สนธิ บุญยรัตกลิน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:44, 2 สิงหาคม 2561 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


สนธิ บุญยรัตกลิน

         พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 34  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ

 

ประวัติส่วนบุคคล

          พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เกิดเมื่อ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2489 ที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของ พันเอกสนั่น (นามสกุลเดิม อหะหมัดจุฬา) และนางมณี บุญยรัตกลิน สกุลของพลเอกสนธิสืบเชื้อสายไปถึงเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) โดยพลเอกสนธิอยู่ในลำดับชั้นที่ 12 [1] เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดชินวราราม ก่อนย้ายไปไปโรงเรียนวัดเทียนถวาย[2] และเข้าเรียนโรงเรียนสำหรับมุสลิมที่โรงเรียนอัสสละฟิยฮ์วิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอยานนาวา โดยพลเอกสนธิอธิบายว่าเหตุที่ต้องมาเรียนไกลก็เพราะโรงเรียนสำหรับมุสลิมในขณะนั้นมีจำนวนน้อย [3] ซึ่งบิดานำมาฝากไว้กับญาติที่อยู่ถนนตก อำเภอยานนาวาจนจบชั้นประถมจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เพราะบิดามารับราชการในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จากนั้นจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6  มีเพื่อนร่วมรุ่นคือ พลเอกประวิตร_วงษ์สุวรรณ พลเรือเอกสถิรพันธ์_เกยานนท์ และพลอากาศเอกชลิต_พุกผาสุก และเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 17

          พลเอกสนธิได้ศึกษาในหลักสูตรพิเศษอื่น ได้แก่[4] หลักสูตรขนส่งทางอากาศ เมื่อ พ.ศ.2511 หลักสูตรจู่โจม เมื่อ พ.ศ.2512 หลักสูตรลาดตระเวนระยะไกล เมื่อ พ.ศ.2519 เข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ 57 ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การทหาร) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 42

          หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ.2549 พลเอกสนธิเข้าศึกษาจนสำเร็จเป็น ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาการเมือง) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อพ.ศ.2556

 

เหตุการณ์สำคัญ

          พลเอกสนธิเข้ารับราชการในพ.ศ.2511 ในเหล่าทหารราบโดยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบ ศูนย์การทหารราบ ระหว่าง พ.ศ.2513-2514 พลเอกสนธิเดินทางไปราชการสงครามที่ประเทศเวียดนามเป็นเวลา 1 ปี ได้รับเหรียญกล้าหาญ Army Commendation Media with “V” ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดจากกองทัพเวียดนามและเหรียญชัยสมรภูมิประดับเปลวระเบิด[5]

          เมื่อกลับจากราชการสงครามพิเศษในต่างประเทศ พลเอกสนธิได้เข้าประจำที่ศูนย์การทหารราบและได้ปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า จังหวัดสกลนคร จนถึงพ.ศ.2526 พลเอกสนธิ ได้เข้าสังกัดหน่วยรบพิเศษโดยเข้าดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันรบพิเศษที่ 2 กรมรบพิเศษที่ 1 ซึ่งขณะนั้นพล.อ. สุรยุทธ์_จุลานนท์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรม  และเจริญก้าวหน้าโดยดำรงตำแหน่งที่สำคัญเช่น ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1จนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

          พ.ศ.2547 พลเอกสนธิขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้รับมอบหมายให้ปฎิบัติงานที่กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใค้ (กอ.สสส.จชต.)[6] และพ.ศ.2548ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 34 โดย ดร.ทักษิณ_ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกพลเอกสนธิเพราะสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกล่าวว่า “นายทหารที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารบกควรจะต้องเคยทำงานสนามรบ ผ่านการทำงานภาคสนามมาแล้ว จึงจะเข้าใจปัญหา”[7] ซึ่งพลเอกสนธินับถือศาสนาอิสลามและเป็นทหารหน่วยรบพิเศษ

          พลเอกสนธิเป็นผู้บัญชาการทหารบกในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองโดยเริ่มจากการก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เพื่อขับไล่รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาว่าบริหารประเทศโดยความไม่ชอบธรรม  ในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศ “ยุบสภา”ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 แต่กลุ่มพันธมิตรฯ กลับเห็นว่าเป็นการใช้การเลือกตั้งเป็น “เครื่องมือซักฟอกตัวเอง” จึงคงยืนยันชุมนุมขับไล่ให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งอย่างไม่มีเงื่อนไข และ“ให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2” ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่[8] อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชนได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขันและเกิดปัญหามากมายระหว่างดำเนินการเลือกตั้ง จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549[9]

           วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่มีรัฐบาลรักษาการณ์บริหารประเทศท่ามกลางการชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 9 กันยายน  พ.ศ.2549  ดร.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกเดินทางไปประชุม
อาเซม ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ภายหลังเสร็จการประชุมอาเซมได้แวะพักที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเตรียมตัวร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พลเอกสนธิได้ทำรัฐประหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในเวลาก่อนเทียงคืน พลเอกสนธิพร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

          พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ได้ให้เหตุผลในการตัดสินใจยึดอำนาจ วันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าเกิดจากปัญหาความแตกแยกของประชาชน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลที่เป็นผลมาจากการผูกขาดทางการเมืองของฝ่าย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งเกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศเกิดความอ่อนแอ นอกจากนี้ประเด็นของการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหาร รวมถึงข่าวการวางแผนใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของรัฐบาล โดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ให้สัมภาษณ์ว่า "...เรื่องของการใช้ความรุนแรง กลุ่มประชาชนติดอาวุธ ที่ทางฝ่ายรัฐบาลไปฝึกมาเพื่อที่จะมาเอามาเกิดการปะทะกัน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เราในฐานะที่เป็นฝ่ายรักษาความมั่นคง รักษาความสงบภายใน จำเป็นต้องยับยั้งปัญหาที่จะเกิดขึ้น"[10]

          วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

          ภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ประกาศใช้ ในวันที่ 22 กันยายน 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอกสนธิให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตามความในมาตรา 34 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) โดยมีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังสามารถประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

          วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2550 หลังเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสนธิได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

          เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ผ่านการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จากนั้นนำขึ้นกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

          พลเอกสนธิ บุญยรัตกลินได้ตัดสินใจเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีเป้าหมายคือฐานเสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้[11]ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 พลเอกสนธิ ให้เหตุผลในการตัดสินใจลงเลือกตั้งว่า เกิดจากแนวนโยบาย และความคิดทางการเมืองของพรรคมาตุภูมิตรงกับแนวคิดของพลเอกสนธิ คือมีความเป็นกลางในช่วงเวลาที่สังคมมีความขัดแย้งในทางการเมืองที่เป็นปัญหาและสร้างความแตกแยกของคนในสังคม พลเอกสนธิเห็นว่านโยบายพรรคมาตุภูมิจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์การเมืองให้มีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พลเอกสนธิเห็นว่ามีประชาชนทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมเสียชีวิตไปเกือบ 4,000 คนในเวลาเพียงไม่กี่ปี แนวคิดและนโยบายของพรรคมาตุภูมิเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภาคใต้ค่อนข้างชัดเจนมีความเป็นไปและสุดท้ายนโยบายของพรรคมาตุภูมิในเรื่องของระบบเศรษฐกิจ จะทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีสุขภาพ มีพลานามัยที่แข็งแรง โดยเฉพาะเรื่องของการรัฐสวัสดิการ[12]

          การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พลเอกสนธิได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคมาตุภูมิ โดยเป็นผู้สมัครรับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และพรรคมาตุภูมิได้รับการเลือกตั้งเพียง 1 ที่นั่ง [13]

          พลเอกสนธิมีบทบาทอีกครั้งเมื่อเป็นผู้เสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยมีเหตุผลคือ การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งจึงเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างการปรองดองกลับมาสู่ชาตืบ้านเมือง ในฐานะตัวแทนของประชาชนไทยซึ่งอยากเห็นบ้านเมืองมีความสงบและคนไทยปรองดองกันจึงได้เสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร[14] ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการปรองดองแห่งชาติสภาผู้แทนราษฎร โดยมีพลเอกสนธิเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว

 

หนังสือแนะนำ

กองบรรณาธิการมติชน.(2550).พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. "ม้ามืด" ผู้นำรัฐประหาร.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

วาสนา นาน่วม.(2551).ลับ ลวง พราง ปฎิวัติปราสาททราย.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

 

บรรณานุกรม

กองบรรณาธิการมติชน,พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. "ม้ามืด" ผู้นำรัฐประหาร,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550), หน้า 20.

กองทัพบก,ทำเนียบอดีตผู้บังคับบัญชา,เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command17/_HISTORY/his_sonti.htm เมื่อ 1 กันยายน 2559

นราวดี เกิดจงรักษ์, บทบาทของกองทัพในการเมือง ศึกษาเปรียบเทียบไทยกับอินโดนีเซีย,ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2560,หน้า 270-271.

ประชาไท, สำนักข่าวมุสลิมไทย: เผยเบื้องลึก 'บิ๊กบัง' นั่งมาตุภูมิ และประชาธิปไตยแบบ'สนธิ บุญยรัตกลิน', เข้าถึงจาก http://prachatai.com/journal/2009/11/26716, เมื่อ 1 กันยายน 2559

วาสนา นาน่วม,ลับ ลวง พราง ปฎิวัติปราสาททราย, ,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 283.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมษายน พ.ศ. 2549,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_เมษายน_พ.ศ._2549 เมื่อ 2 กันยายน 2559

วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี,พรรคมาตุภูมิ, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคมาตุภูมิ,เมื่อ 1 กันยายน 2559

วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. '2554,' เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2554,เมื่อ 1 กันยายน 2559

สถาบันพระปกเกล้า,รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า ค.6.

อุเชนทร์ เชียงเสน,พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย,เข้าถึงจาก http://kpi2.kpi.ac.th/wiki/index.php/พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 2 กันยายน 2559

 

อ้างอิง

[1] กองบรรณาธิการมติชน,พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. "ม้ามืด" ผู้นำรัฐประหาร,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550), หน้า 20.

[2] วาสนา นาน่วม,ลับ ลวง พราง ปฎิวัติปราสาททราย, ,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2551), หน้า 283.

[3] กองบรรณาธิการมติชน,หน้า 35

[4] กองทัพบก,ทำเนียบอดีตผู้บังคับบัญชา,เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command17/_HISTORY/his_sonti.htm เมื่อ 1 กันยายน 2559

[5] กองบรรณาธิการมติชน, หน้า 69,

[6] กองบรรณาธิการมติชน, หน้า 62.

[7] กองบรรณาธิการมติชน, หน้า 97.

[8] อุเชนทร์ เชียงเสน,พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย,เข้าถึงจาก http://kpi2.kpi.ac.th/wiki/index.php/พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 2 กันยายน 2559

[9] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมษายน พ.ศ. 2549,เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_เมษายน_พ.ศ._2549 เมื่อ 2 กันยายน 2559

[10] นราวดี เกิดจงรักษ์, บทบาทของกองทัพในการเมือง ศึกษาเปรียบเทียบไทยกับอินโดนีเซีย,ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2560,หน้า 270-271.

[11] วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี,พรรคมาตุภูมิ, เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/พรรคมาตุภูมิ,เมื่อ 1 กันยายน 2559

[12] ประชาไท, สำนักข่าวมุสลิมไทย: เผยเบื้องลึก ''บิ๊กบัง' นั่งมาตุภูมิ และประชาธิปไตยแบบ'สนธิ บุญยรัตกลิน'', เข้าถึงจาก http://prachatai.com/journal/2009/11/26716, เมื่อ 1 กันยายน 2559

[13] วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. '2554,' เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2554,เมื่อ 1 กันยายน 2559

[14] สถาบันพระปกเกล้า,รายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2555), หน้า ค.6.