หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:32, 20 มิถุนายน 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย มุกสง และธัญญพร มากคง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          หลวงบรรณกรโกวิท หรือ (เปา จักกะพาก) เป็นผู้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของไทย คือ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเป็นหนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่_2 ใช้ชื่อตำแหน่งในการเขียนประวัติส่วนตัวว่าผู้ช่วยกองบัญชาการเสรีไทย ซึ่งอยู่ในบทบาทฝั่งข้าราชการพลเรือนและอยู่ในกลุ่มคนสนิทของ นายปรีดี_พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎร

 

ประวัติชีวิต

          หลวงบรรณกรโกวิท เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 เป็นบุตรคนที่สองของ นายอี้และนางอุ้ย จักกะพาก[1] มีต้นตระกูลเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4[2] เมื่อเติบโตขึ้นหลวงบรรณกรโกวิท ได้เข้าศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนวัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข) กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาเนติบัณฑิตและรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อวันที่ 24_มิถุนายน_พ.ศ._2475 หลวงบรรณกรโกวิทได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวในการเปิดประชุมสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 และดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขานุการกระทรวงการคลังในระยะที่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[3] ในสมัยรัฐบาลของคณะราษฎรหลวงบรรณกรโกวิทดำรงตำแหน่งอยู่ในกรมศุลกากรโดยมีตำแหน่งสำคัญคือ พ.ศ. 2483 เป็นอธิบดีกรมศุลกากร พ.ศ. 2487-2490 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงสมัยรัฐบาล นายทวี_บุณยเกตุ ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร พ.ศ. 2490[4]

 

ความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

          แม้ว่าหลวงบรรณกรโกวิทจะไม่ใช่หนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎรหรือมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่บันทึกความทรงจำได้ระบุไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ข่าวว่ามีผู้คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองซึ่งข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย[5] แต่ในวันก่อการกลับปรากฏว่าไม่ได้เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นหลวงบรรณกรโกวิทก็ได้รับความไว้วางใจจาก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรและ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนให้ย้ายจากการทำงานในกระทรวงการคลังมาช่วยงานอยู่ในตำแหน่งผู้จดรายงานการประชุมกรรมการคณะราษฎร รวมทั้งช่วยงานกระทรวงการคลังของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งขณะนั้นอิทธิพลในการบริหารงานยังอยู่กับฝ่ายคณะราษฎร และหลวงบรรณกรโกวิทมีส่วนร่วมอยู่ในงานของคณะราษฎรในด้านราชการฝ่ายการคลังมาโดยตลอด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหลวงบรรณกรโกวิทรับราชการและมีความชำนาญในการบริหารจัดการกระทรวงดังกล่าวมาเป็นเวลานาน

 

ภารกิจภายในขบวนการเสรีไทย

          ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตลอดระยะเวลาที่ทหารญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทย คนไทยได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นทั้งในประเทศและนอกประเทศ แบ่งช่วงการต่อต้านได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นระยะที่คนไทยภายในประเทศ คนไทยในอเมริกาและอังกฤษก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศนั้น ๆ และดำเนินงานแบบต่างตนต่างทำไม่ร่วมมือกัน ส่วนระยะที่สอง ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487-2488 ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเข้ามาร่วมมือประสานงานกัน โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ 8 เป็นหัวหน้า ใช้ชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement)”[6]

          จุดเริ่มต้นของขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้น ณ บ้านพูนศุข บริเวณป้อมเพชร์นิคม ถนนสีลมของนายปรีดี เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศไทย นายปรีดีและคนสนิทหลายคนเช่น นายสงวน ตุลารักษ์ หลวงบรรณกรโกวิท หลวงเดชาติวงศ์ วราวัฒน์ นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล และนายจำกัด พลางกูร มีความเห็นตรงกันว่าราษฎรไม่อาจหวังพึ่งรัฐบาลว่าจะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้สมบูรณ์ได้[7] จึงต้องรวมตัวกันต่อต้านญี่ปุ่นโดยไม่รอดูความคืบหน้าของการของการสงครามระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย ขบวนการเสรีไทยจึงได้กำหนดภารกิจคือ ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกรานโดยพลังของคนไทยผู้รักชาติ และร่วมกับสัมพันธมิตร ประการที่สอง คือ ปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร และภายหลังได้เพิ่มภารกิจว่าต้องปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงครามและเพื่อการผ่อนหนักเป็นเบา[8] เมื่อสามารถขยายจำนวนสมาชิกได้มากขึ้น เสรีไทยจึงได้จัดตั้งคนให้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นและติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีคณะผู้ปฏิบัติงานตามสายงานต่าง ๆ ประกอบด้วย พลตำรวจเอกอดุล_อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าใหญ่และผู้ควบคุมฝ่ายตำรวจ นายดิเรก_ชัยนาม หัวหน้ากองกลาง นายวิจิตร_ลุลิตานนท์ เลขาธิการ นายทวี_บุณยเกตุ หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ วิทยุสื่อสาร หน่วยรับส่งคนเข้าออก หน่วยจ่ายอาวุธ พลโทชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ หัวหน้าฝ่ายทหารบก พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ หัวหน้าฝ่ายทหารเรือและหน่วยสารวัตรทหาร นายทวี_ตะเวทิกุล หัวหน้ากองคลัง หลวงบรรณกรโกวิท หัวหน้าการรับส่งทางเรือ นายสะพรั่ง เทพหัสดิน หัวหน้าการรับส่งทางบก นาวาเอกบุง ศุภชลาศัย หัวหน้าอาสาพลเรือน มีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นกองบัญชาการและใช้เป็นคลังเก็บอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังของสัมพันธมิตร[9] ในส่วนของหลวงบรรณกรโกวิทขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศุลกากรได้เริ่มปฏิบัติงานช่วงปี พ.ศ. 2486 โดยขนส่งคนและสัมภาระที่ส่งมาจากเครื่องบินของสัมพันธมิตรในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำกลับมาที่กรุงเทพฯ ด้วยเรือศุลกากร 17 [10] และได้ส่งบุตรชาย 3 คน คือ นายปุณสิริ นายปิยะ และนายประภาส จักกะพาก เข้าร่วมปฏิบัติงานกับเสรีไทยในอินเดียและศรีลังกา[11]

          นอกจากเหตุผลทางด้านการเมืองไทยและสถานการณ์สากลของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นระหว่างนายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2482 ได้แสดงออกถึงอุดมการณ์ส่วนตัวโดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสันติภาพ ซึ่งควรจะเป็นเป้าประสงค์อันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติผ่านบทภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อยุธยา เรื่องพระเจ้าช้างเผือก[12] ที่ถ่ายทำเป็นภาษาอังกฤษเพราะต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศ เพื่อประกาศให้ชาวโลกทราบว่าราษฎรไทยรักสันติภาพ คัดค้านสงคราม หลังถ่ายทำเสร็จได้นำออกฉายครั้งแรกที่ นิวยอร์ก สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484[13] และผลงานที่โดดเด่นในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทำให้นายปรีดีได้รับความเชื่อถือศรัทธาอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการข้าราชการพลเรือน นักธุรกิจ และผู้มีการศึกษา[14] การแสดงออกถึงความนิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตยนี้เองอาจเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงกลุ่มข้าราชการพลเรือน ซึ่งบางส่วนเป็นเครือข่ายของผู้มีส่วนร่วมกับคณะราษฎรตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ยังคงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยให้เข้าร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนายปรีดีเมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายทหารในฝั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่โน้มเอียงไปในทางอำนาจนิยมในช่วงเวลาดังกล่าว หลวงบรรณกรโกวิท จัดอยู่ในบุคคลใกล้ชิดที่ทำงานร่วมกับ นายปรีดี พนมยงค์ มาโดยตลอด เห็นได้จากการที่ได้เข้าพบนายปรีดีในเวลาส่วนตัวหลายโอกาส เช่น เดินทางไปส่งนายปรีดีที่ท่าเรือ ในวันที่ 12 เม.ย. 2476[15] ขณะต้องลี้ภัยไปสิงคโปร์ช่วงสั้น ๆ ในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หลังกรณีสมุดปกเหลืองหรือความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือนำบุตรชายเข้าพบ ณ ทำเนียบท่าช้าง บ้านพักของนายปรีดีก่อนเดินทางไปร่วมฝึกกับเสรีไทยในต่างประเทศ[16] และมักเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกเรียกตัวและได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติงานสำคัญภายใต้การนำของนายปรีดี

          ดังนั้นความสัมพันธ์ ตำแหน่ง และบทบาททางเมืองของหลวงบรรณกรโกวิทจึงสอดคล้องอย่างชัดเจนกับ นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ เพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์_ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทหารที่สนับสนุนนายปรีดี การรัฐประหารครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่งในระบอบการเมืองยุคใหม่ของไทย เพราะผลของการรัฐประหารไม่เพียงแต่เป็นการปิดฉากยุคการปกครองของพลเรือนภายใต้เสรีไทยเท่านั้นแต่เป็นจุดสิ้นสุดของอำนาจทางการเมืองของกลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 ทั้งกลุ่มทหารบก ทหารเรือและข้าราชการจำนวนหนึ่ง[17] เหตุการณ์ครั้งนี้จึงส่งผลให้หลวงบรรณกรโกวิทได้รับคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร โดยการประกาศทางวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์วันที่เกิดการรัฐประหารนั้นเอง[18]

          หลังจากนั้นหลวงบรรณกรโกวิทไม่ได้กลับเข้ามารับราชการอีกพร้อม ๆ กับที่นายปรีดีก็ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศอย่างถาวร กระนั้นหลวงบรรณกรโกวิทก็ยังติดต่อใกล้ชิดกับ ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ อยู่ต่อมา แม้นายปรีดีจะเสียชีวิตไปแล้ว จนกระทั่งหลวงบรรณกรโกวิทเสียชีวิตในวัย 89 ปี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530[19]

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

แถมสุข นุ่มนนท์. เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สายธาร, 2544.

ทศ พันธุมเสน และ จินตนา ยศสุนทร. จากมหาสงครามสู่สันติภาพ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

นายสมจิตร ยศสุนทร, กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพรส แอนด์ กราฟฟิค, 2544.

พูนศุข พนมยงค์. “ชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงคราม และสันติภาพ,” ใน 72 ปี วันสันติภาพไทย: สยามในยาม

สงคราม, บรรณาธิการโดย กษิดิศ อนันทนาธร กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560.

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. เสรีไทย วีรกรรมกู้ชาติ, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2542.

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500), กรุงเทพฯ: พี.เพรส, 2553.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, กรุงเทพฯ: บูรณะการพิมพ์, 2535.

แหล่งข้อมูลออนไลน์

เจริญ ตันมหาพราน, “ขุนจักกะพากพานิชกิจ กับ ศรีราชาในอดีต,” เฟซบุ๊ก, 21 ธันวาคม 2559, https://web.facebook.com/Charoen1948/posts/1456145674435371/?paipv=0&eav=AfaduFfKSOj4orfu5kV-aF11wxAjTjRTmIeCiw3Ih7vRPn06-I65XydWKcgvmu0nsso&_rdc=1&_rdr.

 

เชิงอรรถ

[1] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, (กรุงเทพฯ: บูรณะการพิมพ์, 2535), ส่วนประวัติไม่ระบุเลขหน้า.

[2] เจริญ ตันมหาพราน, “ขุนจักกะพากพานิชกิจ กับ ศรีราชาในอดีต,” เฟซบุ๊ก, 21 ธันวาคม 2559, https://web.facebook.com/Charoen1948/posts/1456145674435371/?paipv=0&eav=AfaduFfKSOj4orfu5kV-aF11wxAjTjRTmIeCiw3Ih7vRPn06-I65XydWKcgvmu0nsso&_rdc=1&_rdr.

[3]  อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, ส่วนประวัติไม่ระบุเลขหน้า.

[4] เรื่องเดียวกัน.

[5] เรื่องเดียวกัน, 3.

[6] แถมสุข นุ่มนนท์, เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2544), 163 - 164.

[7] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, เสรีไทย วีรกรรมกู้ชาติ, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2542), 85.

[8] ทศ พันธุมเสน และ จินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสมจิตร ยศสุนทร, (กรุงเทพฯ: บริษัท ธนาเพรส แอนด์ กราฟฟิค, 2544), 18.

[9] เรื่องเดียวกัน, 21-22.

[10] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, 58.

[11] เรื่องเดียวกัน, 75.

[12] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, เสรีไทย วีรกรรมกู้ชาติ, 83.

[13] พูนศุข พนมยงค์, “ชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงคราม และสันติภาพ,” ใน 72 ปี วันสันติภาพไทย: สยามในยามสงคราม, บรรณาธิการโดย กษิดิศ อนันทนาธร (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560). 42.

[14] วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, เสรีไทย วีรกรรมกู้ชาติ, 78.

[15] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, 19.

[16] เรื่องเดียวกัน, 75.

[17] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500), (กรุงเทพฯ: พี.เพรส, 2553), 6.

[18] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, 2.

[19] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหลวงบรรณกรโกวิท, ส่วนประวัติไม่ระบุเลขหน้า.