รายการ “เดินหน้าปฏิรูป”
ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความนำ
รายการ “เดินหน้าปฏิรูป” เป็นรายการที่เกิดขึ้นจากแนวนโยบายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มช่องทางการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ โดยจัดทำในลักษณะเวทีสาธารณะผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ของภาครัฐ คือ ผ่านช่องทางการออกอากาศหลักทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ออกอากาศย้อนหลังทางสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (http://thainews.prd.go.th) จากนั้นนำบันทึกเทปรายการออกอากาศตามช่องทางสื่อสารอื่นๆ เช่น YouTube และเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ทั้งนี้ พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ กล่าวว่า รายการเดินหน้าปฏิรูปถือเป็นการเพิ่มช่องทางเพื่อการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นปฏิรูปกับผู้แทนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อประโยชน์ต่อการเดินหน้าประเทศในอนาคต[1]
“รายการเดินหน้าปฏิรูป” กับการปฏิรูปประเทศไทย
รายการเดินหน้าปฏิรูป ออกอากาศตอนแรกในวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 เวลา 21.00 - 21.55 นาฬิกา ในชื่อตอน “ปัญหาเศรษฐกิจและแนวทางการปฏิรูป” วันแรกของการเปิดตัวรายการได้เชิญ นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์_ชินวัตร ร่วมสนทนาในรายการเดินหน้าปฏิรูป และร่วมนำเสนออภิปรายในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและแนวทางการปฏิรูป โดยมีนายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับรูปแบบและการนำเสนอของรายการ ส่วนใหญ่จะเป็นการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ นักวิชาการ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตนักการเมือง มาร่วมกันสนทนาและอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป เช่น การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านการศึกษา การปฏิรูปด้านพลังงาน เป็นต้น ตัวอย่างชื่อตอน ประเด็นการนำเสนอ และแขกรับเชิญ ที่มีการออกอากาศไปแล้ว[2] ดังนี้
1) “ปัญหาการศึกษาและทิศทางการปฏิรูป” ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 มีแขกรับเชิญ คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) “เศรษฐกิจไทยกับสงครามการค้าโลก ไทยจะก้าวเดินอย่างไร” ออกอากาศเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 แขกรับเชิญ คือ ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ศาสตราจารย์ ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี
3) “ปฏิรูปพลังงาน ประชาชนได้อะไร” ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 มีแขกรับเชิญ คือ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และนายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมเสนอแนวทาง รูปแบบการปฏิรูปพลังงานและแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ
4) “เสริมสร้างประชาธิปไตยอย่างไร ให้ถึงประชาชน” ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 แขกรับเชิญ คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
5) “การบังคับใช้กฎหมาย ทำอย่างไรจะได้ผล” ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ผู้ร่วมสนทนาในรายการ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีหลายรัฐบาล
“รายการเดินหน้าปฏิรูป” กับช่องทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ คสช.
ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่า “รายการเดินหน้าปฏิรูป” จะเป็นเวทีสาธารณะซึ่งระดมความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารายการดังกล่าวเป็นช่องทางนำเสนอประเด็นทางการเมืองของ คสช. เท่านั้น เพราะประเด็นการอภิปรายและผู้เข้าร่วมการสนทนาจะผ่านการคัดกรองจาก คสช. มาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าหลายตอนที่ออกอากาศจะเชิญนักการเมืองคนสำคัญที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาร่วมรายการ เพื่อให้สังคมเห็นว่า คสช. ไม่ได้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า “รายการเดินหน้าปฏิรูป” มีเป้าหมายที่แท้จริงนอกเหนือไปจากการรับฟังความคิดเห็น แต่อาจเป็นเพียงช่องทางบรรเทาภาวะแรงกดดันทางการเมือง หรือเป็นเพียงช่องทางการสื่อสารทางการเมืองของ คสช. เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอีกช่องทางหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กระแสเสียงของสังคมไทยได้เรียกร้องให้มีการเชิญ อดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกรายการเดินหน้าปฏิรูปร่วมกันเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดย พลเอก ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติเปิดเผยว่ามีการเตรียมการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองร่วมพูดคุยกันในรายการหน้าปฏิรูปทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อระดมความคิดเห็นพร้อมกับประธานคณะกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านต่างๆ ร่วมด้วย[3] ทว่าหลังจากนั้น พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ก็ออกมากล่าวว่าทางศูนย์ปรองดองฯ มีความตั้งใจจะเชิญอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาร่วมระดมความคิดเพื่อสร้างความปรองดองสู่การปฏิรูปประเทศ แต่หากได้รับการตอบรับที่ดีจากหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายที่จะมาให้ความร่วมมือสร้างความปรองดองเป็นเรื่องที่น่ายินดี เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็ได้กล่าวสนับสนุนการเชิญอดีตรัฐมนตรีเข้าร่วมรายการ โดยสนับสนุนว่าหากทั้งสองฝ่ายตอบรับคำเชิญจะถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยและ ขยายการแลกเปลี่ยนในวงกว้างมากยิ่งขึ้นไป[4] อย่างไรก็ตาม การดำเนินรายการเดินหน้าปฏิรูปมีแต่เพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้นที่ได้ร่วมออกรายการวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2558 ในหัวข้อปัญหาในระบบราชการไทย[5]
บทบาทเชิงรุกของ คสช. : นัยยะต่อการเมืองไทย
ภายใต้การดำเนินการปฏิรูปการเมืองและสังคมตาม “Road_Map_ประชาธิปไตย” ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้นั้น ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นองค์กรเจ้าภาพที่มีความสำคัญสูงสุด อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตการณ์และความผันผวนทางการเมืองในห้วงปัจจุบันนั้น สิ่งที่จะละเลยเสียไม่ได้สำหรับผู้กุมอำนาจการปกครอง ก็คือ การสร้างความเข้าใจอันดีต่อสังคม ดังนั้น การประชาสัมพันธ์นโยบายและผลงานของรัฐบาลผ่านช่องทางสื่อสารที่หลากหลายจึงเป็นบทบาทเชิงรุกประการหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังสะท้อนได้จาก “รายการคืนความสุขให้คนในชาติ” ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในทุกคืนวันศุกร์ นอกจากนี้ “รายการเดินหน้าปฏิรูป” ยังถือเป็นการดำเนินนโยบายด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นรายการที่พยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไปคือ การเน้นนโยบายเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์ของคณะรัฐบาลและคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาตินั้นจะสามารถนำไปสู่สัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ ก็คือ การปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของคณะผู้ถือครองอำนาจหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะสามารถนำพาสังคมการเมืองไทยก้าวพ้นจากปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้หรือไม่
อ้างอิง
- ↑ “คสช.เปิดรายการทีวีใหม่เดินหน้าปฏิรูป,” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, (8 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก<http://www.posttoday.com/politic/375106>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “รายการเดินหน้าปฏิรูป,” สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. เข้าถึงจาก <http://nwnt.prd.go.th/centerweb/VOD/VODList?VN01_CatID=26>. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.
- ↑ “เล็งเชิญมาร์ค-ปูออกทีวีปรองดอง,” โพสต์ทูเดย์, (8 กรกฎาคม 2558), A5.
- ↑ “เอนก”เชียร์”มาร์ค-ปู”ออกรายการเดินหน้าปฏิรูป,” เดลินิวส์ออนไลน์, (9 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/333717>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
- ↑ “ศปป.ไม่กดดัน’ยิ่งลักษณ์’ออกรายการเดินหน้าปฏิรูป,” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (13 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก<http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/655803>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
บรรณานุกรม
“คสช.เปิดรายการทีวีใหม่เดินหน้าปฏิรูป.”โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (8 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก<http://www.posttoday.com/politic/375106>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“รายการเดินหน้าปฏิรูป.” สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. เข้าถึงจาก <http://nwnt.prd.go.th/centerweb/VOD/VODList?VN01_CatID=26>. เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559.
“เล็งเชิญมาร์ค-ปูออกทีวีปรองดอง.” โพสต์ทูเดย์. (8 กรกฎาคม 2558), A5.
“ศปป.ไม่กดดัน’ยิ่งลักษณ์’ออกรายการเดินหน้าปฏิรูป.” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (13 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก<http://www.bangkokbiznews.com/mobile/view/news/655803>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.
“เอนก”เชียร์”มาร์ค-ปู”ออกรายการเดินหน้าปฏิรูป.” เดลินิวส์ออนไลน์. (9 กรกฎาคม 2558). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/333717>. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559.