ม็อบ 16 ตุลาคม 2563
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
การชุมนุมที่แยกปทุมวัน วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563
กลุ่มคณะราษฎร_2563 ได้จัดการชุมนุมเมื่อวันศุกร์ ที่ 16 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท นับเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา ที่ต่อเนื่องกับการชุมนุมเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งได้นำเอาประเด็นว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มาเป็นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในการชุมนุมครั้งนี้นับเป็นใช้กำลังในการสลายการชุมนุมครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงโดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงที่มีสารเคมี ทำให้ผู้ชุมนุมที่ส่วนมากเป็นเยาวชนที่ไม่มีประสบการณ์ในการถูกสลายการชุมนุมมาก่อนต้องหลบหนีเข้าพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริเวณใกล้เคียง
ภายหลังจากสลายการชุมนุมเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้นในวงกว้างและ นำไปสู่กระแสการเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งใหญ่ต่อต้านรัฐบาลหลายครั้งภายหลังจากนั้น[1]
ก่อนวันที่ 16 ตุลาคม
ในวันที่ 8 ตุลาคม กลุ่มคณะราษฎรได้นัดหมายการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยใน วันที่ 14 ด้วยข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ ให้รัฐบาลลาออก ให้รัฐสภาเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมประกาศว่าจะเป็นการชุมนุมที่ปักหลักค้างคืน[2]อย่างไรก็ตามใน วันที่ 13 ตุลาคม ได้มีการจับกุมแกนนำและแนวร่วมคณะราษฎร เช่น จตุภัทร บุญภัทรรักษา (หรือ ไผ่ ดาวดิน) ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (หรือ แอมมี่ นักร้องวง The Bottom Blues) และคนอื่น ๆ รวม 21 คน ที่เข้ามาเตรียมพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อจัดเตรียมการสำหรับการชุมนุมในวันถัดไป ทำให้มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในคืนนั้น[3]
ต่อมาเมื่อ วันที่ 14 ตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินกลาง พร้อมกับมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่ประกาศว่าจะมารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีกำหนดการเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวันนั้น โดยได้เกิดการปะทะและขว้างปาสิ่งของกันระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่ายและมีผู้บาดเจ็บ[4]ในช่วงบ่ายฝ่ายคณะราษฎรได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในช่วงเวลา 17.00 น. ได้เกิดกรณี “ม็อบขบวนเสด็จฯ” เมื่อรถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีสุทิดาและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ได้แล่นผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนพิษณุโลก ผู้ชุมนุมบางส่วนได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วและส่งเสียงโห่ร้องใส่รถพระที่นั่ง โดยไม่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด[5]
แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลและพร้อมปักหลักชุมนุมตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า แต่ในเวลาราว 1.00 น. อานนท์ นำภา และแกนนำคณะราษฎร ได้ประกาศยุติการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยของพื้นที่และสถานการณ์[6]และนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในช่วงเย็นของ วันที่ 15 ตุลาคม บริเวณแยกราชประสงค์ โดยยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนและแกนนำที่ยังคงพักค้างแรมรอการสลายตัวในเวลา 6.00 น.[7]
แต่ในเวลา 4.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สลายการชุมนุม โดยผลักดันให้ผู้ชุมนุมที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ให้ออกไปจากทำเนียบรัฐบาล จนถึงแยกนางเลิ้ง ขณะที่แกนนำได้ประกาศให้ผู้ที่ยังอยู่ออกจากพื้นที่ทันที[8]ซึ่งในช่วงกลางดึกจนถึงเช้าของ วันที่ 15 ตุลาคม ได้มีการจับกุมแกนนำคณะราษฎรเพิ่มเติม เช่น อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และแกนนำ-แนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 22 คน นับจาก วันที่ 13[9]
พร้อมกันนั้น ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เวลา 4.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคมโดยอ้างถึงเหตุการณ์การชุมนุมรวมไปถึงกรณีการขวางขบวนเสด็จ[10]โดยห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป รวมถึงห้ามเสนอข่าวสารข้อมูลที่ทำให้เกิดความไม่สงบ[11]นอกจากนั้น ยังมีการตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ) โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฯ[12]
ทางฝ่ายคณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้การสลายการชุมนุมและการจับกุมแกนนำ พร้อมนัดหมายชุมนุมในเวลา 17.00 น. ณ แยกราชประสงค์ โดยในการชุมนุมใน วันที่ 15 ตุลาคม ตามที่นัดหมายนั้นดำเนินไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงและยึดหลักการ “ทุกคนคือแกนนำ” โดยมีเพียงกลุ่มแกนนำของกลุ่มราษฎรซึ่งไม่ได้ถูกจับกุมที่เหลือเป็นผู้บริหารจัดการการชุมนุม[13]เนื้อหาหลักในการชุมนุม ได้แก่ การเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกจับกุมตั้งแต่ วันที่ 13 และ 14 ตุลาคม ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พร้อมทั้งเน้นย้ำจุดยืนไม่เอานายกฯ พระราชทาน ไม่ยอมรับการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และไม่ยอมรับการรัฐประหาร ในขณะที่ข้อเรียกร้องด้านสถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงบ้าง[14]
การชุมนุมยุติลงประมาณ 22.30 น. โดยได้มีการประกาศนัดหมายชุมนุมอีกครั้งในวันถัดไป ณ สถานที่เดิม โดยใช้แฮชแท็ก “#16ตุลาไปแยกราชประสงค์” แม้การชุมนุมในครั้งนี้จะจบลงโดยไม่เกิดเหตุรุนแรง แต่ก็มีการจับกุมเจ้าของรถขยายเสียงและลูกจ้างและผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกรายหนึ่ง รวม 7 คน[15]ทั้งนี้ ในวันเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ชุมนุม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่ม “คณะจุฬาฯ” ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ได้จัดกิจกรรม “ผูกโบว์ขาวกับชาวประชา” โดยประกาศให้จุฬาฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone ให้แก่ผู้ชุมนุมได้เข้ามาหลบพักในกรณีที่เกิดเหตุรุนแรง[16]ซึ่งได้จัดกิจกรรมการปราศรัยและเล่นดนตรีโดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่ง บริเวณลานหน้าพระบรมรูปสองรัชกาล โดยไม่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ ก่อนจะเลิกกิจกรรมในเวลาราว 22.00 น.[17]
เหตุการณ์ในวันที่ 16 ตุลาคม
1) ก่อนการชุมนุม
ก่อนการชุมนุมใน วันที่ 16 ตุลาคม จะเกิดขึ้น ได้มีมาตรการเตรียมพร้อมจากหน่วยงานต่าง ๆ ต่อเหตุการณ์การชุมนุม กอร.ฉ. ได้ใช้อำนาจจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดการจราจรโดยรอบบนถนนเพลินจิต ถนนราชดำริ และถนนพระรามที่ 1 บริเวณใกล้พื้นที่ชุมนุม รวมไปถึงการปิดให้บริการสถานีรถไฟฟ้าราชดำริและชิดลม และท่าเรือประตูน้ำ ในขณะที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศห้ามการชุมนุมโดยอ้างถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ห้างสรรพสินค้าในบริเวณโดยรอบต่างพากันประกาศปิดทำการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน[18]
หลังจากตำรวจได้เข้าควบคุมพื้นที่แยกราชประสงค์ ฝ่ายคณะราษฎรได้ประกาศย้ายจุดนัดหมายไปยังแยกปทุมวันในเวลาราว 16.00 น.[19]ต่อมาได้มีประกาศปิดเส้นทางจราจรและสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ได้แก่ สถานีราชเทวี สถานีสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ รวมถึงสถานีรถไฟฟ้า MRT สามย่านและปิดการจราจรบน ถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท บนเส้นทางใกล้พื้นที่ชุมนุม[20]ในขณะที่กลุ่มคณะจุฬาฯ ยังคงประกาศว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย แก่ผู้ชุมนุมเช่นเดิม[21]
2) การชุมนุมและการสลายการชุมนุม
หลังจากแกนนำประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุม การชุมนุมที่แยกปทุมวันก็ได้เริ่มต้นขึ้นประมาณ 17.00 น. เมื่อผู้ชุมนุมที่ส่วนมากเป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ต่างทยอยกันเข้ามาบริเวณแยกปทุมวันและบริเวณใกล้เคียง เช่น บริเวณสยามแสควร์ หรือห้างสรรพสินค้า MBK[22]ต่อมากำลังพลตำรวจนครบาล กองร้อยควบคุมฝูงชน ที่ตั้งอยู่บริเวณแยกราชประสงค์ ด้านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคลื่อนกำลังมาทางผู้ชุมนุม มาทางถนนพระรามที่ 1 ใต้สถานีรถไฟฟ้าสยาม พร้อมทั้งวางจุดให้มีรถฉีดน้ำแรงดันสูง และรถติดตั้งเครื่องขยายคลื่นเสียงความถี่สูงจากทางแยกเฉลิมเผ่า ทางเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมสลายตัวและออกจากพื้นที่ในเวลาราว 18.20 น. พร้อมทั้งตั้งแถวพร้อมโล่ประชิดแนวของผู้ชุมนุมทันที[23]
ผลการจัดวางกำลังและเตรียมสลายการชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมโกรธแค้นและได้ตะโกนประณามเจ้าหน้าที่ พร้อมแสดงท่าทีไม่ยอมถอยออกจากพื้นที่[24]ทางผู้ชุมนุมระดมร่มกันฝน หมวกกันกระแทกและแว่นกันน้ำให้กับคนที่อยู่แนวหน้า ทางเจ้าหน้าที่ตอบโต้ด้วยการใช้รถฉีดน้ำทำการฉีดน้ำแรงดันสูงและฉีดน้ำผสมสารเคมีสีฟ้าใส่ผู้ชุมนุมในเวลาราว 18.50 น. โดยอ้างว่าเพื่อเตรียมระบุตัวผู้ชุมนุม[25]
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บอกเล่าในภายหลังว่ามีอาการระคายเคืองดวงตาและผิวหนัง และหายใจลำบากรวมถึงยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเตือนก่อนว่าจะมีการใช้สารเคมี[26]ซึ่งในเบื้องต้น ทางตำรวจได้แถลงว่าไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตา[27]แต่ในภายหลังได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ว่าได้มีการผสมแก๊สน้ำตาในปริมาณเจือจาง ไม่เป็นอันตรายในน้ำที่ใช้ฉีดสลายการชุมนุม[28]
เมื่อฝ่ายตำรวจเริ่มฉีดน้ำแล้ว ผู้ชุมนุมแนวหน้าบางส่วนได้ช่วยกันผลักดันแผงกั้นจราจรและแนวโล่ของตำรวจ ซึ่งฝั่งตำรวจได้มีคำสั่งให้ทิ้งโล่และเข้าจับกุมผู้ชุมนุม[29]ในขณะที่ผู้ชุมนุมอีกส่วนได้ร่วมกันยืนหยัดกางร่มป้องกันสายน้ำ แม้ว่าจะไม่สามารถทานแรงดันของน้ำจากรถจีโน่ได้เลย
แกนนำในการชุมนุมได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมถอยเข้าไปอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยประกาศว่าไม่ใช่การยอมแพ้และเพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสีย ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 20.00 น. โดยประกาศให้รอฟังการนัดหมายการชุมนุมในวันต่อไป[30]
อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศยุติการชุมนุมและผู้ชุมนุมทยอยออกจากแยกปทุมวันแล้ว ยังคงมีการฉีดน้ำและจับกุมผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ในบริเวณนั้นต่อไป ฝ่ายตำรวจยังฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม-ประชาชนบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ พร้อมตั้งแถวเจ้าหน้าที่บนสะพานหัวช้างบนถนนพญาไท และสลายการชุมนุมประชาชนที่ยังชุมนุมกันอยู่บนสะพานด้วยการฉีดน้ำและผลักดัน วิ่งไล่ผู้ชุมนุมไปทางแยกราชเทวี ซึ่งมีการจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนด้วย โดยท้ายสุดได้เปิดการจราจรแยกปทุมวัน เมื่อเวลา 23.15[31]
เมื่อผู้ชุมนุมได้ล่าถอยเข้าไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมุ่งสู่คณะรัฐศาสตร์ที่กำหนดเป็นเขตปลอดภัย กลุ่มนิสิตอาสาสมัครได้คอยช่วยอำนวยความสะดวกโดยบอกทางแก่ผู้ชุมนุม ไปยังจุดพักหรือจุดปฐมพยาบาลที่จัดเตรียมไว้และบอกทางไปประตูทางออกฝั่งถนนอังรีดูนังต์เพื่อเดินเท้าต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าสีลมและศาลาแดงที่ยังเปิดให้บริการ ซึ่งจุดปลอดภัยที่คณะรัฐศาสตร์ มีนิสิตคณะรัฐศาสตร์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) และคณาจารย์ ได้คอยรับช่วยเหลือ จัดหาอาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้าแห้ง รวมถึงได้ใช้พื้นที่บริเวณอาคารเรียนเพื่อเป็นที่พักชั่วคราวให้แก่ผู้ชุมนุม พร้อมกับช่วยประสานเพื่อให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่ยังอยู่ในมหาวิทยาลัยได้เดินทางกลับ
นอกจากนั้น คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ยังช่วยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมที่อยู่ในมหาวิทยาลัย[32]เนื่องจากมีความสับสนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดีย ทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ในช่วงเวลาที่เกิดการสลายการชุมนุม โดยข้อมูลที่เผยแพร่กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมและได้ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา รวมไปถึงกระสุนจริงต่อผู้เข้าร่วมชุมนุม รวมไปถึงการเผยแพร่ข้อมูลว่าพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ไม่ปลอดภัย” เนื่องจากเจ้าหน้าตำรวจได้เตรียมบุกเข้าจับกุมผู้ที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย[33]แต่ได้มีการออกมาชี้แจงและยืนยันว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยยังปลอดภัยไม่ได้เป็นตามที่มีข่าวเผยแพร่ ทั้งจากมหาวิทยาลัยและกลุ่มคณะจุฬาฯ[34]
ในขณะที่มีการชุมนุมและสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน นักศึกษาและผู้ชุมนุมในต่างจังหวัดได้จัดการชุมนุมคู่ขนานไปพร้อมกันกับการชุมนุมในกรุงเทพฯ มีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์และประณามการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต[35]
ศูนย์เอราวัณ รายงานว่าจากการสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 4 นาย และประชาชน 3 คน[36]พร้อมทั้งมีการออกหมายจับแกนนำของคณะราษฎรเพิ่มเติมอีก 12 ราย ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 12 คน ในเวลา 1.00 น. ของวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งรวมแกนนำที่ถูกประกาศออกหมายจับและผู้เข้าร่วมชุมนุม ในขณะที่มีการรายงานจากตำรวจว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุมไปแล้วกว่า 100 คน[37]
3) เหตุการณ์หลังการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม
การสลายการชุมนุมด้วยกำลังในครั้งนั้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับทั้งจากบุคคลทั่วไป บุคคลที่มีชื่อเสียง นักวิชาการ องค์การนักศึกษา กลุ่มการเมือง ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติและหน่วยงานใต้สังกัด เช่น UNHCR UNICEF ที่ได้แถลงการณ์เพื่อแสดงความกังวลหรือประณามการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น เนื้อหาในแถลงการณ์เหล่านี้ มีตั้งแต่การเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม ไปจนถึงการกล่าวว่าการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากลและเกินกว่าเหตุ[38]โดยในโซเชียลมีเดียได้มีการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลและสถาบันสำคัญอย่างรุนแรงตรงไปตรงมา
ฝ่ายที่สนับสนุนผู้ชุมนุมได้ใช้แฮชแท็ก #WhatIsHappeninginThailand เพื่อนำเสนอเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในโซเชียลมีเดีย[39]รวมถึงมีการใช้แฮชแท็ก “#แบนดาราปรสิต” เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อดารานักแสดงคนมีชื่อเสียงที่มีท่าทีเฉยเมยหรือไม่แสดงความเห็นต่อการสลายการชุมนุม[40]
อย่างไรก็ดี การแสดงความเห็นของบุคคลมีชื่อเสียงบางส่วนก็ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะสงวนท่าที จุดยืนไม่ชัดเจน หรือ “เอาตัวรอด”[41]เช่น การโพสต์ข้อความในลักษณะ “ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง” หรือ “ขอให้ทุกคนปลอดภัย” โดยไม่กล่าวถึงการกระทำของรัฐโดยตรง
ฝั่งรัฐบาลได้ตอบโต้โดยเริ่มจากนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฉบับที่ 2 โดยให้กรุงเทพฯ อยู่ภายใต้สภาวะฉุกเฉินจนถึง วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563[42]โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่ารัฐบาลดำเนินการด้วยความจำเป็นและยึดหลักสากลในการสลายการชุมนุม พร้อมถึงกล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ ประชาชน และผู้ชุมนุมที่ให้ความร่วมมือในการยุติการชุมนุม[43]ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐ ได้เผยแพร่ภาพและข้อมูลโจมตีฝ่ายผู้ชุมนุมว่าได้ใช้กำลังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ[44]
ทางด้านคณะราษฎรก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมครั้งนี้เช่นกัน พร้อมทั้งประกาศว่ายังคงยืนยันจะจัดการชุมนุมใน วันที่ 17 ตุลาคม[45]ซึ่งกระแสสนับสนุนผู้ชุมนุมและต่อต้านรัฐบาล ทำให้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยการชุมนุมใหญ่ยังดำเนินต่อเนื่องไปถึง วันที่ 20 ตุลาคม ก่อนจะมีการประกาศ “พักม็อบ” ในวันนั้น[46]โดยเป็นการชุมนุมที่เน้นย้ำความ “ไร้แกนนำ” หรือ “ทุกคนเป็นแกนนำ” รวมไปถึงมีการเคลื่อนไหวในลักษณะ “สับขาหลอก” หรือ “แกง” ฝ่ายรัฐ โดยการจัดการชุมนุมในหลายพื้นที่พร้อมกัน มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อนัดหมายหรือเปลี่ยนแผนกำหนดการอย่างกระชั้นชิดโดยให้ฝ่ายรัฐที่เตรียมตัวไว้ดำเนินการตามไม่ทัน[47]ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 16 นี้ ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อและแวดวงวิชาการ ที่นำการเคลื่อนไหวนี้มานำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ
เช่นเดียวกัน กระแสต่อต้านรัฐบาลและการชุมนุมใหญ่หลายครั้งของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในครั้งนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐและมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐ เช่น วุฒิสภา พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มไทยภักดี หรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ ในส่วนภูมิภาค เพื่อตอบโต้และแสดงออกถึงอุดมการณ์จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และแสดงความสนับสนุนรัฐบาล โดยแสดงออกมาผ่านการชุมนุมเดินขบวน ไปจนถึงการนัดหมายใส่เสื้อสีเหลือง ซึ่งมีทั้งการนัดแนะหรือ “เกณฑ์” ข้าราชการให้เข้าร่วม โดยมีการเคลื่อนไหวแสดงออกทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด[48]
อ้างอิง
[1] “‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ย้อน 1 ปี สลายม็อบ 16 ตุลา จากแยกปทุมวัน ถึงทะลุแก๊ซ ชี้รัฐมีส่วน ‘ยกระดับรุนแรง’,” มติชนออนไลน์, (16 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2994618. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564, “16 ตุลาคม 2563 – ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรที่แยกปทุมวัน,” The Standard, (16 ตุลาคม 2564). เข้าถึงจาก https://thestandard.co/onthisday-16102563/. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[2] “คณะราษฎร 2563 ย้ำ 3 จุดยืน ประกาศพร้อมชุมนุม 14 ต.ค. นี้,” ข่าวไทยพีบีเอส, (8 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/297182. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564.
[3] “ไผ่ ดาวดิน: ‘คณะราษฎร 2563’ ชุมนุมหน้า สตช. กดดันตำรวจปล่อยไผ่กับพวกรวม 21 คน,” บีบีซีไทย, (13 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54523462. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[4] “ชุมนุม 14 ตุลา: ประมวลเหตุการณ์จากปะทะ ‘เสื้อเหลือง’ สู่ชูสามนิ้วใส่ขบวนเสด็จ,” บีบีซีไทย, (14 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54539098. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[5] “ชุมนุม 14 ตุลา: ประมวลเหตุการณ์จากปะทะ ‘เสื้อเหลือง’ สู่ชูสามนิ้วใส่ขบวนเสด็จ,” บีบีซีไทย.
[6] “‘อานนท์’ นัดชุมนุมแยกราชประสงค์ พรุ่งนี้,” ข่าวไทยพีบีเอส, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/297380. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[7] “สลายม็อบ! ลำดับเหตุการณ์จาก 03.25-05.05 น. หน้าทำเนียบฯ ราชดำเนิน ว่างเปล่า,” มติชนออนไลน์, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2395278. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564.
[8] อ้างแล้ว.
[9] “ใครบ้าง? ถูกจับม็อบ 13-14 ตุลา,” ข่าวไทยพีบีเอส, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/297402. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[10] “ราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร,” ไทยรัฐออนไลน์, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1953045. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[11] “เปิดข้อกำหนดหลังประกาศ ‘พ.ร.ก. ฉุกเฉิน’ ในกรุงเทพฯ,” ข่าวไทยพีบีเอส, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://news.thaipbs.or.th/content/297386. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[12] “ด่วน! ตั้ง ‘กอร.ฉ.’ คุมสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จ่อประกาศเพิ่มหากลุกลามไปจังหวัดอื่น,” มติชนออนไลน์, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/local/crime/news_2395823. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[13] “คณะราษฎร: 10 เรื่องน่ารู้ก่อนการไปชุมนุมภาคต่อ ’16 ตุลาไปราชประสงค์’,” บีบีซีไทย, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54567169. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[14] อ้างแล้ว.
[15] อ้างแล้ว, “ล็อกแล้ว 7 คน ไปชุมนุมแยกราชประสงค์ ชู 3 นิ้วใส่ตำรวจ-เด็กขนเครื่องเสียง,” ไทยรัฐออนไลน์, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/crime/1954210. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[16] สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, Facebook, (15 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/smopolscichula/posts/1518364565027784. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[17] “‘เวียงรัฐ’ ลั่นตัดสินใจถูก เปิดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พื้นที่ปลอดภัย รับม็อบถูกสลายชุมนุม,” มติชนออนไลน์, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2399102. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[18] “พารากอน-สยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัฟเวอรี่ ปิด 17.00 น. วันนี้,” ประชาชาติธุรกิจ, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.prachachat.net/marketing/news-538934. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[19] เยาวชนปลดแอก – Free Youth, Facebook, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/posts/361744505274613. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[20] “ด่วน!! ปิดเพิ่มรถไฟฟ้า BTS ‘สยาม-สนามกีฬาฯ-ราชเทวี’ ใต้ดิน ‘สามย่าน’,” The Bangkok Insight, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/457227/. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[21] คณะจุฬาฯ, Facebook, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/nisitchulaparty/posts/169756174775425. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[22] “ชุมนุม 16 ตุลา: ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯ ถาม ‘ผมผิดอะไร’,” บีบีซีไทย, (16 ตุลาคม 2563, ปรับปรุง 17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54568639. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[23] “เกิดอะไรขึ้นบ้าง ในวันที่ 16 ตุลา 63 บันทึก ‘สลายการชุมนุม’ ม็อบคณะราษฎร - ม็อบคนรุ่นใหม่,” PPTV Online, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/135039. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[24] อ้างแล้ว.
[25] “ชุมนุม 16 ตุลา: ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯ ถาม ‘ผมผิดอะไร’,” บีบีซีไทย.
[26] “คำบอกเล่าจาก 3 ผู้สังเกตการณ์ เหตุการณ์ฉีดน้ำสลายการชุมนุม #ม็อบ 16 ตุลา,” iLaw, (1 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก https://freedom.ilaw.or.th/node/859. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[27] “ตร.ยันอย่าเชื่อเฟคนิวส์ ไม่ได้ใช้แก๊สน้ำตาฉีดใส่ฝูงชน,” เดลินิวส์, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.dailynews.co.th/crime/801487/. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[28] “ตร.ยอมรับใช้สารเคมีสีฟ้า-แก๊สน้ำตาสลายม็อบ 16 ต.ค.,” Voice Online, (9 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก https://voicetv.co.th/read/HA0k9h_St. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[29] “เกิดอะไรขึ้นบ้าง ในวันที่ 16 ตุลา 63 บันทึก ‘สลายการชุมนุม’ ม็อบคณะราษฎร - ม็อบคนรุ่นใหม่,” PPTV Online.
[30] “ชุมนุม 16 ตุลา: ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯ ถาม ‘ผมผิดอะไร’,” บีบีซีไทย.
[31] “ใช้กำลังสลายการชุมนุมต่อเนื่อง 5 ชั่วโมง จับกุมนักข่าว-ประชาชนกว่าร้อยคน,” ประชาไท, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2020/10/89987. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[32] “‘เวียงรัฐ’ ลั่นตัดสินใจถูก เปิดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พื้นที่ปลอดภัย รับม็อบถูกสลายชุมนุม,” มติชนออนไลน์
[33] “รวมมิตรเฟกนิวส์! ย้อนรอยสลายม็อบ 16 ตุลาฯ ตั้งแต่สาวท้องตาย ล้อมปราบที่จุฬาฯ ยันอ้างทีมนักข่าวดัง,” ผู้จัดการออนไลน์, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000105984. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[34] “#จุฬาฯพื้นที่ปลอดภัย ยันไม่ให้ ตร. เข้า เปิดอาคารปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ - ให้ค้างคืนชั่วคราว,” มติชนออนไลน์, (16 ตุลาคม 2563), เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2398915. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564; ไม่ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ค้างคืนดังที่พาดหัว, คณะจุฬาฯ, Facebook, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/nisitchulaparty/posts/169877354763307. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[35] “จัดแฟลชม็อบทั่วปท. นิสิตนศ. รวมตัวกลางดึก ประณามรบ. สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน,” มติชนออนไลน์, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2398925. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564, “‘นร.-นศ.-ประชาชน ขอนแก่น’ รวมตัวประณามเหตุการณ์สลายการชุมนุม,” ประชาไท, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2020/10/89983. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564.
[36] “‘ศูนย์เอราวัณ’ เผย เหตุสลายชุมนุม ‘คณะราษฎร’ มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย,” กรุงเทพธุรกิจ, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/903093. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[37] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, Facebook, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3342508042465693. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564, “ชุมนุม 16 ตุลา: ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯ ถาม ‘ผมผิดอะไร’,” บีบีซีไทย.
[38] Jompol Daosukho, “รวมแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย หยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม,” WorkpointTODAY, (21 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://workpointtoday.com/statements-to-thai-government/. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[39] “แฮชแท็ก #WhatIsHappeningInThailand พร้อมภาพตร. ฉีดน้ำสลายม็อบ ว่อนสื่อโซเชียล,” Voice Online, (16 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://voicetv.co.th/read/MXLqzMsyh. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[40] “ชาวเน็ตแห่ #แบนดาราปรสิต หลังเมินม็อบ,” Nation Online, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.nationtv.tv/news/378801341. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564, “‘#แบนดาราปรสิต’ ปรากฏการณ์วัดใจ ‘ดารา’ สะท้อนภาพ Elite-Privilege,” ไทยรัฐออนไลน์, (19 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/entertain/news/1956414. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[41] “‘#แบนดาราปรสิต’ ปรากฏการณ์วัดใจ ‘ดารา’ สะท้อนภาพ Elite-Privilege,” ไทยรัฐออนไลน์.
[42] “ชุมนุม 16 ตุลา: ปฏิบัติการสลายพลังเยาวชนคนหนุ่มสาวหลังนายกฯ ถาม ‘ผมผิดอะไร’,” บีบีซีไทย.
[43] “‘บิ๊กตู่’ ขอบคุณทุกฝ่าย ร่วมยุติการชุมนุม ย้ำบังคับใช้ ก.ม. ยึดหลักสากล,” ไทยรัฐออนไลน์, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1954875. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[44] “หมอวรงค์ เดือด งัดภาพม็อบปะทะฟาดตำรวจ แฉ 5 ข้อ ขบวนการบิดความจริง ปั่นกระแสเท็จไม่หยุด,” The Truth, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://truthforyou.co/10137/. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[45] แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration, Facebook, (17 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/ThammasatUFTD/posts/142011027607026. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[46] แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – United Front of Thammasat and Demonstration, Facebook, (20 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/ThammasatUFTD/posts/143348584139937. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[47] พิราภรณ์ วิทูรัตน์, “ยุทธการ ‘แกงหม้อใหญ่’ ของคณะราษฎร 2563: ว่าด้วยการต่อรองอำนาจกับรัฐแบบ ‘สับขาหลอก’,” Way Magazine, (25 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://waymagazine.org/khanaratsadorn-curry/. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.
[48] “เสื้อเหลืองแอคชั่นปกป้องสถาบันกษัตริย์ – หลุดเอกสารหลายหน่วยงานเรียกระดม ปธ.สว. ก็เอาด้วย,” ประชาไท, (22 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2020/10/90084. เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564, “สถาบันกษัตริย์: คนเสื้อเหลืองแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ ด้าน พปชร. มีมติให้ ส.ส. จัดกิจกรรมถวายความจงรักภักดีในพื้นที่,” บีบีซีไทย, (22 ตุลาคม 2563). เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54647580 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564.