ชังชาติ (Anti-Patriotism)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:21, 16 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          ชังชาติ (Anti-Patriotism) เป็นแนวคิดที่ต่อต้านความรักชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเห็นว่าการแสดงความรักชาตินำมาซึ่งการทำสงคราม รวมไปถึงการต่อต้านการสร้างกำลังกองทัพ การเกณฑ์ประชาชนให้ไปเป็นทหาร และการปกครองที่นำโดยคณะนายทหาร ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดนี้ได้นำมาสู่การเดินขบวนต่อต้านสงคราม และต่อต้านการปกครองโดยระบอบทหารและระบอบเผด็จการ ทั้งนี้ หากความรักชาติ (patriotism) เป็นแนวคิดหรืออุดมการณ์ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวหรือความรู้สึกร่วมกันอย่างเหนียวแน่นของคนในชาติ การชังชาติก็ถือเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นกัน

          กล่าวได้ว่า ในขณะที่ความรักชาติมีลักษณะของการเคารพอดีตและภูมิใจในเกียรติภูมิในความเป็นชาติของตนเองทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และสถาบันทางการเมืองที่ผู้คนให้ความเคารพ รวมไปถึงการกระทำในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมประเพณีที่ยึดถือว่าเป็นลักษณะหรือเอกลักษณ์ของคนในชาติ ตลอดจนความสามัคคีระหว่างคนในชาติในเชิงของความยึดมั่นในความเชื่อบางอย่างร่วมกัน ตัวอย่างเช่น การรำลึกถึงบรรพชนไทย กองทัพที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติบ้านเมืองให้ไทยคงความเป็นเอกราชตลอดมาทุกยุคทุกสมัย การรู้คุณค่าในศิลปวัฒนธรรมของไทยในด้านต่าง ๆ เพื่อหล่อหลอมความสามัคคีในหมู่คนไทยให้รักชาติ เป็นต้น แต่การชังชาติเป็นการตั้งคำถามต่อคุณค่าและสิ่งที่วัฒนธรรมหรือประเพณีนิยมดั้งเดิม ให้ความสำคัญหรือความเคารพรวมไปถึงความพึงพอใจต่อการมีชีวิตในสังคมการเมืองภายใต้ความเป็นชาติของตนเอง รวมไปถึงการลดลงของความภูมิใจในความเป็นพลเมืองและความรักชาติของตนเอง อีกทั้ง การแสดงออกถึงความรักชาติเป็นการแสดงออกที่มีเกียรติและได้รับการเคารพ การแสดงออกถึงการชังชาติโดยเฉพาะในสังคมที่ไม่เปิดกว้างให้เกิดความแตกต่างหลากหลายมักเผชิญกับเสียงเรียกร้องให้ปิดปากผู้เห็นต่างผ่านกฎหมาย รวมทั้งวิธีการที่ไม่เป็นทางการอย่างการสร้างแรงกดดันทางสังคม การสร้างภาวะให้รู้สึกถึงความผิดชอบชั่วดี ตลอดจนการสำนึกในบุญคุณต่อความสำคัญของอดีตและประวัติศาสตร์การสร้างชาติของตน เป็นต้น และในบางครั้งการตอบโต้ความคิดแบบชังชาติก็เป็นไปเพื่อให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังและหวาดกลัว รวมทั้งเป็นไปเพื่อบดบังข้อโต้แย้งทางการเมืองในประเด็นต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ

          ในกรณีของไทยนั้น คำว่า “ชังชาติ” ได้กลายเป็นคำที่ถูกหยิบมาล้อไปกับบริบทการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา และยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับกระแสที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูด และตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองที่ส่งผลกระทบกับทุกมิติของชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวรวมทั้งเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของชาติที่ดีกว่า ได้แก่ การปฏิรูปกองทัพ การมีรัฐสวัสดิการที่ดี การรณรงค์ไม่ให้มีการอ้างใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง การปฏิรูประบบอำนาจนิยมในโรงเรียน เป็นต้น เพื่อให้เกิดที่ต้องการปฏิรูปให้เกิดการเมืองแห่งความไม่เท่าเทียม และเป็นการเมืองแห่งความหวัง ตลอดจนเน้นย้ำความหมายของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าชาติไม่ได้แยกออกจากการเมือง เพราะชาติเป็นสิ่งที่สถาบันทางการเมืองสร้างขึ้น และความหมายของการเป็นชาติที่เกิดจากชนชั้นนำในอดีต ไม่สามารถที่จะปรับใช้ในบริบทของปัจจุบันได้อีกแล้ว

          โดยคำว่า “ชังชาติ” ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองไทยนั้น มีความหมายถึงการเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อความรักชาติของตนเอง ที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกเบื่อ เกลียด หรือสิ้นหวัง ทั้งยังได้เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นโดยบรรดากลุ่มคนที่เชื่อว่าตนเอง คือ “ผู้รักชาติ” เหนือกว่าผู้ใดและพร้อมผลักไสคนที่คิดต่างออกไปจนตกขอบความหมายของคำว่า ผู้รักชาติ ซึ่งคำนี้ได้รับการกล่าวถึงเมื่อแกนนำพรรคอนาคตใหม่ปราศรัยในงาน “อยู่ไม่เป็น” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 แล้วกล่าวว่าด้วยข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงท่าทีของพรรคถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกชังชาติ โดยเฉพาะใช้ในการโจมตีคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง นอกจากนี้การแปะป้ายถึงความชังชาติยังถูกหมายรวมไปถึงการมีแนวคิดแบบขบวนการต่อต้านกษัตริย์นิยม หรือ anti-royalist movement ด้วย ซึ่งถูกให้ความหมายจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยว่าเป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ ต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นภัยสำหรับผู้ที่แสดงออกอย่างไม่ถูกต้อง

          ต่อมาคำนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบกกล่าวขึ้น ในระหว่างร่วมงานวันพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ครบรอบ 133 ปี เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยกล่าวกับนักเรียนนายร้อยที่ร่วมงานในวันนั้นว่า "โควิด ถ้ารู้จักป้องกันตัวเอง ป้องกันคนรอบข้าง เป็นแล้วก็หาย แต่โรคที่เป็นไม่หายคือโรคชังชาติ รู้หรือเปล่า ใช่เปล่า โรคเกลียดชาติบ้านเมืองตัวเองรักษาไม่หาย เพราะว่ามีการเหน็บแนมประเทศตัวเอง" เพื่อใช้ตอบโต้คนไทยที่มีพฤติกรรมวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมประเทศไทยในด้านลบ ในระดับที่รุนแรงกว่าคนไม่รักชาติ ในความหมายโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่วิจารณ์หรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลและกองทัพ เป็นต้น ซึ่งภายหลังได้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากในสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการใช้แฮชแท็ก #ชังชาติ ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทยในช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยข้อความที่ตอบโต้แนวคิดของ พลเอกอภิรัชต์นั้น มีความหมายร่วมกันคือ ประชาชนไม่ใช่ไพร่ทาสที่ต้องยอมให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนกดขี่ และคำว่าชาติ มีความหมายเท่ากับประชาชน รวมทั้งชาติยังหมายถึงหลักการทางจิตวิญญาณที่หลอมรวมความแตกต่างของผู้คนเอาไว้ด้วยกัน ผ่านการรำลึกถึงความรุ่งเรืองที่เคยมีในอดีตร่วมกัน และเจตจำนงที่ต้องการจะสืบทอดความรุ่งเรืองนั้นต่อไป เป็นต้น ทั้งนี้การตอบโต้แนวคิดของ พลเอกอภิรัชต์ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่ากองทัพจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป

          เช่นเดียวกับการที่ นายแพทย์วรงค์_เดชกิจวิกรม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พยายามขับเคลื่อนให้เกิดกระแสต่อต้าน “คนชังชาติ” ได้ให้นิยามว่า คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำ ได้แก่ การจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ การไม่เอาศาสนา หรือเอาศาสนามาสร้างความขัดแย้ง การดูถูกประเทศชาติรวมทั้งวัฒนธรรมประเพณี การเอาต่างชาติมายุ่งกิจการภายในประเทศ และการไม่รับคำตัดสินของศาล เป็นต้น โดยนายแพทย์วรงค์ร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ร่วมจัดงานเสวนาการเมืองหัวข้อ “การอบรมหลักสูตรอุดมการณ์และการสื่อสารทางการเมือง” ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อต้านลัทธิชังชาติและเป็นการต่อสู้ทางความคิดกับกับพรรคอนาคตใหม่โดยตรง ในการทำลายความชอบธรรมของพรรคและฐานเสียงสนับสนุนในฐานะที่เป็นกลุ่มก้อนที่มีพลังทางการเมือง รวมทั้งการจัดเวทีไทยภักดีเพื่อพบปะประชาชนและเผยแพร่แนวคิดที่ตอบโต้ข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิตนักศึกษา

          อย่างไรก็ดีคำว่า ชังชาติ ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาและการสื่อสาร ที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของพรรคอนาคตใหม่และผู้สนับสนุนซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรค รวมไปถึงการวิจารณ์ต่อการแสดงท่าทีของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดนอกกรอบเดิมและแสดงท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและความเป็นไปในด้านต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางความคิดและการแสดงออกที่แตกต่างกันทางอุดมการณ์ การใช้คำว่า ชังชาติ เป็นคำโจมตีผู้เห็นต่าง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นการผูกขาดคำว่า “ชาติ” และ คำว่า “รัก” ไว้เพียงแค่รัฐบาล กองทัพ หรือผู้นำประเทศมากไปกว่าการให้ความสำคัญกับคำว่า “ชาติ” ซึ่งหมายถึง ประชาชน และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศซึ่งการโต้แย้งหรือเสนอทางเลือกอื่นคือการทำเพื่อชาติในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผลจากการใช้คำดังกล่าวโจมตีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพไม่ควรก้าวล่วงทางการเมืองและไม่ควรใช้คำพูด การสื่อสารหรือสร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

 

ภาพ คำกล่าวของ ธีรชัย ระวิวัฒน์ ในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 6 หัวข้อ "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ : ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563

Anti-patriotism.png
Anti-patriotism.png

ที่มา : “เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง”.สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/10/446 (23 ธันวาคม2563).

 

อ้างอิง

“ชังชาติคืออะไร? วิจารณ์รัฐบาลเรียกชังชาติไหม? เมื่อนักการเมืองสองวัยมองชังชาติต่างกัน”. สืบค้นจาก https://thematter.co/social/left-right-national-critics-view/94942 (26 ธันวาคม2564).

“ชังชาติ VS ชั่วชาติ”. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/122562 (3 กันยายน 2563).

“ชังชาติคืออะไร เป็นอันตรายไหม ผิดกฎหมายหรือเปล่า”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/world/606708 (3 กันยายน 2563).

“ชังชาติชังแต่ชื่อ”. สืบค้นจาก https://www.the101.world/origin-of-thai-anti-patriotism/ (3 กันยายน 2563).

“นักวิชาการวิพากษ์ โรคการเมือง-ชังชาติ”. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_2297128(3 กันยายน 2563).

“เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง”. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/10/446(23 ธันวาคม2564).

“ลัทธิสามกีบ” ชังชาติอันเลวร้ายของผู้พ่ายแพ้เสมอในชีวิตจริง”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/daily/detail/9640000126506 (25 ธันวาคม 2564).

“วันชาติไทย กำลังเลือนหายไป”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/128077 (23 ธันวาคม 2564).

“เสียงจากเยาวชนผู้ถูกแปะป้ายว่า ‘ชังชาติ’ หากการเมืองดี พวกเขาจะรักชาติกันอย่างไร”. สืบค้นจาก https://adaybulletin.com/know-agenda-if-politics-is-good/54838 (23 ธันวาคม2564).

“อภิรัชต์ คงสมพงษ์ : โควิดเป็นแล้วหาย แต่ “โรคชังชาติรักษาไม่หาย”. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-53660467 (3 กันยายน 2563).

“อยู่ไม่เป็น : อนาคตใหม่ลั่นไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า-ชังชาติ”. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50444069 (3 กันยายน 2563).

“‘ไอติม’จัดหนัก! ลั่นคนคิดต่างไม่ใช่‘ชังชาติ’ อย่าผูกขาดคำว่า‘รัก’ไว้ที่รัฐบาล-กองทัพ”. สืบค้นจาก https://www.naewna.com/politic/509970 (3 กันยายน 2563).

“แฮชแท็ก 'ชังชาติ' พุ่งอันดับ 1 โต้ 'อภิรัชต์' วินิจฉัย 'โรคชังชาติ'”.สืบค้นจาก https://voicetv. co.th/ read/ 61z5ZGnn8(3 กันยายน 2563).

“Patriotism is meaningless if it doesn’t embrace acts of defiance”. Retrieved from URL https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/nov/18/patriotism-meaningless-without-acts-of-defiance (20 January 2022).