ประเสริฐ รุจิรวงศ์
ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์
พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตอธิบดีกรมตำรวจ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ที่บทบาททางการเมืองในกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ มีบทบาทในการทำรัฐประหาร พ.ศ.2490 การปฏิวัติ พ.ศ.2500 และการปฏิวัติตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจรใน พ.ศ.2514
ประวัติส่วนบุคคล
พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2454 เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม จากนั้นเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2470[1]
เหตุการณ์สำคัญ
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารนำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยผู้ก่อการรัฐประหารครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการ[2] พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานได้เข้าร่วมในการรัฐประหารโดยมีพันเอกหลวงสวัสดิสรยุทธ เป็นเจ้ากรมป้องกันต่อสู้อากาศยานเป็นผู้นำ [3]
ภายหลังการทำรัฐประหารพลตำรวจเอกประเสริฐได้ขึ้นเป็นเจ้ากรมป้องกันต่อสู้อากาศยานเมื่อ พ.ศ.2491 ในช่วงระยะเวลาที่พลตำรวจเอกประเสริฐเป็นเจ้ากรม กองทัพบกไทยเริ่มได้รับโครงการช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2495 กรมป้องกันต่อสู้อากาศยานได้ขยายอัตรากำลังของหน่วยเป็นกองพลน้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน โดยพลตำรวจเอกประเสริฐได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับกองพลน้อย ถึง พ.ศ.2498 กองทัพบกได้ยกฐานะกองพลน้อยขึ้นเป็นกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และพลตำรวจเอกประเสริฐได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพล โดยดำรงตำแหน่งจนถึง พ.ศ.2500[4]
พลตำรวจเอกประเสริฐมีบทบาททางการเมืองอยู่ในกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้นำ ร่วมกับจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พลเอก กฤษณ์ สีวะรา วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พลตำรวจเอกประเสริฐซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานได้ร่วมในการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า[5]
ภายหลังการยึดอำนาจจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ใช้อำนาจผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารแต่งตั้งให้พลตำรวจเอกประเสริฐดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2500 [6] ต่อมาเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่งใน พ.ศ.2502 พลตำรวจเอกประเสริฐได้รับแต่งตั้งให้รักษาการอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 พลตำรวจเอกประเสริฐได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ในรัฐบาลใหม่ที่มีจอมพล ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีและได้รับตำแหน่ง อธิบดีกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2506 แทนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
มีการวิเคราะห์ว่าทายาททางอำนาจ 4 คนของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พลเอก กฤษณ์ สีวะรา และ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ได้หลอมรวมเป็น “ศูนย์อำนาจใหม่” โดยจอมพล ถนอม คุมฝ่ายบริหาร จอมพลประภาส-พลเอกกฤษณ์ คุมกองทัพ และพลตำรวจเอกประเสริฐ คุมตำรวจ[7]
พลตำรวจเอกประเสริฐ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจมีบทบาทในการรักษาความมั่นคงให้กับรัฐบาลของจอมพล ถนอม เช่นใน วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล กอง 2 และกอง 6 จำนวนกว่า 50 นาย ได้กระจายกำลังกันออกกวาดล้างผู้ต้องหาว่าคิดการร้ายอันเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรงทั่วจังหวัดพระนครและธนบุรี ปรากฏว่าในการนี้ ทางการตำรวจสันติบาลได้จับกุมผู้ต้องหาสำคัญพร้อมทั้งเอกสารหลายอย่าง ต่อมาในวันที่ 3 หนังสือพิมพ์สยามนิกรได้ตีพิมพ์ข่าวว่า พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บัญชาการทหารบก ได้แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2507 เกี่ยวกับการกวาดล้างจับกุม “กบฏ 3 ธันวา” ว่า “เรื่องการจับกุมนายทหาร ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน นายทหารที่ถูกจับกุมครั้งนี้มีทั้งทหารประจำการและนอกราชการ เป็นนายทหารบกยศพันเอก 1 คน พันโท 2 คน ร้อยเอก 1 คน ต่อมาได้มีการเปิดเผยรายชื่อนายทหารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พลอากาศเอก นักรบ บิณษรี อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศตรีเอกชัย มุสิกะบุตร และพลอากาศตรีละเอิบ ปิ่นสุวรรณ โดยรัฐบาลเปิดเผยว่าจับกุมตัวได้ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2507 แล้ว นอกจากนี้ยังมีพันโทบุญพฤกษ์ จาฏามระ พันโทสุดใจ อังคณานุรักษ์ และร้อยเอกนรชัย จาฏามระ[8]
เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2512 ผลการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง จอมพล ถนอม กิตติขจรได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง[9] พลตำรวจเอกประเสริฐได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลตนเอง จอมพลถนอมได้จัดตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นปกครองประเทศ โดยจอมพล ถนอมดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ มีผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ 1.พลเอก ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 2.นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง 3.พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ 4.พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข[10] รัฐบาลของคณะปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรีและพลตำรวจเอกประเสริฐเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 31 กันยายน พ.ศ.2515 พลตำรวจเอกประเสริฐเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
ผลงานอื่นๆ
พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอธิการบดีลำดับที่ 3 โดยดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ.2511-2512[11]
บรรณานุกรม
กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน,ผู้บังคับบัญชากองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานในอดีต, เข้าถึงจาก http://aaad.rta.mi.th/about/directory/directory.htm , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/079/2.PDF , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
ทีมข่าวความมั่นคง คม ชัด ลึก, 40ปี'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ?, เข้าถึงจากhttp://www.komchadluek.net/news/politic/170364 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
ธิกานต์ ศรีนารา, กบฏ พ.ศ. '2507', เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กบฏ_พ.ศ._2507, เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 280.
ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งข้าราชการ, เข้าถึงจาก ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินทางมาถึงเพื่อตรวจราชการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 , เข้าถึงจาก http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=1682 , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินทางมาถึงเพื่อตรวจราชการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 , เข้าถึงจาก http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=1682, เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 172.
อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา,'ระบอบเผด็จการทหาร สฤษดิ์ '– ถนอม – ประภาส , เข้าถึงจาก http://www.14tula.com/before/before_sub1.htm , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
อ้างอิง
[1] ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินทางมาถึงเพื่อตรวจราชการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 , เข้าถึงจาก http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=1682,เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
[2] นรนิติ เศรษฐบุตร, วันการเมือง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า 280.
[3] สุชิน ตันติกุล,รัฐประหาร พ.ศ.2490, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 172.
[4] กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน,ผู้บังคับบัญชากองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานในอดีต, เข้าถึงจาก http://aaad.rta.mi.th/about/directory/directory.htm , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
[5] สุชิน ตันติกุล, หน้า 175.
[6] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งข้าราชการ, เข้าถึงจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/079/2.PDF , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
[7] ทีมข่าวความมั่นคง คม ชัด ลึก, 40ปี'กองทัพไทย'ไม่สิ้นกลิ่นปฏิวัติ?, เข้าถึงจากhttp://www.komchadluek.net/news/politic/170364 , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
[8] ธิกานต์ ศรีนารา, กบฏ พ.ศ. '2507', เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กบฏ_พ.ศ._2507,เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
[9] นรนิติ เศรษฐบุตร, หน้า 48-49.
[10] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา, 'ระบอบเผด็จการทหาร สฤษดิ์ '– ถนอม – ประภาส, เข้าถึงจาก http://www.14tula.com/before/before_sub1.htm , เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.
[11] ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดืนทางมาถึงเพื่อตรวจราชการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 เข้าถึงจาก http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_picturelanna.php?picture_id=1682 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559.