พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ความเป็นมาของการจัดระเบียบบริหารราชการไทย
ประเทศไทยได้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการที่สำคัญเริ่มขึ้นในยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการและจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยจัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ[1]
1. การปฏิรูปการบริหารราชการส่วนกลาง โดยการยกเลิกระบบจตุสดมภ์ และการจัดการปกครองแบบมณฑล
2. การปฏิรูปการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดการปกครองในรูปแบบมณฑล
3. การปฏิรูประบบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยจัดการปกครองในรูปแบบเทศาภิบาล
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะราษฎรได้ทำการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 โดยใน ปี พ.ศ. 2476 สภาผู้แทนราษฎรได้ถวายกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 3 ฉบับ คือ
1. พระราชบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2476 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2576 โดยแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นกระทรวง ให้มีรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าการ (มาตรา 4) ให้กระทรวงแบ่งราชการออกเป็นกรม กรมอาจแบ่งออกเป็นกอง กองอาจแบ่งเป็นแผนก (มาตรา 7)
2. พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช2476 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2576 เพื่อจัดตั้งกระทรวงทั้งหมด 7 กระทรวง คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพระคลัง กระทรวงธรรมการ และกระทรวงต่างประเทศ (มาตรา 4) และกรมต่าง ๆ ขึ้น ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทะบวง กรม พุทธศักราช 2476 ซึ่งตราขึ้นในปีเดียวกัน ได้กำหนดให้มีกระทรวงหรือทบวงการเมืองซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 9 กระทรวง คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงธรรมการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัง และกระทรวงเศรษฐการ[2]
3. พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 กฎหมายฉบับนี้มีทั้งสิ้น 29 มาตรา จัดแบ่งโครงสร้างออกเป็น
- ข้อความเบื้องต้น
- ลักษณะ 1 ระเบียบราชการบริหารส่วนกลาง
- ลักษณะ 2 ระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค
หมวด 1 จังหวัด
หมวด 2 อำเภอ
- ลักษณะ 3 ระเบียบราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
สาระสำคัญของการบริหารราชการแห่งอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476
สาระสำคัญของกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินแห่งอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 คือ การจัดแบ่งส่วนราชการออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น[3] ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งการกำหนดผู้บังคับบัญชาของส่วนราชการต่าง ๆ โดยให้รัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายในแต่ละกระทรวงสำหรับรายละเอียดของกฎหมายการบริหารราชการแต่ละส่วน มีดังนี้
1. ระเบียบราชการบริหารส่วนกลาง
ได้แก่ กระทรวงหรือทะบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง[4] มีรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้ว่าการบังคับบัญชาและรับผิดชอบ ถ้าจำเป็นหากมีภารกิจมากอาจมีรัฐมนตรีช่วยว่าการด้วยก็ได้[5] และกำหนดให้แต่ละกระทรวงจัดระเบียบราชการออกเป็น[6]
(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีนั้น ๆ[7]
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงมีปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา[8]
(3) กรม หรือทะบวงการเมือง ซึ่งมีฐานะเทียบกรม (เว้นแต่บางกระทรวงซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกราชการตั้งขึ้นเป็นกรม) มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวง โดยมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชา ในแต่ละกรมจะแยกออกไปเป็นกอง แผนก หรือหมวด ตามแต่ปริมาณและคุณภาพของงานที่ปฏิบัติอยู่[9]
การตรวจสอบ ควบคุมการบริหารราชการส่วนกลางโดย “ข้าหลวงใหญ่” ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ตรวจ ควบคุม และแนะนำชี้แจงราชการบริหารทั่วไป[10] และอาจมี “ข้าหลวงตรวจการ” หากกระทรวง ทะบวง กรมใดมีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งข้าหลวงตรวจการเพื่อทำหน้าที่ตรวจ ควบคุมแนะนำชี้แจงราชการที่เกี่ยวกับกระทรวง ทะบวง กรม นั้น ๆ[11]
2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การบริหารราชการส่วนภูมิภาคได้จัดแบ่งออกเป็น “จังหวัด” และ “อำเภอ”[12] ดังนี้
2.1 จังหวัด ให้มี “คณะกรมการจังหวัด” ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น ๆ จัดแบ่งราชการออกเป็นส่วนกลาง ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของจังหวัดนั้น โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาและส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทะบวง กรมจะได้ตั้งขึ้นใฝนจังหวัดนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนนั้น ๆ เป็นผู้บังคับบัญชา[13]
คณะกรมการจังหวัดประกอบด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธาน ปลัดจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการบริหารฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดเป็นกรรมการ โดยข้าหลวงประจำจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการในจังหวัดซึ่งก่อนใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและสมุหเทศาภิบาล[14]
2.2 อำเภอ ให้มี “คณะกรมการอำเภอ” ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในอำเภอนั้น ๆ[15] จัดแบ่งราชการออกเป็นส่วนกลางโดยมีนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชา และส่วนอื่น ๆ ซึ่งกระทรวง ทะบวง กรมจะได้ตั้งขึ้นโดยมีหัวหน้าส่วนนั้น ๆ เป็นผู้บังคับบัญชา[16] คณะกรมการอำเภอประกอบด้วยนายอำเภอเป็นประธาน ปลัดอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการบริหารฝ่ายพลเรือนต่าง ๆ ซึ่งเป็นหจ้าหน้าที่ประจำอำเภอเป็นกรรมการ[17]
3. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
กฎหมายกำหนดให้ส่วนท้องถิ่นบริหารราชการเอง[18] จัดแบ่งออกเป็น[19]
1. เทศบาลตำบล ได้แก่ ตำบลต่าง ๆ
2. เทศบาลเมืองและนครบาล ได้แก่ เทศบาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานจังหวัด หรือเทศบาลในที่ชุมนุมชนซึ่งได้มีกฎหมายประกาศให้เป็นเทศบาลเมืองหรือนครบาล
3. สหเทศบาล ได้แก่ เทศบาลต่าง ๆ ซึ่งรวมกันเพื่อประกอบกิจการบางชนิด
อย่างไรก็ดี ในขณะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล จึงให้คงใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พ.ศ.2457 และกฎหมายอื่น ๆ ว่าด้วยการปกครองตำบล หมู่บ้านและการสุขาภิบาลไปพลางก่อน[20]
บทส่งท้าย
พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ถูกยกเลิกโดย “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495” เพื่อบังคับใช้แทน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 ตามความใน มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 ที่กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2495
ภายหลังจากการปฏิวัติโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2514 ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ในปี พ.ศ. 2515 อันมีผลให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้ใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับนี้เป็นกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดินแทน
จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2534 ได้ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เพื่อใช้แทนประกาศคณะปฏิวัติที่ใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2515 และยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50/หน้า 172-178/12 พฤษภาคม 2476. พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช2476
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50/หน้า 167-171/12 พฤษภาคม 2476. พระราชบัญญัติว่าด้วยธรรมนูญราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2476
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50/หน้า 751-762/9 ธันวาคม 2476. พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 16/เล่ม 69/หน้า 286-312/11 มีนาคม 2495. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495
สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน. การเตรียมความพร้อมข้าราชการ ไทยสู่ประชาคมอาเซียน : มิติใหม่ที่ท้าทาย. สำนักงานนนทบุรี: สำนักงาน ก.พ.. 2554.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.วิวัฒนาการในการปรับปรุงกระทรวงของประเทศไทย.เอกสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์:สำนักวิชาการ. 2563.
อ้างอิง
[1] สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน, การเตรียมความพร้อมข้าราชการ ไทยสู่ประชาคมอาเซียน : มิติใหม่ที่ท้าทาย, สำนักงานนนทบุรี: สำนักงาน ก.พ.. 2554.
[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,วิวัฒนาการในการปรับปรุงกระทรวงของประเทศไทย, เอกสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์:สำนักวิชาการ, 2563, หน้า 3.
[3] มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[4] มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[5] มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[6] มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[7] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[8] มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[9] มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[10] มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[11] มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[12] มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[13] มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[14] มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[15] มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[16] มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[17] มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[18] มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[19] มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
[20] มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476