุกประเภททั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อีกทั้งมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน วินิจฉัยชีขาดประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และที่สำคัญ กกต. ยังมีอำนาจในการกำหนดแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นเสมือนสนามชิงชัยทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองในแต่ละพื้นที่

          เมื่อครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ได้มีการปรับลดสัดส่วน สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ลงเหลือ 350 ที่นั่ง จะเดิมที่มี จำนวน 375 ที่นั่ง อันเนื่องจากบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้ต้องมีการลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เดิมนั้น ตามหลักแล้ว เขตการเลือกตั้งเดียวกันจะต้องมีพื้นที่ติดต่อกันและมีเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน อีกทั้งยังห้ามแยกหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลเดียวกันออกจากกันในการตีเส้นแบ่งเขตใหม่ (รังสรรค์, 2541) แต่ในช่วง ปี 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์_จันทร์โอชา ได้มีการใช้ มาตรา 44 ให้อำนาจแก่ กกต. สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไรก็ได้เพื่อทันกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทำให้เกิดการฝ่าฝืนหลักการแบ่งเขตเลือกตั้งแต่เดิมที่มีมา เช่น มีการแยกตำบลออกจากกัน ภายหลังการประกาศเขตเลือกตั้งใหม่นั้น พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 11 จังหวัด ที่มีเขตเลือกตั้งไม่เหมือนกับที่ กกต. ประกาศออกมาในครั้งแรก ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ ชัยนาท นครปฐม เชียงราย อุดรธานี สกลนคร มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และนครราชสีมา (iLaw, 2561) ซึ่งเป็นที่ครหาว่าเป็นการแบ่งเขตที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเวลานั้น 

          ล่าสุดการเลือกตั้งในปี 2566 สภาได้มีมติให้นำระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานที่เคยใช้ก่อน ปี 2560 กลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้มีการปรับสัดส่วน สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้น 50 ที่นั่ง จากแต่เดิม 350 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง ปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 400 ที่นั่ง ทำให้ต้องมีการปรับเขตการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้คำนวณเฉพาะจำนวนประชาชนที่มีสัญชาติไทยแล้วหารแบ่งเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตใหม่ครั้งนี้พบว่า การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งได้ส่งผลต่อการ เพิ่ม-ลด จำนวน สส. ใน 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ปัตตานี ลพบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ เชียงราย ตาก และสมุทรสาคร (ThaiPBS, 2566) เป็นที่น่าสนใจว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้เกิดข้อพิรุธในการแบ่งเขตเลือกตั้งจนนำไปสู่การยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุดใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สุโขทัย และสกลนคร โดยเหตุแห่งการฟ้องคดีมีที่มาจากข้อกล่าวหาต่อทาง กกต. ที่ได้แบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการรวมแขวง/ตำบลให้เป็นเขตเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ได้ยึดเอาหลักเกณฑ์รวมเขตปกครอง/อำเภอเป็นเขตเลือกตั้งตามที่เกณฑ์ใน มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง (ผู้จัดการออนไลน์, 2566)

          ต่อมาทางศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยมีถ้อยแถลงว่า การเพิ่มขึ้นของเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2566 เป็นผลอันเนื่องมาจากการเพิ่งขึ้นของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้มีจำนวน สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมี จำนวน 400 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 50 คนจากแต่เดิม ทำให้ต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดเพิ่มตามตามสัดส่วนที่ถูกกำหนดจากค่าเฉลี่ยของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งต่อ จำนวน สส. 1 คน เมื่อคำนวณแล้วจังหวัดใดที่มี สส. ได้เกิน 1 คน ให้แบ่งจังหวัดนั้นออกเป็นเขตเลือกตั้ง โดยที่เขตเลือกตั้งต้องมีพื้นที่ติดต่อกันและสามารถคมนาคมได้สะดวก รวมถึงต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันของจำนวนราษฎรในแต่ละเขต ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นตัวตั้งตามเกณฑ์ของ กกต. ไม่พบว่ามีสัดส่วนที่มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 10 ของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตจนเกินไป ศาลพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้ยกฟ้อง

 

อ้างอิง

ภาษาไทย

ผู้จัดการออนไลน์. (2566). พิจารณานัดแรกฟ้องแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร มิชอบ ตุลาการผู้แถลงคดีแนะยกฟ้องตาม รธน. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก https://mgronline.com/politics/detail/9660000031437

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. (2541). Redistricting กับ Gerrymandering. ผู้จัดการรายวัน. สืบค้นจาก http://www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/06/03-41/09-01-Redistricting%20กับ%20Gerrymandering.pdf

iLaw. (2561). เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตเลือกตั้งโดย คสช. สืบค้นจาก https://ilaw.or.th/node/5046

ThaiPBS. (2566). กกต.คำนวณราษฎรแบ่งเขตใหม่ พบ 8 จังหวัด สส.เพิ่ม-ลด. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/325176

ภาษาต่างประเทศ

Duignan, B. (2023). Gerrymandering. In Encyclopedia Britannica. Retrieved from https://www.britannica.com/topic/gerrymandering

Lieb, D.A. (2023). Why is partisan gerrymandering OK under US Constitution?. Retrieved from https://apnews.com/article/54499d87807a4460a2c5ef4fb08d8c36

Public Wise Research. (2022a).The impacts of gerrymandering. Retrieved from https://publicwise.org/publication/the-impacts-of-gerrymandering/

Public Wise Research. (2022b). What is gerrymandering?. Retrieved from https://publicwise.org/publication/what-is-gerrymandering/

Wang, H.L. (2023). Is drawing a voting map that helps a political party illegal? Only in some states. Retrieved from https://www.npr.org/2023/05/17/1173469584/partisan-gerrymandering-explainer-north-carolina