กิจกรรมกินแซนด์วิช (หน้าสยามพารากอน)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:48, 27 พฤศจิกายน 2562 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ฐิติกร สังข์แก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


 

ความนำ

กิจกรรมกินแซนด์วิช (หน้าสยามพารากอน) เป็นวลีที่อธิบายถึงกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมผ่านสังคมออนไลน์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก แค่อยากกินแซนวิช”[1] ณ ลานน้ำพุพารากอน ในวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2557 เมื่อถึงเวลาประมาณ 16.00 นาฬิกา จึงปรากฏเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าควบคุมตัวสมาชิก ศนปท. 6 คน ภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนส่งผลให้การจัดกิจกรรมต้องถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏการแสดงออกทางการเมืองของตัวบุคคลในบริเวณม้านั่งทางเข้าห้างพารากอน ด้วยการหยิบแซนด์วิชขึ้นมากิน พร้อมกับอ่านวรรณกรรม 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell, 1903-1950)[2] ก่อนจะหยิบโทรศัพท์มือถือเปิดเพลงชาติฝรั่งเศส ท่ามกลางผู้สื่อข่าวที่มารุมล้อมจำนวนมากและมีตำรวจยืนห้อมล้อมอยู่ด้านนอก ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบได้เข้ามาควบคุมตัวบุคคลดังกล่าว การกระทำระหว่างบุคคลที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้ห้วงเวลาของกิจกรรมกินแซนด์วิช (หน้าสยามพารากอน) ได้ส่งผลให้เกิดข้อเขียน ภาพและวีดีทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แพร่หลายออกไปในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นบนพื้นที่ข่าวหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ

 

แซนด์วิช: จาก “อาหาร” สู่ “สัญลักษณ์ทางการเมือง”

หากพิจารณาในแง่ความหมายของคำตามพจนานุกรม Oxford Dictionary ได้ให้ความหมายของแซนด์วิชไว้ว่า “รายการของอาหารที่ประกอบไปด้วยขนมปังสองชิ้น บรรจุระหว่างขนมปัง ใช้กินเป็นมื้อเบาๆ” อันเป็นอาหารที่ถูกเรียกตามชื่อของเอิร์ลแห่งแซนวิชที่ 4 (4th Earl of Sandwich, 1718-1792) ซึ่งเป็นขุนนางอังกฤษราวกลางศตวรรษที่ 18 ที่ได้เดินทางท่องเที่ยวในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกจนกระทั่งพบกับการทำขนมปังพิต้า คานาเป้ขนาดเล็กและแซนด์วิชของชาวกรีกและชาวเติร์ก จึงได้คัดลอกแนวคิดกรรมวิธีการทำอาหารประเภทนี้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาหารที่มีชื่อว่าแซนด์วิชก็ได้แพร่กระจายจนกลายเป็นอาหารที่สามารถพบเห็นได้ในระดับนานาชาติ[3] นอกจากนั้นแล้วแซนด์วิชยังกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่แพร่หลายระดับนานาชาติในเวลาต่อมา ทั้งนี้ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า “แซนด์วิช” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เริ่มต้นจากการใช้ “แซนด์วิช” เป็นสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการแต่งงานของกลุ่มคนรักร่วมเพศในอเมริกา โดยเจ้าของร้าน Chick-fill-A มีสาขามากกว่าหนึ่งพันหกร้อยสาขา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบรรดาลูกค้าที่มีจุดทางการเมืองร่วมกัน ต่อมาในปี 2013 ก็ปรากฏการใช้ “แซนด์วิช” เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งในออสเตรเลีย ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง จูเลีย กิลลาร์ด (Julia Gillard) ที่มักถูกโจมตีในประเด็นผลงานรัฐบาล หนึ่งในการรณรงค์ต่อต้านทางการเมือง ก็คือ การขว้างปาแซนด์วิชใส่นายกรัฐมนตรี 2 ครั้งจนกระทั่งถูกมองว่าเป็นการเหยียดเพศไปโดยปริยาย และในปี 2014 เมื่อเอ็ด มิลลิแบนด์ (Ed Miliband) ผู้นำฝ่ายค้านแห่งพรรคแรงงานอังกฤษเกิดอาการกระอักกระอวนในการกินแซนด์วิชต่อหน้ากรรมกรอันเป็นฐานเสียงสนับสนุนของพรรคและกลายเป็นภาพข่าวที่แพร่หลายเกิดกระแสเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเด็นเรื่องชนชั้น[4]

 

“แซนด์วิช” กับสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารในการเมืองไทย

การใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองไม่เพียงปรากฏให้เห็นเด่นชัดในประเทศโลกที่หนึ่งผ่านประเด็นเรื่องเพศที่สาม เพศหญิง และชนชั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ ตามลำดับเท่านั้น หากแต่สังคมการเมืองไทยก็ฉวยใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในการต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวคณะด้วยเช่นกัน กิจกรรมต่อต้านรัฐประหารที่ริเริ่มโดยศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) มีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ปิคนิคใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนัง รัฐประหาร” ในรูปแบบปิคนิคและมีการเตรียมแจกแซนด์วิชให้เข้ากับบรรยากาศของกิจกรรม กระนั้นก็ตาม ก็ปรากฏเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้าสอดส่องและควบคุมพื้นที่จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ส่งผลให้กลุ่มผู้จัดงานออกมายืนรับประทานแซนด์วิช พร้อมทั้งแจกจ่ายแซนด์วิชให้กับผู้สัญจรไปมา นักศึกษากลุ่มดังกล่าวท้าทายต่อเจ้าหน้าที่ด้วยการถามว่าการยืนรับประทานแซนด์วิชผิดกฎหมายอย่างไร และกล่าวว่า “ดีจังแค่ยืนทานแซนด์วิชก็ดัง อยากให้สื่อมวลชนเป็นพยานหากจะถูกจับจะให้ผิดข้อหายืนทานแซนด์วิช งั้นการออกไปทานข้าวที่ไหนๆ ก็ต้องถูกจับด้วยแล้ว”[5] จากประโยคนี้เองที่สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น มติชนออนไลน์ พาดหัวข่าวว่า “เจ้าหน้าที่ระดมกำลัง 350 นาย รับมือนักศึกษาจัดกิจกรรมทาน-แจกแซนด์วิช ที่ ม.เกษตรฯ”[6] เช่นเดียวกับ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ลงข่าวหน้า 1 ความว่า “มีแต่กินแซนด์วิช ไม่พูดการเมือง! เพจใหม่ท้าคสช. มาแทน-ลายจุด” พร้อมๆ กับภาพของนักศึกษาที่กำลังกินแซนด์วิช[7]

อย่างไรก็ตาม การใช้แซนด์วิชเป็นสื่อสัญลักษณ์ทางการเมืองในกิจกรรมครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นเจตนาของกลุ่มผู้จัดงานตั้งแต่ต้นหากแต่เป็นปรากฏการณ์คลี่คลายมาจากเงื่อนไขอื่น นักศึกษาในกลุ่มศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) มี่มี่ (นามสมติ) ให้สัมภาษณ์ว่า “การที่พวกเราแจกแซนด์วิชที่เตรียมไว้ในวันนั้นนักข่าวก็ได้นำไปเขียนข่าวทำนองว่าเป็นแซนด์วิชต้านรัฐประหาร ก็เลยเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหารไป และเจ้าหน้าที่ก็ออกมากล่าวถึงกรณีนี้อีก กลายเป็นสัญลักษณ์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สร้างขึ้นมา ซึ่งตัวพวกตนเองก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารตั้งแต่ต้น” เช่นเดียวกับ ลูกเกด (นามสมมติ) ที่เปิดเผยว่า “ไม่ได้คิดตั้งแต่ต้นว่าจะใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหาร เพราะมันไม่สามารถหาความเชื่อมโยงอะไรได้เลย เป็นเพียงอาหารที่สามารถกินง่าย ถ้าวันนั้นเตรียมข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวเหนียวหมูปิ้งก็อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหารไปเหมือนกัน แต่ที่เป็นสัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร เพราะส่วนหนึ่งมีนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งออกมาพูดประมาณว่าการกินแซนด์วิชก็เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้ว ทำให้สังคมตั้งคำถามแล้วว่าทำไมแค่การกินแซนด์วิช ในสถานการณ์ปกติสามารถทำได้ แต่ตอนนี้กลับจะกลายเป็นเรื่องผิด”[8] จากคำกล่าวของนักจัดกิจกรรมทั้งสองจึงทำให้เห็นภาพของแซนด์วิชที่ถือกำเนิดกลายเป็นสัญลักษณ์จากฟากฝั่งของสื่อมวลชนและและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ

ภายหลังนั้น “แซนด์วิช” ก็กลายเป็นกระแสสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ถูกรับรู้กันอย่างกว้างขวางในทางสังคมและใช้ต่อต้านรัฐประหารอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ในชื่อ “ปิกนิกสนามหลวง คืนความสุขให้คนไทย” ต่อมาในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ได้มีกิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก แค่อยากกินแซนวิช” ณ ลานน้ำพุ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารทั้งสิ้น จนกระทั่งในเวลาต่อมา ผู้ที่แสดงออกทางการเมืองผ่านการกินแซนด์วิชจะถูกควบคุมตัว[9] อันก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้มาตรการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวยังถือเป็นการควบคุมตัวนักศึกษาที่มีการนัดรวมตัวกันภายใต้การมีแซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็นครั้งแรก

 

ปฏิกิริยาจากสังคม

การใช้แซนด์วิชเป็นสื่อสัญลักษณ์ทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารสร้างผลอันเป็นปฏิกิริยาจากสังคมในภาคส่วนต่างๆ แตกต่างกันออกไป อาทิความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารกับเจ้าหน้าที่รัฐบนพื้นที่สาธารณะแล้วก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า แม้ก่อนกิจกรรมที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวกันกินแซนด์วิช รอบพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 7 มิถุนายน 2557 พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำแหน่งในขณะนั้น) จะแถลงว่าไม่อาจห้ามกลุ่มนักศึกษาที่ออกมารับประทานแซนด์วิชได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเจตนาและวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม เพราะหากการกระทำนั้นเข้าข่ายหรือทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการควบคุมตัวทันที[10] ในทางกลับกันเมื่อถึงวันกิจกรรม เจ้าหน้าที่รัฐได้มีการจัดกำลังตำรวจ ทหาร และเทศกิจ ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปภายในพื้นที่สนามหลวง[11]

ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 พลตำรวจตรีอำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ช่วยราชการกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายห้ามมิให้ชุมนุมในทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งกรณีนัดกันไปทำกิจกรรม เช่น กินแซนด์วิชร่วมกันหรืออ่านหนังสือบนรถไฟฟ้านั้นก็ยังไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ตราบใดที่ไม่แสดงออกด้วยวาจา หรือโดยประการอื่นๆ ที่โน้มเอียงไปในทางการชุมนุมทางการเมืองร่วมกัน[12] ขณะที่กิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก แค่อยากกินแซนวิช” ที่มีการควบคุมตัวบุคคลที่กินแซนด์วิช และอ่านหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ก็ได้สร้างกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและสื่อนานาชาติ เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งมองว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลใช้การปราบปรามการอ่านหนังสือและกินแซนด์วิชบนพื้นที่สาธารณะ[13] จนในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการออกแถลงการณ์ผ่อนปรนต่อการจัดกิจกรรมที่มีแซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ดังเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ที่กล่าวถึงกลุ่มต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้วยการนั่งกินแซนด์วิช อ่านหนังสือ ว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจหามาตรการดำเนินการที่เหมาะสมเพราะอยู่ท่ามกลางสาธารณชน จึงอาจพิจารณาบันทึกภาพไว้ก่อน แล้วค่อยมาดำเนินการในภายหลัง[14]นอกเหนือจากคู่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังมีคู่ความสัมพันธ์อื่นที่ใช้แซนด์วิชเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์อีกด้วย กล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายแซนด์วิชกับผู้บริโภคแซนด์วิชกลับไม่ได้รับผลกระทบจากการที่แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด[15]

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

กิจกรรมกินแซนด์วิช (หน้าสยามพารากอน) ได้แสดงให้เห็นถึงแรงต้านทานของนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ตอบโต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มนักศึกษาก็ไม่ได้ยึดถือรูปแบบการกินแซนด์วิชเป็นสื่อสัญลักษณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว หากแต่วิวัฒน์พัฒนาปรับแปรไปตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น “การชูสามนิ้ว” หรือ “การอ่านหนังสือ_1984” ภายใต้การประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[16] อันสอดรับกับ “Road_Map_ประชาธิปไตย” ระยะแรกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องการควบคุมสถานการณ์จากทุกกลุ่มก้อนทางการเมืองให้เกิดเสถียรภาพอย่างเข้มข้น แตกต่างจากบรรยากาศทางการเมืองในยุคการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เปิดกว้างให้มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลและการรัฐประหารมากกว่าการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

 

อ้างอิง 

  1. คำว่า “มว๊าก” เป็นคำสแลง (slang) ที่มาจากคำว่า “มาก” ซึ่งเป็นที่นิยมสื่อสารกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นในสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ ตัวอย่างคำในลักษณะดังกล่าว เช่น “อร่อยมว๊าก” “ร้อนมว๊าก” “รักกันมว๊าก” เป็นต้น
  2. โปรดดู จอร์จ ออร์เวลล์, 1984, แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทองและอำนวยชัย ปฏิพัทธ์พงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2555).
  3. Solomon H. Katz and William Woys Weaver (editors), Encyclopedia of Food and Culture, (New York: Charles Scribner’s Sons, 2003).
  4. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, “ประวัติศาสตร์และการเมืองเรื่องแซนด์วิช (ทั่วโลก),” มติชน, (1 กรกฎาคม 2557), 20.
  5. “เจ้าหน้าที่ระดมกำลัง 350 นาย รับมือนักศึกษาจัดกิจกรรมทาน-แจกแซนด์วิช ที่ ม.เกษตรฯ,” มติชนออนไลน์, (6 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402053975>. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559.
  6. “เจ้าหน้าที่ระดมกำลัง 350 นาย รับมือนักศึกษาจัดกิจกรรมทาน-แจกแซนด์วิช ที่ม.เกษตรฯ,” มติชนออนไลน์, (6 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402053975>. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559.
  7. “มีแต่กินแซนด์วิช ไม่พูดการเมือง! เพจใหม่ท้าคสช. มาแทน-ลายจุด,” ไทยรัฐ, (7 มิถุนายน 2557), 1.
  8. “ทำไมแซนด์วิชมีสรรพคุณต้านรัฐประหาร? คุยกับนักศึกษาขอพื้นที่ให้สปิริต ปชต.,” ประชาไท, (6 กรกฎาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://prachatai3.com/journal/2014/07/54444>. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559.
  9. “ตร.ล็อก 9 นศ. กินแซนด์วิช,” ข่าวสด, (23 มิถุนายน 2557), 15.
  10. “ตร.เตรียมแผนรับมือม็อบต่อต้าน เร่งเตือนสติอย่าให้ต่างชาติทำลาย,” แนวหน้าออนไลน์, (7 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.naewna.com/politic/107033>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.
  11. “นศ.-ปชช.รวมตัวกินแซนวิชต้านรัฐประหารหน้ามธ.,” เดลินิวส์ออนไลน์, (8 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/crime/243469>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.
  12. “ตำรวจย้ำชุมนุมทางการเมือง ผิดกฎหมาย,” Nation TV, (18 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.nationtv.tv/main/content/politics/378411792>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.
  13. “Sandwich eating and 1984: 8 things that can get you arrested in Thailand,” Telegraph, (11 September 2014). Available <http://www.telegraph.co.uk/travel/destinations/asia/thailand/11090565/Sandwich-eating-and-1984-8-things-that-can-get-you-arrested-in-Thailand.html>. February 3, 2016.
  14. “คสช.สั่งผ่อนปรนกินแซนด์วิชต้านรัฐประหาร,” เดลินิวส์ออนไลน์, (23 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/247134>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.
  15. “เมื่อการกินเเซนด์วิชกลายเป็น “สัญลักษณ์” ทางการเมือง,” เดลินิวส์ออนไลน์, (30 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/article/248521>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.
  16. “ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 131 ตอนที่พิเศษ 84 ง, 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 6.

บรรณานุกรม

“Sandwich eating and 1984: 8 things that can get you arrested in Thailand.” Telegraph. (11 September 2014). Available <http://www.telegraph.co.uk/travel/destinations/asia/thailand/11090565/Sandwich-eating-and-1984-8-things-that-can-get-you-arrested-in-Thailand.html>. Accessed

February 3, 2016.

Solomon H. Katz and William Woys Weaver. Editors. (2003). Encyclopedia of Food and Culture. New York: Charles Scribner’s Sons

“คสช.สั่งผ่อนปรนกินแซนด์วิชต้านรัฐประหาร.” เดลินิวส์ออนไลน์. (23 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/politics/247134>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.

จอร์จ ออร์เวลล์. (2555). 1984. แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทองและอำนวยชัย ปฏิพัทธ์พงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สมมติ.

“เจ้าหน้าที่ระดมกำลัง 350 นาย รับมือนักศึกษาจัดกิจกรรมทาน-แจกแซนด์วิช ที่ ม.เกษตรฯ.” มติชนออนไลน์. (6 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1402053975>. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559.

“ตร.เตรียมแผนรับมือม็อบต่อต้าน เร่งเตือนสติอย่าให้ต่างชาติทำลาย.” แนวหน้าออนไลน์. (7 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.naewna.com/politic/107033>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.

“ตร.ล็อก 9 นศ. กินแซนด์วิช.” ข่าวสด. (23 มิถุนายน 2557), 15.

“ตำรวจย้ำชุมนุมทางการเมือง ผิดกฎหมาย.” Nation TV. (18 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.nationtv.tv/main/content/politics/378411792>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.

“ทำไมแซนด์วิชมีสรรพคุณต้านรัฐประหาร? คุยกับนักศึกษาขอพื้นที่ให้สปิริต ปชต..” ประชาไท. (6 กรกฎาคม 2557). เข้าถึงจาก <http://prachatai3.com/journal/2014/07/54444>. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559.

“นศ.-ปชช.รวมตัวกินแซนวิชต้านรัฐประหารหน้ามธ..” เดลินิวส์ออนไลน์. (8 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/crime/243469>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 131 ตอนที่พิเศษ 84 ง. 26 พฤษภาคม 2557, หน้า 6.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. “ประวัติศาสตร์และการเมืองเรื่องแซนด์วิช (ทั่วโลก).” มติชน. (1 กรกฎาคม 2557), 20.

“มีแต่กินแซนด์วิช ไม่พูดการเมือง! เพจใหม่ ท้าคสช. มาแทน-ลายจุด.” ไทยรัฐ. (7 มิถุนายน 2557), 1.

“เมื่อการกินเเซนด์วิชกลายเป็น “สัญลักษณ์” ทางการเมือง.” เดลินิวส์ออนไลน์. (30 มิถุนายน 2557). เข้าถึงจาก <http://www.dailynews.co.th/article/248521>. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559.